ภารกิจหลักของศูนย์ฯ
๑. การฝึกอบรมวิชาชีพภายในศูนย์ฝึกอาชีพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครบ ๓๖ พรรษา
๑.๑ การฝึกอบรมวิชาชีพ หลักสูตร ๖ เดือน ในแผนกต่าง ๆ รวม ๘ แผนกดังนี้ แผนกตัดเย็บเสื้อผ้าสตรี แผนกบริการโรงแรม แผนกช่างไฟฟ้า เครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ แผนกตัดผมชาย แผนกเสริมสวยสตรี แผนกโภชนาการ แผนกศิลปประดิษฐ์ และแผนกคอมพิวเตอร์เบื้องต้นเปิดการฝึกอบรมปีละ ๒ รุ่น โดยมีรายละเอียดระยะเวลาดังนี้ ตุลาคม - มีนาคม, เมษายน - กันยายน
๑.๒ การฝึกอบรมวิชาชีพหลักสูตร ๔ เดือน แผนกนวดแผนไทยและนวดประคบสมุนไพร เปิดฝึกอบรมปีละ ๓ รุน โดยมีระยะเวลาดังนี้ ตุลาคม - มกราคม , กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม , มิถุนายน - กันยายน
การฝึกอบรมวิชาชีพแต่ละแผนกจะเป็นการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฎิบัติ รวมถึงการฝึกปฎิบัติงานทั้งภายนอกสถานที่ หลังจากการฝึกอบรมวิชาชีพ ศูนย์ฯ จะดำเนินการสอบวัดผลเทียบความรู้ผู้สำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพทุกคน และจะได้รับมอบประกาศนียบัตรของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ
๑.๓ การฝึกอบรมวิชาชีพ หลักสูตร ๑๒๐ ชั่วโมง ให้แก่กลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษาในเขตอำเภอบางละมุง และศรีราชา เปิดการฝึกอบรมปีละ ๑ รุ่น โดยเรียนสัปดาห์ละ ๑ วัน ๆ ละ ๓ ชั่วโมง เพื่อเป็นวิชาชีพเสริมของนักเรียนในโรงเรียน
๑.๔ การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้รับการฝึกอบรมวิชาชีพนอกเหนือจากการฝึกอบรมวิชาชีพแล้ว ศูนย์ฝึกอาชีพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครบ ๓๖ พรรษา ยังเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้รับการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยจัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ จัดกิจกรรมวันสำคัญตามประเพณีไทย และประเพณีสากล เช่น วันเข้าพรรษา วันขึ้นปีใหม่ วันลอยกระทง ฯลฯ จัดการอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยการเชิญวิทยากรภายนอกมาบรรยายให้ความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ในชีวิตประจำวัน เช่น การวางแผนครอบครัว ความรู้เรื่องการป้องกันโรคเอดส์และยาเสพติดให้โทษ กฎหมายชาวบ้าน และอบรมค่าย พุทธบุตร
๑.๕ การจัดหางาน ภายหลังจากการสำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพแล้ว ศูนย์ฝึกอาชีพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครบ ๓๖ พรรษา ได้บริการจัดหางานให้ตามความประสงค์ของผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพ โดยศูนย์ฯ ได้รับการประสานงานกับสถานประกอบการต่าง ๆ ในการส่งผู้รับการฝึกอบรมเข้าทำงาน โดยผ่านการตรวจสอบและติดตามผลอย่างใกล้ชิดจากเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ
๒. จัดการฝึกอบรมวิชาชีพภายนอกศูนย์ฯ ให้กับกลุ่มสตรีและกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ของจังหวัดชลบุรี โดยเน้นการส่งเสริมการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในพื้นที่ และการนำไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตในครอบครัว
๓. สนับสนุนการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในพื้นที่
๔. การอบรมโครงการให้ความรู้แก่เยาวสตรี เพื่อป้องกันการถูกล่อลวง อบรมในเรื่องคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับเด็ก ปัญหาเรื่องแรงงานเด็ก พิษภัยของยาเสพติด ภัยต่าง ๆ ของผู้หญิง กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน โรคเอดส์และโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และปัญหาการค้าประเวณี
ภารกิจพิเศษ
๑. เป็นสถานรับตัวชั่วคราวแก่สตรีและเด็กที่ประสบปัญหาหรือกระทำผิด พรบ. มาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๐ เพื่อให้การดูแลอบรม พิจารณาหาสาเหตุของการกระทำผิด และพิจารณาส่งตัวเข้ารับการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพที่เหมาะสมไปยังสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพต่อไป
๒. เป็นสถานรับตัวชั่วคราวแก่เด็กที่ประสบปัญหาจำเป็นต้องได้รับการคุ้มครอง ตามพรบ. คุ้มครองเด็ก พ.ศ. ๒๕๔๖ เพื่อเป็นการอุปการะเป็นการชั่วคราว และพิจารณาส่งตัวเข้ารับการสงเคราะห์หรือคุ้มครองสวัสดิภาพตามความเหมาะสมแก่เด็กแต่ละรายต่อไป
๓. สงเคราะห์เงินทุนประกอบอาชีพ แก่สตรีที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์
๔. ดำเนินการป้องกันปัญหาเยาวสตรีถูกหลอกลวง หรือถูกละเมิดทางเพศ ด้วยการจัดฝึกอบรมโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันการถูกล่อลวง แก่เด็กและเยาวชน
๕. ประสานและให้ความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่อยู่ในพื้นที่ในการดำเนินการออกหน่วยให้บริการในด้านสวัสดิการสังคมในชุมชน
เป้าหมายผู้รับบริการ
๑. เยาวชน - ประชาชน ที่มีอายุตั้งแต่ ๑๔ - ๓๕ ปี ขึ้นไป ที่มีฐานะยากจนขาดแคลน และผู้ว่างงานต้องการฝึกอาชีพ เพื่อเป็นรายได้เสริมให้แก่ครอบครัว
๒. จบการศึกษาภาคบังคับ
๓. เป็นผู้มีความประพฤติดี
๔. มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ของภาคตะวันออกและจังหวัดใกล้เคียง
บริการที่จัดให้ผู้รับบริการ
ผู้รับการฝึกอบรมวิชาชีพของศูนย์ฝึกอาชีพเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครบ ๓๖ พรรษาจะได้รับบริการดังนี้
๑. จัดที่พักอาศัย อาหาร ๓ มื้อ เครื่องแต่งกาย และของใช้ประจำตัวที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
๒. วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกอบรม ตลอดหลักสูตร
๓. จัดบริการทางสังคมสงเคราะห์ โดยนักสังคมจะจัดทำประวัติให้บริการ ให้คำปรึกษา แนะนำช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาส่วนตัว และครอบครัวกับนักสังคมสงเคราะห์ เป็นรายบุคคล และเป็นกลุ่มรวมทั้งการเยี่ยมครอบครัวผู้รับการฝึกอบรมด้วย
๔. ให้บริการด้านการรักษาพยาบาล โดยมีเจ้าหน้าที่พยาบาลให้การดูแลรักษาพยาบาล เมื่อเจ็บป่วยและในรายที่มีอาการรุนแรงจะนำส่งโรงพยาบาลบางละมุง
๕. การสันทนาการ จัดให้มีวิทยุ โทรทัศน์ ห้องสมุด กีฬา และกิจกรรมอื่น ๆ ตลอดจนการจัดงานในโอกาสเทศกาลต่าง ๆ ที่เป็นวันสำคัญประจำปี เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมวิชาชีพได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงาม
ทรัพยากรในการบริหาร
มีพื้นที่ในการดำเนินการทั้งสิ้น จำนวน ๕๕ ไร่ มีอาคารต่าง ๆ ที่ใช้ในการดำเนินการ รวม ๕๐ อาคาร ดังนี้
- อาคารอำนวยการ ๑ หลัง
- อาคารอเนกประสงค์ ๑ หลัง
- อาคารโรงฝึกอาชีพ ๙ หลัง
- อาคารเรือนนอน ๖ หลัง
- อาคารโรงอาหารและโรงครัว ๒ หลัง
- อาคารบ้านพักข้าราชการ ๑๐ หลัง
- อาคารเรือนแถว ๑๖ หลัง
- อาคารเรือนพยาบาล ๑ หลัง
- อาคารห้องสมุด ๑ หลัง
- อาคารโรงพัสดุ ๒ หลัง
- อาคารศูนย์สาธิต ๑ หลัง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ศูนย์ฝึกอาชีพเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ครบ 36 พรรษา ชลบุรี ใน ประวัติของศูนย์
คำสำคัญ (Tags)#ภารกิจ#บริการ#พัทยา#ศูนย์ฝึกอาชีพ
หมายเลขบันทึก: 257482, เขียน: 26 Apr 2009 @ 13:44 (), แก้ไข: 24 Jun 2012 @ 01:21 (), สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกัน, ความเห็น: 83, อ่าน: คลิก
หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาอาหารและโภชนาการ อยากให้มีเปิดสอนวันเสาร์หรืออาทิตย์บ้างจังเลย และเป็นหลักสูตรระยะสั้นด้วยนะครับ ตอนนี้เศรษฐกิจไม่ดีคนตกงานกันเยอะ และตัวกระผมเองก็ยังไม่รู้ชะตากรรมตัวเองว่าจะโดนให้ออกเมื่อไหร่ แต่สถานะบริษัทตอนนี้ก็แย่พอสมควร ผมทำงานบริษัทรถยนต์ยี่ห้อดังครับ ที่กำลังเป็นข่าวและกำลังย่ำแย่อย่างหนัก ผมจึงอยากเรียนทำอาหารไว้เผื่อว่าถ้าตกงานจะได้นำไปประกอบอาชีพได้ทัน ไม่อยากตกงานก่อนแล้วมาเรียน ยังไงก็ขอความกรุณาด้วยนะครับ ผมเชื่อว่ามีอีกหลายคนที่คิดแบบนี้และต้องการเรียน