มีเท่าไหร่ จึงจะพออย่างยั่งยืน หลังเกษียณ


ตัวเลขจะต่างกันออกไปได้มากนับร้อยเท่าสำหรับแต่ละคน

เจอรุ่นน้องคนหนึ่ง เขาถามว่า ต้องมีเท่าไหร่ จึงจะพออย่างยั่งยืน สำหรับการเกษียณ

ผมคิดอยู่นาน ว่าจะบอกว่าอะไรดี

ในการคำนวณของผม คำตอบสำหรับแต่ละคน จะไม่เหมือนกันเลย

อยากบอกว่า "ตัวเลขจะต่างกันออกไปได้มากนับร้อยเท่าสำหรับแต่ละคน" แต่เกรงว่า ตอบแล้ว จะเป็นการพูดกวนบาทา

แต่เป็นการตอบที่จริงใจที่สุดในชีวิต

เบื้องหลังวิธีคิดของผมคือ สมการ ซึ่งเคยพูดถึงแล้วในหัวข้อก่อน ๆ 

สมการนี้ชี้ว่า คำว่า พอ ขึ้นกับการใช้จ่ายแต่ละปี และขึ้นกับฝีมือการลงทุน

แค่สองเรื่องนี้ แต่ละคน แต่ละบ้าน ก็ไม่มีทางเหมือนกันแล้ว เป็นเรื่องเฉพาะตัวมาก ๆ

ผมใช้สูตรว่า

พอ = ค่าใช้จ่ายแต่ละปี หาร [(ผลตอบแทนการลงทุนเป็นร้อยละต่อปี - ร้อยละของเงินเฟ้อ)/100]

ผลตอบแทนการลงทุนได้มาเท่าไหร่ โดนเงินเฟ้อจัดการไปเรียบร้อย คร่าว ๆ คือ 5 % ต่อปี (ตัวเลขนี้ ย้อนไปดูในบทความเก่า ๆ ที่ผมเคยเขียนไว้)

เมื่อใช้ค่าเงินเฟ้อ 5% อ้างอิง แล้วชี้ให้เห็นว่า เมื่อแทนค่าในสูตร จะได้ว่า

ถ้่าผลตอบแทนการลงทุนเป็นร้อยละต่อปีต่ำกว่า 5 % มีเท่าไหร่ ก็อาจไม่พอ เว้นแต่ตายเร็วก่อนเงินหมด

แต่จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าอายุยืนกว่า 80 หรือ 90 ?

  • ถ้าผลตอบแทนการลงทุนเป็นร้อยละต่อปีอยู่ที่ 7.5 % จะทำให้ พอ = ค่าใช้จ่ายแต่ละปี คูณ 40
  • ถ้าผลตอบแทนการลงทุนเป็นร้อยละต่อปีอยู่ที่ 10 % จะทำให้ พอ = ค่าใช้จ่ายแต่ละปี คูณ 20
  • ถ้าผลตอบแทนการลงทุนเป็นร้อยละต่อปีอยู่ที่ 15 % จะทำให้ พอ = ค่าใช้จ่ายแต่ละปี คูณ 10

ที่ 5% ไม่พอ เพราะโดนเงินเฟ้อช่วยใช้ไปแล้ว 5% การใช้จ่ายจริง จึงเป็นการ "กินทุน" ไปเรื่อย ๆ หมดวันไหน ก็จบ

ตัวเลข 7.5 %, 10 % หรือ 15 % ดูว่าสูง แต่ไม่ถึงขั้นว่าจะเป็นไปไม่ได้ หากลงทุนอย่างเหมาะสมกับตัว

ในกรณีของการลงทุนในหุ้น วอร์เรน บัฟเฟต มีแนวคิดว่า เมื่อมองในระยะยาวมากนับสิบ ๆ ปี ผลประกอบการของบริษัท ไม่ว่าจะจ่ายให้ผู้ถือหุ้นหรือไม่ ก็ควรจะทำให้มูลค่าส่วนที่ผู้ถือหุ้นถือ โตในอัตราร้อยละที่เท่ากัน ไม่ว่าราคาหุ้นจะขึ้นหรือลงก็ตาม

ตัวเลขที่เขาใช้ประมาณการเติบโตจากการลงทุนคือ 100% หาร PE ratio ของงบดุลของบริษัทนั้น

หากลงทุนใน Index Fund (ซึ่ง LTF และ RMF บางกอง ก็เข้าข่ายนี้) ตัวเลขการเติบโตระยะยาว ก็จะเท่ากับ 100% หาร PE ratio ของหุ้นทั้งตลาด

PE ratio ของหุ้นทั้งตลาดปัจจุบัน อยู่ประมาณ 11 การซื้อ LTF หรือ RMF ระยะยาวที่เป็น index fund ควรได้ผลตอบแทนระยะยาวอยู่ที่ 100% หาร PE ratio ของตลาด ได้ตัวเลขเป็น 9 %

ถ้าผมลงทุนใน Index Fund ทำนองนี้แบบหมดหน้าตัก หมายความว่า ไม่ว่าราคาหุ้นจะผันผวนรุนแรงเพียงใด ผมก็ควรจะคาดหมายการเติบโต หรือผลตอบแทนการลงทุนระยะยาวที่ 9 % ได้

ในกรณีนี้ พอ = ค่าใช้จ่ายแต่ละปี คูณ 25 (=100/[9-5])

แต่ตัวเลข PE ตลาดประเทศไทย ทั่วไปแล้ว มักจะต่ำกว่า 11 จึงหมายความว่า ตัวคูณ อาจลดกว่านี้ได้อีก

ดร.นิเวศน์ เคยให้ความเห็นว่า ลงทุนแบบ value investor ผลตอบแทนการลงทุน 15 % อยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น จะทำให้ พอ = ค่าใช้จ่ายแต่ละปี คูณ 10

จะเห็นได้ว่า ตัวคูณ ขึ้นกับ "ฝีมือ" การลงทุนระยะยาวเป็นอย่างมาก

ไม่มีที่ว่างของการลงทุนระยะสั้นในสูตรนี้ เพราะการลงทุนระยะสั้น  ถ้ากำไร เป็นรายได้จร ถ้าขาดทุน เป็นรายจ่ายจริง

นักลงทุนแนว value investor ทั่วไป จึงอยู่ในข่ายเป็นไปได้ที่ตัวคูณดังกล่าว อยู่ระหว่าง 10 - 25

ส่วนค่าใช้จ่ายแต่ละปีของแต่ละคน ก็ไม่เหมือนกัน

คนที่สามารถพึ่งตนเองได้เรื่องที่อยู่อาศัย และเรื่องอาหาร ก็สามารถตัดทิ้งค่าใช้จ่ายรายปีได้ไม่น้อย

คนที่อยู่ในถิ่นที่ค่าครองชีพต่ำกว่าเดิม 3 เท่า ก็สามารถมีน้อยลงแบบหาร 3 ก็ได้คุณภาพชีวิตระดับเดิม (เช่น เช่าบ้านในเมืองใหญ่ ซื้อทุกย่างก้าว กับบ้านในเมืองเล็กที่ขยับขยายทำผักสวนครัวทานเองได้ แค่ผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจเทียบเท่ากับทุ่นไปไม่ต้องเก็บเงินหลักแสนบาทแล้ว

เช่น ทุ่นค่าวัตถุดิบทำอาหารและค่าเดินทางไปหาซื้อ (ผัก พริก มะนาว ฯลฯ) ถ้าทุ่นได้เพียงวันละ 20 บาท เทียบรายจ่ายปีละ 7000 บาท ซึ่งเทียบเท่ากับต้องลงทุนไป 1 แสนบาทในการลงทุนที่ผลตอบแทน 7% ซึ่งหมายความว่า ไม่ต้องใช้เงินหนึ่งแสนบาทนี้ แต่ได้คุณภาพชีวิตที่ดีเทียบเท่ากัน

นี่คือที่มาของตัวเลขที่ต่างกันออกไปได้มากนับร้อยเท่าสำหรับแต่ละคน

หมายเลขบันทึก: 250098เขียนเมื่อ 22 มีนาคม 2009 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2013 15:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

แค่ผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็อาจเทียบเท่ากับทุ่นไปไม่ต้องเก็บเงินหลักแสนบาทแล้ว

เห็นด้วยมากๆค่ะ
พี่เองเป็นคนรู้จักใช้เงินมาตั้งแต่เด็กๆ เลยไม่ค่อยมีปัญหา การขาดแคลนสักเท่าใด ส่วนตัว ไม่ค่อยเคร่งว่า จะต้องมีเงินออมเท่าใด ในยามเกษียณ  แต่ก็ประมาณการจากการใช้จ่ายในปัจจุบันก่อนเกษียณ ค่ะ ว่าหากเราเกษียณแล้ว เราน่าจะใช้เงินประมาณเท่าไร ก็ได้คำตอบว่า เป็น 50-70% ของเงินที่ใช้ก่อนเกษียณก็แล้วกัน 
และก็ควรอยู่ต่ออีกสัก 20-25 ปี
(คือประมาณว่าจะมีอายุขัยถึง 80-85 ปี)  จึงได้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องออมเงินเท่าไรจึงจะพอใช้หลังเกษียณ ซึ่งจะเผื่อ อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 3% ต่อปีด้วย  ซึ่งถึงตอนนี้ ก็น่าจะมีพอแล้ว  ถ้าไม่ฟุ่มเฟือย เพราะวางแผนมานาน 20 กว่าปีก่อนเกษียณแล้ว
ส่วนตัว คิดว่า ทุกคนควรจะวางแผนไว้ให้นานๆ เป็น 20 ปีเลยค่ะ ไม่งั้น จะมาเร่งเอาตอนหลังๆ อาจจะเหนื่อยเหมือนกัน

เป็นอีก idea หนึ่งค่ะสำหรับคนทำงานประจำ ส่วนตัวเชื่อว่าเก็บแล้วแค่พอกินหรืออาจจะเกือบๆ ไม่พอ เลยปันเงินตัวเองเป็นสี่ส่วนในการใช้จ่าย คาดการณ์ไว้ว่าภายในไม่เกินสิบปี ก็จะมีพอที่จะใช้ในวัยเกษียณอย่างไม่เดือดร้อน ส่วนที่เหลือถือว่าเป็นโบนัสให้กับตัวเองและคนในครอบครัวที่จะได้ทำอะไรได้สะดวกใจหน่อย ส่วนต่างๆ ที่แบ่งไว้ก็ดังนี้ค่ะ

- ส่วนตัว ครอบครัว+การศึกษาหลาน

- เงินออมฝากธนาคาร

- เงินลงทุนหุ้นหรือกองทุน

- เงินหมุนเอาไปต่อเงิน

มาอ่านเอาความรู้ก่อนค่ะ จะค่อย ๆ ไปวางแผน ว่าตัวเอง ควรออมอย่างไรบ้าง

ที่ผ่านมาไม่ค่อยวางแผน

คิดเพียงว่า ใช้แต่จำเป็น ใช้ที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อลูก อสังหาริมทรัพย์ไม่(ค่อย)ลดค่าจึงซื้อเก็บไว้บ้าง ซื้อให้พ่อแม่อาศัย ซื้อให้ครอบครัวตัวเอง...

ฮา! เข้าข่าย บุคคลจอมตืด จนลูกชายยังแซวว่า เป็นคนหนึ่งที่ทำให้เกิดสภาพ"ฝืด"

 

(อิ อิ ไทยนิยม แต่หา ฌ ตั้งนาน)

สวัสดีครับ พี่  Sasinand

  • ถ้าคนแต่ละคน เก็บออมเป็นกี่เปอร์เซนต์ของรายได้ก็แล้วแต่ และถ้าเขาสามารถบริหารเงินลงทุนให้ดอกผล(ร้อยละ)ได้เท่ากับอัตราเร็วการขึ้นของรายได้ต่อเดือน(คิดเป็นร้อยละเหมือนกัน) ผมเคยพิสูจน์ได้ว่า เขาจะมีสินทรัพย์รวมเมื่อเกษียณ เท่ากับ ระยะเวลาที่เขาเริ่มเก็บเงินแบบนั้นได้ คูณด้วย เงินออมเดือนสุดท้ายก่อนเกษียณ
  • ดังนั้น ใครทำแบบนี้ได้ตอนอายุ 45 ไปถึง 60 ปี จะเก็บได้เพียงครึ่งเดียวของคนที่สามารถทำได้ตั้งแต่ 30 ปี แม้ว่า ช่วงต้นของชีวิต เขาจะมีรายได้ที่ดูน้อยมากก็ตาม แต่การที่มีเวลาให้เงินออมช่วงต้นของชีวิตงอกได้ยาวนานหลายสิบปี ส่วนนี้ก็สามารถโตขึ้นได้หลายเท่า และมากพอฟัดพอเหวี่ยงกับเงินเก็บเดือนสุดท้ายเหมือนกัน
  • แต่หากเก็บไว้เฉย ๆ เพราะกลัว ออมช่วงต้นของชีวิต จะเสื่อมค่าหายไปหมดเพราะเงินเฟ้อ คือเมื่อผ่านไป 20 ปี สิ่งที่เก็บได้ตั้งแต่ 20 ปีก่อน จะเหลือเพียงหารสาม
  • เวลา เป็นมิตรกับการลงทุนที่ดี เป็นศัตรูของการลงทุนที่เลว
  • เป็นจริงกับการคบหามิตรด้วยครับ

 

คุณ. Little Jazz

  • วางแผนการเงิน เป็นเรื่องของการปรับสมดุลให้ชีวิต
  • แต่ละคนจะมีสไตล์ มีทักษะ มีเงื่อนไข ที่ต่างกัน
    แต่ภาพใหญ่ คนที่มีทักษะทางการเงินที่ผมรู้จัก ก็ทำแนวนี้
     

คุณหมอเล็ก...

  • ถ้าลงทุนเป็น เวลา สำคัญกว่า เงิน นะครับ
  • วางแผนการเงิน ไม่ใช่การทำ ทารุณากรรม แก่ชีวิตตัวเองและคนรอบข้าง แต่เป็นการสร้างสมดุลให้ตัวเองและคนรอบข้างมีความสุขอย่างยั่งยืน
  • ทำก่อน มีเปรียบ ครับ
     
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท