ชีวิตที่ไม่เคยยอมแพ้ ของ ฌอง-โดมินิค โบบี กับ การกะพริบตาเขียนหนังสือ "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ"


บทแรกในหนังสือเสริมกำลังใจ "ความฝันโง่ ๆ" ของวินทร์ เลียววาริณ ... สร้างความประทับใจให้ผมไม่น้อย กับเรื่องราวที่ผมได้ยินจากรุ่นพี่ที่ทำงานเก่าเกี่ยวกับหนังสือ "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ" ที่ผู้เขียนใช้การกะพริบตาเพื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ออกมา เขาคือ ฌอง-โดมินิค โบบี

วินทร์ เลียววาริณ ได้เล่าไว้ในบทแรกที่ชื่อ "ชีวิตที่ดี" ไว้ดังนี้

 

วันหนึ่งในเดือนธันวาคม ปี ค.ศ.1995 ฌอง-โดมินิค โบบี ลองขับรถคันใหม่กับลูกชาย ทันใดนั้นเขาก็รู้สึกว่า ร่างกายของตนเองไม่ตอบสนองต่อความคิด ประสาทสัมผัสของเขาคล้ายถูกลบหายไปเหมือนเส้นดินสอที่ถูกยางลบปาดผ่าน โบบีพบตัวเองบนเตียงที่ระเกะระกะด้วยเครื่องช่วยชีวิต ท่ออากาศ และสายยาง อาการสโตรคของเขาเป็นสัญญาณของโรคร้ายที่พบน้อยมาก คือ Lock-In Syndrome โรคที่ไม่มีทางรักษา

ในชั่วพริบตา เขาก็กลายเป็นอัมพาตไปโดยสิ้นเชิง ช่วยตัวเเองไม่ได้ เป็นฝันร้ายในโลกจริง

โบบีอายุ 43 พ่อของลูกเล็กสองคน เป็นบรรณาธิการนิตยสารที่มีชื่อเสียงฉบับหนึ่ง เขารักการกินอาหารอร่อย แต่บัดนี้เขาต้องรับอาหารผ่ายสายยาง ชอบสนทนากับคนที่รัก แต่ตอนนี้เขาฟังโทรศัพท์จากคนรัก โดยไม่สามารถตอบกลับได้

ใจรับรู้ ความคิดยังทำงาน แต่สมองไม่อาจสั่งการร่างกายได้ เขาสามารถทำได้เพียงขยับตาข้างซ้ายและกะพริบตาเท่านั้น

แต่เพียงการกะพริบตาก็ถือว่าเป็นของมีค่าอย่างเดียวที่เหลืออยู่

ในสถานการณ์ที่หากเกิดขึ้นกับใครก็ตาม น้อยคนคงอยากมีชีวิตต่อไป โบบีเริ่มกะพริบตา และกระทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

เขาเขียนหนังสือ !

 

เขาเขียนหนังสือโดยการกะพริบตาสื่อสารกับคนอื่น และถ่ายทอดลงบนกระดาษ แต่ละครั้งที่กะพริบตาเป็นรหัสสำหรับแต่ละอักษร ใช้แต่ละอักษรเรียงร้อยเป็นคำ และต่อเนื่องเป็นวลี ประโยค ข้อความ และหนังสือหนึ่งเล่ม

โบบีไม่เคยเอ่ยถึงความท้อแท้สิ้นหวัง หรือสงสารตัวเอง เขาเขียนอย่างสง่างาม อย่างมนุษย์ที่ไม่ก้มหัวให้ชะตากรรม สูญสิ้นแต่ไม่สิ้นหวัง มีอารมณ์ขันแม้ในห้วงยามที่แย่ที่สุด แม้รับอาหารผ่านสายยาง แต่เขาก็ยังเล่าถึงความสุขของการปรุงอาหาร การกินอาหารในภัตตาคาร กลิ่นหอมของเฟรนช์ฟรายส์ที่ชายหาด และวันพ่อในปีนั้น

ในวันพ่อปีนั้น ครอบครัวของโบบีพาเขาไปที่ชายหาด ลูกชายช่วยเช็ดน้ำลายที่ไหลออกมาจากปากของพ่อด้วยกระดาษทิชชู ลูกสาวคนเล็กจูบเขาและเอ่ยว่า "พ่อเป็นพ่อของหนูน่ะ" เขามองลูกเล่นขณะที่ภรรยากุมมือของเขา ความคิดของเขาลอยล่องออกไปไกลแสนไกล

โบบีเขียนหน้าหนึ่งของหนังสือว่า แต่ก่อนเขาไม่เคยสนใจวันพ่อที่คนเราประดิษฐ์ขึ้นมานี้เลย แต่วันที่เขาอยู่กับครอบครัววันนั้น เขานึกในใจว่า ถึงเขาจะพิการ แต่ก็ยังเป็นพ่อของลูก

เขาตั้งชื่อหนังสือว่า The Diving Bell and the Butterfly หนังสือที่บอกโลกว่า ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ คือ ชีวิตที่ยังมีความรัก คือ ชีวิตที่เป็นชีวิต

 

 

วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ ปี ค.ศ.1997 The Diving Bell and the Butterfly ออกวางบนแผงหนังสือ เป็นใบไม้สีเขียวเล็ก ๆ ที่ผลิออกมาจากหัวใจที่อ่อนโยนดุจผีเสื้อ กับกำลังใจเข้มแข็งกว่าเหล็กไหล

ฌอง-โดมินิค โบบี จากโลกไปสองวันหลังจากหนังสือเล่มนี้ออกวางแผง

 

วินทร์ เลียววาริณ ตบท้ายให้คิดว่า ชีวิตสั้นแสนสั้น และบางครั้งขรุขระยากลำเค็ญ แต่หากสามารถใช้ช่วงสั้น ๆ นั้นอย่างไม่ยอมแพ้ต่อชะตากรรมอันเลวร้าย มันก็เป็นชีวิตที่ดี

 

 

The Diving Bell and the Butterfly ได้รับการแปลเป็นครั้งแรก โดย วัลยา วิวัฒน์ศร ออกโดยพิมพ์ครั้งแรกโดย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ (http://www.bflybook.com) ... ในเดือนมกราคม พ.ศ.2541

โดยให้ชื่อภาษาไทยว่า "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ"

 

 

ทดลองอ่านได้จาก http://www.bflybook.com/PDF/LE_SCAPHANDRE_ET_LE_PAPILLON.pdf

 

เคยคิดไหมครับว่า หากเราเป็น ฌอง-โดมินิค โบบี ... เราจะใช้ชีวิตอย่างไร ?

เราพบชีวิตที่ลำบากมากมาย เราบ่น เราอารมณ์เสีย เราท้อถอยจนไม่อยากทำต่อ แล้ว ฌอง-โดมินิค โบบี ... เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ได้อย่างไรครับ หากไม่ใช่ "ใจ" ที่แข็งแกร่งดังผาหิน

อย่าท้อครับ หากมองเห็นชีวิตของ ฌอง-โดมินิค โบบี ... จริง ๆ

 

 

 

แหล่งอ้างอิง

วินทร์ เลียววาริณ.  ความฝันโง่ ๆ.  กรุงเทพฯ : 113, 2549.

เว็บไซต์สำนักพิมพ์ผีเสื้อ.   http://www.bflybook.com (30 มีนาคม 2552).

หนังสือ "ชุดประดาน้ำและผีเสื้อ".  http://www.bflybook.com/BookDetail.aspx?CategoryID=0&SortID=0&PageNumber=1&CoverDesignID=28&FromPage=BasicSearch (30 มีนาคม 2552).

 

หมายเลขบันทึก: 251988เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2009 18:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

เล่มนี้อ่านที่ไร ก็ทึ่งเสียทุกครั้งไป ทึ่งกับความทรหดและความไม่สิ้นหวัง จนไม่อาจอ่านข้ามไปแม้ตัวอักษรเดียว

ชีวิตที่ไม่ยอมแพ้ คือ ชีวิตที่ยังมีความรัก คือ ชีวิตที่เป็นชีวิต

เห็นด้วย... เห็นด้วยจริงๆ 

ขอบคุณ อาจารย์หนอนหนังสือค่ะ อิอิ

ตกใจนะครับที่ คุณ ครูเอ ... กลับมา

นั่นสิครับ ผมอ่านหนังสือมากเกินไปหรือเปล่า :)

ขอบคุณครับ

มีภาพยนต์ ด้วยนะคะ

เรื่องนี้อ่านไว้นานมาก....ยิ่งอาชีพอย่างเรา บางครั้ง เราต้องเตือนตัวเรา เพื่อนสนิทด้วยกันเอง ว่า

"เห็นบ่อย ๆ แต่อย่าชาชิน..จน..ชิน-ชา"

ขอบคุณอาจารย์ที่เขียนบันทึกดี ๆ นี้ค่ะ

ขอบคุณครับ คุณ ภูสุภา :)

ช่วงค้นข้อมูลจากคุณครูกูเกิล..ได้เห็นโปสเตอร์ภาพยนตร์เหมือนกันครับ ... สู้ สู้ ครับ :)..

อาจารย์ตกใจอะไรค่ะ

....งง...ค่ะ

 

 

ตกใจ เนื่องจากได้หายไปครับ อิ อิ

รู้แล้ว ว่าหาหนังสืออะไรไม่เจอะ

จะมาเปิดหาเอาในบันทึกอาจารย์  555

อ้าว ไหงงั้นล่ะครับ คุณ ครูเอ :) ...

เค้าไม่ใช่ห้องสมุดนะ ... *+*

ยังไม่มีพรุ่งนี้จะไปหามาอ่านค่ะ

อ๋อ ครับ คุณครู ทรายชล ...

นำร่องแบบ Sample ที่นี่ครับ

http://www.bflybook.com/PDF/LE_SCAPHANDRE_ET_LE_PAPILLON.pdf

:)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท