ด.ช.วิษณุ บุญชา (๑): กรณีตัวอย่างบุคคลที่มีสิทธิเข้าสู่ทะเบียนราษฎรไทย ในสถานะคนต่างด้าว แต่เข้าไม่ถึงสิทธิในความเป็นจริง


ด.ช.วิษณุ ถือเป็นตัวแทนของคนต่างด้าวซึ่งเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย และควรได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยนานแล้ว อย่างน้อยก็โดยผลของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติ ครม.เมื่อวันที 18 มกราคม แต่เพราะปัจจัยหลายประการ ทำให้ ด.ช.วิษณุยังคงไร้รัฐไร้สัญชาติมาจนถึงทุกวันนี้

 

 

 

----------

บทนำ

----------

กรณีศึกษานี้เป็นกรณีที่นายอำพลผู้เป็นน้าชาย เขียนหนังสือร้องขอความช่วยเหลือมาที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อต้นปี พ.ศ.2549  และหลังจากนั้นนางสันทีผู้เป็นยายก็ได้นำลูกๆทั้ง 5 คนและ ด.ช.วิษณุ หลานชายตัวน้อย เดินทางมาขอความช่วยเหลือด้วยตนเองที่ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้เข้ามาเป็นนักเรียนในโครงการห้องเรียนกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐไร้สัญชาติ[1] ภายใต้การดูแลของรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์  กาญจนะจิตรา สายสุนทร 

กรณีของ ด.ช.วิษณุ ได้รับเลือกเป็นกรณีศึกษาต้นแบบสำหรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล ในกลุ่มเด็กในสถานศึกษาในประเทศไทย ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548[2] โดยเป็นตัวแทนของคนต่างด้าวซึ่งเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่เกิดในประเทศไทย และควรได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยนานแล้ว อย่างน้อยก็โดยผลของยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติ ครม.เมื่อวันที 18 มกราคม แต่เพราะปัจจัยหลายประการ ทำให้ ด.ช.วิษณุยังคงไร้รัฐไร้สัญชาติมาจนถึงทุกวันนี้

-----------------------------------------------------

ข้อเท็จจริงของ ด.ช.วิษณุ และครอบครัว

-----------------------------------------------------

จากการสอบถามนางปัญจรา(หรือ บุญมี) มารดาของ ด.ช.วิษณุ ทำให้ทราบว่า ด.ช.วิษณุ เกิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม พ.ศ.2537 ที่ รพ.บ้านโป่ง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี

โดยในขณะที่ตั้งครรภ์นั้น นางปัญจราและนายเล็กบิดาของ ด.ช.วิษณุ ประกอบอาชีพเป็นลูกจ้างในโรงงานผลิตพลาสติกยิ่งเจริญ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ต.ท่าผา  อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี 

สถานะบุคคลของมารดาในขณะที่ ด.ช.วิษณุเกิดนั้นมีสถานะเป็นคนเชื้อสายมอญ เพราะนางสันทีผู้เป็นยายเป็นคนเชื้อสายมอญที่อพยพมาจาก เมืองทวายในประเทศพม่า[3]ตั้งแต่ ปี 2506 ในตอนนั้น นางสันทีเองก็ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรของพม่า และเมื่อมาตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ได้รับการบันทึกในทะเบียนราษฎรไทย จึงทำให้นางสันทีและครอบครัวตกเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติ ซึ่งส่งผลมาถึงนางปัญจราทำให้ไม่มีเอกสารแสดงตนใดๆเลย นอกจากนี้ยังไม่มีนามสกุลเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นปกติของคนเชื้อสายมอญทั่วไป ทำให้ต้องขอยืมนามสกุลจากเพื่อนของนางสันที มาใช้ในการติดต่อฝากครรภ์กับทางโรงพยาบาล นี่ไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งเดียวที่นางปัญจราขอใช้นามสกุลของเพื่อนบ้าน เพราะในหลายปีต่อมาเมื่อ ด.ช.วิษณุ มีอายุครบเกณฑ์เข้าเรียน ป. 1 ด้วยความกังวลว่าบุตรชายจะมีปมด้อย เพราะ ไม่มีนามสกุล ทำให้นางปัญจราขอยืมนามสกลุเพื่อนบ้านเพื่อให้ ด.ช.วิษณุ สมัครเข้าเรียนอันเป็นที่มาของชื่อ “ด.ช.วิษณุ ศรีสายหยุด” ที่ปรากฎในเอกสารการสมัครเข้าเรียนชั้นประถมที่ รร.วัดคู่สร้าง และ ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่ รร.ป้อมนาคราชสวาทยานนท์ ในเวลาต่อมา  

 

--------------------------------------------

ประเด็นการรับการสำรวจโดยรัฐไทย

--------------------------------------------

เมื่อย้อนกลับไปสอบถามนางปัญจรา ถึงสาเหตุที่ทำให้ ด.ช.วิษณุ ต้องตกเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้ทราบว่าหลังคลอดทางโรงพยาบาลได้ออกเอกสารเป็นหลักฐานเพื่อรับรองว่า ด.ช.วิษณุ เกิดที่โรงพยาบาลจริง และพยาบาลก็ได้กำชับว่าในอีก 15 วันข้างหน้า ให้นางปัญจรานำเอกสารนี้พร้อมด้วยสำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนมาขอรับสูติบัตรกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล นางปัญจรารู้ดีว่าตนเองไม่มีเอกสารเหล่านั้นเลย แต่ด้วยความหวังว่าอย่างน้อยบุตรชายน่าจะมีเอกสารแสดงตนสักชิ้นเพื่อโตขึ้นจะได้เล่าเรียนสูงๆ และไม่ลำบากเหมือนตนเองและสามี ด้วยเหตุนี้นางปัญจราจึงได้นำเรื่องดังกล่าวไปหารือกับเพื่อนบ้านในละแวกเดียวกัน และวานให้เพื่อนบ้านช่วยไปรับสูติบัตรแทนตนเอง แต่ก็ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเพื่อนบ้านเกรงว่าจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ด้วยเหตุนี้เอง ด.ช.วิษณุ จึงไม่มีสูติบัตร ส่วนเอกสารรับรองการเกิดที่ได้รับมาจากทางโรงพยาบาลก็สูญหายไปพร้อมกับสมุดฝากครรภ์(สมุดแม่และเด็ก) หลังจากกลับมาพักฟื้นที่บ้านได้ไม่นาน

แม้นางปัญจราจะรู้ดีว่าเอกสารนี้มีความสำคัญกับ ด.ช.วิษณุ แต่ก็ไม่ได้แจ้งความ เพราะ เกรงจะถูกตำรวจจับเนื่องจากตนเองไม่มีเอกสารอะไรเลย และไม่ได้ไปติดต่อเพื่อแจ้งการเกิดให้กับ ด.ช.วิษณุ ที่อำเภอ เพราะ คิดว่าตนเองและสามีไม่มีเอกสารอะไรเลย ถึงไปติดต่อของความช่วยเหลือกับทางอำเภอก็คงไม่มีใครฟัง ไม่มีใครช่วยเหลือ จึงได้แต่ทำใจและก้มหน้ายอมรับสภาพ

เราจะเห็นได้ว่าในขณะเกิดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2537 นั้น ด.ช.วิษณุ เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย ย่อมจะต้องได้รับหนังสือรับรองการเกิดตาม ม.23 แห่ง พรบ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.2534 แต่ไม่ได้มีเอกสารแสดงตนดังกล่าวจึงทำให้ประสบปัญหาความไร้รัฐ เพราะไม่มีรัฐใดยอมรับบันทึกในทะเบียนราษฎร ประกอบกับบิดามารดาของ ด.ช.วิษณุ ประสบกับความไร้รัฐไร้สัญชาติมีสถานะเป็นบุคคลซึ่งไม่ได้รับการรับรองความเป็นบุคคลตามกฎหมายไทย และตกหล่นจากทะเบียนราษฎร

อย่างไรก็ดี แม้ว่ารัฐไทยจะมีพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ต้องรับรองความเป็นบุคคลให้แก่ บุคคลทุกคนในประเทศไทยตามข้อ 6 แห่งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ. 1948 ประกอบกับข้อ 16 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง และสิทธิทางการเมือง ค.ศ.1966 แต่เนื่องจาก ด.ช.วิษณุ ไม่ได้รับเอกสารรับรองการเกิดที่แสดงว่าเกิดในประเทศไทยจากผู้ซึ่งทำคลอด อันเป็นเหตุให้ด.ช.วิษณุ ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร และประสบปัญหาความไร้รัฐ  ดังนั้น ด.ช.วิษณุ จึงประสบความไร้รัฐ และไร้เอกสารรับรองการเกิดตั้งแต่เกิด

นอกจาก ปัญหาสถานะบุคคลแล้ว ด.ช.วิษณุ ยังประสบปัญหาด้านสุขภาพ ตั้งแต่เกิด นางปัญจราเล่าว่า ด.ช.วิษณุ ที่ป่วยกระเสาะกระแสมาโดยตลอด และนับวันจะป่วยมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในระยะหลังป่วยเป็นปอดบวม ทำให้ต้องเข้า-ออก โรงพยาบาลอยู่เนืองๆ นางปัญจราเห็นว่าหากตนเองและสามียังทำงานและพักอยู่ในโรงงานผลิตพลาสติกต่อไปอาจทำให้บุตรชายมีอาการป่วยรุนแรงขึ้น จึงได้อพยพครอบครัวมาอาศัยอยู่กับนางสันทีผู้เป็นแม่ ที่ปากคลองบางปลากด อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ อันเป็นที่อยู่ในปัจจุบันนี้ และเปลี่ยนมาประกอบอาชีพค้าขายผักเล็กๆน้อยๆ ส่วนสามีก็สมัครเป็นคนงานในโรงงานไทยเซ็นทรัลเคมีคัล จำกัด

ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 เมื่อ ด.ช.วิษณุ มีอายุได้ 8 ปี นางปัญจราก็ได้พาบุตรชายไปสมัครเข้าเรียนชั้น ป.1 ที่ รร.วัดคู่สร้าง ซึ่งอยู่ไม่ไกลบ้านเท่าไรนัก  ในครั้งนี้ ด.ช.วิษณุ เริ่มรู้เดียงสาและรู้ว่าตนเองไม่มีสูติบัตร และไม่มีทะเบียนบ้านอย่างเพื่อนคนอื่น เพราะในช่วงเปิดเทอมคุณครูประจำชั้นมักจะเรียกถามถึงทะเบียนบ้านอยู่บ่อยๆ  ซึ่งช่วงแรกด.ช.วิษณุ ก็บอกว่าลืมไว้ที่บ้านต่างจังหวัด แต่พอระยะหลังคุณครูถามบ่อยขึ้นๆ ทำให้ด.ช.วิษณุ เริ่มรู้สึกอายคุณครูและเพื่อนๆ ถึงขนาดเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าหนีออกจากบ้าน แต่โชคดีที่นางปัญจราตามไปพบและได้อธิบายความจริงให้ฟังถึงสาเหตุที่ครอบครัวไม่มีเอกสารเหมือนคนอื่น และรับปากว่าจะไปอธิบายให้คุณครูที่โรงเรียนเข้าใจ ภายหลังจากที่นางปัญจราได้อธิบายให้คุณครูทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดแล้ว คุณครูก็เข้าใจสถานะบุคคลของครอบครัว ด.ช.วิษณุ ดีขึ้น และไม่ได้เรียกร้องขอทะเบียนบ้านและสูติบัตรจาก ด.ช.วิษณุ อีกเลย

ในปี พ.ศ. 2551 ขณะที่ ด.ช.วิษณุ เรียนชั้น ป.6 เป็นเทอมสุดท้ายด้วยเหตุที่ ด.ช.วิษณุ เป็นเด็กเรียนดี และมีความประพฤติดี คุณครูจึงได้แนะนำให้ไปสมัครเรียนต่อ ม.1 ที่ รร.ป้อมนาคราชสวาทยานนท์ ซึ่งต่อมา ด.ช.วิษณุ ก็สามารถผ่านการสอบข้อเขียนและได้เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในโรงเรียนดังกล่าวมาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อวันที 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552  ด.ช.วิษณุ ได้รับการสำรวจบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มเด็กในสถานศึกษา ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548 ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. 2548  โดยความร่วมมือระหว่างรร.ป้อมนาคราชฯ และสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ภายใต้การประสานงานระหว่างอาจารย์สถาพร แก้วสัมฤทธิ์ แห่ง รร.ป้อมนาคราชฯ และคุณกิตติ์ธเนศ สายพร้อมญาติ ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น แห่งสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลตำบลพระสมุทรเจดีย์  แต่กระบวนการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนประวัติ และบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนของ ด.ช.วิษณุ ยังไม่เสร็จสิ้น โดยยังอยู่ระหว่างรอการกำหนดเลข 13 หลัก 

และล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมา ด.ช.วิษณุ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้เป็นตัวแทนเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติในการเข้าพบนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ[4]เพื่อหารือเกี่ยวกับแนวทางในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติในสังคมไทย ในงานคาราวานสิทธิมนุษยชนซึ่งจัดขึ้นในโอกาสครบรอบ 60 ปีการมีผลบังคับใช้ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน  ณ โรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและ UNDP

ทั้งนี้ จะเห็นว่าตั้งแต่เกิดจนถึง ปัจจุบัน ด.ช.วิษณุ ยังคงมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย ซึ่งไม่มีเอกสารรับรองตัวบุคคลจากรัฐไทยหรือรัฐใดเลย และหากการสำรวจเสร็จสิ้น อย่างน้อย ด.ช.วิษณุ ก็จะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามแบบ ท.ร.38ก และได้รับเอกสารรับรองตัวบุคคลชิ้นแรก คือ แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ ท.ร.38ข และได้รับการกำหนดเลขประจำตัวประชาชนเป็นบุคคลรหัส 0 เลขหลักที่ 6 และหลักที่ 7 เป็นเลข 89 ตามชื่อแบบสำรวจ  และเนื่องจาก ด.ช.วิษณุ เป็นบุคคลที่มีอายุกว่า 5 ปี จึงต้องทำบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ตามกฎกระทรวงกำหนดให้คนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยปฏิบัติเกี่ยวกับการทะเบียนราษฎร และกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม พ.ศ.2551 และระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ.2551



[1]      รับผิดชอบโดย นางสาวบงกช  นภาอัมพร นักวิจัยอาสาสมัครในกองทุนศาสตราจารย์ คนึง  ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โครงการวิจัยฯภายใต้ความร่วมมือของศูนย์นิติศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาการคุ้มครองเด็ก (FACE)  โดยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย

[2]         ดูรายละเอียดของยุทธศาสตร์ฯ ได้ที่

[3] พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร. สันที ลูกๆ และหลาน : จากมอญไร้รัฐแห่งทะวาย มาสู่คนไร้รัฐแห่งสมุทรปราการ. 24 พฤษภาคม 2549.< http://gotoknow.org/blog/stateless-and-nationalityless-management-by-law/30523 > เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2551 , บงกช นภาอัมพร ครอบครัวนายอำพล : ไร้เอกสารและไร้ตัวตนในสังคมไทย!!24 พฤษภาคม 2549 < http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/30529  > เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2551, พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร. มาช่วยกันล้างบาปบริสุทธิ์ให้น้องแพรและน้องวิษณุในรายการโทรทัศน์ "คนหรือฅน : เพื่อสิทธิมนุษยชน" ใน ASTV ช่อง 3 ในเวลา 20.30 22.00 น. 16 มิถุนายน 2549 <http://gotoknow.org/blog/stateless-and-nationalityless-management-by-law/34292> เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2551,วิษณุ.งานวันแม่ไร้สัญชาติ : จากใจลูกและหลาน (วิษณุ) เพื่อแม่และยายไร้สัญชาติ (แม่บุญมีและยายสันที).9 สิงหาคม  2549.< http://gotoknow.org/blog/bongkot-classroom/43890>เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2551,ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง. เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข 13 หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าเมืองปี 2506 ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ (ตอนที่ 1). (ออนไลน์) (7 มิถุนายน 2550) < http://gotoknow.org/blog/chon-statelessperson/101597 > เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2551,ชลฤทัย แก้วรุ่งเรือง. เมื่อมนุษย์ที่ไม่มีเลข 13 หลัก ป่วยหนัก : กรณีของเด็กชายวิษณุ หลานยายเชื้อสายมอญที่เข้าไทยปี 2506 ป่วยเป็นไส้ติ่งอักเสบ (ตอนจบ) (ออนไลน์) (8 มิถุนายน 2550) <http://gotoknow.org/blog/chon-statelessperson/101887> เข้าถึงเมื่อ 19 ตุลาคม 2551

 

หมายเลขบันทึก: 250811เขียนเมื่อ 25 มีนาคม 2009 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วันที่สอบปากคำวิษณุและครอบครัว ก็คือ วันที่ ๒๓ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๔๙

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาที่น้องวิษณุได้มีโอกาสพบกับท่านนายกอภิสิทธิ์..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท