เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (11)


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้เขียนแวะเข้าไปที่สำนักฯ มีโอกาสได้พูดคุยกับ พี่กัณหา เกียรติสุตซึ่งเข้ามาช่วยเสริมแรง คุณหมอฉายศรีฯ ในการบริหาร โครงการ KM-NCD Network” ทำให้ทราบว่าขณะนี้ได้มีการประสานทาบทามทั้ง สคร. และ สสจ. เพื่อร่วมมือกันดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปของโครงการฯ ซึ่งมีความคืบหน้าไปมากแล้ว

 

ส่วนของการสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินงานเชื่อมโยงเครือข่ายในพื้นที่ปฏิบัติการนั้น มีหน่วยงานที่สนใจนำสู่การสานต่อในระยะนำร่องนี้ 5 แห่ง ได้แก่ สคร. 5, 6, 7 สสจ.สกลนคร และ สสจ.กาฬสินธุ์ ซึ่งขณะนี้กำลังเตรียมการจัดกิจกรรมกันอยู่ โดยนำ แผน และสิ่งที่ได้เรียนรู้ร่วมกันใน OM Workshop เมื่อวันที่ 1-3 เมษายน 2552 ไปเป็นแนวทางปรับประยุกต์ใช้สำหรับการดำเนินงานเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายภายในพื้นที่ของตนเองต่อไป

 

ส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จ เพื่อบรรลุเป้าหมายในการรวบรวม จัดหมวดหมู่ ความรู้ปฏิบัติ ของการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ที่จะทำให้รู้ว่ามีใครเด่นในเรื่องใดอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันที่จะขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้นนั้น พี่กัณหา บอกว่าขณะนี้มี สคร. ที่จะร่วมเป็นแกนนำในการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครบแล้วทั้ง 4 ภาค คือ สคร. 3, 7, 10 และ 11 ซึ่งคาดว่าแต่ละพื้นที่จะเริ่มจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในราวเดือนกรกฎาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งการดำเนินงานทั้งสองส่วนนี้หากมีความคืบหน้าอย่างไรผู้เขียนจะได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันต่อไป

 

ในบทบาทของผู้ติดตามสังเกตการณ์ จับภาพ และบันทึกเรื่องราวการพัฒนาเครือข่าย KM-NCD เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อฯ ครั้งนี้ ผู้เขียนเองก็มีเรื่องที่ต้องปรับปรุงและพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้มีความรู้และความเข้าใจมากพอที่จะช่วยให้สามารถทำงานในหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้อย่างเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการดำเนินงานของโครงการฯ สิ่งที่ผู้เขียนต้องศึกษาและทบทวนอยู่เสมอๆ ก็คือ สิ่งที่ได้เรียนรู้จากหนังสือ การจัดการความรู้ฉบับนักปฏิบัติ ของ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ซึ่งแนะนำไว้ว่า

  • เครือข่ายจัดการความรู้ หมายความว่า มีการดำเนินการพัฒนาเรื่องใดเรื่องหนึ่งในหลายองค์กร แล้วองค์กรเหล่านั้นพร้อมใจกัน รวมตัวกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการนั้น โดยหวังว่าการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจะช่วยสร้างพลังเสริมแรงซึ่งกันและกัน
  • การจัดการเครือข่ายเป็นเรื่องของความเป็นอิสระของแต่ละสมาชิกเครือข่าย ยึดโยงอยู่ด้วยการมีเป้าหมายบางประการร่วมกัน หรือยึดโยงกันเป็นเครือข่ายเพื่อช่วยเพิ่มคุณค่า/มูลค่า หรือเพิ่มพลังในการบรรลุเป้าหมายของแต่ละสมาชิก ด้วยวิธี จัดการความสำเร็จ จัดการให้มีการ จับภาพ ความสำเร็จ นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบ storytelling อันจะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ วิธีบรรลุความสำเร็จ นั้น
  • การจัดการความรู้เป็นเครือข่ายระหว่างองค์กรมีข้อดีคือ ช่วยกระตุ้นซึ่งกันและกัน และทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้กว้างขวางขึ้น
  • ต้องไม่หลงเอาเรื่อง การจัดการความรู้ มาเป็นหัวข้อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่าย ต้องเอาเรื่องการทำงาน หรือผลสำเร็จของงานหลักมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน
  •  พื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเครือข่ายมีทั้ง พื้นที่จริง คือ คนมาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแบบเห็นหน้าเห็นตัว แบบ F2F หรือ Face to Face กับ พื้นที่เสมือน คือ พื้นที่บนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเมื่อไรก็ได้ ถ้าสามารถเข้าอินเตอร์เน็ตได้ สคส. เรียกการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบนี้ว่า B2B หรือ Blog to Blog

เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD” เป็นเครือข่ายที่รวมตัวกันเพื่อการพัฒนางานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อฯ โดยใช้กระบวนการจัดการความรู้เป็นกลไกในการเชื่อมโยงให้สมาชิกเครือข่ายมีความใกล้ชิดและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องแบบบูรณาการด้วยความเข้าใจกันมากขึ้น

 

ภายหลังจากร่วมกันทำแผนใน OM Workshop ที่ผ่านมาแล้ว ผู้เขียนคิดว่าเป้าหมายระยะไกลๆ ที่ทำให้เรายึดโยงอยู่ด้วยกัน ก็คือ วิสัยทัศน์ หรือ ภาพปรารถนา ที่ทุกคนอยากจะเห็นว่า ประชาชนไทยในหมู่บ้านและชุมชนมีความเป็นเจ้าของสุขภาพตนเอง  สามารถรู้เท่าทัน เรียนรู้  พัฒนา ประเมินโรค ปัจจัยเสี่ยง และปัจจัยกำหนดต่างๆ ที่มีเหตุมาจากวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอันคุกคามสุขภาพจนเกิดผลกระทบเรื้อรังสะสม ทำให้คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสังคมของชุมชนลดลง รวมทั้งสามารถป้องกันและจัดการดูแล ผ่านการจัดทำนโยบาย แผนชุมชนซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบไทย บนพื้นฐานกระบวนการและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยการสนับสนุน ประสานใจ ประสานงานผ่านการเชื่อมโยงบูรณาการร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ จริงใจ เกื้อกูล สมานฉันท์ ประสานเชิงรุก ระหว่างภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ทุกระดับ จนมีผลในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดโอกาสเสี่ยง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพ คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสังคมของคนและชุมชนให้อยู่ดีมีสุขได้อย่างยั่งยืน

 

ส่วนเรื่องของ พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นั้น โครงการฯได้เตรียมเว็บไซต์ ( http://kmncd.org ) ไว้เป็นช่องทางสื่อสาร สนับสนุนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งเผยแพร่เรื่องราวการดำเนินงานของเครือข่าย ซึ่งขณะนี้กำลังพัฒนาไปพร้อมๆ กับกิจกรรมอื่นๆ ของโครงการฯ ซึ่งถ้าหากสมาชิกเครือข่ายจะช่วยกันเสนอแนะทั้งในส่วนของรูปแบบและเนื้อหาของเว็บไซต์ว่าควรจะเป็นอย่างไร ควรจะปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ พื้นที่เสมือน แห่งนี้มีความสอดคล้องและตอบสนองต่อความต้องการใช้ประโยชน์ของสมาชิกเครือข่ายได้อย่างเต็มที่ อีกอย่างหนึ่งคือ ผู้เขียนคิดว่าในสถานการณ์การทำงานขณะนี้ ซึ่งทุกคนจากทุกหน่วยงานต่างก็มีภาระงานปริมาณมาก โอกาสที่จะจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบ พื้นที่จริง นั้นคงอาจจะไม่สะดวกนักหากต้องจัดบ่อยครั้ง จึงคิดว่าเราน่าจะใช้ blog เป็นเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของเครือข่าย ซึ่งจะทำให้เราได้แบ่งปันและเรียนรู้เรื่องราวจากกันและกันได้สะดวกและรวดเร็วมากขึ้น :>

 

ปลาทูแม่กลอง

25 พฤษภาคม 2552

คำสำคัญ (Tags): #เครือข่าย km-ncd
หมายเลขบันทึก: 263395เขียนเมื่อ 26 พฤษภาคม 2009 02:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท