กรณีศึกษา: น้องคล่อง


น้องคล่อง เด็กผู้ชายอายุ ๑๑ ขวบ ไม่ใช่คนไข้ แต่ตามแม่ซึ่งเป็นคนไข้ของผมมารับการฉายรังสีที่โรงพยาบาล และพักอยู่กับแม่ที่อาคารพักผู้ป่วยที่วัดโคกนาว ตรงข้ามโรงพยาบาลตลอดการรักษา น้องคล่องเป็นเด็กฉลาด คล่องแคล่วสมชื่อ เพราะเป็นคนพาแม่ไปติดต่อตามแผนกต่างๆของโรงพยาบาล สิ่งที่ผมสังเกตเห็น คือ เวลาอยู่ในห้องผม น้องจะค่อนข้างขี้อาย พูดน้อย บางทีก็หลบอยู่หลังแม่ แต่คนไข้บอกว่า" โอ๊ยมันร้าย ซน ชอบแกล้งแม่ ชอบว่าแม่ " แล้วเวลาที่แม่พูดอย่างนั้น น้องคล่องก็จะแผลงฤทธิ์ ถึงขนาดแกล้งเอามือปัดวิกบนหัวของแม่ตัวเองทิ้งแล้วหัวเราะ

แม่ของน้องคล่องอายุ ๕๐ ปี อาชีพช่างเสริมสวยเดินเท้า เป็นมะเร็งลุกลามมาที่หน้าอก แต่ไม่ใช่มะเร็งเต้านม ขนาดก้อนเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า ๑๕​ ซม. และมีอาการปวดซึ่งต้องให้การรักษาด้วยการฉายรังสีเพื่อบรรเทาอาการนอกจากการลุกลามมาที่หน้าอกแล้ว ยังมีการลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองหลายแห่งทั่วตัว และปอดทั้งสองข้าง เริ่มเหนื่อยบ้างแต่ไม่มาก


วันที่คนไข้ฉายรังสีครบและมาพบผม พบว่าก้อนนุ่มลง อาการปวดลดลง หลังจากผมคุยเรื่องการรักษาและการดูแลตนเองหลังการรักษาเสร็จแล้ว ผมตัดสินใจบอกคนไข้ว่า "วันนี้ผมมีเรื่องสำคัญจะคุยกับพี่ "

ผมใช้ประโยคนี้ เพื่อส่งสัญญาณให้คนไข้รู้ตัว และแสดงความพร้อมที่จะคุยด้วย เพราะบางทีคนไข้มักจะเกรงใจหมอ ไม่อยากให้หมอเสียเวลา

ผมประเมินว่า ถึงแม้คนไข้คนนี้จะเพิ่งมารับการรักษาเป็นครั้งแรก และยังมีโอกาสจากการรักษาหลักต่อไป คือ ยาเคมีบำบัด แต่ผลการรักษาอาจไม่ดีนัก เพราะตัวโรคค่อนข้างรุนแรง รวดเร็ว และมีการลุกลามไปอวัยวะภายในคือปอดแล้วทั้งสองข้าง ผมอยากรู้ว่า คนไข้คิดเรื่องนี้อย่างไรบ้าง และวางแผนอนาคตอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องลูกชายคนเดียวของเขา..น้องคล่อง

หลังจากผมถามคนไข้จนแน่ใจว่า เขารับรู้เรื่องโรคของตนเองที่เป็นค่อนข้างมากแล้ว ก็มาถึงคำถามที่ค้างใจอยู่  "แล้วพี่วางแผนเรื่องลูกอย่างไร"

"คิดว่าจะให้มันบวชเณร คุยกับหลวงตาไว้แล้ว หรือไม่ก็จะพาไปฝากพี่สาวที่ยะลาเลี้ยง" คนไข้พูดถึงพี่สาวคนโตอายุ ๕๔ ปี ที่ไม่เคยติดต่อกันนานแล้ว

ผมถามน้องคล่องว่า "แล้วน้องว่าไง อยากบวชหรืออยากไปอยู่กับป้า"

น้องคล่องตอบว่า "อยากอยู่กับป้า"  ทั้งๆที่ไม่เคยเจอหน้ากันมาก่อน

ผมแนะนำให้คนไข้ติดต่อพี่สาว จนจัดการการเดินทางไปยะลาหลังการรักษาได้สำเร็จ แต่หลังจากนั้นคนไข้ก็กลับมาบอกข่าวไม่ดีนัก "พี่สาวรับเลี้ยงมันไม่ไหว"

ผมถามคำถามเดิมกับคนไข้ "แล้วพี่จะทำยังไง"

"ไม่ให้มันบวช ก็ให้มันกลับไปอยู่กับพ่อของมัน" คนไข้พูดถึงสามีเก่าที่แยกทางไปมีภรรยาใหม่ ซึ่งมีลูกติดทางโน้น ๓ คน และเพิ่งมีลูกด้วยกันอายุเพิ่ง ๗ เดือน

ผมถามน้องคล่องว่า "น้องว่าไง อยากบวชหรืออยากไปอยู่กับพ่อ"

น้องคล่องตอบสั้นๆว่า "บวช"

คนไข้เล่าให้ฟังว่า สามีเก่าเคยทำร้ายทั้งตัวเขาและเด็ก  ผมจึงไม่แปลกใจว่าทำไมเด็กจึงยอมบวชมากกว่ากลับไปอยู่กับบิดาบังเกิดเกล้า

ผมถามคำถามสุดท้ายกับเด็กตรงๆ ว่า "แล้วถ้าแม่เขาเจ็บหนัก ดูแลน้องไม่ได้ น้องจะทำยังไง"

น้องคล่องตอบตรง "ไม่รู้"

แม่น้องคล่องตอบแทนว่า "ก็คงให้มันไปอยู่กับหลวงตา" คำตอบของคนไข้ทำให้ผมคลายกังวลไประดับหนึ่ง ที่กลัวว่า เขาจะไม่ได้วางแผนอะไรให้ลูกของเขาเลย


ประเด็นที่อยากให้ชวนให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็น ควรให้เด็กอย่างน้องคล่องร่วมอยู่ในการสนทนาเรื่องนี้ หรือไม่

  ผมลองไปค้นตำราเรื่อง เด็กกับการรับรู้เรื่องความตาย

   เด็กวัยประถมแบบน้องคล่อง เริ่มรู้ว่าคนตายแล้วไม่ฟื้น เป็นความพลัดพราก ต่างจากเด็กวัยก่อนเรียนที่คิดว่า คนหรือสัตว์ตายแล้วฟื้นได้เหมือนหนังการ์ตูนหรือนิทาน แต่เด็กวัยนี้มักกลัวถูกทอดทิ้ง เพราะต้องพรากจากคนที่รัก และอาจรู้สึกว่าเป็นความผิดของตนเอง ที่ทำให้คนที่รักเจ็บป่วยหรือตาย เด็กวัยนี้สามารถพูดคุยเรื่องความตายได้ตรงไปตรงมา และไม่ควรถูกกันออกไป

นี่เป็นทฤษฎีตามตำราฝรั่ง การรับรู้ของเด็กยังขึ้นกับปัจจัยอื่นอีกมากมาย โดยเฉพาะในบริบทวัฒนธรรมไทย

หมายเลขบันทึก: 256926เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2009 15:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มาจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

ดิฉันคิดว่าเป็นประเด็นที่น่าสนใจมากๆ โดยส่วนตัวการดูแลญาติหรือเด็กก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจนอกเหนือจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว หลายปีก่อนที่ห้องฉุกเฉินรพ.รามาธิบดี มีผู้ป่วยชายอายุประมาณ 40 ปีเป็นเอดส์ระยะสุดท้ายและมีวัณโรคที่เยื่อหุ้มไขสันหลังที่ทำให้คนไข้เป็นอัมพาตครึ่งตัวไม่สามารถเดิน หรือ ช่วยเหลือตนเองได้ ผู้ป่วยไม่มีบ้าน เร่ร่อน อายุรแพทย์ที่ดูแลสั่งยาวัณโรคให้แล้วก็ลงความเห็นว่า supportive เพราะ poor compliace และให้จำหน่ายผู้ป่วยกลับบ้าน แต่ผู้ป่วยไม่มีบ้านให้กลับ ไม่มีข้าวให้กิน ไมมีที่ที่จะไป ยิ่งกว่านั้นข้างๆกายของเขามีเด็กชายอายุประมาณ10 ปีอยู่ด้วย ท่ามกลางความวุ่นวายที่ห้องฉุกเฉิน เราเห็นผู้ป่วยรายนี้มีญาติเพียงคนเดียวคือบุตรชายคนนี้ ซึ่งผู้ป่วยต้องอยู่ที่ห้องฉุกเฉินถึง 3 วัน เพราะเรายังหาวิธีช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ได้และที่สำคัญไม่มีใครเป็นเจ้าภาพในการจัดการกับปัญหานี้ หลังจากจัดการกับสถานะการณ์ความวุ่นวายในห้องฉุกเฉินจนเริ่มจะคลี่คลายพอมองเห็นอะไรชัดเจนขึ้น ดิฉันจึงมองเห็นว่ามีอีกชีวิตที่เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรกับเขาดีก็คือเด็กคนนี้ ดิฉันตัดสินใจเดินเข้าไปสอบถามคนไข้เพื่อประเมินการรับรู้ต่อตัวโรคและการพยากรณ์โรค คนไข้ตอบว่ารู้ดีแต่ไม่รู้จะทำยังไงกับชีวิต หลังจากนั้นดิฉันหันกลับไปถามเด็กน้อยถึงที่มาที่ไปของครอบครัวและการเรียน เพราะดิฉันคิดว่าเด็กคนนี้น่ารักมากที่เฝ้าดูแลพ่ออยู่ไม่ห่าง เด็กตอบว่าแม่ป่วยแบบเดียวกับพ่อ ตายแล้วเมื่อ2 ปีก่อน แม่มีลูกสาวอีกคน(พี่สาวของเด็กคนนี้)ถูกรถชนตายปีที่แล้วตอนวิ่งขายพวงมาลัย เด็กน้อยคนนี้ต้องออกจากโรงเรียนตอนป.4 เพราะพ่อป่วยมากไม่มีคนดูแล ส่วนใหญ่มีคนสงสารให้เงินซื้อข้าวกิน บางทีก็ไม่ได้กิน หนูอยากเรียนหนังสือไหม ดิฉันถามเพราะคิดว่าวันหนึ่งหากมีการศึกษาชีวิตในภายภาคหน้าของเขาจะได้ดีขึ้นหลังจากพ่อเสียชีวิต อยากเรียน เด็กตอบดิฉัน ถ้าหากหมอหาที่อยู่และลูกได้เรียนหนังสือจะดีไหมคุณพ่อ คนไข้ตอบว่า ดีครับหมอ เด็กน้อยขัดขึ้นทันทีว่า ผมไม่ไปไหนผมจะอยู่กับพ่อ ผมไม่เหลือใครอีกแล้ว ผมไม่เรียนหนังสือก็ได้หมอ คำพูดของเด็กน้อยเป็นโจทย์ใหม่ให้เราต้องคิดกันหนักทีเดียว คือต้องมีที่อยู่ มีอาหาร เด็กได้เรียนหนังสือ และพ่อลูกต้องไม่แยกจากกัน จากนั้นดิฉันจึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโรงพยาบาล ไม่ว่าทีมพยาบาล สังคมสงเคราะห์ ซึ่งทำให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเคยช่วยเหลือพ่อลูกคู่นี้มาก่อน ตัวพ่อนั้นเดิมติดยาเสพติดและมักจะทำร้ายลูกเวลาหงุดหงิดหรือเมายา ซึ่งสิ่งที่เป็นที่สงสัยของดิฉันคือเหตุผลใดที่ยังทำให้เด็กน้อยเลือกที่จะอยู่กับพ่อและรักพ่อทั้งๆที่ถูกกระทำเช่นนี้ ดูเหมือนสภาพแวดล้อมและครอบครัวไม่น่าจะเอื้อให้เด็กน้อยนี้มีความรักกตัญญูต่อบิดาได้ขนาดนี้ หลังจากนั้นเราก็สามารถประสานงานจนได้แนวทางการแก้ปัญหาให้กับสองชีวิตที่น่าจะดีที่สุดสำหรับเขาในเวลานี้คือทางวัดพระบาทน้ำพุตกลงรับผู้ป่วยและลูกไปดูแลต่อและอุปการะทางการศึกษาแก่เด็ก ซึ่งทั้งคู่ก็พอใจกับสิ่งที่ได้รับเป็นอย่างดี จากนั้นเราจึงส่งพ่อลูกทั้งสองไปยังบ้านใหม่แห่งนี้ ก่อนจากกันดิฉันอดไม่ได้ที่จะบอกคนไข้ว่า สิ่งมีค่าที่คุณมีอยู่ที่หลายๆคนอาจไม่มีเหมือนคุณ คือการมีลูกที่น่ารักและรักคุณมากขนาดนี้ เด็กคนนี้ถือเป็นอภิชาตบุตร ที่เราทุกคนรวมทั้งดิฉันเองไม่อาจทำใจให้ทอดทิ้งละเลยเขาได้ ถึงแม้เขาจะไม่ใช่ผู้ป่วยของเราก็ตาม...

พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

  • อาจารย์เข้ามาเร็วมากเลย ขอบคุณมากครับ
  • ผมว่าตัวอย่างของอาจารย์หนักกว่าน้องคล่องอีก อย่างน้อยน้องคล่องก็ยังมีแม่ที่รักแกจริงๆ
  • อยากวิเคราะห์ดูความสำเร็จในกรณีของอาจารย์
  1. ความใส่ใจของแพทย์และทีมงาน
  2. การมีระบบรองรับเมื่อเจอปัญหา ทั้งที่เป็นระบบของโรงพยาบาลและสังคม

ผมว่าถ้าเราใส่ใจ แต่ไม่มีระบบรองรับอย่างของอาจารย์หรือไม่มีวัดพระบาทน้ำพุ น้องก็ยังลำบาก และคนทำงานที่ทุ่มเทก็จะแบกภาระเอง ซึ่งบางครั้งนานๆเข้าก็ไม่ไหว

ไม่ทราบผมตีความถูกมั๊ยนะครับ

อยากให้อาจารย์สมัครเป็นสมาชิกและมีบล็อกของตัวเองเลยนะครับ ตัวอย่างของอาจารย์จะสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเรามากครับ

 

สวัสดีคะอาจารย์หมอ

เคยคิดอยู่เหมือนกันนะคะ

ว่าเด็กจะต้องได้รับรู้ถึงความตาย

ลูกสาวตอนอายุ 9 ขวบ ถามว่าถ้าแม่ตายหนูจะอยู่กับใคร

แม่เตรียมเงินไว้ให้นะ จะใช้ในการเรียน

อึ้งเลยคะ เพราะที่บ้านมีลูกสาวเดียว

และญาติไม่มาก ญาติจะช่วยได้ไหม ญาติไม่มีเงินเดือนประจำ หาเช้ากินค่ำกัน

ยังคิดไม่ออก ตอนนี้ เริ่มจะมาคิดวางแผนอีกครั้งแล้วคะ เมื่อเห็นบันทึกอาจารย์

P

  • สวัสดีครับ
  • เคยถามเขามั๊ยครับว่า ความตายที่หนูพูด มันเป็นยังไง
พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

ขอบพระคุณ อาจารย์เต็มศักดิ์อย่างยิ่งค่ะ สำหรับข้อเสนอแนะดิฉันเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าควรมีระบบมากกว่าคนเพราะคนเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืนและอาจเหนื่อยล้าท้อแท้อย่างที่อาจารย์ว่า และนี่เป็นที่มาที่ดิฉันเข้ามาทำงานตรงนี้ มีคนถามบ่อยมากว่าเป็นหมอฉุกเฉินทำไมมาดูแลเรื่องแบบนี้(จริงๆดิฉันเป็นหมอmed แต่มาเป็นอาจารย์ที่เวชศาสตร์ฉุกเฉินมา 8 ปี)ก็เพราะเราไม่มีระบบที่ชัดเจนและจริงจัง ห้องฉุกเฉินจึงเป็นแหล่งรวมฉากของชีวิตในหลายๆสภาวะตั้งแต่กรณีฉุกเฉินจนถึง end of life และดิฉันไม่อาจทนเห็นภาพเหล่านี้โดยไม่ทำอะไรเลยได้ มีหลายเคสที่ต้องจบชีวิตที่ห้องฉุกเฉินทั้งๆที่เป็นเคส end of life และบางครั้งเราต้องวิ่งไปซื้อสังฆทานมาให้คนไข้จบเพราะเป็นสิ่งสุดท้ายที่คนไข้ขอก่อนหมดลมหายใจ... นอกจากเราเพิ่งสร้างทีมที่ปรารถนาจะทำสิ่งที่ดีที่สุดให้คนไข้แล้ว เรายังต้องต่อสู้เรียกร้องสิทธิความเป็นมนุษย์ในการมาใช้บริการของห้องฉุกเฉินให้แก่คนไข้อีกด้วย เนื่องจากมีแพทย์บางท่านที่ห้องฉุกเฉินซึ่งนอกจากจะไม่ช่วยเหลืออะไรคนไข้แล้วยังมีทัศนะคติว่าคนไข้เหล่านี้ไม่ใช่คนไข้ฉุกเฉิน ไม่ควรมาอยู่ที่ห้องฉุกเฉินและเป็นความผิดของเจ้าของไข้ที่ไม่ดูแลคนไข้ของตนเองให้ดี และมองว่าผู้ป่วยเป็นขยะที่ถูกกวาดมาทิ้งจากที่อื่น (ทั้งๆที่ขยะมันอยู่ในใจของแพทย์ผู้นั้นต่างหาก)พร้อมทั้งพยายามผลักดันให้คนไข้ออกไปจากห้องฉุกเฉิน ทัศนคติและการกระทำดังกล่าวทำให้บาปตกแก่คนไข้ที่รู้สึกเหมือนไม่มีใครยินดีช่วยเหลือ เอาแต่เกี่ยงกันอยู่และชีวิตของเขาไร้ค่า(เรามีการรวบรวมข้อมูลเรื่องของความรู้สึกของผู้ป่วยและญาติต่อการมารับบริการอยู่ค่ะ)ทั้งๆที่จริงแล้วห้องฉุกเฉินเป็นของผู้ป่วยทุกคนที่ควรเข้าถึงบริการได้หากมีเหตุจำเป็น การช่วยเหลือผู้ป่วยและญาติในหลายๆเหตุการณ์ที่เราช่วยกันทำทั้งดิฉันและทีมพยาบาล เราพบว่ายังสามารถเยียวยาใจของเราได้เป็นอย่างดีโดยไม่รู้ตัว เพราะในชีวิตของเราทุกคนก็ล้วนแล้วแต่มีปมด้วยกันทั้งสิ้นจึงทำให้เรายังทำงานอยู่ได้อย่างมีความสุขพอควร...

พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

  • สวัสดีอีกครั้งครับ
  • ใครๆก็อยากรู้ครับว่า อะไรที่มำให้หมอฉุกเฉินหันมาสนใจเรื่องนี้ อาจารย์เขียนบันทึกเล่าเรื่องนี้ได้เลย
  • อาจารย์ทำให้ความเชื่อ..ผิดๆ ของผมเปลี่ยนไป ที่ว่า สถานการณ์ห้องฉุกเฉิน เป็นสถานการณ์ที่ทำเรื่อง palliative care ยากลำบากที่สุด
  • สิ่งที่อาจารย์เล่า ทำให้ผมนึกย้อนไปถึงตอนที่เราจัด เรื่องเล่าเร้าพลัง เกี่ยวกับการดูแลคนไข้ระยะสุดท้าย น้องนิสิตแพทย์ปี ๒ ของจุฬาฯ เล่าความประทับใจของตนเองที่มีต่อรุ่นพี่หมอสองคนที่ห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่ช่วยกันดูแลพระสงฆ์รูปหนึ่งที่มีคนพามาห้องฉุกเฉิน..อย่างไม่ถูกขั้นตอน ในความเห็นของหมอคนอื่น จนเข้าสะท้อนให้ฟังในวันนั้นว่า..หนูอยากเป็นแพทย์แบบหมอสองคนนั้น..
  • ผมหวังว่า การทำงานของอาจารย์และทีมงาน จะเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นหลัง ทั้งหมอและพยาบาล ได้มีแรงบันดาลใจเช่นเดียวกันนะครับ
  • และผมก็หวังว่า อาจารย์จะเข้าใจคุณหมอท่านอื่นๆ เขามีเหตุผลของเขานะครับ
พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

เรียน อาจารย์เต้มศักดิ์

ดิฉันลองพยายามสร้าง blog แล้วรู้สึกว่าจะไม่สำเร็จค่ะ พอดีไม่เคยสร้าง blog แบบนี้มาก่อน ปกติเขียนอะไรไม่ค่อยออกเหมือนกัน ตั้งแต่จัดตั้งคณะกรรมการการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายขึ้นโดยดิฉันเพิ่งได้รับเกียรติจากท่านคณะบดีให้เป็นประธานคณะกรรมการ เหมือนฟ้าจะเปิดทำให้งานของเราได้รับความสนใจมากขึ้น งานหนึ่งที่ทำให้ดิฉันรู้สึกประทับใจมากคือทีมของเราได้รับเชิญให้ไปสอนเรื่องของ palliative,end of life,humanize care แก่ นศพ.ปี4 ที่ปฏิบัติงานที่ศัลยกรรม ดิฉันเองไม่ได้ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรงแต่ท่านหัวหน้าภาคศัลยศาสตร์ก็ให้โจทย์เราว่า ไม่ต้องการ lecture แต่ต้องการประสบการณ์จริง ซึ่งทีมเราพบว่าสำหรับนศพ.ปี 4 การเล่าเรื่อง การสะท้อนความรู้สึกของผู้ป่วยและผู้ให้บริการได้รับความสนใจจากเด็กๆมาก สำหรับดิฉันเองตั้งแต่สอนหนังสือมา 8 ปี ยังไม่เคยมี นศพ.วิ่งมากอดแต่หลังจากจบ classนี้ (ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง/ครั้ง)มี นศพ.ร้องไห้และวิ่งมากอดดิฉันไว้ ในฐานะของคนที่ไม่มีโอกาสที่จะมีบุตรได้ ดิฉันรู้สึกอบอุ่น ดีใจที่ลูกศิษย์เริ่มมีความอ่อนโยนทางจิตใจที่จะรู้สึกสงสารและเห็นใจผู้อื่นได้ เท่านี้ดิฉันก็รู้สึกว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง และจิตใจของดิฉันเองก็ได้รับการเยียวยาจากงานที่ดิฉันทำด้วยเช่นกัน ไม่น่าเชื่อว่างานที่ดิฉันไม่ได้เลือกจะทำในก้าวแรกของการเริ่มต้นในชีวิต และแทบไม่เคยสนใจมาก่อน กลับเป็นงานที่ทำให้ดิฉันมีความสุข มีเรื่องดีๆที่จะเล่าให้คนรอบๆตัวฟังต่อไป ต้องขอบคุณอาจารย์แทนผู้ป่วยกลุ่มนี้เช่นกันที่กรุณาริเริ่มงานนี้ค่ะ

อาจารย์หมอเต็มกุ้งคิดว่าให้เด็กฟังด้วยก็ดีนะคะสำหรับกรณีน้องคล่องเพราะเขาโตเเล้ว

เด็ก 11 ขวบก็เข้าใจเรื่องความตายได้ดีเเล้วรับรู้ใกล้เคียงผู้ใหญ่ จะได้วางแผนชีวิตได้

ว่าต่อไปถ้าไม่มีเเม่เขาจะจัดการชีวิตตัวเองอย่างไร ประทับใจบรรยากาศการพุดคุยค่ะอาจารย์ดูเป็นธรรมชาติและเป็นกันเองมาก เป็นการบอกข่าวร้ายที่ ต้องบอกว่า

จากข่าวร้ายคงจะกลายเป็นดีค่ะ

พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

  • อาจารย์เขียนออกแล้วครับ เท่าที่ที่อาจารย์เขียนมาสั้นๆนี้แหละครับ ผมว่า มันเกินบรรยายแล้วครับ
  • นี่คือ เรื่องเล่าเร้าพลัง อย่างแท้จริง สั้น จากใจ จากคนทำงานตัวจริง
  • อะไรนะ ที่ทำให้ทำให้ นศพ. วิ่งเข้ามากอดอาจารย์หลังการบรรยาย ผมว่ามันหาไม่ได้อีกแล้ว ประสบการณ์อย่างนี้ในชีวิตการเป็น ครูแพทย์
  • ต้องขอบคุณอาจารย์มากๆครับ

P

  • คือ ผมสังเกตว่า เด็กพูดคำตอบคำ อาย
  • แม่เขาเลยแกล้งว่า ..ไม่รู้มันเป็นตุ๊ดหรือเปล่า
  • เท่านั้นแหละ น้องเขาเอามือปัดวิกบนหัวแม่จนหลุด แล้วก็หัวเราะอีก

พญ.ยุวเรศมคฐ์ สิทธิชาญบัญชา

  • อาจารย์ลองดูที่ตอนล่างของทุกหน้าบันทึก จะมี วิธีการสมัคร คู่มือการใช้งาน นะครับ 
  • ผมก็ เขียนบันทึกไป ได้เรียนวิธีไป ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท