ผู้ปฏิบัติธรรมไม่มีใครไม่รู้จัก ไม่เคยเจอ นิวรณ์5 เพราะพอเริ่มต้นก็เจอกันทุกคน นิวรณ์ 5 จึงได้สมญานามว่า "ข้าศึกแห่งสมาธิ" เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำสมาธิ ถ้านิวรณ์ตัวใดตัวหนึ่ง หรือหลายตัวเกิดขึ้นแล้ว เราจัดการกับมันไม่ได้ สมาธิก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยค่ะ ซึ่งนิวรณ์ 5 นี้ไม่เป็นตัวขวางกั้นวิปัสสนากรรมฐานค่ะ ทั้งยังเป็นประโยชน์แก่วิปัสสนาอีกด้วย เพราะวิปัสสนานั้นเป็นการเรียนรู้ธรรมชาติของสรรพสิ่ง รู้ทุกอย่าง ด้วยใจที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง รู้โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ไม่ว่าขณะนั้นอะไรจะเกิดขึ้น ก็ให้รู้ลูกเดียวเลย นิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง ๆ ของจิตที่เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ให้เห็นถึงไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ ความว่างเปล่า ไม่มีตัวตน เมื่อนิวรณ์ยังไม่สงบลง ความตั้งมั่นของจิตที่จะเป็นสมาธิ ย่อมเป็นไปไม่ได้..
นิวรณ์
คืออะไร
นิวรณ์ คือสิ่งที่ขวางกั้นจิตทำให้สมาธิไม่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุคุณความดี, อกุศลธรรมที่ทำจิตให้เศร้าหมองและทำปัญญาให้อ่อนกำลัง นิวรณ์ 5 เป็นเครื่องกั้นจิต ไม่ให้ตั้งมั่น ไม่ให้บรรลุถึงความดีงาม และความดีงามที่ว่า ความตั้งมั่นที่ว่า ก็คือ .."สมาธิ"..!
และสมาธิ
จัดเป็นความดีงามประการหนึ่ง ในหัวใจแห่งพระพุทธศาสนา..
ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ที่ประกอบด้วย ..ศีล..สมาธิ...ปัญญา..!
นิวรณ์ มี 5
อย่างคือ
1.กามฉันทะ คือ ความยินดี พอใจ เพลิดเพลินในกามคุณอารมณ์ (คำว่ากามในทางธรรมนั้น ไม่ได้หมายถึงเรื่องเพศเท่านั้น) ได้แก่ ความยินดี พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ(สิ่งสัมผัสทางกาย) อันน่ายินดี น่ารักใคร่พอใจ รวมทั้งความคิดอันเกี่ยวเนื่องด้วยรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้น แบบว่า ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ ก็รู้สึกชอบ ยินดี พอใจกับอะไรบางอย่าง ทำให้มีความสุข สบายใจ ก็หลงๆตามไป ก็ลืมภาวนา แล้วหลุดจากสมาธิไปเลยค่ะ เฮ้อ...
2.พยาปาทะ คือ ความโกรธ ความพยาบาท ความไม่พอใจ ขัดเคืองใจ แบบว่า ปฏิบัติธรรมเจริญภาวนาอยู่ ก็รู้สึกโกรธ เกลียดอันโน้น อันนี้ คนโน้นคนนี้ หรือใครที่ทำให้เราไม่พอใจเจ็บใจ เจ็บแค้น อยู่ๆก็ไปนึกถึงเค้า ภาวนาไปโกรธไปก็ไม่ได้อะไรค่ะ โดนกิเลสเอาไปกินซะแล้ว เฮ้อ...
3.ถีนมิทธะ แบ่งเป็น “ถีนะ” และ “มิทธะ” ซึ่งจะมีอาการแสดงออกที่คล้ายกันมาก คือ ทำให้เกิดอาการเซื่องซึมเหมือนกัน แต่มีสาเหตุที่ต่างกันคือ
ถีนะ คือ ความหดหู่ท้อถอย เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เกิดจากการปรุงแต่งของจิต ทำให้เกิดความย่อท้อ เบื่อหน่าย ไม่มีกำลังที่จะทำความเพียรต่อไป แบบว่า เบื่อๆ เหงาๆ ขี้เกียจๆ อยากกลับบ้าน ไม่อยากเจริญภาวนาต่อ ประมาณว่า “ทำไปทำไมเนี่ย” “ฉันมาทำอะไรที่นี่” โอ๊ย..เซ็ง..
มิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน เกิดจากความเมื่อยล้าอ่อนเพลียของร่างกาย หรือจิตใจจริง ๆ เนื่องจากตรากตรำมามาก หรือขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ หรือการรับประทานอาหารที่มากเกินไป มิทธะนี้ไม่จัดเป็นกิเลส (พระอรหันต์ไม่มีถีนะแล้ว แต่ยังมีมิทธะได้เป็นบางครั้งค่ะ) แบบว่า หนังตาหนัก หนังท้องตึง ง่วงอยากนอน คิดถึงที่นอน คิดถึงการนอนหลับสบาย ภาวนาไปก็ผงกหัวไป มันรู้สึกวืดไป วืดมา แพรเจอตัวนี้ตั้งแต่แรกเลยค่ะ เจอกันบ่อย แค่คิดจะภาวนาก็จะโผล่มาทักทายกันแล้ว บางทีสู้ไม่ไหวก็ปล่อยให้มันหลับไปเลยค่ะ แฮะๆๆ
4.อุทธัจจกุกกุจจะ แบ่งเป็น “อุทธัจจะ” และ “กุกกุจจะ”
อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านของจิต การที่จิตไม่สามารถยึดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้เป็นเวลานาน จึงเกิดอาการฟุ้งซ่าน คิดเลื่อนลอย คิดเรื่อยเปื่อย ไปเรื่องนั้นที เรื่องนี้ที แบบว่า มันคิดโน้น คิดนี้ คิดได้สารพัด แล้วก็ดึงเราไปไกลจากสมาธิ ที่ครูบาอาจารย์คอยว่าไว้ว่า “อย่าส่งจิตออกนอก” อันนี้แหละค่ะ ตัวร้ายเลย มาเป็นเรื่องเป็นราว เราก็เพลินตามมันไป หลุดจากสมาธิทันที
กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจ เกิดจากความกังวลใจ หรือไม่สบายใจถึงอกุศล เรื่องไม่ดี เรื่องที่เราทำผิดพลาดไป ที่ได้ทำไปแล้วในอดีต ว่าไม่น่าไปทำอย่างนั้นเลย ถ้าย้อนกลับไปได้จะไม่ทำอย่างนั้นอีก แล้วจะทำอะไรต่อไปแบบนั้น แบบนี้ หรือบุญกุศลต่างๆ ที่ควรทำแต่ยังไม่ได้ทำ ว่าน่าจะได้ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แบบว่า ภาวนาอยู่ดีๆ ดันไปคิดเรื่องเศร้าๆ ให้มันเหงาๆหัวใจเล่น พาความทุกข์เข้ามาจูงให้เราเดินออกนอกเส้นทางที่ตั้งใจไว้ ยิ่งใครเคยอกหักมาก่อนนะ ตัวนี้แหละพามาเลยค่ะ หักอกใครมาหรือถูกหักอกซะเอง ก็พามาเลยทั้งเหตุการณ์ สถานที่และบุคคล (ดีนะไม่ใส่วัน เวลาให้ด้วย 55)
5.วิจิกิจฉา คือ ความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ อยากรู้ อยากเห็นเรื่องนั้น เรื่องนี้ หรือไม่ปักใจเชื่อว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด หรือควรทำแบบไหนดี จิตจึงไม่อาจมุ่งมั่นในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งได้อย่างเต็มที่ สมาธิจึงไม่เกิดขึ้น แบบว่า สงสัยๆ เห็นอะไรก็สงสัย จินตนาการไปเรื่อย สงสัยมาก คาดเดาสาเหตุ คาดเดาคำตอบ อยากรู้ความจริง ไม่ถามหลวงพ่อไม่ได้แล้ว อยากถามหลวงพ่อ อยากรู้คำตอบเพื่อความมั่นใจ ว่าที่เราสงสัยน่ะ เป็นความจริง เห็นไหมค่ะ..ไปไกลกู่ไม่กลับอีกแล้ว ลืมตัวแล้วค่ะว่ากำลังภาวนาอยู่
นิวรณ์ทั้ง 5 ตัวนี้นะคะ มีเฉพาะ “อุทธัจจะ” เท่านั้นที่เกิดขึ้นตัวเดียวได้ค่ะ ส่วนนิวรณ์ตัวอื่น ๆ นะคะ เมื่อเกิดจะเกิดขึ้นร่วมกับอุทธัจจะเสมอค่ะ ไม่ฉายเดี่ยว บางทีก็มากันเป็นทีม สนุกสนาน พาเราออกไปไกลเลยค่ะ พวกนี้แหละที่พาเราเดินหลงทาง ไปไม่ถึงบ้านสักที
เค้าบอกว่า ปุถุชน ผู้ไม่ได้สดับตรับฟังพระธรรม ..จะไม่รู้จักนิวรณ์ 5
จะไม่รู้วิธีทำจิตให้สงบจากนิวรณ์ 5 ให้สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย..
อริยสาวก ผู้สดับพระธรรม ศึกษาพระธรรม ปฏิบัติตามคำสอน คำแนะนำ..
จะสามารถสงบนิวรณ์ 5 ได้..และสุดท้ายจะ สยบได้อย่างเด็ดขาด..! (อืม..)
ตั้งใจที่จะระงับนิวรณ์5 จิตเริ่มมีสมาธิ
ระงับนิวรณ์ 5 ได้ จิตเริ่มเป็นฌาน
ตัดนิวรณ์ 5 ได้แบบถอนรากถอนโคน เป็นพระอริยะบุคคลขั้นสูงสุด
วิธีแก้ไขนิวรณ์ 5 เมื่อนิวรณ์เกิดขึ้นมีวิธีแก้ดังนี้คือ
ขอมาเล่าต่อวันหน้านะคะ...
กำลังเริ่มต้นศึกษาธรรมะ อย่าลืมมาต่อนะคับ...จะรออ่าน
ขอบคุณนะคะที่ติดตาม
จะพยายามเขียนลงให้อ่านเร็วที่สุดค่ะ
มีเรื่องอยากจะเล่ามากมายค่ะ
ได้มากจริงๆก็ตอนที่ไปปฏิบัติธรรมนี่แหละค่ะ
เข้าใจแจ่มชัด กระจ่าง สว่าง สงบค่ะ
สาธุ สาธุ สาธุ
ธรรมะไม่มีวันตาย
การให้ธรรมะ ชนะการให้ทั้งปวง
ขอบคุณคำแนะนำดีๆ ขอบุญรักษาคุณความดีรักษา ตลอดกาลนานเทอญ
ขอบพระคุณมากค่ะ. ที่ให้แสงสว่างทางธรรม. ขอติดตามเรื่อยๆ ค่ะ