1. โครงการวิจัยเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ


การทดลองปลูกปาล์มโดยวิธีการให้น้ำ 3 ระบบ

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชน้ำมันที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูงกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น ทั้งทางด้านการผลิตและการตลาด เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตและราคาต่ำกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่น อีกทั้งน้ำมันปาล์มยังเป็นน้ำมันพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลายทั้งในสินค้าอุปโภคและบริโภค ดังนั้นส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันปาล์มต่อน้ำมันพืชโลกจึงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว จาก 9.97 % ในปี 2503 เป็น 20.9 % ในปี 2533 และปัจจุบันน้ำมันปาล์มจะมีส่วนแบ่งการผลิตน้ำมันพืชโลกเป็น 33.28 % ในปี 2549 (ซึ่งเป็นอันดับที่ 1 ของโลก) โดยมีประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศผลิตน้ำมันปาล์มรวมกันเท่ากับ 86.4 % ของผลผลิตโลก

ตั้งแต่ปี 2542 รัฐบาลส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกและสนับสนุนให้ปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีเพื่อทดแทนต้นปาล์มพันธุ์ไม่ดีที่มีอายุมากกว่า 20 ปี ประกอบกับราคาผลปาล์มน้ำมันอยู่ในเกณฑ์สูง จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษา ส่งผลให้ภาพรวมผลผลิตปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันรัฐบาลมียุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันปี 2547–2572 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันปาล์มเคียงคู่ผู้นำในระดับโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งนโยบายกำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศ ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ในปี 2572 โดยจะปลูกเพิ่มปีละ 400,000 ไร่ แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 5 ระยะๆละ 5 ปี ในช่วง 5 ปีแรกตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศจาก 2.04 ล้านไร่ในปี 2547 เป็น 3.67 ล้านไร่ ในปี 2552 คาดการณ์ผลปาล์มสดเพิ่มขึ้นเป็น 6.54 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1.18 ล้านตัน โดยจะดำเนินการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีในเขตนาร้าง 0.888 ล้านไร่ ไร่ร้าง 0.156 ล้านตัน และปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพาราในเขตที่ไม่เหมาะสมในการปลูกยางพารา 0.462 ล้านไร่ และจะเร่งรัดพัฒนาสวนปาล์มน้ำมันเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการศึกษาวิจัยหรือทดสอบว่าจะสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้หรือไม่ ยกเว้นในเขตจังหวัดภาคใต้และภาคตะวันออก ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ศึกษาทดสอบแล้วว่าสามารถปลูกปาล์มน้ำมันได้เหมาะสมทั้งในด้านพื้นที่ ลักษณะของดินและปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอ ดังนั้นหากจะขยายการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องศึกษาวิจัยถึงความเหมาะสมของพื้นที่สภาพดินฟ้าอากาศ โดยเฉพาะความเพียงพอของปริมาณน้ำฝน

ทั้งนี้ปาล์มน้ำมันเหมาะสมกับการปลูกในเขตที่มีฝนตกชุกซึ่งถ้าหากนำไปปลูกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีช่วงแล้งยาวนาน ทำให้มีความเสี่ยงต่อสภาพต้นปาล์มโตช้าและให้ผลผลิตต่ำ ซึ่งเคยมีการศึกษาปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสรุปว่าการปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะให้น้ำมันปาล์มเพียงร้อยละ 10-12 ต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ เมื่อเทียบกับการปลูกในภาคใต้และภาคตะวันออกที่ให้น้ำมันประมาณร้อยละ 19-20 ต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าความคุ้มทุนแตกต่างกันมาก รวมทั้งหากสนับสนุนให้ปลูกกันมากในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ได้จากพื้นที่เหล่านี้มีต้นทุนสูงขึ้นอีก

ดังนั้น จึงจะจัดโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเสริมประสิทธิภาพปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยศึกษาเปรียบเทียบการให้น้ำในระบบต่างๆ ขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลทางด้านวิชาการ การศึกษาฝึกงานของนักศึกษา และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเป็นประโยชน์กับเกษตรกรที่มีการปลูกปาล์มน้ำมันและที่กำลังตัดสินใจจะปลูกปาล์มน้ำมันให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ในการนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิธิภาพในการปลูกสร้างสวนปาล์มน้ำมันต่อไป

หมายเลขบันทึก: 259722เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2009 11:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 15:40 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท