หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฯ ๓: ทำด้วยสติ


ในร่างกฎกระทรวงข้อ ๒ ที่กล่าวถึงหลักเกณฑ์ วิธีการทำหนังสือแสดงเจตนา มีดังต่อไปนี้

๒.๑ เพื่อให้หนังสือแสดงเจตนา มีความชัดเจนที่จะดำเนินการตามความประสงค์ของผู้ทำหนังสือดังกล่าว หนังสือแสดงเจตนาควรมีข้อมูลให้สามารถสื่อความหมายได้ ดังนี้
  ก. รายการที่แสดงข้อมูลของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา (เช่น ชื่อ สกุล อายุ หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้)
  ข. วัน เดือน ปีที่ทำหนังสือแสดงเจตนา
  ค. ชื่อพยานและคุณสมบัติของพยานที่รับรองสติสัมปชัญญะของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา (ถ้ามีใบรับรองแพทย์ก็ให้แนบไว้กับหนังสือแสดงเจตนาด้วย)
  ง. ระบุประเภทของบริการสาธารณสุขที่ไม่ต้องการจะได้รับ และกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพให้บริการไปก่อนหน้าแล้ว ก็ให้ระบุข้อความว่า ให้ระงับการให้บริการนั้นได้
  จ. กรณีที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา มิได้เขียนหนังสือแสดงเจตนาด้วยตนเอง ให้ระบุชื่อผู้เขียนหรือผู้พิมพ์หนังสือแสดงเจตนาด้วย
  ฉ. ลายมือชื่อหรือลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ลายมือชื่อของพยาน และ ผู้เขียนหรือผู้พิมพ์


๒.๒ หนังสือแสดงเจตนาอาจระบุชื่อบุคคลใกล้ชิด ที่ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาให้ความไว้วางใจ ซึ่งต้องเป็นผู้มีความสามารถสมบูรณ์ตามกฎหมายไว้ด้วยก็ได้ เพื่อทำหน้าที่ตัดสินใจตามความประสงค์ที่แท้จริงของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา รวมทั้งกรณีที่หนังสือแสดงเจตนาระบุให้บุคคลดังกล่าว
เป็นผู้ตัดสินใจปฏิเสธการรักษาใดๆ แทนตนก็ได้ บุคคลผู้ถูกระบุชื่อดังกล่าวต้องแสดงการยอมรับ โดยต้องลงลายมือชื่อไว้ในหนังสือแสดงเจตนาไว้ด้วย


๒.๓ ผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาอาจเปลี่ยนแปลงหนังสือแสดงเจตนาได้ตลอดเวลา ในกรณีมีหนังสือแสดงเจตนาหลายฉบับ ให้ถือฉบับที่ทำครั้งสุดท้ายเป็นฉบับที่มีผลบังคับ


๒.๔ หนังสือแสดงเจตนาอาจระบุรายละเอียดอื่นๆ เช่น ความประสงค์ในการเสียชีวิตที่บ้าน ความปรารถนาของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาที่จะได้รับการเยียวยาทางจิตใจ ซึ่งหมายรวมถึงการสวดมนต์ การปฏิบัติตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนา ทั้งนี้ สถานพยาบาลควรให้ความร่วมมือตามความเหมาะสม


ข้อ ๒.๑.ค. กฏกระทรวงนี้ให้ความสำคัญกับสติสัมชัญญะของผู้แสดงเจตนา โดยจะต้องมีพยานรับรองด้วย ซึ่งสำคัญมาก ผมเห็นว่า นอกจากผู้แสดงเจตนาจะต้องมีสติสัมปชัญญะแล้ว ยังต้องแสดงเจตนาอย่างเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำด้วยความทุกข์ทรมานที่ได้รับอยู่ทางทั้งร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ เช่น ความรู้สึกผิดที่เป็นภาระต่อผู้อื่นด้วย

มีคนไข้จำนวนมาก ขณะมีความทุกข์ทรมานโดยเฉพาะทางร่างกาย จึงไม่ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ต่อไป จนกระทั่งเรียกร้องหาความตาย แต่เมื่อเขาได้รับการดูแลแบบประคับประคองที่ดี ความทุกข์ทรมานนั้นได้บรรเทาลง หลายคนกลับจำไม่ได้ด้วยซ้ำว่าเคยเรียกร้องหาความตายเช่นนั้น การแสดงเจตนาในขณะที่ยังมีความทุกข์ทรมานอยู่ จึงเป็นการแสดงเจตนาที่ไม่เป็นอิสระจริง

ในขณะเดียวกัน คนไข้จำนวนหนึ่งโดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่รู้สึกว่าเมื่อตนเองเจ็บป่วย ก็ไม่อยากรับการรักษาต่อไป เพื่อจะได้ไม่เป็นภาระของครอบครัว ของลูกหลาน  การแสดงเจตนาบนความรู้สึกเช่นนี้ ก็เป็นการแสดงเจตนาที่ไม่เป็นอิสระจริง


ข้อ ๒.๑.ง. การที่กฏกระทรวงให้ระบุข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบวิชาชีพ ให้บริการไปก่อนหน้าแล้ว ให้ระงับการให้บริการนั้นได้ ในหนังสือแสดงเจตนาฯ ผมเห็นว่า จะทำให้หนังสือแสดงเจตนาฯนี้ มีประโยชน์ในทางปฏิบัติจริงที่พบบ่อย มากขึ้น

ส่วนใหญ่ บุคลากรสุขภาพมักจะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยไปก่อน เช่น กรณีฉุกเฉิน หรือยังไม่ทราบว่ามีหนังสือแสดงเจตนาฯ แต่หลังจากทราบว่าผู้ป่วยได้แสดงเจตนาไว้แล้ว จะช่วยให้บุคลากรสุขภาพสามารถตัดสินใจยกเลิกการดูแลรักษา เช่น การถอดท่อหายใจออก ได้อย่างมั่นใจขึ้น

 

ข้อ ๒.๒. การระบุชื่อคนที่ผู้แสดงเจตนาไว้วางใจในหนังสือฯ ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิท  มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ในทางปฏิบัติมาก เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง โดยเฉพาะถ้าผู้แสดงเจตนาอยู่ในครอบครัวใหญ่ และมีความเห็นขัดแย้งกัน เพราะหากไม่เขียนเอาไว้ การตัดสินใจแทนก็อาจต้องใช้ลำดับความใกล้ชิดตามกฏหมาย ซึ่งบางครั้ง ไม่ใช่สิ่งที่คนไข้ต้องการ

คนไข้ผู้ชายของผมคนหนึ่ง ตลอดเวลาที่เจ็บป่วย ภรรยาคนรองเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ทุกครั้งที่มาโรงพยาบาลหรืออยู่โรงพยาบาล ภรรยาคนนี้เป็นผู้อยู่เคียงข้างเขาตลอด ร่วมคิดและตัดสินใจเรื่องการดูแลรักษาเขามาตั้งแต่ต้น แต่ขณะที่เขาใกล้จะเสียชีวิต ไม่ค่อยรู้ตัว ผู้ที่ตัดสินใจให้ยื้อชีวิตเขาต่อไป กลับกลายเป็นภรรยาหลวง ภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมาย ถ้าคนไข้ของผมคนนี้ได้แสดงเจตจำนงไว้ก่อนล่วงหน้า ว่าจะให้ภรรยาคนใดตัดสินใจแทนเขาเมื่อเขาไม่รู้ตัวแล้ว การดูแลรักษาน่าจะตรงกับความต้องการของเขามากกว่านี้

คนไข้ผู้ชายอีกคน ตลอดเวลาที่รักษาและเข้าโรงพยาบาล ภรรยาคนหนึ่งกับลูกสองคน ติดตามมาดูแลเขาโดยตลอด เมื่อคนไข้ใกล้เสียชีวิต ได้ตกลงกับแพทย์เจ้าของว่าจะไม่ใส่ท่อช่วยหายใจหรือปั๊มหัวใจ ในทึ่สุดก็เสียชีวิต แต่หลังจากคนไข้เสียชีวิตได้ ๒ เดือน มีผู้หญิงอีกหนึ่งคนพร้อมลูกสามคนมาแสดงตัวกับแพทย์ว่า เธอเป็นภรรยาที่ถูกต้องตามกฏหมาย และตั้งคำถามที่ไม่น่าถามกับแพทย์ว่า ทำไมหมอจึงปล่อยให้คนนอกเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องสำคัญอย่างนั้น แพทย์ที่ดูแลคนไข้รายนั้นได้แต่เซ็ง เพราะใครจะไปตรัสรู้ได้ว่า ภรรยาที่ดูแลอยู่ทุกวันนั้นเป็นภรรยาน้อย แล้วตลอดเวลาที่คนไข้เจ็บหนัก เขาก็ไม่เคนเห็นหน้าภรรยาหลวงคนนี้เลยด้วยซ้ำ

ทั้งสองเรื่องเป็นรื่องเกี่ยวข้องกับภรรยาหลวง ภรรยาน้อย ผมต้องออกตัวก่อนนะครับว่า ไม่ได้สนับสนุนหรือเข้าข้าง ภรรยาน้อย แต่อย่างใด

 

ข้อ ๒.๔ กฏกระทรวงข้อนี้ดีมาก ที่กำหนดให้ผู้แสดงเจตนา นอกจากจะปฏิเสธการดูแลรักษาได้แล้ว ยังสามารถแสดงเจตนาด้านอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องที่ตอบสนองความต้องการด้านจิตสังคม และจิตวิญญาณได้อีกด้วย

ระบบสนับสนุนอื่นๆ ก็คงต้องปรับปรุงพัฒนาขึ้น เช่น คนไข้ต้องการเสียชีวิตที่บ้าน ก็ต้องมีระบบการดูแลคนไข้ที่บ้าน ค่าใช้จ่ายต่างๆที่เกิดขึ้นที่บ้านก็ควรจะรวมอยู่ในระบบ ๓๐ บาทของสปสช. ซึ่งในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายดังกล่าว ทำให้คนไข้ส่วนหนึ่งยังคงอยากรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล เป็นต้น

 


สามารถอ่านรายละเอียดของพ.ร.บ. กฏกระทรวง และโครงการเพิ่มเติมได้ ที่นี่

หมายเลขบันทึก: 260394เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2009 09:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

หนูว่าทุกๆเรื่องที่ทำเป็นเรื่องที่ดีมากๆๆๆ

แต่คนไทยที่อยู่ตามชนบทอย่างหนู ยังขาดการศึกษาอยู่มากบางครั้งอธิบายกันเป็นวันยังไม่เข้าใจ บาง case รู้มากเหมือนจะดีแต่มีอะไรตูฟ้องตลอดบางเรื่องเรารู้ทั้งรู้ว่าเป็นการรักษาอธิบายก็ไม่ฟังเรียกร้องค่าเสียหายจะเอาให้ได้ เราก็ต้องยอมๆไปเพื่อให้มันจบมีหลายรูปแบบเหลือนเกินคนสมัยนี้ ถ้าไม่เป็นภาพฝันจนเกินไปเราทำให้คนเห็นความสำคัญของความตาย ศึกษาทำความเข้าใจลึกซึ้งจนทำให้เราดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท ทำวันนี้ให้ดีที่สุดให้เหมือนกับว่าเป็นวันสุดท้ายได้ก็คงจะดีนะคะ คนดีอย่างเราๆจะได้ไม่อ่อนแอ เนาะอาจารย์ว่าไหมค่ะ

อ่านแล้ว ดูเหมือนน้องกำลังหมดแรง ท้อ หรือเปล่าครับ

  • อ่านบันทึกของอาจารย์
  • ได้แนวทาง มุมมองที่กว้างขึ้น
  • พรุ่งนี้จะไปร่วมรับฟังความคิดเห็นสิทธิในการแสดงเจตนาฯ ที่ขอนแก่นค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ความเห็นที่ 1 เป็นเรื่องจริง ที่พบมาแล้ว บางที คนเรา อธิบายยากมากๆค่ะ

P

  • แล้วเขียนบันทึกมาเล่ากันบ้าง เหมือนเคยนะครับ

P

  • ครับพี่
  • บางคนอธิบายยาก เพราะเขาปักใจไปอย่างใดอย่างหนึ่งซะแล้ว

ผมสงสัยว่า หนังสือแสดงเจตนา ทำกันช่วงไหนของการเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลครับ

ผมเห็นมีแต่หนังสือยินยอมรับการรักษาจากแพทย์ ซึ่งในใบนั้นเวลาจะเซ็นชื่อ ผมไม่เห็นเขาเขียนอะไรเลย (สงสัยพยาบาลไม่ว่าง เลยทำ ๆ ให้มันรวดเร็วและเสร็จ ๆ ไว้ก่อน) และด้วยการเซ็นชื่อในใบเอกสารนี้หรือเปล่า เมื่อแพทย์เจ้าของไข้ท่านบอกว่า คุณต้องกลับบ้าน ญาติคนไข้ก็ต้องพาคนไข้กลับ

ท้อนิดหน่อยค่ะอาจารย์ ช่วงนี้มีปัญหามากหน่อยแต่ก็ผ่านมาแล้วค่ะ

สบายมากเริ่มยิ้มได้หน่อย อยากไปเที่ยวจังค่ะ

P

  • สวัสดีครับ
  • ในเมืองไทย หนังสือแสดงเจตนาไม่รับการรักษา ยังไม่ค่อยมีใครทำกันครับ กำลังจะเริ่มให้ความรู้เรื่องสิทธินี้กันตามกฏหมายที่ออกมา ถ้าถามว่า ควรทำเมื่อไร ตอบว่า ทำตอนที่ยังแข็งแรงปกติก็ได้ เพื่อแสดงความจำนงไว้ก่อน แต่ในทางปฏิบัติ ผมว่า เมื่อรู้ว่าตนเองเป็นโรคร้ายที่อาจถึงเสียชีวิต ก็น่าจะทำไว้ครับ ไม่ควรรอจนเป็นหนัก ไม่รู้ตัวเสีย หรือทรมานมากแล้ว ไปทำตอนนั้น มันอาจจะสายเกินไป หรือตัดสินใจอย่างไม่อิสระ
  • หนังสือยินยอมรับการรักษา นั้น เป็นสิทธิของผู้ป่วยในการรับรู้ข้อมูลทางการแพทย์ ว่าจะถูกทำอะไร มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เมื่อคนไข้เข้าใจดีแล้ว จึงเซ็นชื่อรับทราบและยินยอมรับการรักษานั้นๆ โรงพยาบาลส่วนใหญ่ทำแบบฟอร์มเอาไว้ให้คนไข้หรือญาติเซ็น หลังจากได้คุยกับหมอเรื่องข้างบนแล้ว แต่บางแห่งก็รวบรัด ให้เซ็นโดยที่ยังไม่ได้ให้ข้อมูลอะไรเลยก็มี ซึ่งไม่ถูกต้อง
  • ไม่ใช่ครับ การเซ็นเอกสารนี้ เป็นการยินยอมรับการรักษา ไม่ใช่ปฏิเสธการรักษา
  • การที่หมอบอกว่าต้องกลับบ้าน แล้วญาติต้องพากลับ เป็นการพูดคุยกันมากกว่าครับ เพราะหมอเป็นคนบอกให้กลับ ไม่ใช่การปฏิเสธ

P

  • งานดูแลคนไข้ โดยเฉพาะ ระยะสุดท้าย ทำให้เราหมดไฟได้ง่าย ต้องอาศัยทีมช่วยกันนะครับ ถ้าคิดว่าผมเป็นทีมอยู่ทางไกล มีอะไรจะบ่น ก็เชิญได้ครับ ทาง email ครับ
  • แต่ถ้าอยากจะบ่นดังๆ ก็เขียนเป็นบันทึกซะเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท