อาซูรอ :กิจกรรมสำคัญที่สถานศึกษาจัดกับชุมชน


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

              ได้มีโอกาสไปร่วมกิจกรรมอาซูรอ และงานเมาลิดสัมพันธ์ที่โรงเรียนจัดขึ้นหลายแห่ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างโรงเรียนกับชุมชนได้เป็นอย่างดี บางคนถึงกับกล่าวว่า"เป็นการสร้างรั้วชุมชน ที่ดีกว่ารั้วกำแพงเสียอีก" และมักจะมีคนถามว่า "อาซูรอ"คืออะไร ได้มีผู้รู้เล่าให้ฟังพอสังเขป ดังนี้

              การกวนขนมอาซูรอ เป็นประเพณีพื้นบ้านของชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลาม คำว่า "อาซูรอ" เป็นภาษาอาหรับ หมายถึงวันที่ 10 ของเดือนมูฮรอม อันเป็นเดือนแรกของปฏิทินอาหรับ ชาวบ้าน นิยมกวนขนมอาซูรอกันในเดือนนี้ จึงเรียกกันว่า ขนมอาซูรอ
       ขนมอาซูรอ เริ่มด้วยการที่เจ้าภาพประกาศเชิญชวนนัดหมายให้ผู้คนรู้กันทั่วว่าจะกวนขนมอาซูรอ ที่ไหน เมื่อใด พอถึงวันกำหนดนัด ชาวบ้านก็จะช่วยกันนำอาหารดิบ อันเป็นเครื่องปรุงชนิดต่าง ๆ มารวมกัน ผู้คนจะมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถของเจ้าภาพผู้เชิญชวน เมื่อได้ของมามาก พอแล้วก็จะช่วยกันกวน เครื่องปรุงที่สำคัญประกอบด้วย
1. เครื่องแกง มี ข่า ตะไคร้ หอม กระเทียม ผังชี ยี่หร่า
2. ข้าวสาร
3. เกลือ น้ำตาล กะทิ
4. อื่น ๆ เช่น มัน กล้วย (หรือผลไม้อื่น ๆ) เนื้อ ไข่ ส่วนประกอบขอให้เป็น สิ่งที่รับประทานได้เท่านั้น
       วิธีกวน ตำหรือบดเครื่องแกงอย่างหยาบ ๆ เทส่วนผสมต่าง ๆ ลงในกะทะ ใบใหญ่ ปรุงรส ตามใจชอบ เมื่อขนมสุกเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว ก็ตักใส่ถาด แล้วโรยหน้าด้วยไข่เจียวบางๆ หรืออาจจะ เป็นหน้ากุ้ง เนื้อสมัน ปลาสมัน ผักชี หอมหั่น แล้วแต่รสนิยมของท้องถิ่น ขอขนมเย็นแล้วก็ตัดเป็น ชิ้น ๆ คล้ายขนมเปียกปูน พร้อมที่จะแจกจ่ายรับประทานกันได้ แต่ก่อนจะรับประทานกัน เจ้าภาพ จะเชิญบุคคลที่เป็นที่นับถือของชุมชนนั้น ขึ้นมากล่าวขอพร (ดูอา) จากพระผู้เป็นเจ้า เสร็จพิธีแล้ว จึงแจกจ่ายรับประทานกัน
       ความเป็นมาของการกวนขนมอาซูรอนั้น สืบเนื่องมาแต่สมัยนบีนุฮ (อล.) สมัยนั้นเกิดภาวะ น้ำท่วมใหญ่ ยังความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินไร่นาขงประชาชนทั่วไป บรรดาสาวกของนบีนุฮ (อล.) และคนทั่วไปขาดอาหาร นบีนุฮ จึงประกาศให้ผู้ที่มีสิ่งของที่เหลือพอจะรับประทานได้ เอามากอง รวมกันเนื่องจากต่างคนต่างมีกันคนละอย่างไม่เหมือนกัน นบีนุฮให้เอาของเหล่านั้นมากวนเข้า ด้วยกัน ในที่สุดสาวกของท่านก็ได้รับประทานอาหารโดยทั่วกันและเหมือนกัน ในสมัยบีมูหัมมัด (ศ็อลฯ) เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นอีก กล่าวคือ ขณะที่กองทหารของท่าน กลับจาก การรบที่ "บาดัร" ปรากฏว่าทหารมีอาหารไม่พอกิน ท่านนบีมูหัมมัด (ศ็อลฯ) จึงใช้วิธีการของ นบีนุฮ โดยให้ทุกคนเอาข้าวของที่รับประทานได้ มากวนเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งกันรับประทานใน หมู่ทหารทั้งปวง

        นับเป็นการส่งเสริมและดำเนินกิจกรรมเพื่อให้เด็ก เยาวชน และประชาชน ได้มีความตระหนักถึงกิจกรรมที่สำคัญที่ควรจะส่งเสริม อนุรักษ์และสืบสาน จึงขอบคุณโรงเรียนหลายๆโรงที่ได้เชิญไปร่วมและอีกหลายโรงที่จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #การศึกษา
หมายเลขบันทึก: 249402เขียนเมื่อ 18 มีนาคม 2009 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

สวัสดีค่ะ ท่าน ผอ.

  • ครูอ้อยมาเยี่ยมชมกิจกรรมดีๆ  น่าประทับใจค่ะ
  • ท่าทาง กวน ทะมัดทะแมงจังเลย..

สวัสดีค่ะ

  • ชื่อจำยากนะคะ
  • วัฒนธรรมทางภาษา วิถีชีวิตความเป็นอยู่
  • ขอขอบคุณที่ได้เรียนรู้วรรณกรรมพื้นถิ่นค่ะ
  • ขอให้พี่น้องชาวใต้มีความสุขค่ะ

แปลกดี ..

จริงๆแล้วประวัติศาสตร์อิสลามน่าจะมาจากที่มาที่เชื่อถือได้

บางอย่างนั้นเป็นเรื่องเล่า โดยหาที่มาไม่ได้เลย

เท่าที่ผมศึกษามา ทั้งประวัตินบีนูฮฺ และประวัตินบีมุฮำมัด ไม่เคยเจออย่างที่อาจารย์กล่าวถึงข้างบนเลย ..เพียงแต่เคยฟังชาวบ้านเขาเล่ากัน และมีหนังสือที่พอจะมาอ้างอิงในลักษณะนี้ก็ได้จากหนังสือที่หน่วยราชการพิมพ์แจก ..

ขอบคุณครับ ครูปอเนาะ เหมือนที่นำเรียน บางครั้งการเล่าต่อๆกันมา ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ผิดไป ผมนำมาจาก http://www.geocities.com/provyala/asura.htm ครับ จะพยายามหาข้อสรุปมาอีกครั้งครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท