Reflection เพื่อค้นหาตัวตนทางวิชาการ (5):งานวิจัยระดับปริญญาตรีและโท และความเป็นไปได้ในระดับปริญญาเอก


เราอาจจะสามารถหาหลักการอะไรบางอย่างที่กระตุ้นให้คนสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้ และใช้ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตของตนได้ ซึ่งผมคิดว่าจะนำไปสู่การสร้างสถาบันทางสังคมที่ทำให้คนมีประสิทธิภาพและมี ผลิตภาพมากขึ้นได้

ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่สี่ เทอมสอง ผมได้ลงเรียนวิชาสัมมนาเศรษฐศาสตร์เกษตร ผมลงวิชานี้เพราะว่าผมต้องการที่จะมีสาขาเอกเป็นสาขาเศรษฐศาสตร์เกษตร ควบคู่ไปกับอีกสาขาหนึ่งคือสาขาเศรษฐศาสตรทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในวิชาสัมมนาเราต้องทำรายงานชิ้นใหญ่ชิ้นหนึ่ง ก็คือ Thesis  ของระดับปริญญาตรีนั่นเอง  จากนี้จะเรียกว่ารายงานสัมมนา

ตอนที่ผมจะเริ่มทำก็คิดอยู่มากเหมือนกันว่า จะทำหัวข้ออะไรดี หัวข้อยอดนิยมมักจะเกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าเกษตร หรืออะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องตลาด/สินค้า/ต้นทุนการผลิต ของสินค้าเกษตร จะมีบ้างที่เป็นหัวข้อที่ฉีกแนวไปบ้าง อย่างเช่นในปีก่อนผม นฤมล กล้าทุกวัน ทำเรื่องเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน เป็นต้น  ตัวผมเองไม่ได้สนใจในเรื่องประเภทดังกล่าว และทักษะด้าน เศรษฐมิติตอนนั้นไม่ได้ดีนัก (ตอนนี้ดีขึ้นแล้ว) ประเด็นด้านราคาจึงไม่อยู่ในความสนใจ อีกทั้งผมไม่ได้มีความรู้ในเรื่องสินค้าเกษตรแบบเฉพาะเจาะจงลงไปมากนัก เรื่องสินค้าเกษตรและการผลิตจึงไม่ได้อยู่ในความสนใจเช่นกัน

ช่วงนี้เป็นช่วงเดียวกับตอนที่ผมเริ่มมีความคิดเกี่ยวกับเรื่องการจัดการความรู้และเริ่มหมกมุ่นทำกิจกรรมในด้านนี้ ประกอบกับผมค่อนข้างสนใจเกษตรยั่งยืนมากเป็นพิเศษ หลังจากอ่านหนังสือกที่ว่าด้วยเรื่องทฤษฎีใหม่ของในหลวง(ตั้งแต่ช่วงประมาณปีหนึ่งปีสอง ส่งผลให้ผมทำรายงานในวิชาเศรษฐศาสตร์เกษตร​ EC491 ในเรื่องเกษตรอินทรีย์ด้วย) ในหนังสือเล่มนั้นมีการพูดถึงตัวอย่างปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านที่ปฏิบัติสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงอยู่ด้วย  ผมเลยเกิดคำถามว่า ในบริบทของภาคเกษตรเนี่ย ภูมิปัญญาชาวบ้านนี่มันเกิดขึ้นมาได้ยังไงและส่งต่อผ่านรุ่นต่อรุ่นหรือกระจายตัวภายในรุ่นได้อย่างไร

โชคดีมากๆที่ก่อนนั้นผมได้เรียนสองวิชาที่สำคัญก็คือ เศรษฐศาสตรสถาบันการเกษตร (EC492) โดยอ.สมบูรณ์ ศิริประชัยผู้ล่วงลับ และ วิชาทษฤฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคเปรียบเทียบ (EC418 วิชาเลือกในหมวดทฤษฎี) โดยอ.ปกป้อง จันวิทย์ และอ. ภาวิน  ศิริประภานุกูล  ในวิชาแรกได้กล่าวไปแล้วในบทก่อนหน้านี้ วิชาหลังนี่ยังไม่ได้กล่าวถึง   EC418 เป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับสำนักต่างๆทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ในบรรดาสำนักต่างๆ Neo-Austrian Economics เป็นสำนักที่ผมสนใจที่สุด และใช้มันในการอธิบายการเกิดขึ้นของภูมิปัญญาชาวบ้านในรายงานอีกด้วย  คำอธิบายก็คือ ในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มหภาคของ Keynesian อธิบายการตัดสินใจของคนว่าเป็น Adaptive Expectation คือ ใช้ข้อมูลในช่วงเวลาก่อนเป็นฐานในการตัดสินใจในช่วงเวลาปัจจุบัน Neo-Austrian ตั้งคำถามว่า ถ้าเกิดหน่วยเศรษฐกิจเข้ามาในตลาดเป็นครั้งแรกเลย หรือว่าเผชิญปัญหาบางอย่างเป็นครั้งแรกเนี่ย แล้วเค้าจะเอาข้อมูลอะไรมาเป็นฐานในการตัดสินใจในปัจจุบันล่ะ?  ตรงจุดนี้เองที่ Neo-Austrian ได้นำเสนอว่าในจุดนี้เรื่องความคิดสร้างสรรค์และความสามารถในการแก้ปัญหาจึงเข้ามามีบทบาทในทฤษฎีเศรษฐศาสตร์

จากสองวิชาดังกล่าว ผมจึงได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเกิดขึ้นของภูมิปัญญาชาวบ้านและการกระจายตัวของภูมิปัญญาดังกล่าว โดยมองจากมุมเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ และเศรษฐศาสตร์ Neo-Austrian โดยคาดหวังว่า เราอาจจะสามารถหาหลักการอะไรบางอย่างที่กระตุ้นให้คนสร้างสรรค์ แก้ปัญหาได้ และใช้ข้อมูลที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตของตนได้ ซึ่งผมคิดว่าจะนำไปสู่การสร้างสถาบันทางสังคมที่ทำให้คนมีประสิทธิภาพและมีผลิตภาพมากขึ้นได้

อย่างไรก็ดี รายงานสัมมนาดังกล่าวอาจไม่สมบูรณ์นักในเชิงของงานวิจัย ทั้งนี้เพราะดูเหมือนว่าผมอาจจะต้ังคำถามที่มันใหญ่เกินไป สำหรับรายงานปริญญาตรี ส่วนหนึ่ง เรื่องการใช้ภาษาและวิธีการวิเคราะห์หลักฐานเพื่อนำไปสู่การสร้างบทสรุปเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่นั่นก็เป็นข้อจำกัดจากชุดทักษะที่ได้จากการเรียนปริญญาตรี  ถึงกระนั้น รายงานฉบับนี้ได้ถูกเลือกเป็นรายงานสัมมนาดีเด่นแห่งปีสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ภาคภาษาไทย ผมเข้าใจว่าเนื่องด้วยความแปลกใหม่ในเชิงของหัวข้อและกรอบทฤษฎีที่นำมาใช้ และความตั้งใจเบื้องหลังของงานฉบับนี้ที่ผมเขียนลงไป

ความตั้งใจนี้นำมาซึ่งงานระดับปริญญาโท ที่ผมโฟกัสลงไปเฉพาะที่เครือข่ายนวัตกรรมชาวบ้านที่ จ.บุรีรัมย์  เพื่อพยายามทำความเข้าใจว่า ทำไมชาวบ้านถึงมาร่วมกับเครือข่าย และร่วมลงแรงและแบ่งปันประสบการณ์เพื่อร่วมพัฒนาเทคนิควิธีในการทำเกษตรพอเพียงในพื้นที่ขนาด 1 งาน  หรือพูดอีกอย่างก็คือ วิเคราะห์ว่าทำไมชาวบ้านถึงไม่ Free-ride นั่นเอง ที่ตั้งคำถามแบบนี้เพราะว่า องค์ความรู้ หรือเทคนิควิธีด้านเกษตรยั่งยืนเป็นสินค้ากึ่งสาธารณะ Semi-excludable Public goods คือ เวลาคนไปดูและเอาเทคนิคมาใช้ มันก็ไม่ได้ไปลดความสามารถของคนอื่นในการนำเอาเทคนิคไปใช้ (non-Rivalry) ในขณะเดียวกัน มันก็ไม่สามารถกีดกันคนไม่ให้เข้าถึงเทคนิคดังกล่าวได้ (non-excludable) อย่างไรก็ดี การเข้าถึงได้มิใช่ว่าจะสามารถนำเอาไปใช้ได้ เพราะว่าต้องมีทักษะบางอย่าง หรือมความรู้พื้นฐานบางอย่างด้วย เทคนิคเหล่านี้จึงจัดเป็น semi-excludable  ด้วย   งานนี้ใช้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องการจัดการทรัพยากรร่วม (common-pool resource management) ของ Elinor Olstrom มาเป็นกรอบในการวิเคราะห์  อย่างไรก็ดี เนื่องด้วยข้อจำกัดด้านภาษาในตอนนั้นและเวลาที่บีบรัดพอสมควรจึงทำให้คะแนนออกมาไม่ดีนัก

ณ วันนี้ หากทบทวนดู ผมคิดว่า หากผมสามารถทำงานปริญญาเอกในเรื่องที่เกี่ยวข้องก็คงจะดีไม่น้อย เพราะว่าประสบการณ์ต่างๆดูจะนำพาผมมาในทางนี้ และผมคิดว่า เราน่าจะทำงานปริญญาเอกในประเด็นที่สอดคล้องกับความสนใจและพื้นฐานประสบการณ์ของเราเอง

ผมคิดว่าหัวข้อที่น่าจะเป็นคือ New Institutional Economics of Sustainable Agricultural Practice and Innovation ผมจินตนาการว่าเป้าหมายของมันคือศึกษาทุกแง่มุมของ Practice และ Innovation ใน Sustainable Agriculture โดยใช้กรอบทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์สถาบันแนวใหม่ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้เกี่ยวกับเงื่อนไข และสิ่งแวดล้อม ที่จะทำให้ชาวบ้านในชนบทที่ทำเกษตร สามารถพึ่งตนเองในทางเทคโนโลยีได้ ในขณะเดียวกันก็สามารถร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพ และผลิตภาพมากขึ้นได้ในระยะยาว

ความรู้นี้ผมว่ามีประโยชน์หลายอย่างทีเดียว  ประการแรก ผมคิดว่า มันจะทำให้เราเข้าใจมากขึ้นว่า ตัวชาวบ้านและเงื่อนไขที่แวดล้อมเค้าทำงานร่วมกันอย่างไร จึงทำให้ชาวบ้านเองสร้างนวัตกรรมหรือพัฒนาเทคนิควิธีต่างๆได้ ประการที่สอง น่าจะเป็นหลักการสำหรับการวางนโยบายที่จะทำให้ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองด้านเทคโนโลยี และพัฒนามันได้อย่างยั่งยืนทั้งในเชิงของการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของเทคโนโลยี และความยั่งยืนในแง่ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ประการที่สาม หากทำได้จริงผมคิดว่าอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับคำว่า “การศึกษา” ก็ได้ คือ ชุดของสถาบันดังกล่าวนั้นผมมองว่ามันเหมือนเป็นเครื่องมือที่จะไปกระตุ้นการพัฒนา Tacit Knowledge ในตัวของชาวบ้าน ผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นว่าจริงๆแล้วแม้ชาวบ้านจะจบแค่ป. 4 แต่เรื่องเกษตรนี่เขาคือ Expert และ Expert พอที่จะพัฒนาองค์ความรู้ต่อได้ด้วย ฉะนั้นการศึกษาสำหรับคนชนบทในประเทศกำลังพัฒนาจึงอาจจะไม่ใช่เรื่องของการให้คนเข้าไปเรียนในระบบการศึกษาของรัฐ  (และส่งผลไปถึงการละทิ้งถิ่นฐานและเปลี่ยนอาชีพ) แต่อาจจะเป็นการวางระบบสถาบันที่จะทำให้เขาสามารถเรียนรู้จากตัวของเขาเองได้ กลั่นประสบการณ์และพัฒนาให้เป็นองค์ความรู้ของเขาได้ต่างหาก  หากระบบการศึกษาทางการของรัฐ และระบบสถาบันที่ทำให้เขาเรียนรู้และพัฒนาองค์ความรู้ได้เองดำเนินเคียงคู่กันไป ผมเชื่อว่า ภาคเกษตรจะพัฒนาไปได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืนในทุกๆมิติ

หมายเลขบันทึก: 246956เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2009 17:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อืม...เข้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท