KM Inside เพื่อ “สุขภาวะ” ของประเทศไทย
วันนี้ (15 ส.ค.48) ผมกับคุณอ้อม (อุรพิณ) ไปร่วมประชุมกับกลุ่มสามพราน โดยมี สวรส. เป็นเจ้าภาพ เป้าหมายหลักคือต้องการไประดมความคิดกันว่าหน่วยงานตระกูล ส. ทั้งหลาย ซึ่งก็คือภาคีเครือข่ายกันอยู่แล้ว จะร่วมมือกันอย่างแนบแน่นยิ่งกว่าเดิมได้อย่างไร โดยมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่คือ ความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทย สังคมไทย โดยเล็งไปที่การมีกลไกการจัดการความร่วมมือดังกล่าว
เราตกลงกันว่าจะจัดประชุมร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาแนวทางการจัดการความร่วมมือดังกล่าว โดยจัดการประชุม “แบบ KM” คือเริ่มด้วยการเล่าเรื่องราวของความสำเร็จ เพื่อนำไปสู่การคิดต่อว่าความสำเร็จของแต่ละองค์กรเพื่อบรรลุการทำงานเพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขของคนไทยตามแนวทางขององค์กรนั้น จะมีแนวทางส่งเสริมให้เกิดผลยิ่งขึ้น เกิดผลสำเร็จมากเรื่องยิ่งขึ้นได้อย่างไร
เป้าหมายคือช่วยกันคิดหาวิธีการจัดการความร่วมมือให้เกิดพลังเสริม (synergy) ระหว่างองค์กร
คุณหมออำพล จินดาวัฒนะ และคุณไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม ติดใจการใช้เทคนิค KM ในการ capture ความรู้ในการส่งเสริมสุขภาพในพื้นที่จากการประชุมที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 27 – 28 พ.ค.48 จัดโดยคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่ 3 ของ สสส. ซึ่งผมเคยเล่าไว้แล้ว (link)
แต่การประชุมภาคีหลาก ส. นี้หินกว่าเยอะ ต้องคิดอ่านออกแบบการประชุมให้ดี โดยผมมีร่างความคิดยุทธศาสตร์การออกแบบการประชุมดังนี้
1. พุ่งเป้า (focus) ประเด็น คือเป้าหมาย “สุขภาวะของประเทศไทย” กว้างเกินไป อาจต้องทำให้แคบกว่านี้ 10 – 20 เท่า เช่น อาจจับเฉพาะประเด็น “การแก้ปัญหาแผ่นดินอาบยาพิษ” (มลพิษสิ่งแวดล้อม)
2. มีคณะทำงานคิด 3 ด้าน
· ทำ list หน่วยงานที่มีผลสำเร็จด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับการแก้ปัญหาแผ่นดินอาบยาพิษ ทั้งหน่วยงานตระกูล ส. และหน่วยราชการ, ธุรกิจเอกชน, วิชาการ แต่เน้นผลเชิงปฏิบัติ ไม่ใช่เชิงวิชาการ เลือกผลสำเร็จหลากหลายประเด็นมาสัก 10 ประเด็น
· เสาะหาตัวบุคคลที่เป็นผู้ดำเนินการให้เกิดความสำเร็จนั้น ในบทบาทที่ต่าง ๆ กัน คือบทบาท “คุณเอื้อ”, “คุณอำนวย”, “คุณกิจ” และเชิญคนเหล่านี้มาร่วมการประชุม 4 – 5 คนต่อหนึ่งเรื่องราวของความสำเร็จ ให้คนที่มาเป็นผู้ที่มีบทบาทต่าง ๆ กัน แต่ให้มี “คุณกิจ” มากหน่อย
· วางแผนกระบวนการในการประชุม ซึ่งหน้าที่นี้คงไม่พ้น สคส.
3. วางแผนว่าประชุม 2 วัน ในการประชุมมีคน 2 กลุ่ม
· กลุ่มทีมที่มี “ผลสำเร็จ” 10 ประเด็น x 5 คน = 50 คน ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวของความสำเร็จในการประชุมกลุ่มย่อย
· กลุ่มทีม ส. ทำหน้าที่ capture “ความรู้” และทักษะที่ต้องการบรรลุผลสำเร็จนั้น ตรวจสอบกับกลุ่มผู้มีผลสำเร็จ และจดบันทึกไว้
4. มีการนำเสนอภาพรวม และผลการสังเคราะห์ความรู้ในระดับ “ขุมความรู้” (Knowledge Assets), แก่นความรู้ (Core Competence), และตารางแห่งอิสรภาพ เพื่อให้เห็นภาพจากมุมมองกระบวนระบบ (Systems thinking) ว่าเป้าหมายของเรื่องที่ประชุมนี้ หากจะบรรลุผลอย่างเลิศต้องการความรู้ปฏิบัติด้านใดบ้าง ขณะนี้มีหน่วยงานใดที่เป็นผู้ปฏิบัติ มีหน่วยงานใดส่งเสริมหรือสนับสนุน หากจะให้ได้ผลงานเลิศระดับประเทศ ยังมีช่องโหว่ตรงไหนบ้าง
ส่วนนี้ ทีม ส. จะเป็นผู้นำเสนอ
5. ทำ AAR ร่วมกัน เพื่อตอบคำถามอย่างเป็นอิสระและพูดออกมาจากใจ ในประเด็น
· เป้าหมาย (ของตน) ที่มาร่วมประชุมนี้คืออะไร
· ส่วนใดที่บรรลุมากกว่าที่คาดหมายไว้ เพราะอะไร
· ส่วนใดที่ยังบรรลุน้อย เพราะอะไร จะทำให้บรรลุได้อย่างไร
· จะกลับไปทำอะไร ต้องการความร่วมมือจากใคร ในด้านใด
· ถ้าจะมีการประชุมเช่นนี้อีก มีคำแนะนำให้ปรับปรุงส่วนใดบ้าง
6. ทีม ส. จับประเด็นจาก AAR นำมาสังเคราะห์เป็นร่างความคิดยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินการต่อไป แล้วปิดประชุม
7. ภายใน 2 สัปดาห์หลังประชุม ทีม “คุณลิขิต” ส่งเอกสารบันทึกและสรุปการประชุมให้แก่ผู้เข้าประชุมทุกคน
8. ภายใน 4 สัปดาห์หลังประชุม ทุก ส. เวียน e-mail ให้ ส. อื่น ๆ ทราบว่าตนคิดจะทำอะไรต่อ และต้องการความร่วมมืออย่างไร
9. มีคณะทำงานเอาแนวคิดในข้อ 8 มาสังเคราะห์เป็นยุทธศาสตร์ของเครือข่าย
10. ภายใน 1 เดือนหลังข้อ 8 ประชุมกลุ่มสามพรานเพื่อตกลงยุทธศาสตร์และแผนการดำเนินงานใน 6 เดือนข้างหน้า โดยที่จะต้องเป็นแผนที่สมจริง ไม่ใช่เพ้อฝัน รวมทั้งมีการกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จสำหรับใช้ประเมิน
แต่ละส่วนของแผนปฏิบัติจะมีองค์กรรับผิดชอบ กับองค์กรที่ให้ความร่วมมือ มี
ทรัพยากรสำหรับกิจกรรมอย่างชัดเจน โดยที่คณะทำงานและองค์กรรับผิดชอบต้องทำงานมาล่วงหน้า
11. เมื่อครบ 6 เดือนจัดการประชุมคล้าย ๆ กันเพื่อเรียนรู้เชิงประเมินผลโดยใช้การประชุมแบบ KM ที่คิดขึ้นใหม่
12. มีการจัดมหกรรม...เป็นงานประจำปีร่วมกัน หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพหลัก สำหรับขับเคลื่อนเครือข่าย โดยยึดหลักว่าเครือข่าย ส. เป็นแกนนำ เคลื่อนเครือข่ายที่กว้างขวางทั่วประเทศ มีการกำหนด theme ของแต่ละปีให้สอดคล้องกับกิจกรรมหลัก
นี่เป็นเพียงร่างความคิดนะครับ การปฏิบัติจริงต้องมีคณะทำงานช่วยกันคิด
วิจารณ์ พานิช
15 ส.ค.48
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก