อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ : รอยเปื้อนที่ลบไม่ได้


การรู้หนังสือเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป ความจำเป็นที่ต้องรู้เท่าทันในการใช้ข้อมูลข่าวสาร (IT Literacy) ของผู้คนในสังคมยุคใหม่ที่เปรียบเสมือนการรู้หนังสือด้วยเช่นกัน... ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในด้านการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่นคอมพิวเตอร์หรือการใช้อินเทอร์เน็ต ตลอดจนความสามารถใช้ความคิด วิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูลข่าวสาร การเคารพในสิทธิของผู้อื่น เหนืออื่นใดจริยธรรมในการใช้ข้อมูลและเครื่องมือ สื่อสาร ก็ควรเป็นสิ่งบูชาสูงสุดดังที่ฮันนาเธอบูชาคุณค่าความดีด้วยชีวิต...

       บ่ายวันนั้น...ไมเคิล เด็กหนุ่มอายุ 15 ปี ลงจากรถราง เขาเกิดป่วยขึ้นมากระทันหัน เดินโซเซ ปวดหัวคลื่นไส้และอาเจียนออกมาจวนจะหมดสติ จู่ๆ ผู้หญิงคนหนึ่งที่มาจากไหนไม่รู้ก็เข้ามาช่วยเหลือเธอเช็ดหน้าและล้างคราบอาเจียนที่เปรอะเปื้อนให้ และพาเขามาส่งที่หน้าบ้าน ไมเคิลนอนพักรักษาตัวอยู่หลายวันจนหายป่วย ในใจก็คิดถึงผู้หญิงที่ใจดีคนนั้นอยู่เสมอ ด้วยความพยายามไมเคิลจึงได้มาที่ห้องพักของเธอพร้อมช่อดอกไม้เพื่อขอบคุณ...

     นี่คือจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของหนุ่มอายุ 15 กับสาวใหญ่อายุ 36 อย่าง ฮันนา พนักงานตรวจตั๋วรถราง แม้อายุจะอ่อนกว่าฮันนาเกือบสองรอบ แต่บางอย่างในตัวฮันนาปลุกเร้าความรู้สึกเขา แล้วความสัมพันธ์ของคนทั้งสองก็จมดิ่งลงสู่ห้วงเหวแห่งไฟตัณหาราคะ เลิกเรียนทุกวันไมเคิล จะตรงดิ่งมาหาฮันนาที่ห้องฮันนาเห็นหนังสือนิยายที่ไมเคิลถือติดมือมา เธอขอร้องให้เขาอ่านให้เธอฟัง ฮันนาซาบซึ้งใจมาก เธอหัวเราะและ ร้องไห้ไปกับเรื่องราวของตัวละครที่ไมเคิลอ่านให้ฟัง ความสัมพันธ์ของคนทั้งสองดำเนินไปด้วยดี ฮันนาให้ความสุขกับไมเคิล ส่วนไมเคิลอ่านหนังสือให้เธอฟัง ความรักของคนทั้งสองสุกงอมหอมกรุ่น...

 

     จนกระทั่ง วันหนึ่ง เมื่อฮันนารู้ว่าเธอได้เลื่อนขั้นเป็นเสมียน เธอเก็บข้าวของแล้วจากไมเคิลไปโดยไม่ร่ำลา ปล่อยให้ไมเคิลตกอยู่ในห้วงแห่งความทุกข์ทรมานและสับสน แต่เขากลับโทษตัวเองที่ทำให้ฮันนาจากไป สาวใหญ่ผู้ร้อนแรงที่ชอบให้เขาอ่านนิยายให้ฟังจากไปนานแสนนาน หลายปีต่อมา ระหว่างที่ไมเคิลเรียนที่โรงเรียนกฎหมาย เขาได้เข้าฟังการพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม ผู้ต้องหาในคดีนี้คือผู้คุมหญิงหน่วยตำรวจลับนาซี ค่ายกักกันออสซวิตส์ ที่ถูกตั้งข้อหาปล่อยให้เชลยหญิงชาวยิว 300 คนถูกไฟคลอกตายในโบสถ์ โดยไม่ยอมเปิดประตูให้เชลยยิวออกมา

 

       คดีนี้ดึงดูดให้ไมเคิลสนใจเข้าฟังเพราะผู้ต้องหาคดีนี้ แม้จะไม่เห็นหน้าแต่เสียงของเธอซึ่งไม่ได้ยินมานานแสนนานแล้วไมเคิลก็จำได้ดีว่าเป็นฮันนา ตลอดการพิจารณาคดีหัวใจของไมเคิลแทบสลายเมื่อฟังคำให้การของฮันนาถึงสาเหตุที่ไม่เปิดประตูให้ชาวยิวออกมา และฮันนายังถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเขียนรายงานเรื่องไฟไหม้โบสถ์ ตอนแรกเธอปฏิเสธว่าไม่ได้เขียนแต่เมื่อศาลจะให้เปรียบเทียบลายมือกันฮันนากลับยอมรับทันทีว่าเธอเป็นคนเขียนรายงานฉบับนั้น แต่สำหรับไมเคิล เขารู้ความลับของฮันนามานานแล้วว่าเธออ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เธอไม่รู้หนังสือ... นี่เป็นความลับที่ฮันนาคิดว่าน่าละอายยิ่งกว่าการเป็นอาชญากรนาซี การที่ฮันนาเลือกหญิงชราชาวยิว มาอ่านหนังสือให้เธอฟังก่อนจะส่งเชลยเหล่านั้นเข้าห้องแก๊สพิษนั้นเธอทำไปเพื่ออะไร...เพื่อให้พวกเขารื่นรมย์ก่อนตายหรือเพื่อให้ความลับนี้ตายตามเชลยไป ไมเคิล น่าจะเปิดเผยความลับของฮันนาซึ่งจะทำให้เธอได้รับโทษน้อยลงแต่เขาก็ปล่อยให้มันผ่านไป เขาสับสนที่ปล่อยให้ฮันนาเผชิญชะตากรรมตามลำพัง

        ไมเคิลไม่เคยลืมฮันนาและไม่มีใครเลยจะมาแทนที่เธอได้ ไมเคิลกลับมาถึงบ้านเห็นหนังสือกองโตที่เคยอ่านให้ฮันนาฟัง เขาไถ่ บาปโดยการอ่านหนังสือใส่เทปส่งให้ฮันนาฟังในคุก เป็นเวลานับสิบปี เขายังคงทำตัวเป็น “คนอ่านหนังสือ” ให้ฮันนา ส่วนฮันนาเริ่มหัดอ่านเขียนจนพอจะอ่านออกเขียนได้บ้างแล้ว การอ่านออกเขียนได้ทำให้ฮันนารับรู้เรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวหนังสือที่เธออ่าน รวมทั้งเรื่องราวในค่ายกักกันของนาซีซึ่งมีแต่ความโหดร้าย ความทุกข์ ทรมานของเชลย รวมทั้งการพบกันครั้งสุดท้าย ส่งผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจของฮันนาอย่างรุนแรง สำหรับไมเคิลเขายังคงรอคอยวันที่ฮันนาจะได้อิสรภาพเพื่อใช้ชีวิตร่วมกันอีกครั้ง...

     แต่วันนั้นก็มาไม่ถึง หนึ่งสัปดาห์ก่อนที่จะได้พบกับอิสรภาพ ฮันนาผูกคอตายในคุก แม้รอยเปื้อนจากการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ของเธอจะลบเลือนไปแล้ว แต่ปริศนาคำถามที่ว่าเธอจะต้องมีชีวิตอย่างไรภายใต้เงาดำของผู้ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นอาชญากรสงคราม เป็นความชั่วร้ายเกินกว่าจะก้มหน้ายอมรับหรือย่อยยับเกิน กว่าจะฟื้นมันขึ้นมาอีก...

แม้ว่าไมเคิลและฮันนา จะเป็นชีวิตของตัวละครในนิยายอันโด่งดังและกลายเป็นภาพยนตร์ที่เข้าชิงรางวัลออสการ์ในชื่อ The Reader (ในอ้อมกอดรักไม่ลืมเลือน) แต่ผมก็เชื่อว่าชีวิตจริงของคนในสังคมที่ต้องอาศัยการอ่านเขียนในการสื่อสารเป็นพื้นฐานนั้น การอ่านออกเขียนได้ (Literacy) เป็นสิ่งที่มีค่ามีความสำคัญเท่าชีวิตเลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมในอดีตที่มีตัวหนังสือเป็นสื่อหลัก และสำหรับสังคมยุคข้อมูลข่าวสารที่ต้องการความรู้ในการขับเคลื่อนด้วยละก็ การรู้หนังสือเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป

 

          ความจำเป็นที่ต้องรู้เท่าทันในการใช้ข้อมูลข่าวสาร (IT Literacy) ของผู้คนในสังคมยุคใหม่ที่เปรียบเสมือนการรู้หนังสือด้วยเช่นกัน...ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในด้านการใช้เครื่องมือสื่อสาร เช่นคอมพิวเตอร์หรือการใช้อินเทอร์เน็ต ตลอดจนความสามารถใช้ความคิด วิจารณญาณในการเลือกรับข้อมูลข่าวสาร การเคารพในสิทธิของผู้อื่น เหนืออื่นใดจริยธรรมในการใช้ข้อมูลและเครื่องมือสื่อสาร ก็ควรเป็นสิ่งบูชาสูงสุดดังที่ฮันนาเธอบูชาคุณค่าความดีด้วยชีวิต...

 

     การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ทางภาษามีความสำคัญต่อศักดิ์ศรีของฮันนาเพียงใดเราคงเข้าใจได้ดี และคงเข้าใจยิ่งขึ้นไปอีกว่า ในสังคมยุคปัจจุบันนี้หากเด็กสักคนที่ได้เข้ามาสู่รั้วโรงเรียนของเรา ใช้ชีวิตอยู่เป็นเวลาหลายปีแล้วจบออกไปโดยที่เขา “อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้” นั้นจะรู้สึกเช่นไร มันคงจะเหมือนรอยเปื้อนของชีวิตบริสุทธิ์ ที่เราทุกคนต้องช่วยกันลบให้หมดไปจากดวงใจของศิษย์ทุกคนมิใช่หรือ...

หมายเลขบันทึก: 262230เขียนเมื่อ 20 พฤษภาคม 2009 08:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะ

*** แวะมาทักทาย

*** และขอขอบคุณสำหรับการให้ข้อมูลดีๆค่ะ

  • เย้ๆๆ
  • ดีใจที่ได้อ่านเรื่องอาจารย์อีก
  • หายไปนานมากๆๆ
  • เป้นสิ่งสำคัญนะครับกับการอ่าน
  • บ้านเรา บางทีอาจไม่มีอะไรดีๆๆให้เด็กอ่านมากกว่าที่เด็กๆๆอ่านหนังสือน้อยครับ

ขอบพระคุณท่านอาจารย์ขจิตมากครับที่กรุณาติดตาม...ช่วงนี้หากจะแก้ตัวก็ต้องบอกว่าไม่ค่อยว่างเลยครับ อิอิ...

เป็นบทความที่เสนอแนวคิดที่ดี..แต่วันนี้ยังมีเด็กไทยที่ด้อยโอกาสอีกเยอะที่รอคอย... ให้ลบรอยเปื้อน จากการอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ จะมียางลบวิเศษสักกี่อันที่จะสานฝันสู่รอยยิ้มที่สดใสให้เขามีกำลังใจสู้กับคำว่า"เขลา" ไปสู่แสงสว่างแห่งปัญญาและสังคมแห่งการเรียนรู้ที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน...ค่ะ

เรียนคุณ ศิลป์ชัย  เทศนา

อ่านแล้วประทับใจมากครับ

จะพยายามช่วยลบรอยเปื้อนอีกแรงครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท