เป็นนักเรียนพระปกเกล้าตอนที่๘๖(ปัจฉิมนิเทศ๒)


ผมได้อะไรจากการเรียนหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข

          ผมมานั่งทบทวนว่า ตลอดระยะเวลา ๙ เดือน ที่มาเรียนที่สถาบันพระปกเกล้า ผมได้อะไรกลับไปบ้าง มีสิ่งดีๆในสมองผมเต็มไปหมด เริ่มจากการที่ไม่มีสิทธิจะได้รับการเสนอชื่อจากองค์กรของตัวเองให้เข้าเรียนเพราะยังไม่ถึงระดับอธิบดี ห่างชั้นมาก เพราะผมเป็นแค่ผู้เชี่ยวชาญ ยังไม่ถึงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย ยังไม่ถึงรองอธิบดี และที่สำคัญคือยังไม่ถึงอธิบดีจึงไม่อาจผ่านกระบวนคัดเลือกขององค์กรได้   แต่ทางสถาบันฯมีหนังสือเชิญให้เข้าสมัครเรียน และได้รับการคัดเลือกในที่สุด คราวนี้จึงได้ขออนุญาตเรียนและได้รับอนุญาตจากท่านอัยการสูงสุดจึงเข้าเรียนได้ แต่ค่าใช้จ่ายทั้งหมดต้องจ่ายเอง 

มีคนถามผมหลายคนว่ามาเรียนแล้วจะได้เลื่อนตำแหน่งอีกใช่ไหม ผมตอบว่าไม่ใช่หรอก ผมเรียนเพราะอยากเรียน มีคำถามให้กับตัวเองว่าเรียนไปทำไม เหตุผลในการเรียนแต่ละคนแตกต่างกันไป คงไม่มีใครปฏิเสธความจริงหรอกว่าที่บางคนมาเรียนหลักสูตรต่างๆเพราะต้องการการเชื่อมต่อความสัมพันธ์ของฐานอำนาจ เพราะอยากได้เพื่อน เรียนเพราะอยากไปเที่ยวต่างประเทศ เพราะอยากเรียนรู้(เพราะเป็นพวกชอบเรียนรู้ตลอดชีวิต) ต่างคนต่างก็มีเหตุผลในตัว แต่ผมเรียนเพราะอยากเรียนรู้ และเมื่อเรียนแล้วผมได้มากมายเหลือเกิน

        ๑.ใครๆเขาว่าถ้าจะเรียนที่สถาบันพระปกเกล้าต้องเข้าหลักสูตร ปปร. เพราะเป็นหลักสูตรอันดับ ๑  สำหรับผมนึกในใจว่าหลักสูตรไหนก็ขอให้มีโอกาสเข้าเรียนก่อนเหอะ เพราะหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข เพิ่งเปิดเป็นรุ่นแรก และรุ่นแรกของทุกสถาบันจะต้องดีเยี่ยมเพราะต้องสร้างชื่อเสียง และก็เป็นจริงเพราะวิชาความรู้ที่ผมได้รับมีมากมายมหาศาลเป็นความรู้ใหม่ๆที่ไม่เคยศึกษาจากที่ไหนมาก่อน  แม้แต่ที่เขียนบันทึกก็ยังเขียนไม่หมดด้วยซ้ำไป

        ๒.ผมได้เรียนรู้ว่า การที่มีคนแตกต่างทางความคิดได้มาเรียนรู้ร่วมกัน อย่างน้อยสถานการณ์บังคับให้เขาต้องฟังซึ่งกันและกันโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากเป็นเวลาปกติเรามักไม่ฟังกัน ซึ่งเห็นได้จากกรณีเสื้อเหลืองเสื้อแดงในห้อง ซึ่งในที่สุดก็เข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ย

        ๓.การเรียนรู้ได้มีการพิสูจน์ให้เห็นว่าการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องนั่งในห้องเรียนเสมอไป เราอยู่ในรถวิทยากรก็บรรยายได้ แถมเมื่อเดินไปตามสถานที่ต่างๆวิทยากรก็อธิบายให้เราได้เห็นของจริงได้

        ๔.ผมได้พิสูจน์ให้หลายท่านเห็นว่า หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ ๑ ของสถาบันพระปกเกล้า นอกจากมีการเรียนในห้องแล้ว ยังมีนักศึกษาที่ไม่ได้แสกนมือเข้ามานั่งฟังบรรยายในห้อง แต่รอศึกษาจากบันทึกของผมอยู่รอบโลก มีหลักฐานการโต้ตอบในบันทึกอยู่ เช่น ท่านอัครราชทูตอินเดีย,ภริยาท่านรองกงสุลดูไบ เป็นต้น ท่านเหล่านี้ศึกษาเรื่องสันติวิธีและให้ข้อคิดดีมาก ผมได้โอกาสในการมีปฏิสัมพันธ์ทางความรู้

        ๕.การเรียนรู้จากการลงพื้นที่เป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด เพราะเราสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้รับฟังข้อเท็จจริง รวมทั้งได้สัมผัสของจริง เช่น ที่มาบตาพุด หน่วยงานภาครัฐ หรือโรงงานอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรม ต่างก็พูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าควบคุมมลพิษอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน  แต่ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าเขาป่วยกันอยู่ทุกวันนี้เพราะใคร และเมื่อเราลงพื้นที่จริง สิ่งที่จมูกเราสัมผัสได้ก็คือมันมีกลิ่นเหม็น ถ้าเราไม่ลงพื้นที่จริงเราก็ไม่สามารถรับรู้สิ่งเหล่านี้ได้

        ๖.การวางพื้นที่ให้พวกเราลงไปศึกษาทุกภาค ให้ไปเห็นเข้าใจสภาพปัญหาของภาคต่างๆ ทำให้เรารู้ว่าปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้น ไม่ว่าปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติ  ปัญหาที่ประชาชนขาดการเอาใจใส่ในการดูแลสุขภาพ ปัญหาการไม่ได้รับความยุติธรรมจากการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ  ย่อมล้วนแล้วแต่เป็นเงื่อนไขที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งและสามารถนำไปสู่ความวุ่นวายเช่นเดียวกับปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้เช่นกัน

        ๗.การที่พวกเราศึกษาและลงพื้นที่จริง แล้วมาจัดการเสวนาในหัวข้อต่างที่เราไปศึกษาดูงาน รับฟังความคิดเห็นจากผู้คนอย่างหลากหลาย แม้จะมีจำนวนคนไม่มากนัก แต่ก็มีนักวิชาการให้ความสนใจมาร่วมแสดงความคิดเห็นพอสมควร ซึ่งเราจะต้องรวบรวมข้อเท็จจริงและข้อเสนอแนะจากกลุ่มนักศึกษากันเองและนักวิชาการที่มาร่วมแสดงความคิดเห็น กลั่นออกมาเป็นรายงานเพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจในบ้านเมืองจะได้ใช้ในการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เป็นเรื่องต่อเนื่องที่นักศึกษารุ่นต่อไปจะได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาต่างๆเหล่านี้ซึ่งจะก่อให้เกิดพลังอย่างต่อเนื่อง

        ๘.ในการพัฒนาหลักสูตรก็ควรจะต้องกำหนดให้นักศึกษาเขียนบันทึกลงในอินเทอร์เน็ตเพื่อให้บุคคลภายนอกใช้เป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็น และที่สำคัญนักศึกษาเองก็จะได้มีโอกาสรับฟังความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่ไม่ใช่นักศึกษาในสถาบันนี้ ซึ่งอาจจะเป็น  ผู้ชำนาญเฉพาะด้าน ผู้ที่คลุกคลีกับปัญหาอย่างแท้จริง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วจะก่อให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาทั้งสิ้น และอาจจะเจอปมความขัดแย้งที่สามารถแก้ปัญหาได้ในพริบตา

        ผมเห็นแต่ข้อดีของการศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข และหวังว่าหลักสูตรนี้จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและข้อเสนอแนะของนักศึกษาหลักสูตรนี้จะสามารถช่วยให้ผู้มีอำนาจแก้ไขปัญหาสามารถใช้เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี และนักศึกษาหลักสูตรนี้เรียนจบแล้วไม่ใช่จบแล้วนิ่งเฉย ทุกคนมีสัญญาใจว่าเราต่างมีภาระที่จะต้องนำความรู้ไปแก้ปัญหาสังคมให้เกิดสันติสุขให้จงได้......

หมายเลขบันทึก: 251061เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2009 17:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 12:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (23)

สาธุ ขอแสดงมุทิตา กับนักศึกษาดีเด่น..แล้วจะมา'เมนท์ใหม่..

  • สวัสดีค่ะ อาจารย์ท่านอัยการ
  • มณีแดงตัวน๊อย ก็รออ่านบันทึกความดี ความรู้จากบันทึก ที่ตัวเองน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ ได้บ้าง ทั้งกับตัวเองและส่วนร่วม
  • ต้องขอบพระคุณค่ะ ที่นำประสบการณ์มาเขียนให้ได้เรียนรู้ เหมือนได้ไปเรียนเอง
  • ขอบคุณค่ะ

เป็นการเรียนรู้แบบไร้พรมแดนจริงๆครับ

สำหรับแนวทางการจัดการศึกษาที่ท่านอัยการนำเสนอกระผมคิดว่าเป็นประโยชน์อย่างสูงครับ แต่หากเรื่องที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีความเกี่ยวข้องกับด้านความมั่นคง กระผมก็คิดว่าคงจะต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างระมัดระวังอย่างสูงเช่นกันใช่หรือเปล่าครับ

ขอบพระคุณท่านอัยการอย่างสูงครับที่ได้นำข้อมูลดีๆมาให้ได้เรียนรู้ครับ เพราะการได้มีโอกาสเรียนรู้จากผู้มีประสบการณ์สูงเป็นกำไรของชีวิตกระผมอย่างสูงอีกทั้งยิ่งได้เรียนรู้ก่อนก็จะยิ่งได้เปรียบในการเรียนรู้ที่จะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้มากขึ้นและเร็วขึ้นด้วยครับ

สวัสดีครับคิดถึงระลึกถึงครับ

นั่งแอบเรียนตั้งแต่เริ่มต้นทีเดียวครับ ตอนไปดูบรรยากาศจริงๆๆก็น่าสนใจ ขอบคุณท่านอัยการที่ถ่ายทอดความรู้ตลอดทำให้ผมมีโอกาสได้อ่าน ได้คิดวิเคราะห์ตาม สนใจเรื่องของการนำความรู้ไปปฎิบัติและทำงานต่อในภาคใต้ครับ มาแสดงความยินดีกับนักศึกษาดีเด่น แบบนี้ต้องฉลองกันหน่อย เย้ๆๆๆ

นมัสการท่านมหาติ๊กครับ

สาธุครับ กราบขอบพระคุณท่านมหาติ๊กที่ให้ข้อคิดดีๆระหว่างเรียนผสมความฮา รุ่นหน้าท่านมหาติ๊กจะส่งพระรูปใดไปเรียนร่วมกับญาติโยมครับ

สวัสดีครับป้าแดง

ยินดีที่บันทึกของผมเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นที่ไม่ได้อยู่ในห้องเรียนพระปกเกล้า แม้ไม่ได้นั่งเรียนในห้องแต่วิชาการที่นำมาเสนอ ถ้ามาร่วมเรียนรู้ก็สามารถเอาไปใช้เป็นประโยชน์ได้มากมายเลยครับ

สวัสดีครับ ว่าที่ ร.ต. วุฒิชัย สังข์พงษ์

คราวที่แล้วขับรถผ่านอุทยานหว้ากอ ว่าจะแวะเข้าไปแล้วเชียว แต่ดูเวลาแล้วหากมัวโอ้เอ้กว่าจะถึงภูเก็ตก็คงดึกมากๆก็เลยตัดใจ ไว้คราวหน้าจะไปแวะหาด้วยความตั้งใจครับ

ในส่วนของความมั่นคงผมต้องใช้ความระมัดระวังมากเลยครับ แม้แต่ส่วนที่ได้รับฟังการบรรยายของอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคง ผมไม่นำขึ้นโพสต์ครับ

จะสมัครเรียนรุ่นสองไหมครับ อิอิ

สวัสดีครับ อ.ขจิต

นึกว่า จังซี้มันต้องถอนๆ ฮ่าๆๆ

กลุ่มวิชาการจะไปเก็บตัวกันที่ภูเก็ตเพื่อจัดทำร่างรายงานภาคใต้ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ในช่วงวันที่ ๑๖-๑๙ เมษายน นี้ครับ

ขอบคุณที่มาร่วมแสดงความยินดีครับ

อยากจะเสนออย่างนี้ครับ

  1. ให้นักศึกษาทุกคนเขียนอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับการมาเรียนครั้งนี้
  2. เขียนคนละ 2-4 หน้า
  3. แล้วรวบรวมพิมพ์เป็นเล่ม
  4. ลองหาเรื่องแบบนี้ดีไหมครับท่านอัยการ
  5. ของผมเขียนเรียบร้อยแล้ว ชื่อ ตอนปล่อยเกาะอัยการ อิ อิ

ดีครับพ่อครู

แต่สำคัญที่ว่าพวกเราเข้ามาเขียนบันทึกกันบ้างหรือเปล่า เท่าที่ดูมักไม่ค่อยเขียนและไม่ได้เป็นสมาชิก หรือว่าให้เขียนด้วยลายมือแบบที่เราเสนอในที่ประชุมวันปัจฉิมนิเทศ อิอิ

มาสมัครอบรมให้พี่ๆน้องๆ สสสส รุ่น 1 ครับ อบรมฟรี ถ้าต้องการจ่ายเงิน ให้จ่ายที่พ่อครูบาครับ อิอิๆๆ

มายืนยันครับว่าได้ประโยชน์จริงๆ

ท่านเอกชัยชวนให้เรียนแล้ว แต่ไม่มีโอกาสจริงๆ

แต่ก็โชคดีที่ท่านอัยการชาวเกาะกรุณาถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ทำให้ได้ความรู้ ได้รู้แนวทางการเรียนการสอนไปด้วย

ในอนาคต ผมขอเสนอท่านเอกชัยให้จัดการเรียนทางไกลด้วย คนอยู่อินเดียจะได้สมัครเรียนได้ด้วย

ซึ่งจริงๆ แล้ว การเรียนคือการได้ฝึกคิด อยู่ที่ไหนก็ฝึกคิดได้เหมือนกัน

บันทึกของท่านอัยการก็เป็นสื่อกลางได้ดี

ขอบคุณอีกครั้งหนึ่งครับ

หวังว่าโครงการจะพัฒนาหลักสุตรให้ดียิ่งขึ้นไปนะครับ

เอ...ขอยกมือค้านเล็กๆ ได้ไหม

ข้อที่ไม่ดี ก็น่าจะต้องสรุปมังคะ

แต่ข้อไม่ดีก็ไม่หนักหนาเท่าไหร่ แต่ก็ต้องหยิบมาคุยกันนะคะ และคงต้องคุยแบบไม่ตำหนิ ต้องคุยแบบเข้าใจในข้อจำกัด เพราะไอ้ข้อไม่ดีเล็กๆ มันขยายตัวได้นะคะ

สวัสดีค่ะท่านอัยการ

ติดตามมาอ่านต่อในบทสรุปค่ะ และมาช่วยยืนยันอีกคนค่ะว่าบันทึกแบบนี้มีประโยชน์สำหรับคนทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนจริงๆ ค่ะ จะอ่านเวลาไหนก็ได้ตามสะดวก อ่านจากมุมไหนของโลกก็ได้จริงๆ ค่ะ

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

หลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข

ชื่อหลักสูตรก็น่าสนใจนะคะ

หวังว่าคงมีประโยชน์มากมายต่อผู้เรียนจริงๆ

สร้างสันตินะคะ

ขอบคุณ อ.ขจิต ที่จะมาช่วยออกแรง

คงไม่นานนี้หรอกครับ เพราะแว่วข่าวว่าพอฟอร์มทีมเสร็จก็จะนัดเจอกัน เวลานัดเจอกันก็น่าจะมีการสอนให้สมัครเข้าเป็นสมาชิกและหัดเขียนบันทึก น่าจะดีนะครับ

ท่านอัครราชฑูตครับ

การที่ท่านมาแสดงความคิดเห็นในบันทึก ย่อมมีผลต่อการพิจารณาหลักสูตรมากพอสมควร เพราะเป็นหลักสูตรที่แหวกแนว บังเอิญผมเป็นนักศึกษาแหวกแนว เมื่อมีผู้สนใจแบบแหวกแนวอย่างท่าน อย่าง อ.อ้อย หรือใครต่อใคร มันเป็นเรื่องเกินความคาดหมายของกรรมการพิจารณาหลักสูตรครับ ผมงานที่ผมเขียนบันทึกและที่ท่านมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นจึงทำให้หลักสูตรนี้ผ่านฉลุยไปแล้วครับ และยังทราบจากลุงเอกว่า เมื่อมีการสำรวจว่าหากจะมาเรียนที่พระปกเกล้าจะเรียนหลักสูตรใด ปรากฏว่าหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข มาเป็นอันดับ ๑ ครับ

อ.แหวว ครับ

ช่วยเขียนข้อบกพร่องให้หน่อยสิครับ ความจริงผมเขียนไว้ ๒-๓ ข้อ แต่มันอยู่ในเล่มรายงานที่ส่งให้คุณเยาวลักษณ์ไปแล้ว ในบันทึกนี้คงก้อบปี้มาไม่หมดเลยไม่มีข้อเสีย ผมวิพากย์วิจารณ์การบริหารจัดการการเรียนการสอนไว้หน่อยหนึ่ง เดี๋ยวต้องหาไฟล์ก่อน หรืออาจารย์แหวว จะช่วยทำมาหากินสักหน่อยก็ดีนะ..อิอิ

สวัสดีครับ อ.อ้อย

ขอบคุณที่เข้ามาช่วยแสดงความคิดเห็นตั้งแต่ต้น ทำให้บันทึกผมมีคุณค่าขึ้นอีกเยอะ ดีใจที่ได้เจอตัวจริงที่ดูไบอย่างไม่น่าเชื่อ..อิอิ

สวัสดีครับคุณแอ๊ด

หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรพิเศษ เป็นการไปเรียนรู้นอกห้องเรียนเยอะมาก ใครได้เข้ามาเรียนจะได้ประโยชน์อย่างมาก แต่พวกผมเป็นหน่วยกล้าตายดีไม่ดีไม่รู้เข้าไปเรียนก่อน แล้วช่วยกันพัฒนาความคิด วิธีการในการเรียนแล้วนำมาลงบันทึกก็มีผมทำเป็นคนแรก(ของหลักสูตร) ซึ่งกลายเป็นเรื่องฮือฮา และกลายเป็นว่ารุ่นต่อไปอาจจะถูกบังคับให้ทำก็ได้ อิอิ

สวัสดีครับท่านอัยการ

"การเสริมสร้างสังคมสันติสุข" หลักสูตรที่ต้องเรียนด้วยใจ เหมือน "สันติวรบถ"ที่ท่านอาจารย์หมอประเวศ เคยคุยให้ฟังครับ

  • ทุกคนคงไม่มีโอกาสเรียนหลักสูตรนี้นะครับ
  • แต่ผมคิดถึง ระบบงานขายตรง ถ้าหนึ่งคนที่ไปเรียน สามารถต่อ ยอดไปสอนคนอื่นๆต่อได้อีกสัก ๑๐ คน เอาแบบไม่ต้องเหมือน เป๊ะ แต่ปรับตามบริบท เราจะมีคนที่เข้าใจเรื่องดีๆนี้อีกมากมาย
  • วิธีที่แต่ละคนจะไปเผยแพร่ วิธีหนึ่งที่ดีมาก คือ การเขียนบันทึกแบบของพี่ นะครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท