การตั้งกลุ่มสัจจะฯ ก็เหมือนการปลูกไม้ยืนต้น ในปีแรกๆ
ต้องทะเลาะกับหญ้า ทะเลาะกับแมลง
ต้องคอยดูแลแม้ไม่ได้ให้ผลผลิตอะไรก็ต้องดูแล เพราะเป็นไม้ยืนต้น
รอจนได้ผลผลิต ต้องอดทนมาก แต่เมื่อเติบโตขึ้นแล้ว
เราควรจะคิดวางแผนอาศัยร่มเงา จะกินผลผลิตของมันแบบใด
ถึงจะให้ยั่งยืนต่อเนื่อง ไม่ใช่พอไป 4-5 ปี ก็โค่นต้นแล้วปลูกใหม่
ทำอย่างนี้ก็ไม่ใช่อุดมการณ์กลุ่มสัจจะฯ อีกทั้ง
การปลูกต้นไม้นี้ก็ใช้วิธีการปลูกจากเมล็ด
ไม่ใช่การเอาแม็คโครขุดมาปลูก การปลูกจากแม็คโคร คือ หวังผลโตเร็ว
ให้มีเงินมากๆ ทีเดียว แต่การปลูกจากเมล็ดคือการเริ่มจากน้อย ค่อยๆ
เรียนรู้ในการเอาชีวิตรอด รากจึงต้องลึก มีรากแก้วที่มั่นคง
ไม่หักล่มง่าย ที่ว่ารากที่มั่นคง คือ อุดมการณ์ในใจคน
และแก่นของลำต้นที่แข็งแรง คือ กองทุนสวัสดิการ
โดยมีเปลือกห่อหุ้มภายนอกคือเงินฝากสัจจะฯ
ถ้ากองทุนสวัสดิการ เปรียบเหมือนแก่นของลำต้น
ซึ่งมีความสำคัญที่ทำให้เกิดดอกผล ถ้าแกนกลางถูกมอดเจาะทำลายเป็นโพรง
ไม้ก็หมดคุณค่า ถ้าเรามีแกนกลางใหญ่ ไม้ก็มีคุณค่า
เปรียบเหมือนมีกองทุนสวัสดิการที่ใหญ่ เอาไว้ใช้ดูแลการเจ็บป่วย
การตาย และการลงทุนอื่นๆ ซึ่งถ้ามีมากคนก็สนใจมาก ให้ความสำคัญมาก
ถ้ามีเล็ก หรือไม่มีเลยก็เป็นไม้ที่ไม่มีแก่นกลาง
เป็นเพียงไม้แบบไม้ค้ำยันเท่านั้น ดังนั้น เราก็ต้องพิจารณาว่า
เราต้องการแก่นกลางของไม้ หรือ
กองทุนสวัสดิการที่ขนาดพอเหมาะสักเท่าไหร่
จากข้อมูลทางวิชาการของ นพ.ภูษิต ประคองสาย ชื่อ
“ความเท่าเทียมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ”
ตีพิมพ์เผยแพร่ในงานหลอมรวมเครือข่ายหลากหลายเพื่อหนึ่งเดียว วันที่
25-26 มกราคม 2548 ณ คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อิมแพ็คเมืองทองธานี
ได้ศึกษาเปรียบเทียบการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐที่จัดสรรอัตราเหมาจ่ายรายหัวต่อการประกันสุขภาพ
ของ 3 ส่วน คือ (1) ข้าราชการ (2) กองทุนประกันสังคม (3) ประชาชน
โดยใช้ข้อมูล ปี 2538 ปี 2542 และ ปี 2545 ดังผลที่ออกมา ดังนี้
|
ปี 2538
|
ปี
2542
|
ปี2545
|
สวัสดิการข้าราชการ
ประชากร 7 ล้านคน (ร้อยละ 11)
|
1,781 บาท
|
2,108 บาท
|
3,401 บาท
|
กองทุนประกันสังคม
ประชากร 4.4 ล้านคน (ร้อยละ 7)
|
712 บาท
|
1,284 บาท
|
1,720 บาท
|
ประชาชน
ประชากร 25.2 ล้านคน (ร้อยละ 40)
|
225 บาท
|
273 บาท
|
1,202 บาท
|
ความแตกต่างดังที่เห็นนั้น
ไม่ได้จะให้ประชาชนออกมาเรียกร้องความเท่าเทียมหรอกครับ
เพราะหลายหน่วยงานกำลังเร่งแก้ไขกันอยู่แล้ว
นี่ยังไม่นับรวมการไม่เท่าเทียมกันของวิธีรักษาพยาบาลแตกต่างกัน เช่น
บัตรทอง 30 บาท ดูแลเฉพาะคนถือบัตร ส่วนข้าราชการคนได้รับสิทธิ คือ
พ่อแม่ และลูกไม่เกิน 3 คน เป็นต้น แต่ความแตกต่างเหล่านี้
หากยึดถือหลักความเมตตา และหวังดีต่อกันและกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยึดหลักตนเป็นที่พึ่งแห่งตนแล้ว
ก็พอมีทางออก
เราเกษตรกร ถ้าไม่มีเงินเหลือที่จะซื้อประกันสุขภาพจากบริษัทขายประกัน
ก็ต้องรับการรักษาแบบบัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค (แต่ไม่ทุกเรื่อง)
แต่ถ้าเรามีกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ฯ
ซึ่งกำไรจากค่าบำรุงตั้งไว้เป็นกองกลาง 50 เปอร์เซ็นต์ ทุกปีนั้น
ถ้าเราตั้งเป้าว่า เราจะต้องมีกองทุนสวัสดิการต่อหัว จำนวน 3,000 บาท
สมมุติว่า เรามีสมาชิกทั้งหมด 300 คน ดังนั้น เราควรมีกองทุนสวัสดิการ
(3,000 บาท x 300 คน) รวม 900,000 บาท ในกองทุนขนาดนี้
เราสามารถตั้งสวัสดิการผู้ที่เจ็บป่วย ดังนี้
1- สมาชิก รุ่น 1 นอนโรงพยาบาล คืนละ 300 บาท ไม่เกิน 15 คืน
รวม 4,500 บาท
สมาชิกรุ่น 2-3-4 ได้ลดลงครึ่งหนึ่งลดหลั่นไปตามรุ่น
2- สมาชิกตาย ได้เท่ากันทุกรุ่น ศพละ 4,500 บาท
(คิดจากค่านอนโรงพยาบาลของรุ่นที่ 1)
หมายเหตุ : กรณี (1) (2)
เป็นการจัดสวัสดิการที่ทุกกลุ่มต้องจัดเป็นพื้นฐาน แต่ข้อ 3
เป็นต้นไปขึ้นอยู่กับผลการดำเนินงาน และกรรมการแต่ละกลุ่มจะพัฒนาต่อไป
ไม่บังคับ
3- คนไข้นอก ไปตรวจรักษาและกลับบ้าน ได้เท่ากันทุกรุ่น ไม่เกิน ......
บาท ต่อปี
4- สมาชิกที่เป็นผู้สูงอายุ อายุตั้งแต่ .... ปี ขึ้นไป
และไม่มีใครดูแล หรือคนดูแลก็ลำบาก
(มีการทำประชาคมหมู่บ้านพิจารณาความเหมาะสม) จ่ายค่าดูแลเดือนละ
.....บาท แต่ต้องฝากสัจจะเดือนละ 100 บาทด้วย และถ้าคนไหนไม่มีใครดูแล
กลุ่มอาจมอบหมายให้เพื่อนบ้านใกล้เคียงดูแลโดยมอบค่าดูแลให้ไปบริหารจัดการ
5- สมาชิกที่คลอดลูก นอกจากกลุ่มจะจ่ายค่านอนโรงพยาบาลแล้ว
ยังฝากสมาชิกให้แก่ลูกด้วย โดยฝากเริ่มต้น .... บาท
และ วิธีการจัดสวัสดิการแบบอื่นๆ แล้วแต่จะพิจารณา
ดังนั้น กลุ่มสัจจะฯ จึงสามารถดูแลตั้งแต่เกิดจนตายได้ครบถ้วน
และยังสามารถนำกองทุนนี้
ไปคิดค้นหาวิธีการสร้างงานสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย
โดยควรเป็นวิธีการที่ไม่เสี่ยง อีกทั้ง
เรายังสามารถสร้างกองทุนสวัสดิการจากทางอื่นอีกด้วย เช่น
การรวบรวมขยะจากสมาชิกเพื่อขาย การปลูกต้นไม้และตัดขายร่วมกัน
ประโยชน์ของสวัสดิการ นอกจากจะให้การตอบแทนเป็นเงินตราแล้ว
เรายังสามารถใช้เป็นเงื่อนไขดึงผู้คนที่ต่างคนต่างอยู่ให้มารวมตัวกันได้ด้วยกิจกรรมต่างๆ
เช่น การจัดการจุดเทียนถวายพระพรวันพ่อวันแม่ การทำบุญประเพณีต่างๆ
การตั้งกฎของชุมชนเรื่องอบายมุขเป็นการนำเอามาลงโทษหากทำผิดกฎโดยการตัดสวัสดิการก็ได้
ดังนี้ กลุ่มสัจจะฯ
และกองทุนสวัสดิการจึงเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนต่อไปด้วย
เพราะสวัสดิการที่เข้มแข็งจะเป็นหลักยึด เป็นตัวดึงให้คนมีเงิน
คนไม่มีเงินโน้มเข้ามาหากัน ซึ่งหมู่บ้านที่ไม่มีกลุ่มสัจจะฯ
ไม่มีกองทุนสวัสดิการ
ถ้าไม่มีผู้นำที่เก่งและดีแล้วย่อมจะดึงคนมาร่วมกันได้ยาก
.....รู้อย่างนี้แล้ว
เราควรมีกองทุนสวัสดิการในกลุ่มของเราสักเท่าไหร่ดี....
ถ้าอยากมีมากก็อย่าเพิ่งลดค่าบำรุง
ตั้งเป้าหมายจำนวนกองทุนสวัสดิการต่อหัวให้ชัดเจนก่อน
(เช่นดังที่ยกตัวอย่าง หัวละ 3,000 บาท) เมื่อครบตามเป้าหมาย คือ
กองทุนสวัสดิการที่ดีแล้ว เราจึงควรมาลดการเก็บค่าบำรุง ให้เหลือ 1.50
บาท หรือ 1 บาท ต่อเดือน