ขับรถลุยน้ำ…ทำไงดี…??


ขับรถลุยน้ำ…ทำไงดี…??

 

อ่านและทำความเข้าใจเพราะ…นี่ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ
ใครที่บ้านน้ำไม่ท่วมถือว่าโชคดีมหาศาล เพราะจะได้ไม่ต้องเจอเข้ากับสารพัดปัญหา รวมถึงความยุ่งยากนานับประการที่ตามมา ตลอดจนข้าวของที่เสียหายอันเกิดจากน้ำ แต่ก็จะขาดประสบการณ์ที่เปียกโชกอันน่าจดจำเอาไว้คุยให้ลูกหลานฟัง ว่าครั้งหนึ่งเคยมี "ไอ้เข้" โผ่ลหน้าเข้ามาขออาศัยอยู่ด้วย


ถึงแม้ที่บ้านน้ำจะไม่ท่วมก็ไม่ได้หมายความว่าจะเสียโอกาสลุยน้ำเล่นเพราะถนนหนทาง บางสายที่มีความจำเป็นต้องผ่าน หรือช่วงที่ฝนยังตกหนักจนน้ำระบายไหลลงท่อไม่ทัน ก็อาจมีน้ำท่วมเจิ่งนองให้สัมผัสกันได้ไม่ยากนักและมักจะเจอกันอยู่เป็นประจำซะด้วย


อันที่จริงเรื่องราวเกี่ยวกับการขับรถลุยน้ำนั้นเคยว่าไปหลายครั้งแล้วและก็มีการพูดถึงอยู่บ่อย ๆ แต่บางท่านอาจยังไม่เคยผ่านตาหรือลืมไปแล้วก็มีจึงต้องหยิบยกเอามาว่าทบทวนความจำ กันอีกครั้ง


เตรียมตัวลงเล่นน้ำ
ถึงแม้รถรุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้ระบบหัวฉีดและมีระบบจุดระเบิดแบบอิเล็คทรอนิคส์โดยทั่วไป มักจะไม่หวั่นเกรงเรื่องเครื่องดับยามลุยน้ำ แต่มันก็ไม่แน่ว่าจะรอดปลอดภัยเสมอหรอกนะ ดังนั้นการเตรียมตัวให้พร้อมก่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมันไม่ยุ่งยากมากอะไรนัก อย่างน้อยก็สามารถช่วยให้อุ่นใจและสบายใจขึ้นกว่าเดิมคงไม่ใช้ประสบการณ์ที่น่าชื่นชม เท่าไหร่นัก สำหรับการลุยน้ำลุยฝนเข็นรถหรือซ่อมรถที่เครื่องดับอยู่กลางน้ำ


- เริ่มต้นด้วยการพยายามเติมน้ำมันให้เต็มถังเข้าไว้ ซึ่งจะให้ประโยชน์ได้สองประการ คือ อย่างแรกจะได้มีน้ำมันเพียงพอสำหรับการลุยน้ำ ที่ส่วนใหญ่การจราจรจะติดขัด ทำให้เปลืองเวลาและเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าปกติ อย่าหวังว่า จะมีน้ำมันเติมได้เสมอไป เพราะถ้าปั๊มน้ำมันระหว่างทางที่เรากระดืบผ่านไป เผอิญน้ำท่วม หรือไฟเกิดดับขึ้นมา ก็ไม่อาจจะเติมได้และการที่มีน้ำมันอยู่เกือบเต็มถังจะทำให้เนื้อที่ว่างเปล่าในถังน้ำมันมีน้อย ตามไปด้วย ซึ่งหมายความว่าพื้นที่จะมีไอน้ำเกาะ อันสืบเนื่องมาจากความชื้น และความเย็น ของ อากาศย่อมมีน้อยเช่นเดียวกัน ดังนั้นโอกาสที่จะมีน้ำไปผสมอยู่กับน้ำมันหรือถังน้ำมัน เกิดเป็นสนิมขึ้นมาก็เป็นไปได้น้อยเหมือนกัน


- เครื่องยนต์ที่ดับส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเป็นเพราะน้ำหรือความชื้น ซึ่งจะทำให้เกิด อาการ ไฟฟ้าลัดวงจรลงดินไปซะก่อนจนกระทั่งไม่มีเหลือพอสำหรับการจุดระเบิด ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องป้องกันมันเอาไว้ล่วงหน้า พวกรถรุ่นใหม่ ๆที่ใช้ระบบหัวฉีดและรบบจุดระเบิด แบบอิเล็คทรอนิคส์ก็อย่าวางใจ เจอกับความชื้นเข้าไปก็เป็นเรื่องเอาง่าย ๆ ได้เหมือนกัน ดังนั้นป้องกันไว้ก่อนดีกว่า


จุดสำคัญที่เป็นเรื่องคือระบบไฟจุดระเบิด เริ่มตั้งแต่คอยล์จุดระเบิดโดยเฉพาะรถรุ่นเก่า ๆ ถ้าพบว่าตำแหน่งมันอยู่ต่ำและอยู่ในบริเวณที่มีน้ำสาดจากใต้ท้องรถมาโดนมันง่ายเกินไป ก็ควรขยับขยายหาที่ติดตั้งเสียใหม่ให้ปลอดภัยจากน้ำยิ่งขึ้น พวกยางหุ้มสายคอยล์ ส่วนติดกับคอยล์ และจานจ่าย หรือปลั๊กหัวเทียน ถ้าใช้งานมานานจนแข็งกระด้าง ถ้าจะทำการเปลี่ยนใหม่ก็เป็นการดี หรือใช้พวกยางซิลิโคนที่เค้าใช้ยาตู้ปลาทาแถวบริเวณ ข้อต่อของสายคอยล์และสายหัวเทียนป้องกันน้ำเอาไว้ก่อนยิ่งดี


ถึงแม้น้ำจะไม่โดนกับระบบจุดระเบิดโดยตรงก็จริง หรือพวกระบบจุดระเบิดบางแบบ ที่ไม่กลัวน้ำ แต่เมื่อเอารถมาจอดแช่น้ำนาน ๆ มันจะเกิดความชื้นทำให้ไฟลัดวงจรเครื่องยนต์ ดับได้เช่นกัน ถ้าไม่อยากลงไปลุยน้ำซ่อมรถ สมควรจะทำการป้องกันโดยการใช้พวก "สเปรย์กันความชื้น" หรือพวกสเปรย์สารพัดประโยชน์ทำการฉีดป้องกันเอาไว้ก่อน ล่วงหน้า แถวข้อต่อและขั้วเสียบคอยล์กับหัวเทียน ตลอดจนชุดจานจ่ายด้วย หรือจะให้ดีก็ถอดฝาจานจ่าย ออกมาฉีดด้วยยิ่งแจ๋ว ส่วนพวกเครื่องหัวฉีดควรใช้สเปรย์ฉีด บริเวณปลั๊กหรือขั้วต่อสายไฟต่าง ๆ เพิ่มอีกต่างหาก เป็นการป้องกันความชื้นรุกราน ให้เกิดเรื่อง


อุปรกรณ์ที่ควรมีติดรถ
เพื่อเป็นการไม่ประมาทและเตรียมพร้อมเอาไว้โดยเฉพาะคุณสาว ๆ ถึงแม้จะซ่อมรถไม่เป็น ก็ตาม ควรจะมีอุปกรณ์ต่าง ๆ ติดรถเอาไว้บ้าง เวลารถเสียแล้วมีพระเอกมาช่วยจะได้ง่ายหน่อย ไม่ใช่มีแต่ยิ้มหวาน ๆ กับคำขอบคุณเท่านั้น


อุปกรณ์ที่ควรมีติดรถก็มีไม่กี่ชิ้นดังนี้
ไฟฉายอันเล็ก ๆ สำหรับตอนรถเสียยามค่ำคืนเอาไว้ส่องเพื่อให้การทำงานสะดวกขึ้น ไฟฉายเหล่านี้ควรลงทุนหน่อย ใช้พวกถ่านไฟฉายชนิดแพง ๆ มันจะได้มีอายุ การใช้งานนานหน่อยไม่ใช่ว่าเปิดมาแล้วถ่านหมด หรือส่องเดี๋ยวเดียวไฟหรี่ เป็นแสงเทียนซะแล้ว
ไขควงหรือประแจ เป็นเครื่องมือสำหรับการเปิดฝาครอบจานจ่าย ส่วนใหญ่จะเป็นไขควงปากแบน หรือรถบางรุ่นก็ใช้ประแจเบอร์ 10 ก็มี ลองสำรวจดูว่าเจ้าฝาครอบจานจ่ายของคุณใช้อุปกรณ์ชนิดไหน
ผ้าสะอาดหรือกระดาษทิชชู่ เอาไว้เช็ดน้ำตามระบบไฟจุดระเบิดที่เปียก หรือใช้เช็ดมือที่เลอะเทอะหลังจากการซ่อมรถแล้วก็ได้ และอุปรณ์พิเศษสำหรับพวกรถใช้เครื่องยนต์ระบบทวินแค็มบางรุ่น ที่ช่องหัวเทียน เป็นเบ้าหลุมลึก ซึ่งน้ำมักจะไปขังอยู่แถวนั้น ควรเตรียมสายยางเล็ก ๆ แบบสายอ็อกซิเจน ตู้ปลานั่นแหละยาวซัก 2 เมตรก็พอ เผื่อเอาไว้ดูดน้ำในเบ้าหัวเทียนออกทิ้ง
สเปรย์กันความชื้น เป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการช่วยให้เครื่องยนต์ติดได้ ลำพังการเช็ดน้ำให้แห้งเพียงอย่างเดียว อาจไม่เป็นการเพียงพอที่จะทำให้เครื่องติดได้ สมัยก่อนที่ยังไม่มีสเปรย์ประเภทนี้ใช้เค้าจะใช้วิธีจุดไฟแช็คลนฝาครอบจานจ่าย ให้หมดความชื้น สมัยนี้มีวิธีที่ง่ายกว่าแล้วก็ควรจะใช้ให้เป็นประโยชน์กันหน่อย
ร่มกันฝนกับผ้าขนหนูสะอาด ๆ ส่วนใหญ่การซ่อมรถแบบนี้มักจะเป็นการซ่อมกลางฝน ถ้ามีร่มเอาไว้กางกันฝนซักคัน น่าจะช่วยให้การซ่อมสะดวกยิ่งขึ้น และหลังจากการซ่อมเครื่องยนต์ติดแล้ว อาจทีรายการเปียกฝน จะได้ใช้ผ้าขนหนูเช็ดหน้าเช็ดผม


การขับรถลุยน้ำ
เวลาขับรถลุยน้ำต้องใจเย็นเป็นพิเศษ อย่าใช้รอบเครื่องสูงสำหรับพวกรถที่ใช้พัดลมติดเครื่อง เพราะปลายใบพัดมันจะวักเอาน้ำมากระจายเต็มห้องเครื่องทำให้เครื่องดับได้ ขับช้า ๆ ค่อยๆ ตามคันหน้าไป อย่าแซง เพราะเดี๋ยวจะไปตกท่อตกหลุมรถพังซะเปล่า ๆ แล้วก็อย่าตาม รถคันหน้าให้กระชั้นชิดมากนัก พร้อมกับคอยสังเกตรถคันนำข้างหน้าให้ดีว่ามีอาการเซ หรือตกหลุมอะไรบ้างหรือไม่ ถ้าเห็นเสียก่อนเราจะได้ค่อย ๆ หยอด และถ้าไม่เห็นทาง หรือมั่นใจให้ยอม "หยอด" ดีกว่าขับเลี่ยง เนื่องจากอาจเจอหลุมที่โตและลึกกว่าแทนได้ ในกรณีที่มีรถใหญ่ลุยน้ำแซงหรือสวนมาให้ชะลอรถเบาเครื่องลง เพราะมันจะเกิดคลื่น มากระแทกตัวรถ พวกรถเล็ก ๆ น้ำหนักเบา ๆ อาจเสียการทรงตัวหรือเกิดน้ำกระแทก เข้าใต้ห้องเครื่องจนทำให้เครื่องยนต์ดับได้


ถนนบางสายที่เป็นดิน ลูกรังหรือมีเศษดินสิ่งสกปรกค้างอยู่บนถนน จะทำให้ลื่น จนรถเสียการทรงตัว ไม่สามารถบังคับได้ ให้ใช้วิธีถอนคันเร่งเพื่อลดความเร็วของรถลง และถ้าเป็นรถเกียร์ธรรมดา ให้เปลี่ยนเป็นเกียร์สูงขึ้นเช่นคลานมาด้วยเกียร์ 1 ก็เปลี่ยนเป็นเกียร์ 2 หรือมาเกียร์ 2 ก็ให้เปลี่ยนใช้เกียร์ 3 แทนเพื่อลดแรงบิดของล้อ ป้องกันการลื่นไถล ให้มีน้อยลง และถ้าพบว่าไม่สามารถควบคุมพวงมาลัยบังคับทิศทางได้ อย่าพยายามหักหมุน พวงมาลัยเพื่อบังคับรถ เพราะมันจะทำให้รถขวางเกิดการลื่นไถล เพิ่มขึ้น ตรงหันข้าม ให้หักล้อตรงเพื่อให้ดอกยางเกาะพื้นก่อน แล้วจึงค่อย ๆ หักพวงมาลัยทีละน้อย ถ้าจำเป็นต้องใช้เบรคให้ค่อย ๆ เบรคเพิ่มน้ำหนักทีละนิด อย่าลงเบรครุนแรงกะทันหัน มันจะล็อคแล้วเกิดการลื่นไถลเสียการทรงตัว


ยามลุยน้ำถ้าน้ำสูงเกินขอบยางขึ้นมา อาจทำให้ผ้าเบรคเปียกและมีประสิทธิภาพ ในการหยุดรถ ลดลงควรทดลองเบรคว่ามีประสิทธิภาพขนาดไหน แล้วทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าเพิ่มขึ้น ตามเบรค และเมื่อพ้นบริเวณน้ำท่วมแล้ว ควรทดลองเบรคเพื่อรีดน้ำออกจากหน้าสัมผัส ของเบรค โดยการเบรคเบา ๆ ก่อนแล้วจึงค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักเบรคให้มากขึ้น หรือคนที่มี ความชำนาญในการขับรถจะใช้วิธี "เผาเบรค" ให้แห้งเร็วขึ้นก็ได้ โดยการใช้เท้าขวาเหยียบ คันเร่ง ตามปกติ แล้วถอนเท้าซ้ายจากคลัทช์ มาเหยียบเบรค คือ กดคันเร่งให้รถแล่นไป พร้อมกับเบรคเพื่อให้เบรคเกิดความร้อน แต่ก่อนลงมืออย่าลืมดูทีท่ารถคันหลัง ให้มันอยู่ในระยะที่ปลอดภัยซะก่อนนะ


หลังลุยน้ำ…ก่อนเก็บรถ
หลังการลุยน้ำแล้วกลับมาถึงบ้าน ถ้าไม่รีบร้อนจนเกินไปนักล่ะก็ ยังพอจะมีงานให้ทำอีก เล็กน้อย เพื่อเป็นการกำจัดน้ำที่ติดอยู่ตามชิ้นส่วนของรถบางจุด เช่น เบรก หรือไดสตาร์ท ที่อยู่ต่ำทำให้น้ำแทรกซึมเข้าไปได้ ควรเดินหน้าถอยหลังแล้วเบรคแรง ๆ หลาย ๆ เที่ยว เป็นการรีดน้ำออกจากผ้าเบรค และหลังจากดับเครื่องให้สตาร์ทเครื่องใหม่และดับเครื่องซัก 2-3 ครั้ง เพื่อรีดน้ำที่อาจค้างอยู่ในไดสตาร์ท หรือถ้าจะให้ดีใช้วิธีดึงสายคอยล์ออกก่อน เพื่อไม่ให้เครื่องยนต์ติด แล้วสตาร์ทเครื่องเป็นช่วง ๆ ไม่เกินช่วงละ 5 วินาที


การจอดรถไม่ควรเข้าเกียร์ค้างไว้ หรือใส่เบรคมือเหมือนยามปกติเพราะอาจทำให้ "เกียร์ค้าง" หรือ "เบรคติด" ได้ ในกรณีที่จอดรถค้างคืนแล้วตอนเช้าพบว่าเวลาออกรถแล้วมีเสียง ครืดคราดจากเบรค ไม่ต้องตกใจเป็นเรื่องธรรมดาเนื่องจากเบรคติดเท่านั้นเอง ซึ่งจะมีเสียงเฉพาะตอนขับรถครั้งแรกเพียงครั้งเดียว ยกเว้นถ้ามันดังทุกครั้งที่เหยียบเบรค แบบนี้ต้องถึงมือช่างหน่อยแล้ว และก่อนออกเดินทางควรทดลองเบรคดูก่อนว่า มีอะไรผิดปกติหรือไม่


สำหรับรถบางคันหลังจากลุยน้ำมาจะพบกับอาการเกียร์เข้าไม่ได้ อันนี้ก็อย่าเพิ่งตกใจอะไร แสดงว่ามีน้ำเล็ดลอดเข้าไปในชุดคลัทช์จากการลุยน้ำทำให้เกิดมีสนิมขึ้นมา วิธีแก้ไข ก็ให้หาทางโล่ง ๆ หน่อย ต่อจากนั้นให้เข้าเกียร์เอาไว้ที่เกียร์ 1 แล้วสตาร์ทรถติดเครื่อง วิ่งออกไปเลย มันจะเกิดแรงกระชากให้หลุดออกมาเองแหละ ถ้าไม่มีที่ทางสะดวกพอ ก็ต้องอาศัยแรงคนเข้าช่วยแทนโดยการเข้าเกียร์ 1 ไว้ แล้วเกณฑ์พรรคพวกมาช้วยกันเข็นรถ ให้เดินหน้า อาจหนักแรงหน่อยแต่ก็ได้ผลเหมือนกัน


หลังน้ำลดก็มีเรื่องให้เสียเงิน
เมื่อจบจากเทศกาลน้ำท่วมแล้วควรนำรถไปเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องพร้อมไส้กรอง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเกียร์ และเฟืองท้าย ไม่ว่าจะเป็นรถเกียร์ธรรมดาหรือเกียร์อัตโนมัติ จะใช้ระบบขับหน้าหรือขับหลังก็ตาม เพราะน้ำอาจมีการแทรกซึมเข้าไปก็ได้ (ค่าเปลี่ยนถ่ายน้ำมันถูกกว่าค่าซ่อมเกียร์เยอะ)


นอกจากนี้ยังถือเป็นโอกาสอันดี สำหรับการตรวจเช็คลูกปืนล้อหรือการอัดจารบีล้อ และถ้าได้เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรคไปด้วยเลยยิ่งดีใหญ่เลย เพราะน้ำมันเบรคจะดูดซึมความชื้น เอาไว้เยอะ ลำพังน้ำมันเบรคเสื่อมสภาพยังไม่ค่อยเท่าไรนัก แต่เจ้าความชื้นที่ปะปน ในน้ำมันเบรค จะทำให้กระบอกสูบ ลูกยาง เบรคหรือ ชิ้นส่วนเกิดการกัดกร่อน เป็นรอยเสียหายได้ และไหน ๆ จะนำรถเข้าอู่กันทั้งทีแล้ว พวกรถที่ใช้ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า หรือรถที่ใช้ระบบพวงมาลัยแบบแร็คแอนด์พิเนี่ยน ก็น่าจะให้ช่างทำการตรวจเช็ค พวกยางหุ้มเพลาและยางหุ้มแร็คพวงมาลัยไปเลย หรือถ้าจะทำการเปลี่ยนจาระบีเพลา และแร็คพวงมาลัยจะช่วยยืดอายุการใช้งาน ให้ยืนยาวออกไปได้มากยิ่งขึ้น

คำสำคัญ (Tags): #รถ#เกี่ยวกับรถ
หมายเลขบันทึก: 249167เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2009 23:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท