ช่วงนี้โอนเอียงไปทางสถานบำบัดรักษายาเสพติด เหตุสืบเนื่องมาจากในที่ประชุมคณะกรรมการฯ พิจารณาบำบัดรักษายาเสพติด มีกิจกรรมที่รพ.ใช้ และทางทีมผู้นิเทศ พูดถึงบ่อยๆ คือ การบำบัดแบบจิราสา ในการบำบัดผู้ติดสุรา ยาเสพติด จึงเกิดความสนใจว่าคืออะไร ก็เลยไปหาข้อมูลมาอ่านดู เผื่อจะมีผู้สนใจอยากจะรู้บ้างค่ะ ชื่อเพราะดีนะคะ จิราสา
การป้องกันการติดยาเสพติดระบบจิราสา
นายแพทย์ทรงเกียรติ ปิยะกะ ได้สังเคราะห์ ความรู้ วิทยาการตะวันตกออกมานำเสนอให้มีเนื้อหาที่เข้าใจง่ายปรับใช้กับวัฒนธรรม สังคมของไทยเราได้อย่างดี และ ต้นคิดเรื่องหนึ่งที่สมควรจะนำมาเผยแพร่ เพื่อให้เกิดการนำไปใช้เป็นแบบอย่างได้อย่างหนึ่งก็คือ การป้องกันการติดยาเสพติดระบบจิราสา ซึ่งพัฒนาขึ้นจากระบบการป้องกันหลายรูปแบบที่ใช้ได้ผลในต่างประเทศ นำมาผสมผสานประยุกต์ให้เหมาะกับสังคมไทย โดยคำนึงถึงสถาบันครอบครัว ขนมธรรมเนียม จารีตประเพณีรวมทั้งรากเหง้าวัฒนธรรมและคตินิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลานายแพทย์ทรงเกียรติ ได้กล่าวสรุปไว้ในหนังสือคู่มือการป้องกันการติดยาเสพติด ระบบจิราสา สำหรับประชาคมไทยว่า หัวใจของการป้องกันระบบนี้ อยู่ที่การฝึกทักษะ และพัฒนาให้เยาวชนของเรามีคุณภาพในการตัดสินใจ ในการแสวงหาความสุข และลดความทุกข์โดยไม่ใช้สารเคมีอันเป็นยาเสพติด เมื่อมีพลังเป็นโล่กั้นเช่นนี้ โอกาสที่จะพึ่งยาเสพติดก็ย่อมน้อยลงการป้องกันระบบจิราสานี้ จะสัมฤทธิ์ผลได้ก็โดยจิตสำนึกของสมาชิกในสังคม ในการเสียสละเป็นอาสาสมัครฝึกฝนเยาวชน ฝึกฝนพ่อแม่ เพื่อรับช่วงนำไปปฏิบัติในครัวเรือน การเสียสละนี้เป็นการทำแบบต่อเนื่อง ทำด้วยน้ำใจรัก จะเกณฑ์หรือสั่งบังคับกันไม่ได้
จิราสา มีที่มาจาก จิระ + อาสา
จิระ = ยั่งยืน ถาวร
อาสา = ช่วยเหลือ อาสาสมัคร
จิราสา = จิตสำนึกแห่งการช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมโดยสมัครใจ
ระบบนี้เน้นที่อาสาสมัคร จึงมีความคล่องตัวและมีเสรีภาพทางความคิดและการปฏิบัติ จะไม่ขึ้นกับระบบราชการ ราชการเป็นเพียงฝ่ายสนับสนุนบางส่วน ผู้ทำงานในระบบนี้ต้องมีความรู้ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น มีความเข้าอกเข้าใจในปัญหาและต้องการมีส่วนร่วมในการแก้ไขอย่างแท้จริง
แก่นหลักของ จิราสา คือ การพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพดีเลิศในการป้องกันยาเสพติด โดยหมั่นฝึกฝนเยาวชนในเรื่องสำคัญ ๆ ดังนี้
๑. ให้เข้าใจเรื่องยาเสพติด ทั้งคุณประโยชน์ และพิษภัยโดยไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง
๒. ให้มีทักษะในการเข้าสังคมโดยสามารถต้านแรงยั่วยุ และแรงกดดันของเพื่อนร่วมรุ่น และของสังคมที่จะใช้ยาเสพติด
๓. ให้มีทักษะในการเผชิญและจัดการกับอารมณ์ต่าง ๆ ในการดำรงชีวิตทั้งอารมณ์ที่พึงและไม่พึง
ประสงค์ ที่มักนำไปสู่การใช้ยาเสพติด
๔. ให้มีทักษะในการเข้าสังคมโดยใช้สติปัญญา ไตร่ตรองพิจารณาเพราะการลองหรือใช้ยาเสพติดครั้ง
แรก ๆ นั้น จะเกิดจากการตัดสินใจก่อน
๕. ให้มีทักษะในกิจกรรมทางเลือกเมื่อเยาวชนมีคุณภาพดีในทักษะข้างต้น ย่อมสามารถที่จะไม่เลือกใช้ยาเสพติด ไม่ว่าจะมีผู้นำมาเสนอหรือยั่วยุให้ใช้ก็ตาม เมื่อไม่มีการลอง ไม่มีการใช้ ก็ย่อมไม่มีการติดยาเสพติดระบบนี้ใช้ได้กับทุกวัย แต่จะเน้นการเสริมพลังให้ครอบครัวในการเลี้ยงบุตรหลานให้มีคุณภาพดีของสังคมต่อไป
องค์ประกอบของระบบจิราสา
การฝึกอาสาสมัครครูฝึก
-
เพื่อเป็นวิทยากร
-
เพื่อเป็นครูฝึกหรือครูค่ายเยาวชน
-
เพื่อดำเนินงานค่ายเยาวชน
การฝึกเยาวชน
-
ให้เรียนรู้ยาเสพติดจากข้อเท็จจริง
-
ให้มีทักษะชีวิต โดยรู้จักตัดสินใจ รู้จักจัดการกับอารมณ์ รู้การปรับตัวและเข้าสังคม
รู้จักทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับคนอื่น
-
ให้มีแรงต้านสิ่งยั่วยุสิ่งกดดันให้ใช้ยาเสพติด
-
ให้มีกิจกรรมทางเลือกที่เป็นประโยชน์
การฝึกพ่อแม่
–ผู้ปกครอง
-
ให้มีความรู้ยาเสพติด
-
ให้รับช่วงฝึกบุตรหลานในครอบครัวต่อไป
-
ให้มีทักษะในการสื่ออารมณ์และเข้าใจกันดีกับบุตรหลานในครอบครัว
-
ให้สามารถช่วยเหลือบุตรหลานในครอบครัวได้อย่างเหมาะสมและทันท่วงที การฝึกทั้งหมดนี้
จะทำในเชิงปฏิสัมพัทธ์ (interactive) โดยให้เรียนรู้จากกันและกัน
รูปแบบของระบบจิราสา
ค่ายจิราสาต้านยาเสพติด
-
สะดวกต่อการจัด จัดในช่วงปิดภาคเรียน เช่น ก่อนเปิดเทอม ๑-๒ สัปดาห์
-
เป็นค่ายเช้าไปเย็นกลับ เพื่อจะได้ไม่ยุ่งยากต่อการจัด
-
ใช้เวลา ๕ วันครึ่ง เช่น เริ่มค่ายวันจันทร์ตอนเช้า และเสร็จสิ้นค่ายเที่ยงวันวันเสาร์ เป็นต้น
•
เรียนรู้ยาเสพติด ๑ วัน
•
ทัศนะศึกษา ๒ วัน
คุกหรือเรือนจำ ๑ วัน เพื่อเรียนรู้ชีวิตของผู้ติดยาเสพติดที่ต้องขังในคุก
สถานบำบัดผู้ติดยาเสพติด ๑ วัน เพื่อเรียนรู้ชีวิตผู้ติดยาเสพติด
•
ฝึกทักษะชีวิตและฝึกทักษะปฏิเสธยาเสพติด ๑ วัน ถึง ๑ วันครึ่ง
•
ฝึกกิจกรรมทางเลือก ครึ่งวัน ถึง ๑ วันเต็ม
•
สรุปประสบการณ์ ประเมินผล และพบกับตัวแทนชุมชนหรือสื่อมวลชน ครึ่งวัน
-
พ่อแม่ ผู้ปกครอง ร่วมกิจกรรมค่าย และมีชั่วโมงพิเศษจัดขึ้นสำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง
โดยเฉพาะ
ค่ายสุดสัปดาห์จิราสา
-
จัดในวันสุดสัปดาห์
•
เป็นค่ายวันสุดสัปดาห์ อาจจัดเป็น ๕-๖ สัปดาห์
•
นำหัวข้อของค่ายจิราสามาแบ่งสอนและฝึกทักษะเป็นตอน ๆ ไป
•
กำหนดวันทัศนศึกษาให้เหมาะสม
•
สะดวกที่พ่อแม่ผู้ปกครองเข้าร่วมกิจกรรมได้
ชั่วโมงจิราสา
-
จัดในวันเรียน
•
จัดในช่วงเปิดภาคเรียน โดยกำหนดชั่วโมงขึ้น
•
นำหัวข้อของค่ายจิราสามาแบ่งสอนและแบ่งฝึก
•
กำหนดวันทัศนศึกษาให้เหมาะสม
•
จัดให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เข้าร่วมกิจกรรมตามความเหมาะสม
เรียบเรียงจากหนังสือคู่มือการป้องกันการติดยาเสพติดระบบจิราสาสำหรับประชาคมไทย
โดยนายแพทย์ทรงเกียรติ ปิยะกะ