หมอบ้านนอกไปนอก(90): มรดกตกทอด


อดีตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำให้เกิดใหม่ได้ การอนุรักษ์สิ่งของในอดีตจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่ทำให้สิ่งที่ผู้คนในอดีตสรรค์สร้างขึ้นให้เป็นมรดกตกทอดอันทรงคุณค่ามาสู่คนรุ่นปัจจุบัน น่าเสียดายที่คนไทยเรามีจิตสำนึกของการเก็บรักษาความรุ่งเรืองในอดีตไว้น้อยมาก

อากาศเป็นสัปดาห์ที่ 43 ไม่หนาวค่อนไปทางร้อนด้วยซ้ำ ไม่ต้องใส่เสื้อกันหนาวแต่ต้องใส่เสื้อแขนยาวกันแดดที่ร้อนแรงเหลือเกิน วันพรุ่งนี้จะได้เริ่มต้นเดินทางท่องเที่ยวกันแล้ว ประเทศแรกที่เราจะไปกันคือออสเตรีย ที่มีเมืองหลวงคือกรุงเวียนนา เมืองที่ได้ชื่อว่าแสนโรแมนติกเมืองหนึ่งของโลก การเดินทางคราวนี้หลายวัน จึงใช้กระเป๋าลากใบใหญ่ หม้อหุงข้าวขนาดเล็ก ข้าวสารและอาหารการกินพกติดไปด้วยและเป้สะพายหลังอีก 2 ใบ

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2551 เมื่อคืนนอนตีสอง รีบตื่นตีสามครึ่ง ออกจากบ้านด้วยรถตู้แทกซี่ (มินิบัส) ที่โทรนัดไว้ตั้งแต่เมื่อวาน ไปสนามบินคิดราคา 62 ยูโร ดีกว่าลากกระเป๋าขึ้นแทรมไปขึ้นรถบัสสนามบินที่เมื่อคิดรวม 6 คนแล้วจ่ายแพงกว่าและต้องรอ แค่20นาทีก็ถึงสนามบินบรัสเซลส์ เข้าไปเช็คอินจากตู้อัตโนมัติ แล้วเดินเข้าไปในอาคารผู้โดยสารขาออก ไม่มีการตรวจพาสปอร์ตเพราะเป็นเขตแช็งเก้น เครื่องบินของบรัสเซลส์แอร์ไลน์ไปลงที่กรุงเวียนนา เวลาขึ้นเครื่องหกโมงครึ่ง กว่าจะออกก็เจ็ดโมงเช้า ไม่มีเสิร์ฟอาหาร และเครื่องดื่มเลย (ตั๋วคิดแบบราคาปกติค่อนข้างแพง 5 คนคิดราคาเท่ากันคือ 719.9 ยูโร) เด็กๆตื่นเต้นที่จะได้เที่ยว แม้จะตื่นเช้าแต่ก็ไม่ง่วงนอน ไม่งอแง

ถึงสนามบินเวียนนาเวลา 8:50 น. ลงจากเครื่องบินไปรับกระเป๋าแล้วเดินออกไปพบพี่ปุ๊ (สุชารัตน์ ทับทัมจรูญ) เพื่อนพี่ตู่ที่บินมาจากเมืองไทยมาสมทบด้วยและมานั่งรอกว่าชั่วโมงแล้ว ผมกับครอบครัวเพิ่งรู้จักและพบกับพี่ปุ๊เป็นครั้งแรก แล้วลากกระเป๋าเดินไปขึ้นรถบัสเข้าเมืองลงไปหาโรงแรมแฮปปี้ ฝากกระเป๋าไว้ที่โรงแรม เดินกลับไปสถานีรถไฟใต้ดิน (เมโทร) ซื้อตั๋วแบบ 24 ชั่วโมง ราคา 5.7 ยูโร จากตู้ขายตั๋ว (ขึ้นบัส แทรมและรถใต้ดินเมโทรได้หมด) นั่งเมโทรไปลงที่สถานีWestbahnhof ต่อสายสามไปVolktheater เพื่อเดินชมย่านเมืองเก่า ตึกเก่าๆได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี หลายอาคารกำลังอยู่ในระหว่างปรับปรุง เดินได้สักพัก อากาศร้อน แดดแรง ท้องเริ่มหิวเลยนั่งพักบริเวณมุมมตึกกินอาหารเช้ารวบกลางวันเป็นข้าวเหนียว ไก่ทอดที่เตรียมไปด้วยอย่างเอร็ดอร่อย เดินต่ออีกสักพักก็นั่งเมโทรสายสามกลับที่เดิม

แล้วต่อเมโทรสายหกไปขึ้นสายสี่ไปลงที่สถานีScholbrunn เจอคนไม่ซื้อตั๋วด้วย ลงจากเมโทรเดินลัดเลาะข้ามถนนไปจนถึงด้านหน้าของพระราชวังเชินบรุนน์ สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ จากประตูทางเข้าด้านหน้า มองเข้าไปจะเป็นลานหินกว้างโล่งๆ ถัดจากลานก็เป็นตัวอาคารของพระราชวังที่มีสภาพสมบูรณ์ดีไม่มีร่องรอยชำรุดทรุดโทรมให้เห็นแม้จะสร้างตั้งแต่ศตวรรษที่ 17-18 เราเดินไปตามทางเชื่อมด้านขวาที่มีหลังคาคลุม ผ่านเข้าไปชมสวนด้านข้างพระราชวัง เป็นสวนองุ่นและสวนไม้ดอกไม้ประดับที่มีซุ้มประตูโค้งสวยงาม ทำให้หยุดถ่ายรูปได้หลายภาพ

เดินต่อไปทางด้านหลังพระราชวังที่เป็นที่ราบกว้างจัดเป็นสวนดอกไม้รูปทรงเรขาคณิต สลับสีต้นไม้ดูสวยดี ด้านข้างของสวนมีรูปปั้นเป็นแนว เราถ่ายภาพกันได้มากพอควรแม้อากาศจะร้อนก็ตาม น้องแคนถ่ายวีดีโอ มีน้องขิมเป็นพรีเซนเตอร์ เดินไปจนถึงเนินดินบริเวณน้ำพุ มองไปด้านหน้าจะเห็นตัวพระราชวังเด่นตระหง่านอย่างงดงามถัดจากนั้น เราค่อยๆเดินขึ้นเนินไปตามแนวสนามหญ้าและสวนเขียวขึ้นไปเนินเขาเตี้ยๆบนเนินมีสิ่งปลูกสร้างคล้ายซุ้มประตูแบบโรมัน สวนสวยที่มีน้ำพุนี้กลายเป็นที่มาของชื่อเชินบรุนน์ ซึ่งในภาษาออสเตรียหมายถึง น้ำพุ

เดินเที่ยวไปสักพักฟ้าครึ้ม ฝนปรอย แล้วก็หยุด เราเดินลงจากเนินเขาเตี้ยๆนั้นผ่านลานสวนสวยเข้าไปในบริเวณตัวพระราชวัง อ่านประวัติความเป็นมาของราชวงศ์ที่ครองออสเตรีย ชมบรรยากาศภายในพระราชวังด้านนอก ไม่ได้เข้าไปชมความงดงามอลังการของห้องหับต่างๆและการตกแต่งประดับประดาอย่างหรูหรา เดินกลับออกมาทางประตูด้านหน้า ซื้อเครื่องดื่มแก้กระหาย นั่งพักและเข้าดูของที่ระลึกในเขตพระราชวัง เด็กๆดูท่าทางเหนื่อยอ่อน

เราทั้งหกคนนั่งเมโทรสายเดิมกลับถึงสถานีรถไฟกลางแล้วเดินไปที่โรงแรมแฮปปี้ (Happy Hostel) พี่ตู่นอนพักที่นี่ ส่วนผมกับครอบครัวไปนอนอีกที่หนึ่งเพราะจองคนละวันกัน ห้องเลยเต็มไปก่อน ผมลากกระเป๋ากลับมาที่สถานีรถไฟพาลูกเมียขึ้นเมโทรสายหกไปลงที่สถานีAlser แล้วขึ้นแทรม (รถราง) สาย43 ต่อไปลงที่Enteillplat เดินหาโรงแรมมาร์ดารา 2 (Hostel Madora 2) จนเจอ เข้าไปเช็คอิน ห้องไม่ใหญ่ไม่เล็กกำลังพอดีๆ (เป็นห้องสี่เตียงๆละ 23.75 ยูโร นอน 5 คนเสีย 90 ยูโร) สภาพดีมาก สะอาดสะอ้าน เอนหลังนอนเล่นบนเตียงและงีบหลับไปไม่รู้ตัว ตื่นมาแล้วกินอาหารเย็นที่เตรียมมาจนอิ่มท้อง

หกโมงเย็น นั่งแทรมและเมโทรกลับไปเที่ยวย่านเมืองเก่า (Volktheater) ยามเย็น เดินชมเมือง อาคารเก่าที่อนุรักษ์ไว้อย่างดี ผ่านทางพิพิธภัณฑ์ (Leopold Museum และ National History MuseumเดินไปจนถึงMichaelerplat ชมโบสถ์เซนต์ไมเคิล (St. Michael Church) เดินต่อไปทาง Kohlmark ถึงถนนGraben ชมโบสถ์เซนต์ปีเตอร์ (St. Peter church ) เดินไปเรื่อยๆ อากาศไม่ร้อนแล้ว สบายขึ้น เดินไปถึงStaplausplatz ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของถนนสายช้อปปิ้ง (Shopping Street) เป็นลาสี่เหลี่ยมจตุรัสกว้าง พื้นปูด้วยหินก้อนสี่เหลี่ยมเต็มพื้นที่

มองไปทางอีกด้านหนึ่งมองเห็นโบสถ์สเตฟาน โบสถ์คอทอลิกในสไตล์โกธิกมีหลังคาเป็นยอดแหลมสูง มีอายุเก่าแก่เป็นโบสถ์คู่บ้านคู่เมืองของเวียนนา นอกจากหลังคาที่งดงามแล้ว ภายในโบสถ์ยังมีความงดงามหลายอย่างซ่อนอยู่เช่นรูปปั้นนักบุญองค์ต่างๆ แผ่นกระจกสีที่มีลวดลายเป็นเรื่องราวของพระเยซู เป็นต้น แต่เราก็ไม่สามารถเข้าไปชมได้แล้วเพราะโบสถ์ปิดแล้ว เดินไปจนถึงบริเวณบ้านโมซาร์ท (Mozarthuis) แล้วก็ขึ้นแทรมสาย 43 ที่สถานี Cholten-ring กลับถึงที่พักเกือบสามทุ่ม อาบน้ำแล้วเข้านอน น่าเสียดายเหมือนกันที่ยังเที่ยวชมเวียนนาไม่ทั่วนัก

ไม่นึกไม่ฝันมาก่อนที่จะได้มาเที่ยวเวียนนา ออสเตรียในดินแดนยุโรปตะวันออก นอกจากเป็นดินแดนอันแสนโรแมนติกแล้ว ยังถือว่าเป็นดินแดนแห่งดนตรีคลาสสิกอมตะของโลกเพราะนักประพันธ์เพลงคลาสสิกของโลกทั้งบีโธเฟ่น โมสาร์ท บราห์มและโยฮัน สเตราส์เกิดที่ดินแดนนี้และยังได้รับการขนานนามให้เป็นดินแดนแห่งขุนเขาเพราะกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่เป็นภูเขาและเนินเขา มีแม่น้ำดานูบ (Danou) ไหลผ่าน

สาธารณรัฐออสเตรีย (Republic of Austria) เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทะเลอยู่ในยุโรปกลาง อาณาเขตทางเหนือติดกับเยอรมนีและเช็ก ทางตะวันออกติดกับสโลวะเกียและฮังการี ทางใต้ติดกับสโลวีเนียและอิตาลี ทางตะวันตกติดกับสวสและลิกเตนสไตน์ มีประชากรราว 8 ล้านคน มีการเกิดของประชากรต่ำมาก มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุข (เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ดำรงตำแหน่ง 6 ปี) มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี รัฐสภาประกอบด้วยสภาล่าง (Nationalsrat) 183 คนเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนทุก 4 ปีและสภาสูง (Bundesrat) 64 คน ได้รับเลือกจากสภาจังหวัด (Provincial Diet)

ออสเตรียแบ่งการปกครองออกเป็น 9 จังหวัด (Federal province) หรือรัฐ (states) ซึ่งแต่ละรัฐหรือจังหวัดมีสถานะเป็นมหานคร มีอำนาจปกครองเป็นอิสระ ยกเว้นการต่างประเทศและการป้องกันประเทศ แต่ละจังหวัดแบ่งออกเป็นเขต (Districts) และนคร (Cities) และในแต่ละเขตแบ่งออกเป็นเทศบาล (Municipalities) แต่ละจังหวัดมีผู้ว่าราชการจังหวัด (Governor) ที่ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

จังหวัดหรือรัฐทั้ง 9 ประกอบด้วย รัฐบูร์เกนลันด์ (Burgenland) มีเมืองไอเซนชตัดท์ (Eisenstadt) เป็นเมืองหลวงของรัฐ  รัฐคารินเทีย หรือ แคร์นเทิน (Carinthia; Kärnten) มีเมืองคลาเกนฟูร์ท (Klagenfurt) เป็นเมืองหลวง รัฐโลว์เออร์ออสเตรีย หรือ นีเดอเริสเทอร์ไรค์ (Lower Austria; Niederösterreich) มีเมืองซังคท์เพิลเทิน (St.Pölten) เป็นเมืองหลวง รัฐอัปเปอร์ออสเตรีย หรือ โอเบอเริสเทอร์ไรค์ (Upper Austria; Oberösterreich) มีเมืองลินซ์ (Linz) เป็นเมืองหลวง รัฐซาลซ์บูร์ก (Salzburg) มีเมืองซาลซ์บูร์ก เป็นเมืองหลวง รัฐสติเรีย หรือ ชไตเออร์มาร์ค (Styria; Steiermark) มีเมืองกราซ (Graz) เป็นเมืองหลวง รัฐทิโรล (Tirol) มีเมืองอินส์บรุค (Innsbruck) เป็นเมืองหลวง รัฐโฟราร์ลแบร์ก (Vorarlberg) มีเมืองเบรเกนซ์ (Bregenz) เป็นเมืองหลวง และรัฐเวียนนา หรือ วีน (Vienna; Wien)

เที่ยวออสเตรียได้เห็นมนต์เสน่ห์แห่งอดีตที่คนรุ่นก่อนได้ทำไว้และคนรุ่นหลังได้เก็บรักษาไว้อย่างดีเป็นมรดกตกทอดที่ทรงคุณค่าของประเทศและของโลกให้คนต่างถิ่นได้มาเยือนและดื่มด่ำกับความงามอันเลอค่า ผมอดคิดถึงเมืองเก่าที่สุโขทัยและศรีสัชนาลัยไม่ได้ ไฟสงครามและกาลเวลากับผู้คนที่ขุดค้นของเก่าได้เผาผลาญทำให้เสื่อมสภาพไปอย่างมาก หากยังคงอยู่ดั่งเดิมจะงดงามโดดเด่นแค่ไหน

นึกไปถึงวันแรกที่ไปรายงานตัวที่สถาบัน เจ้าหน้าที่ได้ยกกล่องใบใหญ่สองใบมาให้นักศึกษาคนไทย (ผมกับพี่ตู่) บอกว่าเป็นสิ่งของที่รุ่นพี่คนไทยฝากไว้ให้ เราสองคนช่วยกันยกกล่องใบนั้นกลับไปบ้านพักเปิดดูก็พบสิ่งของเครื่องใช้หลายอย่างที่เป็นมรดกตกทอดกันมาจากรุ่นพี่ อย่างที่นักศึกษาชาติอื่นไม่มีธรรมเนียมปฏิบัติกัน สิ่งของเครื่องใช้จิปาถะทั้งหม้อหุงข้าว ครก สากกระเบือ เครื่องเขียนและแนวข้อสอบเก่า ความเป็นคนไทย ความเอื้ออารี การนึกถึงคนอื่นๆเป็นสิ่งที่อยู่ในใจคนไทยมานาน นอกจากนี้ก่อนเดินทางไปเรียน ผมยังได้รับข้อแนะนำจากรุ่นพี่ๆหลายคน ทำให้คลายกังวลไปได้เยอะ

“หวัดดีครับ ตอนนั้นพี่อยู่ที่บ้าน ของMr.Groge (คนละคนกับที่ ITM หาให้) อยู่ที่55 Verbond Straat  ใกล้ๆ ITM  ห่างกันประมาณ 400 เมตร พี่ไม่แน่ใจว่าจะอยู่ได้กี่คน ราคา 450 Euro/month น้องไปอยู่ที่โน่นแล้วไปขอแผนที่เมือง Antwerp  ที่Student service แล้วลองเดินสำรวจเมืองดูนะ เดินหาบ้านดูได้ น้องยังมีเวลากว่าครอบครัวจะตามไป แต่ตอนอยู่ช่วงแรกนี่สิ ปกติต้องทำสัญญา 6 เดือน  ถ้ามีปัญหาลองไปดูที่ 55 Verbond นี่ก็ได้ มีห้องสำหรับคนเดียวด้วย แล้วเวลาครอบครัวมาค่อยย้ายไปห้องใหญ่ มีปัญหาอะไรติดต่อมานะครับ หวัดดีครับ”  พี่หมู่ (นพ.ปวิตร วณิชชานนท์ รพ. ละงู)

น้าสำราญ เคยพูดกับผมครั้งหนึ่งว่า “แม้เราจะคิดว่าเราไปได้ด้วย ลำแข้งของเรา แต่จริงๆแล้วกว่าเราจะก้าวไปได้ ยังมีแรงที่ช่วยประคับประคองเราอยู่มาก ไม่ใช่ไปได้เพราะตัวเราคนเดียวเท่านั้น”

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

บ้านพักโรงพยาบาลบ้านตาก อ.บ้านตาก จ.ตาก

เขียนจากบันทึกประจำวันของวันที่ 27 มิถุนายน 2551 เวลา18.35 น. แอนท์เวิป (23.35 น.เมืองไทย)

4 พฤษภาคม 2552

 

หมายเลขบันทึก: 259292เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2009 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คำแนะนำจากคุณหมอวชิระ

“พิเชษฐ์ ผมขอแนะนำก่อนคร่าวๆ น่ะ เตรียมภาษาอังกฤษให้ดีพอควร โดยเฉพาะการฟัง, พูดอากาศที่โน่นจะมีฝนตกบ่อย อาจมีหิมะฤดูหนาว บางครั้งดูมัวซัว แต่มีครอบครัวไปก็อาจจะไม่เหงา เสื้อผ้าเครื่องกันหนาวเตรียมไปบ้างแต่ไม่พอไปหาซื้อที่โน่นได้ไม่แพงมาก ที่พักอาศัยหากเป็นไปได้ให้ขอจองบ้านของจอร์ช เพราะอยู่ใกล้ สะดวก ค่าเช่าไม่แพง มีห้องครอบครัวให้ มีเครื่องซักผ้า เครื่องครัวในบ้าน เพื่อนเยอะ ช่วยเหลือกันได้ สถานทูตอยู่ที่สาธรทาวเวอร์ ถ. สาธร รับเอกสารแล้วให้ไปสอบประวัติอาชญากรรม( certificate of good conduct) ที่สนง. ตร. แห่งชาติ ปทุมวัน แต่ไม่ต้องรอเอา ให้ส่งมาที่บ้านได้( ไม่ช้า) ตรวจสุขภาพขอให้ตรวจที่ตามรายชื่อที่สถานทูตระบุแต่หากไม่สะดวก ไปตรวจที่ รพ. สวนดอก (ของรร. แพทย์) ก็ได้หากเอาครอบครัวไป เตรียมแปล ทะเบียนสมรส ( certificate of marriage) สูติบัตร (certificate of birth) ไว้ด้วย มีเอกสารข้อสอบเก่าๆ เครื่องครัวสำหรับนักเรียนไทย( ครก, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า) อยู่ทีห้องกาแฟ ใส่กล่องไว้ให้ ถึงแม้จะย้ายที่ทำการสถาบัน น่าจะยังอยู่ อาหารการกินเตรียมของแห้งอาหารไทยไปกินบ้าง แต่ไม่ต้องมากนัก เพราะมีร้านอาหารไทย ขายของแห้งที china market ขาย” พี่แก่ (นพ. วชิระ บถพิบูลย์ รพ. ชุมพวง)

คำแนะนำจากคุณหมอวิวัฒน์

“สวัสดีครับ ยินดีด้วยครับที่ได้ทุนไปเรียน ผมเองได้ประโยชน์มากครับจากการไปเรียนหลักสูตรนี้ เรื่องการเตรียมตัว รุ่นก่อนๆเคยเชิญรุ่นพี่ช่วยปฐมนิเทศ ลองประสานกองสต.ดูนะครับ ถ้าได้รุ่นที่เพิ่งจบไปหมาดๆข้อมูลจะใกล้เคียงที่สุด นพ.กิตติพงศ์จากนราธิวาสก็น่าจะเหมาะครับ สำหรับเรื่องโรงเรียนhttp://www.da-vinci.be/ ดูรายละเอียดและติดต่อล่วงหน้าได้จากที่อยู่ข้างล่าง ค่าใช้จ่ายส่วนตัวทุนให้พอเพียงที่ต้องจ่ายเพิ่มแน่ๆคือค่าเรียน อาหารการกินถ้าทำเองไม่แพงครับ ผักสดซื้อจากตลาดนัด ไก่หมูซื้อร้านอาหารขายส่งไกลๆสถาบันไม่แพงครับ แฟนไปอยู่ถ้ากลัวเหงาสมัครงานได้ ถามรายละเอียดจาก นพ.สมชาย รพ.ราศรีไสล” วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ (สสจ.ภูเก็ต)

สวัสดีค่ะ

อ่านบันทึกของคุณหมอแล้วสนุกค่ะ อยากมีโอกาสได้ไปเที่ยวอย่างนี้บ้าง

ถ้ามีรูปภาพประกอบด้วย...จะได้เห็นบรรยากาศ และความสวยงามตามที่คุณหมอบรรยายค่ะ

อยากไปเที่ยวด้วยค่ะ คุณหมอ

สวัสดีครับคุณอาหมอพิเชฐ

ผมเป็นนศ.แพทย์ที่ไม่ได้เรียนในไทยเหมือนคนอื่นเค้า

ขอทุนรัฐบาลรัสเซียมาเรียน

ที่นี่ก็อากาศเย็นมากๆครับ

นั่งตามอ่านบทความเก่าๆที่คุณอาหมอเขียนไว้ ส่วนใหญ่จะเป็นด้านบริหาร

ได้เห็นมุมมองอีกแบบของแพทย์บริหาร ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้ดีที่เดียว

ผมหวังว่าอย่างน้อยๆ ถ้าผมจบแล้วจะทำได้สักเสี้ยวหนึ่งของคุณอาหมอครับ

ภูวดล นศ.แพทย์จากรัสเซีย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท