ทศชาติ แรงบันดาลใจของสังคมพุทธ


ทศชาติ, จันทกุมาร

ภาพ: Bloggang

ช่วงนี้พอมีเวลาได้เปิดทีวีเปิดหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับข่าวอาชญากรรมบ้าง ก็ยังเกิดความรู้สึกเดิมว่าสังคมเรายังนิยมเสพข่าวความเสียหายของคนอื่นอยู่ ไม่น้อยครับ การเมืองที่ตั้งหน้าตั้งตาเอาชนะกันด้วยทุกยุทธวิธี แล้วก็มานึกถึงทัศนะของหลายๆคนในสังคมเราที่เริ่มจะชาชินกับเรื่องพวกนี้ไป จนถึงการยอมรับอาชญากรรมในบางระดับว่าน่าจะยอมรับได้ ความบันเทิงบางรูปแบบกำลังเข้าใกล้อาชญากรรมมากขึ้น วิดิโอเกมที่ไล่ฆ่ากันแม้คนที่เป็นบุพการีโดยคนเสพก็เห็นว่าอาจเป็นเรื่อง ที่ไม่จำเป็นต้องควบคุมห้ามปราม สื่อบันเทิงบางแนวก็แสดงคำอธิบายว่าการฆ่าในบางกรณีมีความสมเหตุสมผลแค่ไหน การลักขโมยจนถึงปล้นจี้โดยถือเอาเรื่องของปากท้องมาเป็นความชอบธรรม การมีเพศสัมพันธ์ตามความพึงพอใจหรือแม้แต่เพื่อแลกกับผลประโยชน์ การโกหกกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการประกอบอาชีพ การใช้สิ่งมึนเมาเพื่อการยอมรับในสังคม เพื่อการยอมรับในความเป็นตัวตนของแต่ละคน ศีลห้าข้อดูจะรกรุงรังขัดขวางการดำเนินชีวิตไปเสียทุกทาง

ผมนึกถึงประวัติศาสตร์โรมันที่เคยได้อ่านมาบ้าง อาจจะผ่านทางตำราเชิงรัฐศาสตร์ที่แสดงกรณีตัวอย่างของการเมืองการปกครองใน สมัยนั้นที่ยังคงเหมือนเรื่องร่วมสมัย นึกถึงแหล่งบันเทิงระดับอภิมหาอลังการอย่างโคลอสเซี่ยมที่ชาวโรมันแสวงหา ความสุขกันด้วยการชื่นชมการฆ่า นัยว่าเป็นการระบายความรู้สึกพื้นฐานของมนุษย์
แต่สิ่งเหล่านี้ได้แสดงให้ผมได้เห็นความทุกข์ความสุขของมนุษย์ที่ไม่ได้ลด น้อยลงไปเลยแม้ในช่วงเวลาที่รุ่งเรืองถึงขีดสุด ความรุ่งเรืองที่มนุษย์หวังเหลือเกินว่าจะนำพาความสุขมาให้
แต่คนโรมันก็ยังทุกข์กับสถานภาพของตนเองผ่านทางการชิงดีทางการเมือง ยังมีการฆ่าเพื่อผลประโยชน์หรือแม้แต่ความบันเทิง ยังมีความไม่พึงพอใจในเพศสภาพของตนที่แสดงออกมาด้วยความนิยมเพศสัมพันธ์ใน เพศเดียวกัน
ดูเหมือนกับว่า แท้จริงแล้วมนุษย์ไม่สามารถจะมีความสุขไปกว่าที่เป็นมาเนิ่นนานแล้วได้ ไม่ว่าจะพยายามสรรสร้างปัจจัยรอบด้านมากแค่ไหน
หากว่าเราไม่สามารถจะมีความสุขไปกว่าเดิมได้เลยแม้จะมีสิ่งเหล่านี้ แล้วเราจะลดระดับศีลธรรมจรรยาลงไปทำไมเล่าครับ ลดระดับศีลธรรมจรรยาลงไปเพื่อเสี่ยงกับผลเสียที่อาจเกิดขึ้นแม้เราจะไม่ ศรัทธาในความเชื่อของศาสนา เสี่ยงเพื่อแลกกับอะไร
เพราะแท้จริงแล้ว สุขและทุกข์ต่างเป็นสิ่งที่อิงเคียงข้างกัน เมื่อทุกข์หมดไปคราวหนึ่ง ก็มีสุขเข้ามาแทน เมื่อสุขจางไป ทุกข์ก็เข้ามาแทน
หากเราตระหนักว่าเราจะสุขจะทุกข์ไปไม่ได้มากกว่านี้ ลองย้อนนึกดูว่า แท้จริงแล้วสุขและทุกข์คืออะไรกันแน่
สำหรับคติพุทธแล้ว ปลายทางคือการดับลงสนิทของทุกข์
นั่นคือสุข สุขอย่างยิ่ง

สิ่งที่กำลังดำเนินไปในสังคมทำให้เหมือนกับการอยู่ในศีลธรรมเป็นเรื่อง น่าอึดอัด ไม่ต้องไปถึงเรื่องมรรคผลนิพพานเพราะเป็นเรื่องปรัมปราพ้นสมัยและไม่เห็นน่า สนใจสักนิด
ก็มานึกถึงว่าเออ ผมเองก็ตั้งชื่อของแพลนเน็ตใน GotoKnow ว่า สัมมากัมมันตะ ตั้งใจจะนำเสนอว่าวิถีชีวิตที่อยู่ในกรอบศีลธรรมจรรยาแบบพุทธนั้นมีอยู่แม้ ในสมัยนี้ ดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตไม่ต่างจากคนอื่น มีตัวอย่างที่ผมได้พบได้เห็นมาด้วยตนเองไม่น้อย

ก็เลยเป็นที่มาของบทความในชุดนี้
ความจริงผมตั้งใจจะเขียนบทความเกี่ยวกับทางแยกของวิทยาศาสตร์และคติแบบพุทธ เพื่อ ชี้แจงความไม่เห็นพ้องด้วยของผมต่อใจความในหนังสือ "ไอน์สไตน์พบ พระพทุะเจ้าเห็น" ของคุณสม สุจิรา โดยผมมีความเห็นว่าวิทยาศาสตร์ในฐานะของสาขาหนึ่งของปรัชญา มีความแตกต่างจากคติพุทธในบางแง่จนไม่น่าจะและไม่จำเป็นจะต้องนำมาเชื่อมโยง กันอย่างที่หลายๆท่านรวมทั้งคุณสมพยายามจะทำอยู่ในตอนนี้ แต่เนื่องจากเห็นว่าน่าจะเขียนเรื่องราวอันเป็นที่มาของศรัทธาในศาสนาพุทธ เสียก่อน ประกอบกับช่วงเวลาที่ผมได้สัมผัสกับข่าวสารรอบตัวที่หลากหลายแตกต่างมากขึ้น ผ่านช่องทางการสื่อสารเพิ่มเติมจากสมัยก่อน และสถานภาพของคนใกล้ตัวที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา บางท่านยกระดับจรรยาและพุทธิปัญญาสูงขึ้น บางท่านรุ่งเรืองในทางธุรกิจแต่ถลำลึกลงไปในวังวนของอาชญา ก็เลยมาเป็นบทความชุดนี้ครับ

และผมเห็นว่าเรื่องราวของสิบชาติสุดท้ายก่อนที่พระนิยตโพธิสัตว์จะ ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมมีแง่มุมสำคัญที่แสดงถึงแรงบันดาลใจ และศรัทธาในการดำรงชีวิตแบบพุทธที่คาดหวังการดับเด็ดขาดของความทุกข์ เป็นแบบอย่าง เป็นกรณีที่แสดงให้เห็นว่าการดำรงชีวิตที่เข้มแข็งในศีลธรรมนั้นสามารถทำได้ แม้จะยากเย็นแต่ไม่เหนือวิสัยและคาดหวังผลดีได้
และเหตุอีกเหตุหนึ่งที่ยกเอาทศชาติชาดกขึ้นมาเปรียบเทียบก็เพราะเมื่อได้ อ่านเมื่อได้พิจารณาในความศรัทธาและแรงบันดาลใจของพระนิยตโพธิสัตว์ทั้งสิบ อัตภาพแล้ว ก็ได้ลองค้นหาความเห็นของผู้รู้หลายๆท่านเกี่ยวกับศรัทธาและแรงบันดาลใจ เหล่านี้ก็ยังไม่พบคำอธิบายที่ดูร่วมสมัยและทำให้รู้สึกเติมเต็มและอิ่มใน แรงบันดาลใจและศรัทธาอย่างที่กำลังเกิดขึ้นในใจผม จนทำให้ผมต้องขอโอกาสถ่ายทอดออกมาในแง่มุมที่ผมรับรู้ แง่มุมที่ต่างออกไป และเชื่อว่าจะมีประโยชน์กับบางท่านที่มีจริตนิสัยใกล้เคียงกับผม

ศรัทธาที่สำคัญพื้นฐานสองอย่างแรกที่ผมจะต้องเสนอก่อนจะถึงเนื้อหาของ ทศชาติก็คือ ความเชื่อแและศรัทธาในการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่มีต้นไม่มีปลาย กับเชื่อและศรัทธาในกรรมว่ามีจริงและไม่สูญหายไปไหน
ศรัทธาสองข้อนี้เป็นกลไกสำคัญของสิ่งที่จะอธิบายต่อมาทั้งหมดครับ แม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ด้วยวิธีของปรัชญาสาขาวิทยาศาสตร์ได้ แต่ความจริงเหล่านี้สามารถนำมาแสดงได้ด้วยแนวทางอื่น วิธีแสดงความจริงอื่นนอกไปจากวิทยาศาสตร์
ซึ่งเรื่องของการแสดงความจริงตามแบบวิทยาศาสตร์และแบบพุทธจะได้นำมาเขียนใน บทความชุดที่แสดงความเห็นที่ต่างไปจากหนังสือ ไอน์สไตน์พบฯ ที่จะเขียนในโอกาสต่อไปนะครับ
สำหรับตอนนี้ขอให้เราเข้าใจตรงกันก่อนว่ามีพื้นฐานมาจากศรัทธาสองประการนี้ แม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้แน่นอนว่าไม่มีอยู่

ส่วนใจความของชาดก เพื่อนๆสามารถค้นได้หลากหลายนะครับ ผมแนะนำที่ http://www.84000.org/tipitaka/atita/ ซึ่งเป็นชาดกตามพระไตรปิฎกและอรรถกา รวมทั้งมีชาดกอื่นๆก่อนทศชาติด้วยครับ

หมายเลขบันทึก: 251689เขียนเมื่อ 29 มีนาคม 2009 12:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 21:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท