ระบบสุขภาพใหม่ ฝันให้ไกล ไปให้ถึง


ระบบสุขภาพของประเทศไทย , การมีการเรียนรู้ และสติปัญญาถ้วนหน้าแทน (Learning & Wisdom for all)

ระบบสุขภาพใหม่   ฝันให้ไกล ไปให้ถึง

                คงจะเป็นตำนานที่เล่าขานกันต่อไปไม่รู้จบ  สำหรับเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผันผวนอย่างมาก ในช่วงปี 2551 -2552  ต้องเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง 4 ท่านในเวลาประมาณ  1  ปี  แต่ก็ทำให้มีความหวังที่ดีกว่าระบบการเมืองแบบเดิม ๆ ที่เป็นประชาธิปไตย 4 วินาที เฉพาะตอนเข้าไปกากบาทในคูหาเลือกตั้ง  ทำให้มีแต่นักเลือกตั้งที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาคอร์รัปชั่น ถอนทุนคืน   จึงทำให้เกิดย้อนคิดมาถึงระบบสุขภาพของประเทศไทยนั้นก็มีปัญหาที่สะสมมานาน   มีความรุนแรงของปัญหามากขึ้นในปัจจุบัน เช่น ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในชนบท  ปัญหาการฟ้องร้องแพทย์  ปัญหาแรงงานอพยพ ระบบครอบครัวแตกสลาย   ยายเลี้ยงหลาน   เด็กขาดสารอาหาร  พ่อแม่ต้องไปทำงานในกรุงเทพ  วัยรุ่นติดเกมส์ติดยา  ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  ฯลฯ อบายมุขที่เข้าถึงอย่างง่ายดาย ตลอด 24 ชม. ขาดการควบคุมดูแล  จึงทำให้ปัญหาสุขภาพที่รุนแรง และซับซ้อนมากขึ้น    จึงควรมีการทบทวนระบบสุขภาพของไทยไปด้วย ซึ่งเชื่อมโยง  เกี่ยวเนื่องกับระบบการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม วัฒนธรรมอย่างลึกซึ่งไม่สามารถแยกส่วนในการพัฒนาได้  ดังวงจรอุบาทว์  โง่ จน เจ็บ ที่ไม่อาจระบุได้ว่าอะไรเกิดขึ้นก่อนกัน   ผู้เขียนจึงมีความเห็นในการปรับเปลี่ยนระบบสุขภาพใหม่ ที่จะดำเนินการไปด้วยกับการพัฒนาประเทศในด้านอื่นๆ    6   ประเด็นที่เชื่อมโยงกัน ดังนี้

                ระบบการเมืองใหม่ที่ให้ประชาชน เข้ามามีส่วนในการตรวจสอบการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ    ทำให้มีส่วนในการกำหนด นโยบายทิศทาง กฎหมายด้านสุขภาพ ที่เหมาะสม  ต่อเนื่องมากขึ้น  ไม่ทำงานแบบมีประโยชน์ทับซ้อน หรือทำงานอย่างฉาบฉวยเพื่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเฉพาะหน้า เฉพาะครั้งเท่านั้น แต่หันมาวางนโยบายสุขภาพที่ยั่งยืน ทำให้ประชาชนเข้าใจทั้งสิทธิ และหน้าที่ด้านสุขภาพมากขึ้น  และควรมีตัวแทนทั้งจากในเขตเมือง และชนบท  จากแต่ละสาขาวิชาชีพในสายสุขภาพ  และตัวแทนผู้ป่วยที่เป็นผู้รับบริการ  เช่นผู้ป่วยเอดส์  ผู้พิการ ไตวายเรื้อรัง เป็นต้นอย่างสมดุล

                ระบบเศรษฐกิจที่ต้องพัฒนาทั้งเขตเมือง และ การกระจายการพัฒนาต่าง ๆ ไปสู่ชนบทอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะการพัฒนาด้านคุณภาพชีวิต มีการพัฒนาที่สมดุลทั้งการสร้างรายได้ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  ซึ่งจะทำให้พี่น้องประชาชนในชนบทไม่ต้องอพยพไปขายแรงงานในกทม. และเขตเมืองต่างๆ  การไม่ทำการเกษตรเชิงเดี่ยวที่ลงทุนสูง แต่ขายในราคาที่ขาดทุน   สะสมมลพิษทางการเกษตรซึ่งเป็นระเบิดเวลาทางสุขภาพต่อไป   การดูแลโรงงาน  แหล่งประกอบต่างๆที่ขาดมาตรฐานในการดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น การปล่อยน้ำเสียลงสู่ชุมชน  การกำจัดขยะที่มีพิษที่ไม่ได้มาตรฐาน   และการเอารัดเอาเปรียบด้านสวัสดิการแก่กลุ่มลูกจ้างที่ยังไม่มีการดูแลที่จริงจัง เช่นการขึ้นทะเบียนประกันสังคม  การใช้แรงงานต่างด้าวที่ขาดการควบคุมดุแลที่เหมาะสม

                ระบบการศึกษา และสังคมวัฒนธรรม  การปฏิรูปการศึกษา คือการปฏิรูปสุขภาพไปด้วยในตัว  จากแนวคิด สุขภาพดีถ้วนหน้า (Health for all )   ไปสู่การมีการเรียนรู้ และสติปัญญาถ้วนหน้าแทน (Learning & Wisdom for all)   เพราะปัจจัยต่างๆที่มีผลต่อสุขภาพรอบตัวย่อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา   สิ่งที่สำคัญจึงเป็นความพร้อม และตื่นรู้ในการเรียนรู้ตลอดเวลาของประชาชนในการเข้าถึง และเข้าใจปัญหาสุขภาพรอบๆ ตัว อย่างมีสติ  เท่าทันในข้อมูลสารสนเทศ  มีการควบคุมสื่อโฆษณาที่เสี่ยงต่อภัยทางสุขภาพ  เช่นสุรา ขนมซองขบเคี้ยวต่างๆ  เป็นต้น  นอกจากนี้ยังรวมไปถึงความรู้ความเข้าใจด้านเพศศึกษา   โรคภัยต่างๆ ที่มีสาเหตุจากการประกอบวิชาชีพทั้งทางเกษตรกรรม อุตสาหกรรม เช่นการป้องกันสารพิษทางการเกษตร  การป้องกันอุบัติภัยจาการทำงาน  เป็นต้น

                ระบบสุขภาพที่ขาดทิศทางที่ชัดเจน  ปล่อยให้ระบบการตลาดแบบทุนนิยมนำระบบสุขภาพ  ในเขตเมืองมี รพ. และบุคลากรต่างๆ เช่น แพทย์ พยาบาลมากมาย  แต่ในชนบทที่ห่างไกล ยากจนกลับขาดแคลนทั้งสถานบริการ และบุคลากร    การเน้นไปที่การพัฒนาการรักษาในระดับทุติภูมิ ตติยภูมิ  แต่  ขาดการให้คุณค่า และการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิที่เป็นยุทธศาสตร์ และมีความต่อเนื่อง  หรือที่เรียกว่าเน้นการซ่อมมากกว่าส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค  ถึงแม้จะมีความพยายาม มารณรงค์มีการสร้างสุขภาพมากกว่าการซ่อม แต่ยังขาดนโยบาย  ความต่อเนื่อง  เครื่องมือในการประเมินผล ระบบค่าตอบแทนที่สร้างแรงจูงใจในการดำเนินงานบริการปฐมภูมิที่เป็นรูปธรรม  ตลอดจนการสร้างจิตสาธารณะด้านสุขภาพ (Health Conscious) ทั้งแก่บุคลากรด้านสุขภาพ และประชาชนโดยทั่วไป

                การจัดให้ประชาชนมีส่วนรวมในการจัดบริการสุขภาพ  เช่นการมีคณะกรรมการพัฒนาบริการภาคประชาชนในสถานบริการทั้งในระดับ สถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป  และโรงพยาบาลศูนย์    รวมไปถึงการมีกองทุนสุขภาพตำบล  สภาผู้บริโภค ที่มีตัวแทนประชาชน และตัวแทนจากฝ่ายผลิต หรือให้บริการเข้ามาเพื่อ แลกเปลี่ยน ทำความเข้าใจ  และตรวจสอบซึ่งกันและกันเพื่อสร้างความมีส่วนรวมในการจัดการด้านสุขภาพรวมกันในทุกระดับ

นอกจากนี้อย่าเน้นแต่การเปลี่ยนโครงสร้างในการปฏิรูประบบต่างๆ  รวมทั้งระบบสุขภาพ ที่สำคัญคือการเปลี่ยนองค์ประกอบอื่นๆ ด้วยเฉพาะอย่างยิ่งที่  จิตใจ  ทัศนคติ   วัฒนธรรม  และคุณธรรมในการทำงาน   รวมไปถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่นระบบบุคลากร (หลักสูตรในการผลิต   การสรรหา คัดเลือก บรรจุ การกระจาย การพัฒนา ค่าตอบแทน ความก้าวหน้า และการประเมินผล)  ระบบเงินงบประมาณ  ระเบียบกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

 

                                                                                                 นพ.พรเทพ  โชติชัยสุวัฒน

                                                                                              ผอ.รพร.นครไทย   10  มี.ค. 2552

หมายเลขบันทึก: 263015เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2009 22:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 17:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท