"สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ... ( ๓ )


ประเด็นตอนที่ ๓ ต่อจากบันทึก "สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ... ( ๑ ) และ "สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ... ( ๒ )

 

สังคมอุดมศึกษา ( ๓ )

 

ในแง่บุคคล นอกจากการเรียนรู้จะให้ความสุขแก่ผู้เรียนแล้ว เขาจะเป็นคนที่สามารถปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ รวมทั้งรู้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย เช่นรู้เท่าทันเทคโนโลยีและการตลาดแบบใหม่

แท้จริงแล้ว คนที่สามารถเรียนรู้ได้เองนี่แหละครับที่รับใช้ทุนนิยมยุคใหม่ได้ดีกว่าเพราะทุนยุคใหม่เองก็ต้องปรับทั้งกระบวนการผลิต, การตลาด, และผลผลิตอยู่ตลอดเวลาเหมือนกัน ทักษะที่หยุดนิ่งไม่พัฒนาต่อเลยใช้งานได้ไม่กี่ปีก็กลายเป็นภาระรุงรังของบริษัทไป

คนงานที่จะให้กำไรได้สูงสุดคือ คนงานที่สามารถเรียนเองได้ในงานทุกตำแหน่ง

แต่ทุนไทยยังเป็นแค่ทุนตะกลาม จึงไม่ได้มุ่งมองหาคนที่เรียนรู้เองเป็นเท่ากับทักษะสำเร็จรูปที่มหาวิทยาลัยผลิตมาป้อน (อย่างน้อยทุนที่ได้ไม่ต้องควักกระเป๋าฝึกเอง)

ผมจึงคิดว่า การวางเป้าหมายของการศึกษาระดับปริญญาตรีไว้แต่เพียงการป้อนแรงงานเข้าสู่ตำแหน่งงาน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน แม้แต่ที่อยากจะรับใช้ทุนก็เป็นการรับใช้ที่ไม่ฉลาด เพราะให้ผลในระยะสั้นเท่านั้น ส่วนการรับใช้สังคมนั้น ไม่ได้ผลอะไรเลย

เราจึงควรหันกลับมาสู่การวางเป้าหมายตามเดิม คือ เรียนปริญญาตรีเพื่อให้เรียนเองเป็นก่อน

และถ้าวางเป้าหมายอย่างนั้น มหาวิทยาลัยที่ต้องเร่งสร้างขึ้นก็คือ สร้างสังคมไทยให้เป็นมหาวิทยาลัย ผมหมายความว่า ทำให้การเรียนรู้ด้วยตนเองเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายและสะดวกทั้งสังคม

ผู้เรียนตั้งโจทย์เอง เรียนเอง จนกว่าจะได้คำตอบที่ตนพอใจ

มีสื่อที่ให้ความรู้และความคิดที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้

มีห้องสมุดเล็ก ๆ กระจายไปทั่วประเทศ และเชื่อมโยงเข้าหากันจนกระทั่งสามารถเข้าถึงทรัพยากรของห้องสมุดได้เท่าเทียมกัน

มีพิพิธภัณฑ์หรือมิวเซียมที่ให้ความรู้ด้านต่าง ๆ อยู่มากมายในทุกท้องถิ่น

มีสมาคมวิชาการและวิชาชีพที่มีกิจกรรมให้ความรู้ทั้งแก่สมาชิกและแก่สาธารณชนอยู่จำนวนมาก

มีการปาฐกถาสาธารณะในเรื่องต่าง ๆ ที่เปิดให้ผู้คนเข้าฟังหรือเข้าร่วมได้มากมาย

ผลผลิตของมหาวิทยาลัยที่สามารถเรียนเองเป็น จึงไม่ตายด้านเพราะออกจากมหาวิทยาลัยในระบบก็เข้าสู่มหาวิทยาลัยนอกระบบ ในขณะที่ผู้คนทั่วไปก็ใช้ชีวิตในการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นปรกติอยู่แล้ว

แม้แต่เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผู้คนก็มีปัญญาที่จะเอาตัวรอด รวมทั้งมีปัญญาที่จะกำกับควบคุมรัฐบาลในการใช้ทรัพยากรส่วนรวมอย่างประสิทธิภาพอีกด้วย

สรุปก็คือ มหาวิทยาลัยสอนให้น้อย ๆ แต่เรียนให้มาก ๆ ดีกว่าครับ

 

.......................................................................................................................................

 

มหาวิทยาลัยต้องรู้จักเชื่อมโยงการทำงานร่วมกับสังคม ผลิตบัณฑิตออกไปสู่การพัฒนาความรู้ตลอดชีวิต มิใช่ ผลิตไปแล้วไร้ประโยชน์ นอนกอดใบกระดาษแผ่นเดียว สองแผ่น สามแผ่น แล้วบอกคนในสังคมว่า ฉันจบตรี โท เอก มานะ จ้างฉันสูง ๆ หน่อย

คิดอย่างไรกันบ้างครับ สำหรับตอนสุดท้ายของ "สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์

ขอบคุณมากครับ :)

 

.......................................................................................................................................

แหล่งอ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  "สังคมอุดมศึกษา", มติชนสุดสัปดาห์.  29, 1489 (27 ก.พ. - 5 มี.ค.52) : หน้า 33.

 

หมายเลขบันทึก: 247462เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2009 13:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

พี่ก็ได้อ่านบทความนี้ค่ะ อาจารย์นิธิท่านกล่าวได้ตรงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยิ่งค่ะ แต่คิดว่ามหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่จะสร้างให้นักศึกษาสามารถเรียนเองเป็นเลย นานๆจะเจอนักศึกษาที่อยากรู้ ค้นคว้า เสาะหาด้วยวิธีการต่างๆนานาเพื่อให้ได้คำตอบ ยิ่งเป็นการเรียนระดับปริญญาโท ปริญญาเอก ผู้เรียนมักอ้างว่าเวลาไม่พอที่จะอ่านตำรับตำราเพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์ให้ข้อมูลที่อ่านออกมาเป็นความรู้ของตัวเอง ที่ตัวเองย่อยจนเข้าใจเอาไปใช้บำรุงสมองได้ บางทีพี่อยากเห็นแก่ตัวไม่เข้าไปยุ่งในระบบเขาเลยค่ะ เหนื่อยใจ!

มหาวิทยาลัยบ้านเรา ... พยายามสร้างปริญญาบัตรสำเร็จรูป แล้วเรียกหาผู้เรียนมาจ่ายตังค์ แล้วเอาปริญญาบัตรไป ... นักศึกษาผู้ใฝ่รู้จึงน้อยนัก ... เวลาสร้างสถานการณ์ให้เกิดการค้นคว้า ก็จะบอกว่า อาจารย์น่าจะบอกเลยดีกว่า ... เหอ เหอ ...

ส่วนปริญญาโท ปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อในเรื่องการจบง่าย จ่ายครบ นั่นก็มีอีกมากมาย ผู้บริหารหลายที่บ่นได้แค่ ก็ระบบมันบีบ (แต่ไม่เคยคิดหาวิธีการอื่นที่ดีกว่านี้ ให้ผลระยะยาว จะเอาเงินลูกเดียว)

ให้กำลังใจครับพี่อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ :) สู้ สู้ ครับ

เรียนรู้ จาก สังคม ที่อยู่ท้องถิ่นตนเอง เป็นโจทย์ในการเรียนรู้ได้เยอะแยะเลย หากมหาวิทยาลัยฉีกกฎเกณฑ์ จะช่วยพัฒนาท้องถิ่นตนเองได้อีกมากมาย ประเทศไทยจะพัฒนาไปอีกไกล เพราะแต่ละสถาบันมีหลายคณะฯ ที่ช่วยพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีในท้องถิ่นได้ ^^

เห็นด้วยเฉกเช่นความคิดเห็นของท่านอาจารย์ตี๋ ครูgisชนบท ครับ ;)...

ขอบคุณมากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท