ไปให้กำลังใจทีมงานสร้างคุณอำนวยในศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านนาป่าแดง( 1 )


เพื่อให้กำลังใจแก่ทีมงานปราชญ์ชาวบ้านบ้านนาป่าแดงในหลักสูตรการสร้างคุณอำนวยในชุมชน

ไปให้กำลังใจทีมงานโรงเรียนสร้างคุณอำนวยที่บ้านนาป่าแดง ในตอนที่1 นี้ จะขอเล่าถึงการไปให้กำลังใจแก่ทีมงานปราชญ์ชาวบ้านเพื่อยกระดับในการสร้างคุณอำนวยในชุมชนอย่างแท้จริง

 

 

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2552 ผมและอ.สิงห์ป่าสัก ได้ไปเยี่ยมเยียน เพื่อให้กำลังใจแก่ทีมงานปราชญ์ชาวบ้านบ้านนาป่าแดง ซึ่งได้จัดฝึกอบรมในการสร้างวิทยากรกระบวนการ หรือที่เรียกกันว่าหลักสูตรการสร้างคุณอำนวย ที่ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านบ้านนาป่าแดง ตำบลคุยบ้านโอง อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชรนั่นเอง ความจริงแล้วผมและอ.สิงห์ป่าสัก ได้แวะเวียนไปให้กำลังใจทีมงานปราชญ์ชาวบ้านแห่งนี้มาโดยตลอด ซึ่งผมมักจะเรียกศูนย์ปราชญ์แห่งนี้ว่า โรงเรียนสร้างคุณอำนวยบ้านนาป่าแดงนั่นเอง เพราะว่า ในปีหนึ่งๆจะมีการจัดฝึกอรมแกนนำเกษตรกรด้านเศรษฐกิจพอเพียง มาไม่น้อยกว่า 10 รุ่นซึ่งได้ดำเนินการติดต่อกันมาแล้ว2-3 ปี แล้วครับ

 

 

 

พ่อจรัญ จ๋องบุญ ปราชญ์ชาวบ้านนาป่าแดง

  

        สำหรับในปี 2552 นี้ ศูนย์แห่งนี้ก็มีแผนที่ดำเนินการจัดฝึกอบรม ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ พฤษภาคม 2552 จากการที่ได้ฟังคุณพ่อจรัญ จ๋องบุญ หนึ่งในทีมงานของศูนย์ปราชญ์แห่งนี้  ได้เล่าให้ฟังว่า ในการฝึกอบรมปราชญ์ชาวบ้าน จากชุมชนต่างฯที่มาจากอำเภอคลองลาน อำเภอโกสัมพีนคร  อำเภอเมืองกำแพงเพชร และอำเภอพรานกระต่าย จำนวน 25 คน ซึ่งผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมเหล่านี้เคยมีประสบการณ์และผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรแกนนำชุมชนชนด้านเศรษฐกิจพอเพียงมาแล้ว และต่างก็ทำหน้าที่อาสาสมัครเกษตรอยู่แล้วทั้งสิ้น เท่าที่ทราบจะประกอบด้วยเหล่าหมอดินอาสา ปศุสัตว์อาสา ประมงอาสา ครูบัญชีอาสา GAPอาสา และเกษตรหมู่บ้านเป็นต้น

 

 

                           คุณพ่อสำเนียง หนึ่งในทีมงานปราชญ์ชาวบ้านนาป่าแดง

           คุณพ่อสำเนียง หนึ่งในทีมงานของศูนย์ปราชญ์ชาวบ้าน ยังได้เล่าให้ฟังต่อจากพ่อจรัญอีกว่า หลักสูตรที่อรมอยู่นี้  ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ต้องการยกระดับให้ผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม ได้ทำหน้าที่คุณอำนวยในการจัดกระบวนการในการจัดการความรู้หรือที่เรียกว่า KM นั่นเอง เพราะว่าเราต้องการสร้างผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมในรุ่นนี้ได้ทำหน้าที่เป็นคุณอำนวยในชุมชนต่างๆหากจะพูดง่ายๆก็คือชุมชนก็จะต้องจัดการความรู้ของชุมชนเป็นนั่นเองครับ ต้องการให้เขาได้ถอดองค์ความรู้เป็น ใช้เครื่องมือในการถอดองค์ความรู้เป็น ในขณะเดียวกันเขาต้องจัดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็น รวมทั้งการออกแบบเป็น ซึ่งจะต้องรวมไปถึงการฝึกทักษะการจับประเด็น การบันทึกองค์รู้ การจัดเก็บหรือสร้างคลังความรู้ในชุมชนนั้นๆเป็น รวมถึงการสืบค้นหาองค์ความรู้ การทำทะเบียน รวมถึงการสร้างเครือข่ายในชุมชน ระหว่างชุมชน รวมถึงการนำเอาองค์ความรู้ไปใช้และขยายผลนั่นเองครับ

 

 

 

 

                                คุณสมหมาย พลอาจ ปราชญ์ชาวบ้านคนหนึ่งเคยได้รับรางวัลคุณกิตดีเด่นจากสคส.มาแล้ว ทุกวันนี้ยังสวมบทบาทครูติดแผ่นดินอีกด้วย

 

 

          หนึ่งในทีมงานของศูนย์ปราชญ์ แห่งนี้อีกท่านหนึ่ง ก็คือคุณสมหมาย พลอาจ ซึ่งเคยได้รับรางวัลในฐานะคุณกิจดีเด่น จากสคส.มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีที่ผ่านมา เขายังทำงานอยู่กับชุมชนนาป่าแดงมาโดยตลอดทุ่มเท และสละเวลา มาทำงานกับศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านแห่งนี้ อีกทั้งยังยกระดับตนเอง เป็นทั้งคุณอำนวย และนักวิจัยชุมชน ปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นครูติดแผ่นดินของกรมส่งเสริมการเกษตรอีกด้วย คุณสมหมาย ยังได้เล่าให้ฟังต่ออีกว่า ระยะเวลาที่ผ่านมาตนเอง ได้พาทีมงานได้เรียนรู้กับการจัดการความรู้ การทำหน้าที่เป็นทั้งคุณอำนวย คุณลิขิต คุณประสาน ร่วมกับทีมงานการจัดการความรู้ของสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชร โดยเฉพาะท่านเขียวมรกตและท่านสิงห์ป่าสัก  รวมทั้งคุณรัตติยา ขวัญคำ ( นวส.จากสำนักงานเกษตรอำเภอพรานกระต่าย) มาอย่างต่อเนื่องหลายปีจนถึงปัจจุบัน  ทำให้มีกำลังใจที่จะทำงานในด้านนี้ต่อไป สำหรับในวันนี้จึงนับได้ว่าทีมงานของศูนย์ปราชญ์ได้รับคำแนะนำ ความรู้เชิงประสบการณ์ในทำหน้าที่บทบาทคุณอำนวย คุณลิขิต คุณประสาน เพิ่มเติมจากเดิม มีเทคนิคใหม่ๆมาพัฒนา อย่างครบเครื่องจริงๆครับ 

 

 

 

                                                                      คุณรัตติยา ขวัญคำ (นวส.ชำนาญการ )

 

 

 

                 เป็นที่น่าชื่นชมอีกท่านหนึ่ง มักจะมาร่วมการจัดเวทีในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมปราชญ์ชาวบ้านนาป่าแดง อยู่เป็นประจำ เป็นนักส่งเสริมการเกษตรคนหนึ่งที่ติดดิน ทำงานอยู่กับชุมชนมาโดยตลอด มีความมุ่งมั่นในการทำงานส่งเสริมการเกษตร ในชุมชน ก็ต้องขอชื่นชม เขาคนนั้นชื่อคุณรัตติยา ขวัญคำ (นวส.ชำนาญการ ) เป็นเป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโลยีการเกษตรประจำตำบลคุยบ้านโอง ก็ได้ใช้ศูนย์ปราชญ์ชาวบ้านนาป่าแดงเป้นเวทีพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนที่อยู่ในชุมชน ปราชญ์ชาวบ้านและ คณะกรรมการบริหารศูนย์ฯ  ตัวแทนกลุ่มอาชีพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน และอปท.เป็นต้น หรือเรียกง่ายๆว่า บูรณาการการทำงานในพื้นที่ร่วมกันนั่นเองครับ

 

( โปรดติดตามอ่านบรรยากาศของฝึกทักษะในการสร้างคุณอำนวย ตอนที่2ต่อไปนะครับ )

หมายเลขบันทึก: 260141เขียนเมื่อ 9 พฤษภาคม 2009 16:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท