เรียนรู้เพื่อจัดการความรู้ภายในตนเอง
สุพัฒน์ สมจิตรสกุล
การจัดการความรู้ หากหมายถึงกระบวนการของการนำความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน
ระบบงาน หน่วยงาน กลุ่มคน
มาจัดการเพื่อให้บุคคลอื่นสามารถเข้าไปเรียนรู้และหยิบใช้
แต่ในความเป็นจริงในการทำความเข้าใจในคำว่า ความรู้ เป็นสิ่งจำเป็น
เนื่องจากความรู้ที่มีอยู่ดาษดื่นตามหนังสือ หรือสื่อต่างๆ
ผู้ที่รับมักจะจัดเก็บเป็นเพียงสื่อ (Media)
แต่บุคคลเหล่านั้นมีโอกาสเข้าไปเรียนรู้ในในสื่อเหล่านั้นหรือไม่
เรียนรู้แล้วนำไปทำความเข้าใจเพื่อลองไปปฏิบัติให้สอดคล้องกับชีวิตของตน
ซึ่งสุดท้ายนี่แหละที่ได้เรียนรู้ว่า คือ ความรู้ที่แท้จริง
มิใช่ความรู้ที่
รู้ได้หมายจำ
การเข้ามาเรียนรู้ในโครงการพัฒนาต้นแบบการสร้างสุขภาพในบริบทพยาบาล
ที่ดำเนินการโดย ชมรมพยาบาลแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ผู้เรียน
ผู้ช่วยเหลือ กระบวนการ และบางครั้งก็ในฐานะผู้(แอบ)สอน
ได้เห็นภาพการพัฒนา เข้าใจในกระบวนการสร้างความรู้ภายในตนเอง
จากครั้งแรกที่เข้ามาในฐานะผู้เรียนที่เต็มไปด้วยสิ่งที่รู้(แบบงูๆปลาๆ)
ทำให้เห็นว่า ยิ่งเรียน ยิ่งปฏิบัติ
ทำให้เห็นความรู้ในเนื้อหาที่ได้รับรู้ในอดีต
และเติมด้วยสิ่งใหม่ๆที่ได้รับระหว่างทางการฝึก
ทำให้ยิ่งเห็นความจำเป็นในการนำสิ่งที่รับรู้นำไปสู่การปฏิบัติให้เข้าได้กับชีวิตของเรา
เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะลอกทั้งหมดของคนอื่นมาใช้ในชีวิตของเรา
บางครั้งก็สามารถเรียนรู้จากชีวิตเล็กที่ได้พบเห็น
ที่ทุกคนมักมองข้ามและเห็นเป็นธรรมดา อย่างกรณียายแวว
ที่มีชีวิตต้องนำข้าวจากวัด ไปเลี้ยงลูกที่ดูแลตัวเองไม่ได้
เมื่อเข้าไปเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้วิจัย และชุมชน
ทำให้ได้เรียนรู้ว่า
ในชุมชนยังมีสิ่งที่ต้องจัดการมากกว่าการสร้างถนนคอนกรีตเข้าไปในทุ่งนา
ยายแววตัวเล็กเป็นคนเล็กในชุมชนที่ทำให้เกิดประกายในการคิดที่จะให้มีระบบการดูแลผู้ทุกข์ยากในชุมชน
แต่ก็ใช่ว่า การเข้าไปเรียนรู้ใช่ว่าเรียนรู้จากความสำเร็จเท่านั้น
สิ่งที่ไม่ประสบผลตามที่ตั้งใจไว้ก็จำเป็นต้องเข้าไปเรียนรู้ในบทเรียน(Lesson
Learn)นั้น ในการเรียนรู้ของทีมพยาบาลชุมชนปีที่ 2 พบว่า
ในการจัดการให้เกิด Node ในจังหวัดนครพนม พบว่า
การจัดการเพื่อให้เป็นไปเช่นเดียวกับการจัด Node ที่จังหวัดน่าน
ที่สามารถเกิดการตื่นตัวการพัฒนาของบุคลากรสาธารณสุขทั้งจังหวัด
แต่ในจังหวัดนครพนมกลับพบว่า แม้จะมีการเตรียมการที่ดี
มีการสนับสนุนทั้งจากทางชมรมพยาบาลชุมชนฯ
หรือเครือข่ายจากคณะอาจารย์จากคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
แต่ขาดการเรียนรู้ในความต่างในบริบทที่มีอยู่ของจังหวัดนครพนม
และจังหวัดน่านแตกต่างกัน ทำให้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องความเข้าใจ
และเห็นความเป็นทั้งหมดของพื้นที่
ว่าจะสามารถจัดการให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ได้อย่างไร
ทั้งหมดของการเรียนรู้จนถึงปีที่ 3 ของโครงการฯ
ยิ่งย้ำเน้นในตัวเองว่า การเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือ
การเรียนรู้ภายในตัวเอง ให้เห็นความเป็นไปทั้งหมดของชีวิต
ยิ่งเรียนรู้เท่าใด ยิ่งเห็นว่า
ทุกสิ่งที่เราสัมผัสเราสามารถเข้าไปเรียนรู้ให้เกิดความรู้แก่ตนเองได้
แต่ที่สำคัญเราต้องรู้ตัวว่า
เราพร้อมหรือไม่ที่จะเข้าไปเรียนรู้กับสิ่งเหล่านั้น
เราต้องเริ่มที่การลดตัวตน
เป็นถ้วยน้ำชาที่ว่างเปล่าที่พร้อมที่เรียนรู้
มิเช่นนั้นก็เสียเวลาเปล่า......