พื้นที่ชุ่มน้ำ


นี่เป็นวาระสำคัญของจังหวัดน่านในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

          ปัญหาสิ่งแวดล้อมนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เป็นผลพวงของการพัฒนาที่ละเลยสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาตินับวันจึงยิ่งถูกบุกรุกทำลาย จนก่อให้เกิดภาวะทางด้านสิ่งแวดล้อมมากมาย ไม่ว่าน้ำท่วม ฝนแล้ง หนาวจัด คลื่นยักษ์ หมอกควัน และอีกสารพัด นี่หายนะของมวลมนุษยชาติ

          จากข้อมูลของ “องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย”     WWF Thailand , World Wide Fund for Nature ระบุว่า

น้ำ : ปัญหาสำคัญของโลก

         1.1 พันล้านคนไม่ได้รับการจัดหาแหล่งน้ำสะอาด

         2.4 พันล้านคนไม่มีสุขอนามัยเกี่ยวกับน้ำ

         3 10 ล้านคนมีสาเหตุการตายที่เกิดจากน้ำ

         เป็นแหล่งนิเวศที่สมบูรณ์ของสิ่งมีชีวิต

         แหล่งนิเวศที่กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว

วิกฤตเกี่ยวกับน้ำ

         54% เกิดจากมนุษย์

         70% เกิดจากภาคเกษตรกรรม

         20% จากภาคอุตสาหกรรม

         10% การใช้น้ำในสังคมเมือง

 

พื้นที่ชุ่มน้ำ หมายถึง ที่ลุ่ม ที่ราบลุ่มที่ลุ่มชื้นแฉะ พรุ แหล่งน้ำ ทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้นที่มีน้ำขัง หรือน้ำท่วมอยู่ถาวรและชั่วคราวทั้งที่เป็นน้ำนิ่ง น้ำไหล ทั้งที่เป็นน้ำจืด น้ำกร่อย น้ำเค็ม ที่น้ำลดลงต่ำสุดมีความลึกไม่เกิน 6 เมตร เช่น แม่น้ำ ห้วย หนอง คลองบึง ทะเลสาบ

 

ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ รวม 22, 885, 000 ไร่ หรือ ร้อยละ 7. 5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ แบ่งเป็น พื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นน้ำจืด คิดเป็นร้อยละ 44.8 และพื้นที่ที่เป็นน้ำเค็ม คิดเป็น ร้อยละ 55.2 พื้นที่ชุ่มน้ำจากทั้งหมดมีความสำคัญระหว่างประเทศ รวม 61 แห่ง และมีความสำคัญระดับชาติ 48 แห่ง และมีความสำคัญระดับท้องถิ่น 19,295 แห่ง

 

ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2538 ระบุว่าจังหวัดน่าน มีเนื้อที่ และจำนวนพื้นที่ชุ่มน้ำ รวมทั้งหมด 590 แห่ง พื้นที่ 61.38 ตารางกิโลเมตร หรือ 38,362 ไร่

ประเภทของพื้นที่ชุ่มน้ำ

จำนวน( แห่ง )

พื้นที่ ( ตร.กม)

คลอง ห้วย แม่น้ำ ลำธาร

192

15.96

หนอง บึง อ่างเก็บน้ำ

393

45.36

พรุหญ้า พรุน้ำจืด

5

0.05

 

สถานการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย ประเทศไทยมีพื้นที่ชุ่มน้ำ รวม 22, 885, 000ไร่ หรือ ร้อยละ 7. 5 ของพื้นที่ทั้งประเทศ ร้อยละ 44. 8 เป็นพื้นที่น้ำจืด และ ร้อยละ 55.2 เป็นพื้นที่ชายฝั่ง   ปัจจุบันกำลังตกอยู่ในภาวะถูกคุกคามด้วยการบุกรุกและกิจกรรมการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การเกษตร  การเพาะปลูก การประมง การขยายตัวเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม ต่างๆ โดยมี สาเหตุที่สำคัญ  ได้แก่

1. ขาดข้อมูลพื้นฐานเพื่อการวางแผนการจัดการ

2. การวางแผนและการจัดการเน้นภาคส่วนใดส่วนหนึ่ง

3. นโยบายและการบริหารจัดการที่แยกส่วน และไม่ชัดเจน

4. ขาดความตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของพื้นที่ชุ่มน้ำ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน

5. ชุมชนขาดโอกาสในการมีส่วนร่วมวางแผนและจัดการพื้นที่ชุ่ม

 

          ด้วยเหตุนี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย” WWF Thailand , World Wide Fund for Nature โดยความร่วมมือระหว่าง WWF เดนมาร์ก และ WWF ประเทศไทย จึงได้ดำเนินการ “โครงการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างมีส่วนร่วมของชุมชนในประเทศไทยและลุ่มน้ำโขง (Community Management of Wetlands in Thailand and the Mekong River Basin)” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพ และความสามารถให้แก่ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำหรับการอนุรักษ์และจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ ในประเทศไทย และลุ่มน้ำโขง อย่างยั่งยืน

 

ระยะเวลาดำเนินงาน   4 ปี ( ตุลาคม 2548 – ธันวาคม 2552 )

กลยุทธการดำเนินงาน เน้นการมี ส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการ พื้นที่ชุ่มน้ำ ระดับจังหวัด  กลไกการดำเนินงาน เพื่อให้คำแนะนำในการดำเนินงานใน

 

พื้นที่ดำเนินโครงการฯ

ลุ่มน้ำน่าน 4 ตำบล /32 หมู่บ้าน

ลุ่มน้ำเลย 2 ตำบล /17 หมู่บ้าน

กุดทิง/บึงโขงหลง จ. หนองคาย 6 ตำบล/ 35 หมู่บ้าน

รวมทั้งสิ้น 72 หมู่บ้าน ใน 4 พื้นที่นำร่อง

 

กรอบ แนวทางการการดำเนินงาน

1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดรวบรวมฐานข้อมูลด้านต่างๆ และฐานข้อมูลด้านแผนที่ GIS เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการนำมาจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติ

          2.จัดตั้งองค์การดำเนินงาน และประสานงาน รวมทั้ง เสริมสร้างกลไกการจัดการ  เพื่อการประสานความร่วมมือในการอนุรักษ์

          3. เสริม สร้างจิตสำนึก และให้ความรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญและคุณค่าของพื้นที่ชุ่มน้ำ และ เสริมสร้างศักยภาพของเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้อง ที่เกี่ยวข้อง

4. สำรวจจัดทำแนวขอบเขตพื้นที่ป่าชุมชนให้ชัดเจน

5. สนับสนุนการจัดแบ่งเขตการจัดการ อนุรักษ์ และการใช้ประโยชน์ รวมทั้งออกกฎกติกาควบคุมโดยชุมชน และรับรองกฎกติกาชุมชน

6. ส่งเสริม เกษตรผสมผสาน พึ่งตนเอง

7. เสริมสร้างเครือข่าย สรุปบทเรียน เผยแพร่ เสนอร่างนโยบายพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งชาติ

 

พื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่าน โดยการประสานของมูลนิธิฮักเมืองน่าน, สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมจังหวัดน่าน และเครือข่ายชุมชน ได้ดำเนินการนำร่องใน 2 พื้นที่ ได้แก่ ตำบลเมืองจัง, ตำบลน้ำเกี๋ยน อำเภอภูเพียง มาตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน มีกิจกรรมหลักดังนี้

1. การสร้างความเข้าใจของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำความเข้าใจในกรอบการดำเนินงานร่วมกัน

2. เก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นข้อมูลเชิงบริบทของพื้นที่และเป็นข้อมูลนำเข้าในการดำเนินงานโครงการ ซึ่งใช้ทั้งข้อมูลที่มีอยู่แล้ว และข้อมูลที่เก็บขึ้นใหม่ นำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ แล้วคืนข้อมูลให้กับชุมชนและอบต. เพื่อรับทราบข้อมูลที่จะใช้วางแผนในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

3. การตรวจวัดคุณภาพของน้ำ ทั้งน้ำน่านและลำน้ำสาขาในพื้นที่

4. การสำรวจพื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่การเกษตร และพื้นที่ที่อยู่อาศัย และพร้อมทั้งการจัดทำแผนที่เดินดิน และใช้เครื่องมือ GPS กำหนดจุดพิกัดพื้นที่ของป่าชุมชน เพื่อนำมาทำแผนที่ทางภูมิศาสตร์สารสนเทศ(GIS)

5. การจัดทำแผนที่ 3 มิติ ของพื้นที่ป่าชุมชนโดยชุมชนเอง

6. การทบทวนกฎกติกาในการดูแลรักษาป่าชุมชน วังปลา และพื้นที่สาธารณะต่างๆ ของชุมชน ทั้งในตัวองค์กรหรือคณะกรรมการดูแล กฎกติกา และกิจกรรมการอนุรักษ์ เช่น การเดินสำรวจป่า, ทำแนวกันไฟ, ปลูกป่าทดแทน, ทำฝายแม้ว, รณรงค์ปลูกจิตสำนึก เป็นต้น

7. การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นในการดูแลสิ่งแวดล้อมร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่, การจัดค่ายเยาวชนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

8. การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ด้านสิ่งแวดล้อมในวงกว้างผ่านช่องทางต่างๆ เช่น วิทยุชุมชน, รายการทีวี(สำนักข่าวพลเมือง), เว็ปไซด์, บทความ, วารสาร, หนังสือพิมพ์ เป็นต้น

 

ผลของการดำเนินการทำให้ชุมชนมีการตระหนักในปัญหาพื้นที่ชุ่มน้ำ และมีการจัดการอนุรักษ์ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ขอบเขตพื้นที่ของพื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่สาธารณะ และองค์กรในการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อม และการหนุนเสริมของอบต.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้คณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่านได้มีมติเห็นชอบขยายพื้นที่นำร่องในการดำเนินงานพื้นที่ชุ่มน้ำอีก 2 ตำบล และ 1 หมู่บ้าน ในปี 2552 ได้แก่ ตำบลเรือง อำเภอเมือง, ตำบลไหล่น่าน อำเภอเวียงสา, และบ้านกิ่วม่วง ตำบลดู่พงษ์ อำเภอสันติสุข

 

และจากการประชุมคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่านครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2552 ที่ผ่านมาที่ประชุมได้มีมติสำคัญดังนี้

1. พื้นที่ดำเนินการ 5 พื้นที่ได้เร่งรัดดำเนินการให้เป็นรูปธรรมชัดเจน และมีการจัดสรุปบทเรียนการดำเนินการโครงการเมื้อสิ้นปี 2552

2. เสนอให้ทาง WWF ได้สนับสนุนในการขยายพื้นที่นำร่องอีก 5 ตำบลในอีก 5 อำเภอ ในปี 2553 เพื่อให้การดำเนินงานมีความต่อเนื่องและเกิดความยั่งยืน

3. มูลนิธิฮักเมืองน่าน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ได้ชักชวนเครือข่ายป่าชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ได้มาสำรวจกำหนดเขตป่าชุมชนที่ชัดเจนโดยใช้พิกัด GPS แล้วนำมาทำแผนที่ GIS โดยการสนับสนุนของอปท.เพื่อให้มีความชัดเจนของป่าชุมชน

หลังจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดน่านได้เสนอให้มี MOU ร่วมกันระหว่าง WWF มูลนิธิฮักเมืองน่าน เครือข่ายทรัพยากรน่าน จังหวัดน่าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่แสดงเจตจำนงร่วมกันในการจะอนุรักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำ

และที่สำคัญที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการนำโครงการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่านร่วมเป็นโครงการในการดำเนินงานสนองตอบต่อพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาในการดูแลป่าต้นน้ำ

          นี่เป็นวาระสำคัญของจังหวัดน่านในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

ูเรื่องที่เกี่ยวเนื่อง พื้นที่ชุ่มน้ำ ,

....................................................

บันทึกเรื่องเล่าจากการประชุมคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่าน

วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๕๒ ณ โรงแรมเทวราช

ขอขอบคุณ

คุณยรรยง ศรีเจริญ หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์น้ำจืด WWF ประเทศไทย ที่เอื้อเฟื้อข้อมูล

คุณสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และคณะกรรมการพื้นที่ชุ่มน้ำจังหวัดน่าน เครือข่ายพื้นที่นำร่อง ต.เมืองจัง, น้ำเกี๋ยน, ไหล่น่าน, เรือง, และบ้านกิ่วม่วง

ที่ได้ให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่ชุ่มน้ำ

กองเลขานุการมูลนิธิฮักเมืองน่าน เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพ

 

หมายเลขบันทึก: 254039เขียนเมื่อ 7 เมษายน 2009 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท