สารสะเดาทำให้พืชใบเหลืองจริงหรือ?


ใช้สารสะเดาอย่างไรไม่ให้เป็นพิษ

ส่งเสริมการใช้สารสกัดจากพืชทดแทนสารเคมีในการกำจัดแมลงศัตรูพืชมานาน ได้รับคำถามเสมอว่า สารสกัดที่ได้จากสะเดา หรือ สะเรียม ทำให้ผักใบเหลืองจึงทำให้ไม่กล้าใช้ และไม่อยากใช้ในที่สุด เรื่องนี้ย่อมมีเหตุ จึงอยากอธิบายก่อน ว่า สะเดาเป็นพืชท้องถิ่นที่มีอยู่ทั่วไป ดอก และยอดอ่อน ออกตามฤดูกาลใช้บริโภค ส่วนใบ และเมล็ด ใช้กำจัดเห็บ เหา และใช้เป็นสารไล่แมลงมาช้านานแล้ว โดยมากเกษตรกรมักใช้ใบเพราะมีมาก หาง่าย ส่วนเมล็ดหายาก ออกแค่ปีละครั้ง ใบใช้ตำ หรือโขลกให้ใบซ้ำ ก่อนนำลงแช่นำไว้ 1 คืน แล้วนำน้ำไปฉีดพ่นเป็นสารไล่แมลง ไม่ปรากฏว่าใบสะเดามีพิษทำให้พืชผัก หรือพืชชนิดใดใบไหม้ หรือใบเหลืองมาก่อน จึงวางใจได้ แต่ที่ทำให้พืชผักบางชนิดใบเหลือง หรือแห้ง เป็นการใช้เมล็ดสะเดาตากแห้งมาบด และนำไปแช่นำเพื่อฉีดพ่นแมลง ที่เป็นเช่นนี้เพราะในเมล็ดสะเดานอกจากจะมีสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลงมากที่สุดแล้ว ยังมีน้ำมันสะเดาอีกด้วย นำมันสะเดานี้เองเมื่อฉีดพ่นด้วยความเข็มข้นสูงๆ ลงไปบนพืช โดยเฉพาะพืชที่มีนวลใบ เช่น คะน้า กะหลำปลี บล็อคโคลี่ หอมแบ่ง หอมแดง หอมจีน มักทำให้พืชแสดงอาการเหลือง สลด แต่หากไม่รุนแรงมากจะฟื้นภายใน 2-3 วัน ฉนั้นเกษตรกรที่ต้องการนำสะเดามาใช้ในการฉีดพ่นพืชผักจึงควรปฏิบัติดังนี้เพื่อป้องกันการเหลืองจากพิษของนำมันสะเดา 1.หากใช้เมล็ดสะเดาบดแช่นำฉีดพ่นควรใช้ในอัตราที่ถูกต้อง คือ เมล็ดสะเดาบด 1 กก./น้ำ 20 ลิตร 2.ควรผสมสารจับใบทุกครั้งในการฉีดพ่น หรือ ใช้นำยาล้างจานแทนได้ ในอัตรา 2-3 ซีซี/น้ำ 20 ลิตร 3.ควรฉีดพ่นสะเดาในเวลาเย็น เพื่อ ลดการแผดเผาของแสงแดด ซึ่งจะทำให้น้ำมันสะเดาร้อนและเป็นพิษต่อใบพืชรุนแรงขึ้น 4.หรือ ใช้สารสกัดสะเดาสำเร็จรูป ซึ่งในขณะนี้เมืองไทยมี 2-3 บริษัทที่มีคุณภาพ ซึ่งได้สกัดเอาน้ำมันสะเดาออกจากเมล็ดไว้แล้ว จึงไม่เป็นพิษต่อใบพืช การใช้สารสกัดจากพืชต้องใช้ด้วยความรู้ และความเข้าใจจึงจะประสบผลสำเร็จที่ดีครับ ลองดูนะครับ.......

หมายเลขบันทึก: 261135เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 13:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แต่ที่ทำให้พืชผักบางชนิดใบเหลือง หรือแห้ง เป็นการใช้เมล็ดสะเดาตากแห้งมาบด และนำไปแช่นำเพื่อฉีดพ่นแมลง ที่เป็นเช่นนี้เพราะในเมล็ดสะเดานอกจากจะมีสารที่มีฤทธิ์ในการป้องกันกำจัดแมลงมากที่สุดแล้ว ยังมีน้ำมันสะเดาอีกด้วย นำมันสะเดานี้เองเมื่อฉีดพ่นด้วยความเข็มข้นสูงๆ ......มักทำให้พืชแสดงอาการเหลือง สลด

มีข้อสงสัยใคร่เรียนถามครับ

  1. เมล็ดสะเดาสด ใช้ในกรรมวิธีเดียวกับเมล็ดสะเดาแห้ง จะได้ผลในการกำจัดแมลงเหมือนกันกับเมล็ดสะเดาแห้งหรือไม่ครับ
  2. ระหว่างใบสะเดา กับเมล็ดสะเดา อย่างไหนใช้กำจัดแมลงได้ดีกว่ากันครับ
  3. ใบหรือเมล็ดของต้นควินิน  จะใช้กำจัดแมลงได้เช่นเดียวกับใบและเมล็ดสะเดาหรือไม่ครับ

จะติดตามผลงานของท่านต่อไปครับ....ขอบคุณครับ 

 

 

ขอบคุณ คุณก้ามกุ้งที่ติดตามบันทึกครับ

ตอบคำภามครับ

1.เท่าที่ทราบระยะที่เมล็ดสะเดาจะมีสารอะซาดิแรกติน และสารอื่นที่มีฤทธิ์ไล่และกำจัดแมลงกว่า 50 ชนิด สูงสุดคือ ช่วงลูกสุกแก่ สีเหลืองที่ค้างต้น วิธีการเก็บที่ถูกต้องคือ เก็บขณะลูกแก่ค้างต้น ไม่ปล่อยให้ร่วงหล่นลงดิน เพราะจะมีเชื้อราบางชนิดทำให้สารธรรมชาติเหล่านั้นสลายตัวลดลงไป ลูกสะเดาที่เก็บแล้วต้องรีบขัดเปลือกออก และนำเมล็ดที่ได้ตากแดดให้แห้ง ไม่เกิน 2 แดด เก็บในถุงตาข่ายพลาสติกที่ไม่เก็บความชื้น และเก็บในห้องเย็น ไว้ได้ประมาณ 1 ปีครับ ส่วนเมล็ดสะเดาดิบก็สามารถใช้ได้แต่มีสารที่มีฤทธิ์ไล่แมลงน้อยกว่าครับ การใช้อาจใช้ในปริมาณที่มากว่าการใช้เมล็ดสะเดาแห้ง เช่น 2-3 กก./นำ 20 ลิตรครับ

2.ในทุกส่วนของต้นสะเดา ส่วนที่มีสารที่มีฤทธิ์ในการไล่-กำจัดแมลงมาก คือ เมล็ด ราก เปลือก ใบ ตามลำดับครับ การใช้ใบก็จะมีฤทธิ์กำจัดแมลงน้อยกว่าเมล็ดครับ ดังนั้นหากหาเมล็ดไม่ได้จะใช้ใบสะเดาแทนก็ควรใช้ในปริมาณที่มากกว่าเมล็ดเช่นเดียวกับการใช้เมล็ดดิบครับ

3.หากต้นควินินที่คุณก้ามกุ้งพูดถึง หมายถึงต้นควินินที่ใช้รักษาไข้จับสัน(มาลาเรีย) นั้น เท่าที่ทราบขณะนี้ยังไม่เคยมีการทดลองนำมาใช้ในการกำจัดแมลงครับ อาจเป็นเพราะควินินขึ้นในป่าลึกหายาก แต่ตอนที่ผมทำงานที่ อ.แม่สะเรียง เคยใช้เปลือกต้นควินินมาเป็นส่วนผสมในร่วมกับ บอระเพ็ด หางไหล กากยาสูบ สะเดา ในการควบคุม แมลงบั่วที่ทำให้ข้าวเป็นหลอดหอมครับ ได้ผลดีระดับหนึ่ง แต่ที่ดีมากว่า คือ ลดการเกิดโรคใบไหม้ครับ อาจเป็นผลจากควินินก็ได้นะครับ(ไม่รับรอง)

สาระ ครับ ขอบคุณผู้ที่โพสข้อมูลดีๆ ครับผม ^^

ควินินที่หมายถึง คงไม่ใช่ต้นซิงโคน่า แต่เป็นสะเดาอินเดีย ที่เรียกควินินเหมือนกัน

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท