ยึดอาชีพเลี้ยงบัวอยู่แบบพอเพียง


บัวหลวงมีโกมุทบุษบัน               บ้างบานตูมชุ่มชื่นพระยื่นหยิบ

แกล้งกระซิบสูดกลิ่นนางผินผัน        ชมปลาว่ายรายเรียงมาเคียงกัน...

จากบทกลอนของท่านบรมครูกลอน สุนทรภู่ ที่กล่าวถึงความงามของบัว เป็นแรงจูงใจที่ให้ผู้เขียนได้เดินทางมุ่งสู่แหล่งผลิตบัวประดับในพื้นที่หมู่  8  อำเภอสรรคบุรี  จังหวัดชัยนาท  หลังจากหมดเวลาราชการ  การเดินทางเอเข้าสู่พื้นที่เป้าหมายไม่ยากนัก  เพราะแหล่งปลูกบัวอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานเทศบาลสรรคบุรี

เมื่อไปถึงแล้วพบคุณอุดร และคุณกาญจนา  ลำลึก พร้อมเจ้าตัวเล็กที่กำลังวิ่งเล่นอย่างสนุกสนาน หลังจากทักทายพร้อมดื่มน้ำเย็นผ่อนคลายความร้อนที่ผ่านมาจากการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์คู่ใจ  จึ่งเดินสำรวจบัวและไม้ประดับที่โชว์ความสวยงามและรวดลายบนใบหลากหลายสายพันธุ์ที่ได้ถูกวางไว้อย่างลงตัว  ภายในพื้นที่บริเวณบ้านเนื้อที่ประมาณ  100  ตารางวาอย่างเหมาะสมและสวยงาม 

                                       นายอุดม  ลำลึก เกษตรกรวัย 37  บ้านเลขที่ 310/2 หมู่ 8 ต.แพรกศรีราชา อ.สรรคบุรี จ.ชัยนาท  กล่าวว่า  หลังจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  จังหวัดเชียงใหม่  ได้เข้าทำงานทั้งภาครัฐและเอกชน  แต่เมื่อภาคเอกชนพบปัญหาเศรษฐกิจจึงกลับสู่บ้านยึดทำการเกษตร ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง โดยยึดพื้นที่ว่างเปล่าภายในบริเวณบ้านที่มีพื้นที่รวมประมาณ 100 ตารางวา สร้างบ่อซิเมนต์  ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 19 เมตร จำนวน 3  บ่อ สำหรับขยายพันธุ์บัวสายพันธุ์ต่างประเทศในช่วงฤดูฝน ซึ่งมีน้ำอย่างพอเพียง อีกทั้งได้ขยายพันธุ์ไม้ประดับหลากหลายชนิด  เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้สนใจ และรายได้หมุนเวียน

ด้านการปลูกบัวสวยงามสายพันธุ์ต่างประเทศนั้น ได้รับคำแนะนำจากคุณอุดรว่า  การปลูกนั้นผู้คิดจะปลูกต้องมีใจรัก และมีสภาพพื้นที่ที่เหมาะสม เพราะบัวต้องการแสงที่เพียงพอ อีกทั้งปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ชนิดและพันธุ์บัว จัดหาโดยศึกษาข้อมูลที่ให้ดอกดก สีสวยและมีโทนสีให้เลือกหลากหลาย ดังนั้น จึงจัดหาพันธุ์บัวจากต่างประเทศ   การลงทุนในระยะแรกยึดหลัก เศรษฐกิจพอเพียง  โดยงซื้อมาเพียง 12 ต้น จำแนกเป็น 3  สี คือ เหลือง ชมพู และแดง นำมาขยายโดยใช้เหง้า ปัจจุบันมีพันธุ์บัวมากพอที่จะขยายพันธุ์ได้ตามที่ต้องการ

2. ดิน ควรเป็นดินเหนียว และต้องระวังอย่าให้มีไข่หอยเชอรี่ติดมา เพราะจะเป็นศัตรูพืชที่สำคัญทำลายบัวได้  ต้องใส่ปุ๋ยเสริมควรเสริมด้วยปุ๋ยคอกขณะหมักดิน  ดำเนินการดังนี้  นำปุ๋ยคอกรองไว้ก้นอ่าง และนำดินที่ได้ใส่ไว้ข้างบน ในอัตราส่วน 1:5  เติมน้ำลงไปเพื่อหมักดินทิ้งไว้ประมาณ 2 อาทิตย์ เมล็ดวัชพืชที่ติดมาจะงอกและเน่าจนหมด

3. น้ำ  ควรมีฤทธิ์เป็นกรดเล็กน้อยหรือเป็นกลางเหมาะที่สุด ค่า pH ควรอยู่ระหว่าง 6.5-7.5 แต่ในการปลูกจริงๆ โดยเฉพาะในภาชนะจำกัดที่น้ำไม่ถ่ายเท ธาตุไนโตรเจนส่วนเกินจะละลายอยู่ในน้ำที่ปลูก เปลี่ยนสภาพของน้ำเป็นด่าง ค่า pH มักจะสูงกว่า 7.5 ต้องแก้ด้วยการเติม สารเปลี่ยนสภาพให้น้ำเป็นกลาง หรือเสริมด้วยปุ๋ยที่มีธาตุฟอสฟอรัสสูง   ระดับน้ำควรให้น้ำสูงกว่าจากปากกระถางปลูกบัวเพียง 1 ฝ่ามือ

 4. สายลมและแสงแดด   ลม ควรมีเป็นสถานที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อช่วยลดความร้อนของน้ำ  เพื่อพัดความร้อนออกไป  ดอกก็ไม่เหี่ยว  แสงแดด สถานที่ที่ปลูกบัวควร ได้รับแสงแดดเต็มที่ ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ชั่วโมง จะเป็นแดดเช้าหรือบ่ายก็ได้

5. การใส่ปุ๋ย บัวเป็นพืชที่ต้องการปุ๋ยมาก ใช้ปุ๋ย-อาหารค่อนข้างเปลือง แสงแดดเป็นตัวสนับสนุนที่มีอิทธิพลที่สุด ทำให้ปรุงอาหารได้เร็วมาก และก็ใช้มากด้วย

6. ภาชนะปลูก ใช้บ่อหรืออ่างคอนกรีต คือที่อยู่อาศัยของบัว ได้ใช้อ่างซิเมนต์ใส่น้ำ และปลูกในกระถ่างพลาสติก เนื่องจากการจำกัดพื้นที่ภาชนะปลูกจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการงอกของเหง้า ถ้าเป็นบ่อใหญ่  เหง้าบัวที่งอกออกมาจะขยายไปไกลไม่ออกเหง้าให้ได้ขยายพันธุ์ เมื่อถึงขอบอ่างจะเลื้อยเข้ามาจนเต็มสระ  แต่เมื่อใช้ภาชนะเล็กแล้วพบว่ามีเหง้าของบัวเจริญออกมาให้ได้ขยายพันธุ์

7. มนุษย์  เป็นปัจจัยที่สำคัญ ดังนั้นเกษตรกรจะต้องพยายามหาความรู้อย่างหลากหลายและไม่หยุด อีกทั้งควรบริหารจัดการด้านการตลาดด้วย เนื่องจากเราจะต้องหาตลาด มิใช่ตลาดมาหาเรา เพราะถ้าตลาดมาหาเราจะต้องถูกตัดราคา ซึ่งการจำหน่ายไม่ประดับนั้นเป็นผลผลิตทางการเกษตรที่เราสามรถตั้งราคาเองได้ จะแตกต่างจากสินค้าอื่น ดังนั้นจึงต้องบริหารจัดการไม่ประดับที่แปลกใหม่ และดูแล้วสดใสอยู่เสมอเพื่อเป็นที่ต้องการของลูกค้า ตลาดในท้องถิ่นยังคงเป็นตลาดที่สามารถจำหน่ายได้ เพียงแต่มีความจริงใจกับลูกค้าเท่านั้น

นายอุดม  ลำลึก  กล่าวเสริมว่า  ผู้ต้องการปลูกบัวสายพันธุ์ต่างประเทศ  ส่วนใหญ่จะซื้อเมื่อดอกบัวบานแล้ว  เพราะจะเกิดความมั่นใจว่าจะได้สีหรือรูปทรงตามที่ต้องการ เมื่อเลือกบัวตามที่ต้องการแล้ว ควรจัดหาสถานที่ตั้งวางอ่างปลูกให้ได้รับแสงแดดเต็มที่ ไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ชั่วโมง การใส่ปุ๋ยเคมีสูตร 16-16-16 ประมาณเดือนละ 1 ครั้งๆ ละประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ ห่อด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์เพื่อป้องกันปุ๋ยเคมีสัมผัส กับรากของบัวโดยตรง อีกทั้งควรเปลี่ยนดินในกระถาง สังเกตจากจำนวนใบน้อยลง ใบเริ่มแห้งและรากเริ่มลอย บัวจะออกดอกให้ได้ชมอย่างสวยงาม

คำสำคัญ (Tags): #บัว#พอเพียง
หมายเลขบันทึก: 257369เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2009 17:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เก่งมากครับ ถ้ามีบ้านพร้อมแล้วจะมาติดต่อครับ

แวะมาดูวิถีชีวิตแบบพอเพียง  เรียบง่ายค่ะ

มีความสุขในทุกๆวัน นะคะ

ขอบคุณค่ะ

อยากทราบเบอร์ติดต่อ จะขอสอบถามข้อมูล บ้านอยู่ไกลครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท