รู้จักกับ Drupal กันก่อน


Drupal ใช้สร้างเว็บได้ไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องเป็นโปรแกรมเมอร์

บล็อกนี้เป็นซีรีส์ของ คู่มือปรุงเว็บไซต์ฉบับ non-programmer โดยนำเคสของ stylelurf.com มาให้ดูกันครับ จะเป็นการเล่าของการทำเว็บไซต์ยากๆ โดยไม่จำเป็นต้องรู้โค้ด PHP หรือ MySQL ซักนิดเดียว

คราวก่อนเล่าไปถึงการวางแผนไปแล้ว คราวนี้ก็มาถึงทำความคุ้นเคยกับพื้นฐานของดรูปัล (Drupal) กันเลย โดยหลักๆ จะประกอบด้วย 3 ส่วน คือ core, module และ theme (ในมุมมองโปรแกรมเมอร์อาจจะมี 5 ส่วน แต่ช่างมัน)


คอร์ (core) แปลตรงตัวก็แปลว่าแกนหลักของซอฟต์แวร์เลย โดยตัวโปรแกรมที่ดาวน์โหลดมาก่อนหน้านี้ ตัวนั้นทั้งหมดก็คือ คอร์ หรือ ดรูปัลคอร์ ทำหน้าที่เป็นฐานทั้งหมดของโปรแกรม ตั้งแต่ระบบจัดแท็ก จัดการฐานข้อมูล ล็อกอิน ฯลฯ โดยในคอร์ ก็ยังมี module และ theme ส่วนหนึ่งติดมาด้วย


มอจูล (module) หรือถ้าเรียกแบบไทยๆ เราคงเป็น โมดู่ หรือ โมดูล น่ารักเชียว (หากใครได้อ่านผ่านบล็อกนี้สมัยนู้น คงเคยเห็นคำศัพท์อังกฤษหลายคำอย่าง widget หรือ graduation ทีตัว d ไม่ออกเสียงที่เคยเขียนไป) มอจูลเป็นเหมือนชิ้นส่วนชิ้นต่างๆ ที่ประกอบเข้ามาในเว็บไซต์ เพิ่มฟังก์ชันและฟีเจอร์ให้กับเว็บ ถ้าเปรียบเว็บไซต์เป็นอาหารจานเด็ด มอจูลก็เปรียบได้กับวัตถุดิบและเครื่องปรุงอาหาร โดยถ้าเราอยากได้มอจูลตัวไหนเราก็เข้าไปในเว็บไซต์ http://drupal.org/project/modules ดาวน์โหลดมาแล้วติดตั้งในเว็บไซต์เราที่ /sites/all/modules แค่นี้เราก็ได้มอจูลมาใช้ง่ายๆ (ง่ายกว่าโหลดบิตอีก) ถ้ายังนึกภาพไม่ออกว่ามอจูลมันเป็นยังไง ลองเข้าเว็บ stylelurf.com จะเห็นตามภาพ โดย

หน้าแรกจะมีมอจูลหลักๆ ที่เด่นๆ 3 ตำแหน่งคือ

  • Most Lurfs (กลางซ้าย) ที่เป็นสไลด์โชว์ - อันนี้ใช้มอจูล 2 ตัวผสมกัน คือ Viewsและ Views slideshow โดย Views เป็นมอจูลสำหรับดึงข้อมูลจากฐานข้อมูล ส่วนอีกตัวก็ตามชื่อคือสไลด์โชว์ โดยเมื่อเราติดตั้ง เราก็สามารถทำสไลด์โชว์ได้อย่างง่ายดาย
  • Tags (กลางขวา เยื้องมาล่างๆ) - อันนี้ก็เป็นแท็กแบบมีน้ำหนัก โดยแท็กที่มีคนแท็กเยอะ ก็จะตัวใหญ่ อันนี้ใช้มอจูล Tagadelic ติดตั้งเสร็จ ก็เอามาวางในตำแหน่งที่ต้องการ
  • Articles (ล่าง) อันนี้เป็นการแสดงผลแบบแคเรอเซล ถ้าใครได้เข้าเว็บไทยรัฐโฉมใหม่จะเห็นว่ามีแคเรอเซลอยู่ด้านล่างเหมือนกัน ซึ่งตรงนี้ก็ทำได้ไม่ยาก และไม่ต้องไปปล้ำกับโค้ด - อันนี้ใช้มอจูล 2 ตัวคือ  Views และ Views Carousel เหมือนเดิมคือติดตั้งเสร็จ เราก็ได้แคเรอเซลมาใช้ทันที แต่ตัวนี้จะวุ่นนิดหน่อย เพราะต้องปรับขนาด กว้าง ยาว สูง ใน CSS เพื่อให้ได้ขนาดเหมาะสำหรับเว็บเรา

ถึงตรงนี้ คงจะพอเห็นภาพกันแล้วว่ามอจูลคืออะไร เอาไว้ใช้ทำอะไร นอกจากนี้มอจูลพื้นฐานอย่าง comment (มอจูลสำหรับให้คนคอมเมนต์เนื้อหา) poll (สร้างโพลโหวตโพล) blog (สร้างบล็อก) forum (สร้างฟอรั่ม) พวกนี้ก็เป็นมอจูลหลักที่ติดมากับคอร์แล้ว


ธีม (theme) ธีมอันนี้หลายคนคงรู้จักแล้ว ซึ่งก็เป็นเหมือนหน้าตาของเว็บไซต์เรา โดยธีมนั้นไม่ว่าจะดาวน์โหลดหรือจะสร้างเองก็ทำได้ไม่ยาก สำหรับคนเริ่มต้นก็แนะนำให้ดาวน์โหลดมาลองใช้ก่อน แต่หากต้องการทำเว็บไซต์จริงจัง ก็ไม่ควรใช้ธีมที่ซ้ำกับชาวบ้าน ไม่งั้นเว็บเราจะเป็นเว็บโหลได้ในไม่นาน การติดตั้งธีมก็คล้ายมอจูล คืออัปโหลดไปที่ /sites/all/themes เว็บไซต์ที่มีธีมให้ดาวน์โหลดก็มากมาย โดยแนะนำให้เริ่มต้นที่http://drupal.org/project/Themes ซึ่งอันนี้จะเรียงตามตัวอักษร มีหลากหลาย  โดยในเว็บนี้ก็จะมีธีมสวยๆ ของคนไทยเราสร้างไว้ด้วย ไม่ว่า

นอกจากนี้ธีมฟรีสวยๆ ที่ไม่น่าพลาดใน drupal.org เช่น

และอีกเว็บที่น่าสนใจคือ themegarden.org จะเป็นเว็บที่นำธีมใน drupal.org มาพรีวิวให้ดูหน้าตา สำหรับใครที่ไม่มีเวลา เงินหนาแล้วอยากจ่ายเงิน ก็อาจลองแวะดูได้ที่ topnotchthemes.com ก็มีธีมขายมากมาย ตั้งแต่ราคาจากหมื่นกว่าบาทถึงแสนกว่าบาทที่มีขายขาดเลยก็ยังมี

เริ่มเขียนเริ่มยาว แต่ต่ออีกหน่อย โดยสิ่งพื้นฐานที่ควรรู้ในการทำดรูปัล ที่อาจจะงงได้ ได้แก่

  • โหนด (node) เป็นชื่อเรียกเนื้อหาหน้าหนึ่งๆ ในดรูปัล ทุกอย่างเรียกโหนดหมดไม่ว่า บล็อก 1 โหนด, เนื้อหา 1 โหนด, โพล 1 โหนด 
  • แท็กซอนอมี (taxonomy) เป็นชื่อเรียกการจัดแท็ก การจัดหมวดหมู่ ซึ่งค่อนข้างจะงงในคอนเซ็ปต์ แต่ถ้าเข้าใจได้ แล้วจะนำมาใช้ประโยชน์ได้มาก
  • บล็อค (block) เป็นเหมือนตำแหน่งฟรีฟอร์มมาก สามารถนำเนื้อหานำโค้ดไปใส่ในตำแหน่งไหนก็ได้ในหน้าเว็บ นึกภาพ custom code กัน ก็จะอ๋อเลยทีเดียว
  • ธีม (theme) ในดรูปัลนี้จะมีความหมายรวมถึงเทมเพลต (template) ด้วย โดยรวมตั้งแต่ CSS ไปจนถึงไฟล์ PHP ในการเรียกข้อมูลแสดงผล
  • รุ่นของดรูปัลตอนนี้มี 3 รุ่นคือ 5.x, 6.x, 7.x 
    • ณ เวลานี้แนะนำให้ใช้ 6.x เพราะรุ่น 5 ก็เริ่มเก่าแล้ว ส่วนรุ่น 7 ก็ยังพัฒนาอยู่ พวกจุดด้านหลังชื่อรุ่นจะเป็นรุ่นอัปเดตเล็กน้อย อย่างตอนนี้เป็นรุ่น 6.12 หมายถึง ดรูปัลรุ่น 6 อัปเดตความปลอดภัยครั้งที่ 12
    • เวลาดาวน์โหลดมอจูลหรือธีม ดูรุ่นตามรุ่นที่เราใช้ เช่น
      • Views 6.x-2.5  - Views รุ่น 2 (อัปเดตครั้งที่ 5) ใช้สำหรับ ดรูปัลรุ่น 6.x
      • Token 6.x-1.11 - Token รุ่น 1 (อัปเดตครั้งที่ 11) ใช้สำหรับ ดรูปัลรุ่น 6.x
      • นอกจากนี้ก็จะมีรุ่นย่อยอย่าง beta, RC, dev พวกนี้ตามหลังแสดงว่า ยังเป็นตัวที่ไม่สมบูรณ์ แต่พอใช้งานได้ RC (สมบูรณ์ละรอตรวจสอบ), beta (ขั้นทดสอบ), dev (ขั้นพัฒนา ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าใช้)
  • อัปโหลดทุกอย่างลง /sites ไม่ว่าจะเป็น มอจูล หรือ ธีม ทุกอย่างลงในนี้หมด โดยไฟล์มอจูลจะลงใน /sites/all/modules และ ธีมจะลงใน sites/all/themes (ถ้าใครไม่มีสองโฟลเดอร์นี้ก็สร้างเลย) ซึ่งข้อผิดพลาดสำหรับมือใหม่คือ นำมอจูลไปลงใน /modules และธีมลงใน /themes

    Drupal folder
  • สุดท้าย อย่าแก้อะไรในคอร์ (Don't Hack Core!) เป็นเหมือนคติพจน์ในแวดวงดรูปัลเลยก็ว่าได้ เพราะเวลาอัปเดตไปเป็นรุ่นใหม่ จะสร้างความลำบากให้ชีวิตอย่างมาก ซึ่งหากต้องการแก้ไขอะไรให้แก้ในธีมและเทมเพลตของตัวเองก่อนใน /sites

สำหรับคำถามเพิ่มเติมก็เหมือนเคยครับ ถามในคอมเมนต์แล้วจะกลับมาตอบครับ หรือถามในทวิตก็ได้ที่ @manop โดยจะพยายามตอบทุกครั้งที่เจอครับ แต่ช่วงนี้จะไม่อยู่แอบไปเที่ยว ช่วงอาทิตย์หน้าคงมีแต่ทวิตเรื่องเที่ยว

 

หมายเลขบันทึก: 262762เขียนเมื่อ 22 พฤษภาคม 2009 23:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะ ดิฉันต้องใช้เวลาอ่านนานนิดหนึ่งค่ะ ... ความฝันอยากมีเวปไซด์สวยๆ ดีๆ

แต่ไม่มีความรู้ เลยสักนิดหนึ่ง ...ขอเก็บความรู้ หน่อยนะค่ะ ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท