จรรยาวิชาชีพ, ศีลห้า และคำสอนของ อาจารย์หมอจีรศักดิ์


จรรยาวิชาชีพ คือการละเว้นจากการเบียดเบียน

เก็บเอาเรื่องราวสามเรื่องที่เกิดต่างกรรม ต่างวาระ มาปะติดปะต่อกัน

เมื่อครั้งยังเป็นนิสิตทันตแพทย์ อยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ทพ.ดร.จีรศักดิ์ นพคุณ คณบดีในขณะนั้น มาสอนพวกเราว่า ให้พิจารณาศีลห้าอย่างละเอียดถี่ถ้วน เอามาใช้ครอบคลุมถึงการปฏิบัติงานของวิชาชีพทันตกรรมด้วย ท่านว่า หากเก็บค่ารักษาแพงกว่าที่ควรจะเป็น...นั่นก็ลักทรัพย์คนไข้แล้ว

หลายปีถัดจากนั้น ได้ฟังบันทึกเสียงธรรมบรรยายของท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านได้อธิบายศีลห้าโดยแก่นของมัน

ผมตีความตามที่เข้าใจว่า โดยหลักการแล้ว ศีลห้า คือการกำหนดเจตนา ที่จะเว้นจากการเบียดเบียนผู้อื่น และเบียดเบียนตนเอง อย่างหยาบๆ ก็คือการเบียดเบียนทางกาย วาจา หากพิจารณาให้ละเอียดขึ้น คือจิตที่คิดจะเบียดเบียน ก็เป็นจุดเริ่มของการผิดศีลเสียแล้ว

การเบียดเบียนผู้อื่นนั้น พิจารณาโดยละเอียดลงไปก็คือ

ละเว้นการเบียดเบียนทางกาย ด้วยการฆ่า (ศีลข้อแรก)

ละเว้นการเบียดเบียนทรัพย์สินของเขา (ศีลข้อที่สอง)

ศีลข้อสามนี่ลึกซึ้ง นะครับ ผมเห็นว่า ท่านบัญญัติให้ครอบคลุมเรื่องการเบียดเบียนทางกายไว้โดยละเอียด

กล่าวคือ ต่อให้ไม่ได้ฆ่าให้ตาย, ไม่ได้ไปลักเอามาเป็นของเรา แต่การประพฤติร้าย ล่วงละเมิดต่อสิ่งที่ผู้อื่นหวงแหนหรือสิ่งที่มีความหมายพิเศษสำหรับผู้อื่น ท่านก็ให้เว้นเสีย (มีการล่วงประเวณีลูกเมียผู้อื่น เป็นต้น)

ศีลข้อสี่ คือการละเว้นการเบียดเบียนทางวาจา ขั้นต้น ก็คือพูดปด หลอกลวง หากจะพิจารณาให้ละเอียดเข้า ย่อมครอบคุมถึง พูดส่อเสียด ยุแยง เพ้อเจ้อ กระทั่งพูดคำหยาบ

ส่วนข้อห้าท่านให้ละเว้นการเบียดเบียนตนเอง ด้วยการเสพสิ่งที่ทำให้ตั้งอยู่ในความประมาท อันมีสุรา เป็นต้น

หากลองนำจรรยาวิชาชีพทันตกรรม มาพิจารณาโดยใช้หลักศีลห้าตามความหมายข้างต้น จะเห็นว่ามันเข้ากันได้สนิท

ลองดูจรรยาวิชาชีพทันตกรรมที่นี่ครับ

http://www.geocities.com/silparcha/NewDentalWeb/ethic.htm

การเก็บค่ารักษาแพงเกินจริง ก็คือการเบียดเบียนทรัพย์สินของผู้อื่น, การให้บริการที่ปราศจากความรู้จริง ใช่หรือไม่มันคือการเบียดเบียนชีวิต เรื่องการเบียดเบียนทางวาจาก็มีตั้งแต่การโฆษณาเกินจริง การให้ร้ายเพื่อนร่วมวิชาชีพ ฯลฯ

คิดเล่นๆ นะครับ ศีลข้อห้าบอกให้เราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในการให้บริการทันตกรรมเพื่อนมนุษย์ ให้เราเสพสิ่งเสพต่างๆ เพื่อการพัฒนาตน เพื่อให้เป็นหมอที่เรียนรู้อยู่เสมอ

ยังมีเรื่อง "ศักดิ์ศรีวิชาชีพ" ที่ยังหาข้อเทียบเคียงให้ลงในศีลห้า ไม่ได้ครับ ขอคิดอีกสักหน่อยว่ามันคืออะไรกันแน่ และในทางพุทธศาสนามีมุมมองต่อเรื่อง "ศักดิ์ศรี" แบบไหน

แล้วจะมาเล่าให้ฟังต่อครับ

หมายเลขบันทึก: 248879เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2009 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2012 09:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท