พระวันวิวาห์ อภิญฺญาโณ (ไชยปัญหา) : ควรได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยแค่ไหน เพียงใด ?


---------------------------------------------------

การพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยของพระวันวิวาห์ อภิญญาโณ (ไชยปัญหา)

---------------------------------------------------

1. เพื่อพัฒนาสถานะของคนเกิดในประเทศควรมีหนังสือรับรองการเกิด

เนื่องจากพระวันวิวาห์ เป็นบุคคลที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับรัฐไทยโดยหลักดินแดนตั้งแต่เกิด เพราะเป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย จึงมีสิทธิในการร้องขอหนังสือรับรองการเกิดเพื่อเป็นพยานเอกสารที่แสดงว่าเกิดในประเทศไทย ตามบทบัญญัติมาตรา 20/1 แห่งพรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2551 อันเป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน โดยดำเนินการตามประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการในการขอหนังสือรับรองการเกิดตามมาตรา 20/1 แห่งพรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2551

แต่เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าพระวันวิวาห์ มีอายุกว่า 15 ปีบริบูรณ์แล้ว จึงสามารถดำเนินการยื่นคำขอหนังสือรับรองการเกิดได้ด้วยตนเอง โดยการยื่นคำขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอเมืองนครพนม อันเป็นสำนักทะเบียนที่พระวันวิวาห์ เกิดและมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน โดยต้องกรอกแบบคำร้องทั่วไปตามแบบ ท.ร.31 ข้อ 8 และกรอกแบบคำขอหนังสือรับรองการเกิดตามแบบ ท.ร.20/1 พร้อมแนบรูปถ่ายหน้าตรงขนาด2นิ้ว จำนวน3รูป พร้อมด้วยสำเนาทะเบียนประวัติลาวอพยพ และสำเนาทะเบียนบ้าน ท.ร.13 ในการนี้ พระวันวิวาห์ ควรเตรียมบัญชีรายชื่อพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งเป็นผู้รู้เห็นการเกิด เพื่อเป็นพยานในการรับรองว่า (1) เป็นผู้รู้เห็นว่าเกิดในประเทศไทยจริง และ(2) ทราบประวัติความเป็นมาของบิดามารดาของพระวันวิวาห์เป็นอย่างดี

2. กรณีมีพยานหลักฐานเชื่อได้ว่าพระวันวิวาห์เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย  และพิสูจน์ได้ว่ามารดาเกิดในประเทศไทย และไม่ได้สัญชาติไทยตาม ปว.337  พระวันวิวาห์ควรได้รับการลงรายการสัญชาติไทย ตามมาตรา 23[1] แห่งพรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.สัญชาติ (ฉบับที่4) พ.ศ.2551  โดยจะต้องยื่นคำขอลงรายการสัญชาติไทย ณ สำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามทะเบียนบ้าน  และต้องนำหลักฐานประกอบการยื่นคำขอ ดังต่อไปนี้

(1) หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.20/1) เพื่อแสดงว่าเกิดในประเทศไทย

(2) สำเนาทะเบียนประวัติลาวอพยพ และสำเนาทะเบียนบ้าน เพื่อแสดงว่ามีภูมิลำเนาอยู่ในสำนักทะเบียนที่ยื่นขอลงรายการสัญชาติ

(3)รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว จำนวน 1 รูป

(4) บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (ลาวอพยพ)

(5) เอกสารที่หน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ออกให้เพื่อรับรองความประพฤติหรือการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม (ถ้ามี)

(6) บัญชีรายชื่อพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือซึ่งสามารถให้การรับรองและยืนยันตัวบุคคลได้

     หลังจากนายทะเบียนรับคำขอลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้านพร้อมด้วยพยานหลักฐาน แล้วก็จะดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานที่นำมาแสดงและตรวจฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรเพื่อตรวจสอบว่ามีชื่อในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรหรือไม่ หรือเป็นบุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรหรือไม่ หลังจากนั้นจึงดำเนินการสอบสวนพระวันวิวาห์และพยานบุคคลเพื่อให้ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประวัติความเป็นมา สถานะการอาศัยอยู่ในประเทศไทย และความประพฤติของพระวันวิวาห์ รวมถึงผลงานการทำคุณประโยชน์ให้กับสังคม เพื่อรวบรวมหลักฐานพร้อมทำความเห็นเสนอต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเพื่อพิจารณาต่อไป  

หลังจากนั้นเมื่อนายอำเภอมีคำสั่งอนุญาตตามคำขอแล้ว นายทะเบียนก็จะดำเนินการทำสำเนาคำขอลงรายการสัญชาติไทยเพื่อเก็บรวมเรื่องไว้กับหลักฐานประกอบคำขอดังกล่าว แล้วส่งคำขอฉบับจริง (ต้นฉบับ) ไปยังสำนักทะเบียนกลางเพื่อตรวจสอบและกำหนดเลขประจำตัวประชาชนต่อไป

โดยการนี้พระวันวิวาห์จะได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ขึ้นต้นด้วยเลข 8 และเลขในหลักที่ 6 และหลักที่ 7 จะเป็นเลข 73 และสำนักทะเบียนกลางจะแจ้งผลการกำหนดเลข 13 หลัก กลับไปยังสำนักทะเบียนที่ยื่นคำขอฯ

ต่อจากนั้น เมื่อนายทะเบียนได้รับแจ้งการกำหนดเลข 13 หลักแล้ว ก็จะดำเนินการจำหน่ายรายการบุคคลและเลขประจำตัวประชาชนเดิม และเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) โดยหมายเหตุว่า “บุคคลลำดับที่ .. ได้สัญชาติไทยโดยมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 4)  พ.ศ. 2551” และลงลายมือชื่อนายทะเบียนพร้อมวันเดือนปีกำกับไว้ พร้อมกันนี้ก็จะมอบสำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้านให้แก่พระวันวิวาห์ และเนื่องจากพระวันวิวาห์เป็นบุคคลสัญชาติไทยที่มีอายุกว่า 15 ปี ย่อมมีหน้าที่ขอมีบัตรประจำตัวประชาชนตาม พรบ.บัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2542

 

3. กรณีไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันจนเชื่อได้ว่าพระวันวิวาห์เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย พระวันวิวาห์ย่อมมีสถานะเป็นคนต่างด้าว ซึ่งมีสิทธิได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลดังนี้

3.1 มีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 ดังต่อไปนี้

(1) มีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยในกลุ่มบุตรของชนกลุ่มน้อยไร้สัญชาติที่อพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นเวลานานแล้ว(เกินกว่า 10 ปี) จนมีความกลืนกับสังคมไทย(socialization)จนไม่สามารถพิสูจน์ความสัมพันธ์กับรัฐต้นทางของบรรพบุรุษรุ่นบิดามารดาได้

(2) มีสิทธิร้องขอสัญชาติไทยในกลุ่มบุตรของบุคคลที่ศึกษาในสถานศึกษาในประเทศไทย หากศึกษาจนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี

3.2 มีสิทธิร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย ตามมาตรา 10 ,12 [2] แห่ง พรบ.สัญชาติ พ.ศ.2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2551



[1]           มาตรา ๒๓  บรรดาบุคคลที่เคยมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๑ และผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรไทยแต่ไม่ได้สัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๓๓๗ ข้อ ๒ รวมถึงบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรไทยก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับและไม่ได้สัญชาติไทยตามมาตรา ๗ ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๓๕ ถ้าบุคคลผู้นั้นอาศัยอยู่จริงในราชอาณาจักรไทยติดต่อกันโดยมีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร และเป็นผู้มีความประพฤติดี หรือทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมหรือประเทศไทยให้ได้สัญชาติไทยตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีมีคำสั่งอันมีผลให้เป็นผู้มีสัญชาติไทยแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

            เมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีคุณสมบัติตามวรรคหนึ่งยื่นคำขอลงรายการสัญชาติในเอกสารการทะเบียนราษฎรต่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรแห่งท้องที่ที่ผู้นั้นมีภูมิลำเนาในปัจจุบัน

 

[2] มาตรา 10

มาตรา 12

หมายเลขบันทึก: 251006เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2009 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:09 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สำหรับงานฉบับนี้ จะอ้างอิงอย่างนี้

            กิติวรญา รัตนมณี, พระวันวิวาห์ อภิญฺญาโณ (ไชยปัญหา) : ควรได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยแค่ไหน เพียงใด ?, บันทึกภายใต้โครงการศึกษาแนวคิดและวิธีการจัดการประชากรในประเทศไทย, คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เมื่อวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ.๒๕๕๒

http://gotoknow.org/blog/kitiwaraya6/251006

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท