ผลการวิเคราะห์การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติ : ฟันธง


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลการวิเคราะห์การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติในส่วนของการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ปีการศึกษา 2551

           เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) ว่าได้หารือถึงผลการวิเคราะห์การประเมินคุณภาพการจัดการศึกษาระดับชาติในส่วนของการสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน หรือเอ็นที ที่ สพฐ.จัดสอบเอง กับผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ดำเนินการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือตั้งแต่ปีการศึกษา 2549-2551 โดยผลการประเมิน เอ็นที ป.3 ปีการศึกษา 2551 ใน 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือภาษาไทย คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ที่ สพฐ.ประเมินไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์2552ที่ผ่านมา และการสุ่มประเมินผลสัมฤทธิ์เฉพาะภาษาอังกฤษ และทักษะการคิดของ ป.6 โดยในส่วนของเอ็นที ป.3 พบว่า

  • ผลสัมฤทธิ์ภาษาไทยปี 2551 ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2550 โดยมีคะแนนเฉลี่ย 51.6% มีนักเรียนอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง 14.6% เกณฑ์ดี 24% ได้เต็ม 30 คะแนน 136 คน และ 0 คะแนน 24 คน เมื่อวิเคราะห์เป็นรายทักษะ พบว่ามีทักษะการฟัง การพูดดีที่สุด ตามด้วยวรรณคดี วรรณกรรม, หลักภาษา, การอ่าน และการเขียนตามลำดับ

  •  คณิตมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 48.39% ดีขึ้นกว่าปี 2550 โดยอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง 31.78% เกณฑ์ดี 20.28% เต็ม 30 คะแนน 2,944 คน และ 0 คะแนน 101 คน เมื่อวิเคราะห์เป็นรายทักษะ พบว่านักเรียนเข้าใจเรื่องจำนวน และวิธีดำเนินการดีที่สุด ตามด้วยการวัด และเรขาคณิต

  • วิทยาศาสตร์ที่เพิ่งทดสอบเป็นปีแรก ได้คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 47.90% อยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง 39.5% เกณฑ์ดี 20% สาเหตุที่นักเรียนอยู่ในเกณฑ์ปรับปรุงมาก อาจเป็นเพราะโครงสร้างของแบบทดสอบที่มีการวัดทักษะกระบวนการทางวิทย์ถึง 57% และวัดความรู้ในเนื้อหาเพียง 43% ทำให้นักเรียนที่ไม่สามารถคิดวิเคราะห์ หรือไม่ตั้งใจทำข้อสอบ ได้คะแนนต่ำ โดยได้ 30 คะแนน 667 คน และ 0 คะแนน 29 คน เมื่อวิเคราะห์เป็นรายความรู้ทักษะ พบว่านักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องกระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลกดีที่สุด ตามด้วยแรงและการเคลื่อนที่ สิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม พลังงาน ดาราศาสตร์ สารและสมบัติของสาร

  • ส่วนทักษะการคิดชั้น ป.6 ที่ สพฐ.ประเมินเป็นครั้งแรก โดยสุ่มทดสอบ 25% ของนักเรียนทั้งหมด โดยทดสอบเสริมจากการประเมินโอเน็ต ป.6 ของ สทศ.พบว่า ทั่วประเทศมีคะแนนเฉลี่ย 37.52% อยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง 33.68% เกณฑ์ดี 3.48% เมื่อวิเคราะห์เป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนตอบคำถาม การคิดเชิงสำรวจและสืบค้นดีที่สุด ตามด้วยการคิดแก้ปัญหา

  • ส่วนภาษาอังกฤษ ป.6 ที่ สพฐ.ประเมินเสริมจากการประเมินของ สทศ.โดยสุ่มเป็นครั้งที่ 2 พบว่าทั่วประเทศมีคะแนนเฉลี่ย 37.63% อยู่ในเกณฑ์ปรับปรุง 32.71% เกณฑ์ดี 9.3% แต่เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2551 ที่ สพฐ.ได้จ้าง สทศ.ประเมิน พบว่า คะแนนลดลง 1.04%

    "ถ้าเปรียบเทียบภาพรวมคะแนนทั้งเอ็นที โอเน็ต และเอเน็ต ย้อนหลัง 3 ปี พบว่า ชั้น ป.3 สอบ 3 วิชา ภาษาไทย และคณิต ดีขึ้น ส่วนวิทย์ซึ่งสอบในปี 2551 เป็นปีแรก มีผลประเมินต่ำกว่าทั้ง 2 วิชา ชั้น ป.6 สอบ 4 วิชา วิทย์ และภาษาอังกฤษดีขึ้น ภาษาไทยคงที่ คณิตลดลง ชั้น ม.3 สอบ 5 วิชา ภาษาไทยลดลง คณิต วิทย์ ภาษาอังกฤษ คงที่ สังคมศึกษาเพิ่มขึ้น

  • โอเน็ต ม.6 สอบ 5 วิชา ภาษาไทย และสังคมฯ ลดลง คณิต วิทย์คงที่ ภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น เอเน็ต ม.6 สอบ 5 วิชา ภาษาไทยลดลง คณิต วิทย์ ภาษาอังกฤษคงที่ สังคมฯ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์เบื้องต้นเห็นว่าสาเหตุที่คะแนนออกมาเช่นนี้ เพราะความตั้งใจทำข้อสอบของเด็กว่าจะนำผลไปใช้ประโยชน์อย่างไร คุณภาพของโรงเรียน ความขาดแคลนครูผู้สอน และสื่อ รวมทั้งหลักสูตรปัจจุบันที่ให้เด็กทุกคนได้เรียนทั้ง 8 กลุ่มสาระฯเหมือนกัน แต่ความเป็นจริงเด็กให้ความเข้มข้นกับการเรียน และถนัดในแต่ละรายวิชาไม่เท่ากัน แต่ต้องสอบข้อสอบชุดเดียวกัน ประเด็นนี้ สพฐ.จะหารือกับ สทศ.พร้อมทั้งวิเคราะห์เจาะลึกสาเหตุที่ชัดเจนเป็นรายโรงเรียน และเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อปรับปรุงต่อไป

               ผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ เป็นการวิเคราะห์ภาพรวมของประเทศ สำหรับจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดนราธิวาส ทีมงานกำลังวิเคราะห์ คาดว่าผลการวิเคราะห์จะได้มาเปรียบเทียบกับระดับประเทศ เพื่อหาจุดด้อยและจุดเด่นในอันที่จะไปส่งเสริม เร่งรัดและใช้มาตรการต่างๆเพื่อให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามเป้าหมายของชาติต่อไป

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 255817เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2009 21:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

เรียนท่านผอ.ประสิทธิ์

ขอบคุณค่ะ ที่กรุณาย่อสรุปออกมาอีกครั้ง

ทำให้มองเห็นปัญหาที่ควรแก้ไขได้ชัดเจน

นับเป็นการฟันธงที่สะท้านความรู้สึกฝ่ายปฏิบัติการ

ทีมีทั้งครูผู้สอน และผู้เรียน ผู้ปกครอง

เราทุ่มเทการสอนและเครียดกับมาตราการยกระดับ

โดยใช้การทดสอบเป็นตัวฟันธง...

หากสพฐ.มองเรื่องความเหลื่อมล้ำทางโอกาส

 และการเข้าถึง กอรปกับการรู้จักที่จะใช้

และการสร้างวัฒนธรรมการคิด

ผลที่ออกมาเช่นนี้ครูต้อยก็ว่าโอเค

แต่มองลึกๆแบบคนในเราจะพบว่า

ยังมีจุดบอดที่ต้องเปิดให้ได้ อาจต้องปฏิวัติความคิดกันเลย

เพื่อว่าสิ่งมืดมนจักได้สว่างขึ้น และหันมาสร้างสรรค์กันอย่างจริงจัง

ขอบคุณค่ะ

เป็นการฉายภาพรวม ที่เราจะได้ไปเปรียบเทียบกับตัวเอง จัดทำแผนในปีการศึกษาใหม่ โครงการเรียนฟรี อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ไปเสริมในด้านคุณภาพผู้เรียนได้

เรียนท่านผอ....

ท่านวิเคราะห์ได้อย่างดียิ่ง..เมื่อทีมงานท่านวิเคราะห์ในส่วนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เสร็จอยากให้นำมาลงเพื่อที่เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน..รวมทั้งวิเคราะห์เหตุปัจจัยที่ทำให้เป็นเช่นนั้น...(ไม่อยากทายล่วงหน้าเลย...ว่าจังหวัดเราก็คงอยู่สามอันดับท้ายสุดอีกแล้ว...แต่อยากลุ้นว่าคะแนนเฉลี่ยจะสูงกว่าปีที่แล้วหรือเปล่า???)

สวัสดีค่ะ

  • เมื่อไรจะมีการวัดคนดี คนมีจิตวิญญาณบ้างหนอ
  • วัดแต่คนเก่ง..ๆ  ๆ  เห็นแล้วท้อแท้ใจเหลือเกินค่ะ

สวัสดีค่ะ ท่าน ผอ.

  • เป็นเพราะ เราต้อง ทำตามคนที่เป็นนักวิชาการ ความเชื่อของนักวิชาการ  และหน่วยงานที่ต้องการเพื่องานของตนเอง
  • เราไม่ได้ทำตามธรรมชาติและความจริง

รักษาสุขภาพค่ะ

สวัสดีครับ

-ขอเป็นกำลังใจในการทำงานปรับปรุงคุณภาพการศึกษาของลูกๆหลานๆชายแดนใต้ครับ

-เป็นกระจกเงาที่ดีนำมาปรับปรุงระบบการทำงาน

-สักวันหนึ่งความมุ่งมั่น ความตั้งใจสมดั่งที่คาดหวัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท