การบริหารเวลา


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

             ในภาวะที่ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและเทคโนโลยีได้พัฒนามาเป็นลำดับในปัจจุบัน       อีกทั้งการแข่งขันทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจเพิ่มทวีความรุนแรง  ส่งผลให้ชีวิตส่วนตัวและการทำงานของผู้คน    เขม็งเกลียวกันมากขึ้นกว่าในอดีต  สิ่งหนึ่งที่ผู้บริหารไม่อาจมองข้าม คือ โอกาส ควบคู่กับ การตัดสินใจบริหารเวลาให้เป็นประโยชน์ และเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด ผู้บริหารหลายคนมักคิดว่าเวลา  ในการทำงานและตัดสินใจน้อยเหลือเกิน บุคคลส่วนใหญ่ที่ประสบความสำเร็จหรืองานก้าวหน้า   เพราะเขามีเวลามากเลยทำให้งานประสบผลสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกคนต่างมีเวลาอยู่  เท่า ๆ กัน คือวันละ 24 ชั่วโมง เดือนละ 30 หรือ 31 วัน และปีละ 365 หรือ 366 วัน ความสำคัญของเวลาจึงอยู่ที่ภารกิจหรือกิจกรรมที่เราจะทำได้สำเร็จภายใต้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดเสียมากกว่า 

                เวลา(Time) มีความสำคัญในการบริหารงานเป็นอย่างมาก   เป็นทรัพยากรทางการบริหาร อย่างหนึ่ง นอกจากคน เงิน การจัดการ และวัสดุ อุปกรณ์แล้ว  จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้บริหารจะต้อง  มีหลักในการบริหารเวลา ไม่ใช้เวลาที่มีค่าสูญเปล่าไปโดยไม่เกิดประโยชน์ ผู้บริหารที่ตัวเองประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ได้กล่าวว่า  “สิ่งที่เราไม่อาจมองข้ามบนความสำเร็จครั้งนั้น คือการใช้เทคนิค วิธีการบริหารเวลา ที่มีอยู่ในเกิดประสิทธิผลและเพิ่มประสิทธิภาพให้มากที่สุด”  ซึ่ง อินทิรา  หิรัญสาย  (2534 : 69) อ้างอิงมาจาก  Sehwartz and Mackenzie  ได้กล่าวว่า “ความสำเร็จของการบริหารเวลานั้น ไม่ได้หมายถึงการทำงานหนัก แต่หมายถึง การทำงานที่ฉลาด ต้องคิดถึงสิ่งที่จะทำว่าจะทำอะไร ทำอย่างไร และทำเมื่อใด” ซึ่งสอดคล้องกับ  ชาญชัย  อาจิณสมาจาร   (2531 : 124)  ได้กล่าวว่า    “นักบริหารที่ทะเยอทะยานหลายคน พยายามทำงานนอกเวลา แต่เขาเหล่านั้นมีความสับสน ระหว่าง    การเป็นนักบริหารที่ดี กับการทำงานหนัก การทำงานนอกเวลา การไม่พยายามลาพักผ่อน การเอางานกลับมาทำที่บ้าน”

                ฉะนั้น ผู้บริหารที่ดี ควรจะมีเทคนิคในการบริหารเวลาโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด แต่ผลที่ได้รับจากการทำงาน มีมากกว่าหลายเท่า เทคนิคในการบริหารเวลา จึงเป็นกลยุทธ์ในการทำงานให้เกิดประสิทธิผล  ผู้บริหารอาจจะต้องมีหลักการในการบริหารเวลา พอสรุปได้ดังนี้

                1.  การวางแผนการใช้เวลา  เป็นการกำหนดแนวทางล่วงหน้า ว่าจะใช้เวลาทำสิ่งใดบ้าง    ในแต่ละวัน แต่ละเดือน แต่ละปี  ซึ่ง  Douglas and Douglas (1980 : 115)  ให้ความคิดเห็นว่า  “การวางแผนการใช้เวลาอย่างมีระบบ ประกอบกับการปฏิบัติตามแผนอย่างจริงจัง  จะช่วยลดการสูญเสียเวลาและจะทำให้การใช้เวลามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” การวางแผนอาจแบ่งเวลาที่ต้องปฏิบัติได้  3  ประเภท คือ

·     งานเร่งด่วน  เป็นงานที่ต้องทำทันที   ผู้บริหารจะต้องทำก่อนเสมอ การจัดการ     กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า  เช่น  การลงชื่อในเอกสารเร่งด่วน  การโทรศัพท์รายงานผู้บังคับบัญชาที่ได้สั่งการไว้   การประชุมด่วน  เป็นต้น


·     งานประจำวัน  เป็นงานที่เกี่ยวกับภารกิจที่ต้องทำเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ตรวจสอบเอกสาร อนุมัติงาน ประชุมหัวหน้างานรายวัน  เป็นต้น


·     งานที่รอได้  เป็นงานที่ไม่มีความเร่งด่วนมาก  เช่น  การจัดการเกี่ยวกับเอกสาร   เข้าแฟ้ม  การบันทึกรายละเอียดของงานที่ไม่สำคัญ  การเรียกเจ้าหน้าที่มาสอบถามถึงเรื่องงานที่มอบหมาย  เป็นต้น
      ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ ผู้บริหารควรจะมีตารางการวางแผนการใช้เวลา และมีสมุดบันทึกกิจกรรมต่าง ๆ ไว้ในสมุด หรือในคอมพิวเตอร์โปรแกรม Microsoft Outlook  การนัดหมาย เบอร์โทรศัพท์ของบุคคลที่ติดต่อเป็นประจำติดตัวไว้เสมอ หรืออาจบันทึกไว้ในโทรศัพท์มือถือที่สามารถค้นหาได้สะดวก นับเป็นการบริหารเวลาอย่างมีเทคนิคอย่างหนึ่ง  ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีให้เป็น
             2.  การมอบหมายงานให้ผู้อื่นปฏิบัติ เป็นการแบ่งเบาภาระหน้าที่ของผู้บริหารที่ทำอยู่ให้ผู้อื่นปฏิบัติแทนบ้าง ซึ่งเป็นการบริหารงานที่ดีอย่างหนึ่ง  โดยคำนึงถึงเนื้องานตามความเหมาะสมกับบุคคล    ตัวผู้บริหารที่ชอบทำงานเองทุกอย่างในรายละเอียดและทุกขั้นตอนด้วยตนเอง  ไม่ยอมให้ผู้อื่นช่วยเหลือซึ่งอาจจะไม่ไว้วางใจผู้อื่นก็ตาม  จึงต้องเสียเวลามากมายโดยใช่เหตุ  จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้บริหารที่ดี จะต้องมอบหมายงานให้ผู้อื่นปฏิบัติแทนบ้างตามหลักการกระจายงาน  กระจายอำนาจ  จะทำให้ผู้บริหารมีเวลาสำหรับการคิด หรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่สำคัญกว่า หลักในการมอบหมายงานให้ผู้อื่นปฏิบัติอาจทำได้ดังนี้


·     การกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ร่วมงานไว้อย่างชัดเจน หมายถึง การแบ่งเบาภาระที่ผู้บริหาร  ไปให้ผู้อื่นทำแทนตามหลักการกระจายอำนาจ และคอยสอบถามเพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ เมื่อเขามีปัญหาเป็นระยะ ๆ 


·     การช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานในการกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ในกรณีที่    เพื่อนร่วมงานรับงานไปแล้ว ประสบปัญหาในการตั้งเป้าประสงค์หรือเป้าหมาย ผู้บริหารอาจจะเข้าไปร่วมในการกำหนดวัตถุประสงค์ของงาน เพื่อให้งานดำเนิน     ไปตามแนวเดียวกันก็ได้


·     การจัดหารางวัลตอบแทนให้กับผู้ที่ปฏิบัติงานได้ดีเด่น  ผู้ร่วมงานเมื่อได้ปฏิบัติงานและประสบความสำเร็จ  งานมีคุณภาพและเสร็จทันเวลา สมควรอย่างยิ่งที่จะได้รับ    คำชมเชย หรือรางวัล ที่ปฏิบัติงานได้ผลดี ส่งผลให้เกิดความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับองค์การต่อไป
                3.  จัดระบบงานให้เป็นระเบียบ  ผู้บริหารงานหลายคน บนโต๊ะทำงานเต็มไปด้วยแฟ้ม เอกสารต่าง ๆ จนแทบไม่มีที่ว่างให้เขียนหนังสือ  ใต้โต๊ะก็เต็มไปด้วยเอกสารกองใหญ่  และในลิ้นชักมีเศษกระดาษระเกะระกะ  เสมือนหนึ่งจะแทนถังขยะชั่วคราว
                การจัดเก็บข้อมูลและระบบเอกสารให้เป็นระเบียบ จึงจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงาน    บนโต๊ะ มีบรรยากาศที่ดีทำงานได้คล่องตัวขึ้น  ผู้บริหารอาจจะดำเนินการดังนี้


·     การจัดเตรียมข้อมูลงานที่จะต้องทำ  เป็นการเตรียมในเรื่องของข้อมูลที่จะดำเนินการเร่งด่วนให้เรียบร้อย สามารถค้นหาได้สะดวก จัดเป็นระบบ เรียบร้อย ง่ายต่อการปฏิบัติ


·     การจัดงานตามลำดับความเร่งด่วน เรื่องใดก็ตามที่มีความจำเป็นเร่งด่วน ควรจัดวางไว้บนสุดของเรื่อง และเรียงความสำคัญความเร่งด่วนมาตามลำดับเพื่อกันลืม และเมื่อเปิดงานที่ต้องปฏิบัติก็จะพบก่อน และปฏิบัติไปตามเรื่องที่สำคัญนั้น ๆ จะทำให้งานเสร็จทันตามกำหนด


·     การจัดแบ่งข้อมูลข่าวสารให้เป็นหมวดหมู่  ในองค์การระบบข้อมูลข่าวสารนับเป็น   สิ่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องจัดแบ่งข้อมูลเหล่านั้นให้เป็นหมวดหมู่ ง่ายต่อการใช้ สะดวก    ต่อการตัดสินใจ หากเป็นเอกสารก็สามารถหยิบหาได้สะดวก หากเป็นข้อมูล          ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ก็จะแบ่งหมวด  แฟ้มฝ่ายข้อมูลไว้สะดวกแก่การค้นหา และเปิดอ่าน และเป็นข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน


·     โต๊ะทำงานควรเอื้อต่อการปฏิบัติงาน โต๊ะทำงานของผู้บริหารอาจเปรียบได้ถึงแท่นแห่งการตัดสินใจและบรรยากาศของการบริหารงาน โต๊ะทำงานของผู้บริหารควรจะสะอาด ใหญ่ และกว้างพอสมควร  ปราศจากเอกสารรกรุงรังเปล่าประโยชน์ อาจมีเครื่องเทคโนโลยีที่จำเป็นวางไว้ เช่น คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กที่เชื่อมต่อกับฝ่ายต่างๆ โทรศัพท์  เป็นต้น โดย ควรจะจัดให้มีสภาพเหมาะแก่การทำงาน  ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานแต่ละวันจะไม่มองว่ามีมาก  ควรที่จะหยิบงานที่จะต้องทำมาทีละเรื่อง จะทำให้รู้สึกมีบรรยากาศในการทำงานที่ดี  หากมีเลขานุการส่วนตัว ควรที่จะมอบหมายให้ดูแลโต๊ะทำงาน ให้เรียบร้อย ก่อนจะทำงานและหลังเลิกงาน
                4.  ปรับปรุงความมีวินัยในตนเอง  ความมีวินัยในตนเองเป็นคุณสมบัติที่พึงมีใน        ตัวผู้บริหารเพราะการทำงานให้ได้ผลดีทุกอย่าง จำเป็นต้องอาศัยสิ่งนี้เป็นแนวทางไปสู่ความสำเร็จ    การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองแล้ว ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นับเป็นเทคนิคใน  การทำงานอย่างหนึ่ง ซึ่งผู้บริหารเองควรจะระลึกเสมอว่าตัวเองควรจะเป็นตัวอย่างแก่ผู้ร่วมงาน  ในองค์กร โดยจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้


·     การประเมินตนเอง  โดยการยึดหลัก  “สำรวจตนเอง สำรวจงาน กิจการจึงสำเร็จ”     ซึ่งผู้บริหารจะต้องมีการสำรวจตนเองว่าเป็นคนอย่างไร มีจุดที่เป็นปัญหาใน           การทำงานอะไรบ้าง และควรจะดำเนินการแก้ไขอย่างไร เมื่อจะบริหารให้มีประสิทธิภาพ เช่น ผู้บริหารที่ชอบหาวนอนเป็นประจำในเวลาทำงานก็ควรจะพักผ่อนในเวลากลางคืนให้มากกว่าที่เป็นอยู่  หากทำงานเครียดเกินไปก็ควรจะผ่อนคลาย    โดยการเดินไปเดินมา หรือคุยกับเพื่อนร่วมงาน หรืออาจใช้เวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ไปพักผ่อนกับครอบครัวบ้าง


·     พยายามมีสมาธิในการทำงานจนกว่างานจะสำเร็จ เมื่อมีภารกิจที่ต้องใช้สมาธิ           ในการตัดสินใจอย่างรอบคอบและเป็นการตัดสินใจที่ต้องใช้ความคิดเงียบ ๆ คนเดียว  โดยไม่มีผู้อื่นมารบกวน โดยการเปลี่ยนทิศทางที่นั่งทำงาน ให้ห่างจากประตู หน้าต่าง เพื่อที่คนเดินสัญจรไปมาจะไม่ทำลายสมาธิให้สูญไป และถ้าหากมีความจำเป็น      ควรบอกเลขานุการส่วนตัวงดรับแขกหรือโทรศัพท์   เพื่อที่จะใช้สมาธิในช่วงเวลา      ที่สำคัญนั้น


·     ไม่เป็นคนผลัดวันประกันพรุ่ง  การผลัดวันประกันพรุ่ง เป็นสาเหตุที่สำคัญที่ทำให้งานไม่เสร็จทันเวลาที่ควรจะเสร็จ หรือเสร็จอย่างไม่มีคุณภาพ เนื่องจากต้องรีบทำในเวลาที่กำหนด  ผู้บริหารควรจะแบ่งงานออกเป็นส่วนย่อย ๆ ก่อน แล้วใช้เวลาทำส่วนย่อยนั้นไปทีละอย่างจนเกิดความรู้สึกว่างานที่ซับซ้อนที่แท้ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้  จึงทำให้งานประสบผลสำเร็จในที่สุด  การผลัดวันประกันพรุ่ง จึงอยู่ที่ความมีวินัยของผู้บริหารเองที่จะมีส่วนรับผิดชอบต่อการทำงานแต่ละอย่างให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด
                5.  หลีกเลี่ยงงานที่เปล่าประโยชน์    เวลาที่ผ่านไปนั้นจะมีช่วงเปล่าประโยชน์ ทำลายไปหลายช่วง หากผู้บริหารได้ใช้เวลาเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์โดยการทำงานเพิ่มเติม ก็จะช่วยให้เวลานั้น  มีคุณค่าเพิ่มขึ้น เทคนิคการหลีกเลี่ยงเวลาที่เปล่าประโยชน์  ผู้บริหารอาจต้องดำเนินการดังนี้


·     ใช้เวลาพักกลางวันให้มีค่า  ช่วงเวลาพักกลางวันเป็นช่วงที่ผู้ร่วมงานออกไปรับประทานอาหาร  ผู้บริหารหลายคนใช้เวลาช่วงนี้รับประทานอาหาร      เสร็จแล้ว คิดตัดสินใจเรื่องที่กำลังดำเนินการอยู่  ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังมีสมาธิปลอดเสียงรบกวนจากผู้อื่น จากผู้มาติดต่อหรือไร้เสียงโทรศัพท์ จะทำให้ใช้เวลาเปล่าประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ได้


·     หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ทำลายเวลา  งานหรือกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลา               ในการทำงาน ส่วนใหญ่แฝงมาโดยไม่รู้ตัว เช่น การมาทำงานสายโดยใช่เหตุ การอ่านหนังสือพิมพ์ในเวลาทำงาน  การนั่งเฉย ๆ เหม่อลอย การสูบบุหรี่    ในเวลาทำงาน   การพูดโทรศัพท์เรื่องส่วนตัวในเวลาทำงาน หรือชวนเพื่อนร่วมงานคุยเรื่องไร้สาระเป็นเวลานาน ๆ จนเสียเวลาในการทำงานโดยใช่เหตุ สิ่งเหล่านี้นับเป็นตัวทำลายกิจกรรมการทำงาน แทบทั้งสิ้น ผู้บริหารจึงควรตระหนักในกิจกรรมที่ทำให้เสียเวลาในการทำงานเหล่านี้ให้มาก  เพราะ      ถ้าหากนำเวลาเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ก็จะส่งผลดีต่อการทำงาน     ในที่สุด


·     ใช้เวลาที่รอคอยให้เป็นประโยชน์  ผู้บริหารที่ใช้ช่วงเวลาในการรอคอยนานๆ เป็นประจำ เช่น การเดินทางไปประจำต่างจังหวัดเป็นประจำ การรอรับภรรยาที่ทำงาน การรอรับบุตรที่โรงเรียน ซึ่งถ้าหากกิจกรรมเหล่านี้ใช้เวลาในการ  รอคอย ผู้บริหารควรใช้เวลาเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์  การโทรศัพท์ติดต่องาน หรือนึกวางแผนงานที่จะดำเนินการ  ในวันต่อไปก็จะเป็นการใช้เวลาที่เปล่าประโยชน์ให้เป็นประโยชน์              อีกทางหนึ่งด้วย

                6.  การประเมินผลการใช้เวลา  ผู้บริหารควรจะติดตามผลและประเมินผลการใช้เวลาในการปฏิบัติงานหรือกิจกรรมต่าง  ๆ  ของตนเอง และผู้ร่วมงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบความก้าวหน้า ของงานกับระยะเวลาที่ควรจะดำเนินไปว่าประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด โดยการวิเคราะห์ถึงอุปสรรคและแนวทางแก้ไข  หากว่างานหรือกิจกรรมนั้นมีความล่าช้า  อาจจะเกิด            ความเสียหายต่อองค์การได้  ผู้บริหารอาจจะประเมินการใช้เวลาดังต่อไปนี้


·     ประเมินความก้าวหน้าของงาน  เป็นการประเมินเพื่อที่จะทราบผลของการทำงาน     ว่าประสบผลหรือมีอุปสรรคสิ่งใดบ้าง และต้องการทราบว่าผู้ร่วมงานได้ใช้เวลาในการทำงานคุ้มกับค่าจ้าง หรือเงินเดือนหรือไม่ ผู้บริหารอาจใช้การวิเคราะห์เชิงธุรกิจ ประเมินผลงานก็ได้  เพื่อหาทางแก้ไขการบริหารงานที่ไม่ประสบผลสำเร็จว่าเกิดจากตัวแปรได้บ้าง


·     ประเมินผลการใช้เวลาในการทำกิจกรรมย่อย ในการทำกิจกรรมย่อยบ้างอย่าง เช่น การประชุม การโทรศัพท์ หรือการติดต่อกับบุคคลภายนอก ซึ่งเป็นกิจกรรมย่อยในองค์กร ผู้บริหารควรจะประเมินการใช้เวลาในกิจกรรมย่อยเหล่านี้ว่าได้ดำเนินไปสัมพันธ์กับผลที่ได้หรือไม่ เพื่อที่จะได้หาแนวทางแก้ไขในการทำงานกิจกรรมย่อยครั้งต่อไป


·     ใช้เวลาสำหรับการพักผ่อนแก่ตัวเองและผู้ร่วมงานบ้าง ในช่วงเวลาของการปฏิบัติงานอาจจะเป็นวัน เดือน ครึ่งปี หรือปี ก็ตาม เมื่องานที่ทำไปประสบผลสำเร็จและภูมิใจในผลของงานว่าได้ทำไปอย่างสุดความสามารถแล้ว ควรให้รางวัลสำหรับตัวเองและผู้ร่วมงาน โดยการพักผ่อนเพื่อคลายความตรึงเครียด เช่น การลาพักผ่อน ไปเที่ยวต่างจังหวัด กับครอบครัว หรือผู้ร่วมงาน ทั้งนี้จะได้มีกำลังใจในการปฏิบัติงานครั้งต่อไป  อย่างไรก็ตามในช่วงที่มีเวลาว่างควรที่จะหาเวลาออกกำลังกายเพื่อสุขภาพของตนเองอย่างน้อย จะเป็นการคลายกังวลและลดความตรึงเครียดลงระดับหนึ่ง 


                ดังจะเห็นได้ว่าทุกองค์การ ทรัพยากรที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่มีเกี่ยวข้องต่อการทำงานคือ “เวลา”และ “เวลา”เป็นสิ่งที่ทุกคนมีเท่ากัน แต่จะต่างกันที่การใช้ “เวลา”ที่มีอยู่เท่ากันนั้น ให้เป็นประโยชน์   แก่ตัวเอง หรือองค์การได้อย่างไร  หลักการบริหารเวลาจึงเป็นเทคนิค วิธีการ และศิลปะของบุคคล โดยเฉพาะผู้บริหารแต่ละคนโดยตรง ว่าได้ดำเนินการไปในทิศทางใด เหมาะสมกับงานแล้วหรือไม่ งานจึงเข้ามามีส่วนสัมพันธ์กับการใช้เวลา จนแยกออกจากกันไม่ได้ งานจะสำเร็จได้ทันตามกำหนดและเสร็จอย่างมีคุณภาพ ผู้บริหารจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์(Strategy)ในการรู้จักใช้เวลาให้สอดคล้อง       กับการทำงาน  โดยผู้บริหารจะต้องเป็นตัวจักรสำคัญของการบริหารสำคัญในทุกกระบวนการ          เมื่อบริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิผล ก็จะมีส่วนให้การทำงานมีประสิทธิภาพในที่สุด


-----------------------------------


ชาญชัย  อาจิณสมาจาร. 2531, นักบริหารที่ทรงประสิทธิภาพ. กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์.

ประสิทธิ์  หนูกุ้ง. 2535,  “ผู้บริหารกับการบริหารเวลา”  จุลสารพัฒนาข้าราชการพลเรือน ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน.

อินทิรา  หิรัญสาย. 2534, “การบริหารเวลาและประสิทธิภาพการบริหารงานตามภารกิจ
                    ของผู้บริหาร โรงเรียนมัธยมศึกษา ในเขตการศึกษา 2  วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์.
Douglas, M.E. and  Douglas D.N.1980, Manage  your time manage  your work manage  yourself. New York. AMACOM.

 

คำสำคัญ (Tags): #เวลา
หมายเลขบันทึก: 247360เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 21:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:25 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีค่ะท่าน

  • เวลา..เป็นสิ่งที่เราต้องรักษาให้มีความสำคัญเท่ากับสัจจะ และสัญญานะคะ
  • แต่ถ้า..เราต้องรอเวลา  ก็ไม่ต้องทำอะไร
  • มีบางคน..บ่นว่าไม่มีเวลา..น่าจะกลับไปคิดใหม่นะคะ
  • บันทึกของท่าน เป็นประโยชน์มากค่ะ
  • ถ้าจะทำ..ควรลงมือทำดีกว่าที่จะเลือกเวลา

สวัสดีค่ะ ท่านประสิทธิ์

ท่านยอดเยี่ยมเหมือนเดิม 
และจะมากกว่าเดิมอีกนะคะเนี่ย
ขอบคุณค่ะที่นำทรัพยากร "เวลา" มาร่วมแจม
แต่ท้ายที่สุด "การบริหารคน"ก็เป็นส่วนที่จะมองข้ามไม่ได้

ขอบคุณที่คัดสรรมาฝากเราค่ะ

มีผู้รู้ ได้สอนไว้ว่าทรัพย์สินที่พึงได้จากการประกอบ กิจการงานต่าง ๆ นั้น ควรแบ่งออกเป็น 4 กองเท่าๆ กัน กองแรก เก็บสะสมไว้ใช้ยามขัดสน กองสอง ใช้จ่ายเพื่อทดแทนผู้มีพระคุณ กองสาม ใช้เพื่อความสุขส่วนตัว กองสี่ ใช้เพื่อสร้างสรรค์ความดีงามให้แก่สังคม แล้วการทำงานของมนุษย์ล่ะ หลายคนยังมัววุ่นแก่การทำงานโดยไม่ ยอมแบ่งเวลาเหลียวหลังมองถึง บุคคลที่รักและห่วงใยตนเองเลยหรือ??? มนุษย์บางคนทุ่มเวลาทั้งหมดให้แก่หน้าที่การงาน พร้อมกับคิดว่า การกระทำดังนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แล้ว แต่นั่นคือการกระทำที่โง่เขลาเป็น ที่สุด ทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่า ๆ กัน แต่ผู้ใดที่ทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับ งาน โดยไม่ยอมแบ่งปันเวลาให้แก่ผู้ใด แม้กระทั่งตัวเองเป็นมนุษย์ที่เขลา เบาปัญญาที่สุด บริหารไม่ได้แม้กระทั่งเวลา 24 ชั่วโมงของตัวเองในแต่ละวันแล้ว มนุษย์ผู้นั้นจะบริหารอะไรได้ ทำไมมนุษย์ผู้ชาญฉลาดจึงไม่แบ่งปันเวลา ให้เสมือนหนึ่งการแบ่งปันกองเงิน ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าบ้างเล่า ... ไม่ต้องแบ่งเวลาให้เป็นสี่กองเท่า ๆ กันหรอก เพียงแต่แบ่งปันเวลาในแต่ละส่วนให้ เหมาะสมเท่านั้น 8 ชั่วโมงสำหรับการทำงาน เพื่อความก้าวหน้ามั่นคงในชีวิต 8 ชั่วโมงสำหรับการพักผ่อน เก็บเรี่ยวแรงไว้ต่อสู้กับหน้าที่ การงานและอุปสรรคในวันพรุ่งนี้ 5 ชั่วโมงสำหรับการเดินทาง เพื่อประกอบกิจการต่าง ๆ 2 ชั่วโมงสำหรับโลกส่วนตัวของตนเอง 59 นาที สำหรับดูแลและรักษาความสะอาดของที่อยู่อาศัย และช่วยเหลือสังคม และ 1 นาทีของคุณ ที่มอบให้กับคนที่รักและห่วงใยคุณ โดยไม่นำเวลาอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องเพราะเพียง 1 นาทีนี้ มันมีค่ามากเกินกว่าคณานับได้ในความรู้สึกของเขาคนนั้น จงอย่ากล่าวว่า ' ไม่มีเวลา... ' เพราะเวลาเป็นสิ่งที่ยุติธรรมที่สุด ในโลกนี้ที่มีให้แก่มนุษย์ มนุษย์ทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่า ๆ กัน ไม่มีใครมีเวลามากและไม่มีใครมีเวลาน้อยไปกว่านี้ 24 ชั่วโมงใน 1 วัน ที่มหาเศรษฐี หรือยาจก มีเท่าเทียมกันไม่ขาดเกินแม้แต่เศษ เสี้ยวของวินาที ด้วยเหตุนี้ มนุษย์ผู้ใดที่กล่าวว่า ' ไม่มีเวลา ' จึงเป็นผู้ล้มเหลวในการบริหารเวลา 24 ชั่วโมง ในแต่ละวันของตนเองอย่างสิ้นเชิง และใช้คำว่า ' ไม่มีเวลา ' เป็นข้อแก้ตัวเพื่อปกปิด ความล้มเหลวเรื่องเวลาของตนเองอย่างขลาดเขลา มนุษย์ผู้ฉลาดและประสบความสำเร็จในชีวิต จึงไม่ใช่ผู้ที่เก่งแต่การทำงาน อย่างเดียว แต่มนุษย์ผู้ฉลาดและประสบความสำเร็จ ในชีวิต ต้องเป็นผู้ที่รู้จักแบ่งสัดส่วน เวลาวันละ 24 ชั่วโมงของตนเอง ได้อย่างลงตัว วันละ 24 ชั่วโมงของตนเอง ที่มีไว้สำหรับการทำงาน การพักผ่อน การเดินทาง มิตรภาพ ความรัก ความอบอุ่น ความห่วงใย ความเอื้ออาทร ฯลฯโดยไม่ขาดตกบกพร่องแม้แต่สิ่งหนึ่ง สิ่งใด ที่เข้ามาเกี่ยวข้องในชีวิต นี่แหละ คือมนุษย์ผู้ชาญฉลาดที่รู้จัก ' ใช้เวลา ' แล้ววันนี้..คุณจะยังอ้างเหตุผลว่า ' ไม่มีเวลา ' อีกหรือ? จงเปลี่ยนความคิดของคุณตั้งแต่บัดนี้นะครับ และกรุณาส่งต่อไปยังเพื่อนหรือคนสนิทของคุณด้วยน่ะ

จาก http://gotoknow.org/blog/krujunram/249263

เป็นบทความที่ดีมากค่ะสามารถนำไปปรับใช้ได้ดีในการดำเนินชีวิตในทุกๆเรื่อง

ขอบพระคุณค่ะ เป็น บทความที่ดีมาก เป็นประโยชน์ สามารถนำไปเป็นแนวทางในการปรับใช้ในการทำงานได้เป็นอย่างดี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท