สอนงานผ่านบล็อก : 31. วิจัยในงาน


ทำงาน-วิจัย-ทำงาน-วิจัย... (R2R2R) หมุนวนงานประจำกับงานวิจัยควบคู่กันไปอย่างนี้เรื่อยๆ

สอนงานผ่านบล็อก : 30. เรียนรู้หลายศาสตร์

 

        เมื่อพูดถึงงานวิจัย  หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัว  และไม่คิดว่าจะมีอะไรที่จะเกี่ยวข้อง  หรือมีความจำเป็นในการทำงานในภาคสนาม   ที่เป็นเรื่องของการส่งเสริมและพัฒนาชาวบ้าน-เกษตรกร  งานวิจัยน่าจะเป็นเรื่องของนักวิชาการที่อยู่ในสถาบันวิชาการ  หรือองค์กร-ศูนย์วิจัยต่างๆ  เท่านั้น

 

        แต่หากเรามองมุมที่ต่างออกไป  ในการทำงาน หรือแม้แต่การทำมาหากินของชาวบ้าน ก็ล้วนแต่ต้องมีการศึกษา  ทดสอบ  สังเกต และหาบทสรุปของปัญหา  หรือหาแนวทางแก้ไขพัฒนาการทำงานและการทำมาหากินกันอยู่แล้ว  ซึ่งก็ล้วนแต่ต้องใช้กระบวนการหรือเครื่องมือในการศึกษา-วิจัยกันอยู่แล้วนั่นเอง  พูดง่ายๆ ก็คือ  วิจัยในอาชีพหรือในงานนั้นเราก็ได้ทำกันอยู่บ้างแล้วนั่นเอง ไม่ใช่ของใหม่แต่อย่างใด   เพียงแต่อาจจะไม่ได้ทำเป็นระบบ หรือนำมาแลกเปลี่ยนเผยแพร่ให้ทราบกันแค่นั้นเอง 

 

        ทำไมถึงต้องนำประเด็นของการวิจัยในงานมาแลกเปลี่ยน  ก็เพราะว่าจากประสบการณ์ในการทำงานที่ผ่านๆ มา  นักส่งเสริม-พัฒนามักจะถูกกำหนดให้ทำงานที่สำเร็จรูป  คือทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย  ที่ส่วนใหญ่จะเป็นกิจกรรมหรือโครงการสำเร็จรูปที่ถูกกำหนดมาจากส่วนกลาง  เมื่อทำไปนานๆ เข้า ก็เกิดความคุ้นชินและอ่อนล้าจนไม่อยากที่จะคิดอะไรเอง (บางทีระบบการทำงานก็ส่งผลให้เป็นเช่นนั้น  เคยได้ยินหลายคนบ่นเสมอๆ ว่า..คิดไปก็เท่านั้น)  

       

        วิจัยในงาน  หลายๆ องค์กรได้นำมาใช้กันมากแล้ว  บางแห่งจะเรียกว่า “วิจัยในงานประจำ”   “งานประจำสู่งานวิจัย”  “R2R”  หรือจะต่างจากนี้ แต่ก็คงจะมีหลักคิดและแนวปฏิบัติที่ไม่แตกต่างกัน    งานวิจัยเราก็รู้กันอยู่แล้วว่าเป็นการหาความรู้ความจริงอย่างเป็นระบบ   มีวิธีการที่น่าเชื่อถือ    ซึ่งเราก็สามารถนำปัญหาของงาน - ปัญหาของชาวบ้าน – เกษตรกรมาเป็นโจทย์ของงานวิจัยได้   เพื่อที่จะค้นหาความรู้ความจริงว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  แล้วจะแก้ปัญหาหรือหาทางออกเหล่านั้นได้อย่างไร

 

        ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราสำรวจหรืออ่านข้อมูลจากการรายงานตามปกติ  พบว่าผลผลิตต่อไร่ของเกษตรกรที่ปลูกพืชชนิดหนึ่งในพื้นที่มีความแตกต่างกัน   ทั้งๆ ที่ปลูกพืชในตำบลเดียวกัน  ประเด็นข้อสงสัยของเราอาจเกิดขึ้นมาในใจแล้วว่า  ทำไมผลผลิตของพืชชนิดเดียวกันของตำบลนี้จึงแตกต่างกันมาก  เพียงแค่นี้เราก็สามารถนำมาสร้างข้อคำถามหรือพัฒนาเป็นโจทย์วิจัยในงานประจำของเราได้  เมื่อสงสัยก็ต้องศึกษาเพื่อหาคำตอบ  ก็อาจจะต้องลงไปศึกษา เก็บข้อมูลเพิ่มเติมว่าเป็นเพราะเหตุใด  เมื่อได้คำตอบไม่ว่าจะด้วยเพราะว่าสภาพของดิน  พันธุ์  การดูแลรักษา  ฯลฯ  ก็นำไปสู่การกำหนดแนวทางพัฒนาเพื่อเพิ่มผลผลิตของพืชชนิดนั้นๆ ในบางแห่ง-บางเขตที่ต่ำกว่าคนอื่นในตำบลของเราได้  

 

        ที่กล่าวมานั้น  เป็นการยกตัวอย่างง่ายๆ  และคิดว่าไม่ใช่เรื่องยากและเรื่องที่ทำไม่ได้  ในพื้นที่และชุมชนนั้นมีประเด็นที่ท้าทายและน่าสนใจอยู่มากมาย  หรือแม้แต่เมื่อเราทำงานตามโครงการแล้วทำสำเร็จ หรือไม่สำเร็จ   เพียงประเด็นนี้เราก็สามารถศึกษาต่อได้ว่าทำไมถึงไม่สำเร็จ  หรือว่าทำไมถึงสำเร็จ ก็จะเกิดความรู้ความจริงในงาน  ที่สามารถนำไปใช้-ปรับ/ประยุกต์ใช้ในงานลักษณะเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ต่อไปได้  นี่ก็สามารถวิจัยในงานได้เช่นกัน

 

ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น  หากเราเปลี่ยนแนวคิดใหม่  คิดงานส่งเสริม-พัฒนาในพื้นที  โดยการนำเครื่องมือการวิจัยมาใช้  ทำงาน-วิจัย-ทำงาน-วิจัย... (R2R2R)  หมุนวนงานประจำกับงานวิจัยควบคู่กันไปอย่างนี้เรื่อยๆ   เราก็จะทำงานอย่างมีความสุข   มีงาน  มีผลของงานที่เป็นรูปธรรม   งานที่มีอยู่ในรูปแบบเดิมก็จะไม่น่าเบื่อ   โครงการ-กิจกรรมสำเร็จรูปต่างๆ ก็สามารถนำลงสู่เป้าหมายได้อย่างตรงจุด   เพราะเราได้ศึกษาพื้นที่และข้อมูล  รู้เหตุผล และความจำเป็นเร่งด่วนและแนวทางพัฒนาในบางประเด็นของปัญหาไว้บ้างแล้วนั่นเอง

 

บันทึกมาเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

วีรยุทธ  สมป่าสัก  26  มีนาคม  2552

หมายเลขบันทึก: 250933เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2009 06:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

R2R ไม่ยากอย่างที่คิดค่ะ ถ้าอยากทำ และทำจริง มาให้กำลัใจค่ะ

-สวัสดีครับอ้ายสิงห์

-วันนี้ทำไมไม่มาเยี่ยมกลุ่มยุวเกษตรกร ละครับ

-สบายดีน่อ

  • สวัสดีครับ น้องเพชรน้ำหนึ่ง
  • ขออภัยเน้อที่ไม่ได้ไปเยี่ยมเน้องๆยุวฯ
  • วันนี้ไปเก็บข้อมูลวิจัยแนวทางพัฒนากล้วยไข่ของจังหวัด
  • ที่อำเภอไทรงามครับ
  • ขอบคุณครับ
  • ใครหลายคนมักคิดว่างานโครงการที่ทำในพื้นที่ก็มากพอ
  • ใครหลายคนมักมองว่าตัวเองเป็นนักปฏิบัติไม่ใช่นักเขียน
  • ใครหลายคนไม่คุ้นชินกับการใช้อุปกรณ์อำนวยความสะดวก อันนำไปสู่การเขียนวิจัย
  • หน้าที่ของคนที่อยู่กรม ฯ เขตฯ และ จังหวัด หรืออำเภอ ต้องผลักดัน โดยอุดช่องโหว่หรือจุดอ่อนของใครหลายๆ คนเหล่านั้น
  • เคยพูดว่า "ไม่มีเวลา" พี่ไมตรี (ยะลา) ว่าให้ว่า เวลามันหายไปไหนวะ ก็เห็นวันนึงมี 24ชม.อยู่เหมือนเดิม ...ว่าจะแก้ตัวสักหน่อย ก็มีคนรู้ทัน อิอิ
  • สวัสดีครับน้อง evergreen
  • อิอิวิจัยและพัฒนา หากจำไม่ผิดเป็นวิสัยทัศน์ข้อแรกของกรมเราเลยเชียวนะครับ
  • ชอบวาทะพี่ไมตรีจัง "เวลาหายไปไหนวะ"  อิอิ
  • ตอนนี้เรากำลังทำวิจัยเพื่อกำหนดแนวทาพัฒนาการปลูกกล้วยไข่
  • ได้ใช้ความรู้ความสามารถของทีมร่วมกันออกแบบและดำเนินการ
  • โอกาสต่อไปจะนำมาแลกเปลี่ยนครับ
  • ขอบคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท