เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (9) : OM Workshop - เก็บตก


ตอน 4

ผู้เขียนมีประเด็นที่ เก็บตก มาจากการทบทวนเรื่องราวและบรรยากาศของ OM Workshop เมื่อวันที่ 1-3 เมย.ที่ผ่านมา ซึ่งอยากรวบรวมบันทึกไว้ ดังนี้

 

เรื่องแรก คือ key word ที่สะท้อน ภาพฝัน ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อ ที่ผู้เข้าร่วม ws ช่วยกันคิด ช่วยกันเสนอ ในช่วงระดมสมองเพื่อร่วมกันกำหนด วิสัยทัศน์ ของ โครงการ KM-NCD Network” ซึ่งมีประเด็นที่ทุกคน ฝัน ร่วมกันว่าอยากให้เกิดขึ้นในชุมชน คือ

-          ความเป็นเจ้าของสุขภาพ ของประชาชน/ชุมชนเอง

-          เครือข่ายสนับสนุนในทุกระดับจับมือกัน เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนมีทักษะความสามารถในการจัดการลดเสี่ยง ลดโรค ส่งเสริมสุขภาพได้ด้วยตนเอง

-          การพึ่งตนเองด้านสุขภาพ ของประชาชน/ชุมชน

-          แผน/นโยบายสาธารณะของชุมชน

-          วิถีชีวิตไทย บนพื้นฐานปรัชญา เศรษฐกิจพอเพียง

-          ใจ การประสานใจ ร่วมมือกัน เกื้อกูลกัน ใช้ ใจ นำการทำงาน

 

เรื่องที่สอง ช่วงสับสนอลหม่านว่า เรา คือใคร

การทำ OM ในขั้นตอนที่ 3 คือ การระบุภาคีหุ้นส่วนที่เกี่ยวข้อง เป็นขั้นตอนที่ใช้ระยะเวลาในการทำมากที่สุด และเป็นช่วงที่เกิดความสับสนอลหม่านขึ้นเล็กน้อย เพราะทุกคนที่มาเข้าร่วม ws ยังไม่ชัดเจนว่า เรา (ในวงกลมสีเหลืองของแผนภูมิ) คือใคร

ผู้เข้าร่วม ws พยายามที่จะช่วยกันคลี่คลายว่า เรา คือใครกันแน่ หลายท่านตั้งข้อสังเกตว่า

-          แต่ละคนยัง สวมหมวก ใบเดิมของตนเองในการเลือก หุ้นส่วน

-          ยังไม่มีการ ละลาย ให้เกิดความเข้าใจว่าทุกคนมารวมตัวกันเพื่อเป็น เรา ที่หมายถึง ทุกคนคือหุ้นส่วนที่มีบทบาทสำคัญใน โครงการ KM NCD Network”

-          ยังไม่ชัดเจนว่าที่ทุกคนมาร่วมใน ws ครั้งนี้ เพื่อเรียนรู้เรื่อง OM โดยใช้ประเด็น NCD เป็นตัวอย่างในการฝึกปฏิบัติ หรือ มาเพื่อร่วมกันเรียนรู้และประยุกต์ใช้ OM ในการวางแผนสร้างความเข้มแข็งให้กับ เครือข่าย NCD”

 

คุณหมอฉายศรี ในฐานะหัวหน้าโครงการ KM NCD Network ชี้แจงว่า : สำนักโรคไม่ติดต่อ เป็น แกนนำ ในการเชิญชวนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น สคร. สสจ. กรมอนามัย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ รวมถึงมหาวิทยาลัย มาจับมือร่วมกันทำงานในแนวระนาบเพื่อพัฒนา เครือข่าย KM NCD” ให้มีศักยภาพในการสนับสนุนการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน โดยใช้กระบวนการ การจัดการความรู้ เป็นกลไกเชื่อมโยง

 

OM Workshop ครั้งนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการ ก่อร่าง สร้างรูป ให้เกิดกระบวนการสร้าง เครือข่าย ที่จะร่วมมือกันเข้าไปสนับสนุนการทำงานลดเสี่ยง ลดโรคในชุมชน แล้วเกิดการบูรณาการอย่างที่ พื้นที่ เคยตั้งคำถามว่า ทำอย่างไร stakeholder ต่างๆ ที่มีอยู่มากมาย ถึงจะบูรณาการกันอย่างแท้จริง ด้วยความเข้าใจกัน และพูดเป็นเสียงเดียวกัน

 

เรื่องที่สาม คือ ช่วงสุดท้ายของ workshop “คุณหมอฉายศรี ฝากไว้ว่า อย่างน้อยที่สุดเมื่อเสร็จสิ้นโครงการในระยะที่ 1 เรา น่าจะบรรลุ ฝันที่อยากจะให้มีการบันทึก รวบรวม จัดหมวดหมู่ ความรู้ปฏิบัติ ของการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ที่จะทำให้รู้ว่ามีใครเด่นในเรื่องใดอยู่ที่ไหนบ้าง ซึ่งจะนำไปสู่การแบ่งปัน แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ร่วมกันที่ขยายผลออกไปอย่างกว้างขวางมากขึ้น

 

เมื่อได้ทบทวนเหตุการณ์และกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นทั้งในช่วงเตรียมการและช่วงของการจัด workshop ทั้งหมดอย่างละเอียดแล้ว โดยส่วนตัวผู้เขียนคิดว่า ภาพรวมของการบรรลุเป้าหมายในการจัด OM Workshop ครั้งนี้ เป็นไปตามที่คาดหวัง OM เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมสำหรับนำมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพ เครือข่าย KM NCD” ที่มีลักษณะซับซ้อน มี หุ้นส่วนที่เกี่ยวข้องมากและหลากหลาย

 

OM Workshop ครั้งนี้เป็นโอกาสที่ หุ้นส่วน ต่างๆ (แม้ว่าจะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด) ได้มาจับมือวางแผนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกัน ด้วยรูปแบบ/วิธีการที่ต่างไปจากเดิม เมื่อเสร็จสิ้น ws เรา ก็ได้ แผนกลยุทธ์ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานร่วมกันต่อไป รวมถึงได้แลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์การทำงานซึ่งกันและกัน แม้จะมีระยะเวลาไม่มากนัก แต่ก็สามารถเก็บเกี่ยวประเด็นที่เป็นประโยชน์ไว้ได้มากมาย ด้วยพลังจากประสบการณ์ การแบ่งปัน การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วม ws ทุกคน ส่วนสิ่งที่เกินความคาดหวังสำหรับผู้เขียน คือ ความตั้งใจและการมีส่วนร่วมอย่างเต็มร้อยของผู้เข้าร่วม ws ทุกคน

 

สิ่งที่ผู้เขียนคิดว่าควรมีการปรับปรุงในการจัดกิจกรรมครั้งต่อไป คือ การให้ความสำคัญกับการทำ BAR- Before Action Review อย่างเข้มข้นของทีมแกนนำ ซึ่งน่าจะมี 3 ส่วน คือ 1) BAR ร่วมกับทีมวิทยากรที่จะมาช่วยอำนวยการเรียนรู้ 2) BAR กับกลุ่มที่จะมาร่วมกิจกรรม และ 3) BAR ภายในทีมแกนนำเอง ... ผู้เขียนจำได้ว่าเท่าที่เคยไปร่วมเรียนรู้ประสบการณ์ของหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จในการใช้ KM เพื่อพัฒนางาน คน และองค์กร มีหลายแห่งที่บอกว่าในการจัดเวทีหรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่างๆ ถ้าทำ BAR ดี ก็เท่ากับมองเห็นความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง

 

เมื่อสองวันก่อนผู้เขียนมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องราวและบรรยากาศการเตรียมตัวจัดประชุม การจัดการความรู้แบบบูรณาการ กรณีเบาหวานและความดันโลหิตสูง ของ เครือข่ายเบาหวานภาคหนือ จาก blog เบาหวานพุทธชินราช คิดว่าน่าสนใจและเป็นตัวอย่างสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ดี อีกทั้งยังคล้ายๆ จะเป็นเรื่องเดียวกันแต่คนละมุม ถ้าเข้าใจไม่ผิดคือ เครือข่ายเบาหวานภาคหนือ ทำในมุมของการดูแลรักษา ส่วน เรา ทำในมุมป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ

 

ปลาทูแม่กลอง

29 เมษายน 2552

หมายเลขบันทึก: 258229เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2009 19:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท