อำนาจกับการบริหาร


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

อำนาจกับการบริหาร

 

                การบริหารกิจการใดๆ คงจะต้องอาศัย ศาสตร์ ที่เหมือนๆกันแต่มักจะต่างกันที่ ศิลปะ ในการบริหารที่ต่างกัน ซึ่งจะต้องใช้เทคนิควิธีการที่แต่ละคนมี มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้งานประสบความสำเร็จดังที่มุ่งหวัง โดยจะต้องใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดแต่ผลผลิตได้ผลเกินความคุ้มค่า ประทับใจการบริการและผลงานตกผลึกอยู่ในใจผู้เกี่ยวข้อง และระลึกถึงอยู่ตลอดเวลา

                ในการบริหารการศึกษา  ผู้บริหารหลายคนมักใช้ อำนาจที่มีอยู่เพื่อใช้เป็นหลักในการบริหาร เพื่อให้การบริหารเป็นไปตามทิศทางที่ต้องการ  อำนาจการบริหารที่มีอยู่ ตามที่นักวิชาการได้สรุปไว้มีอย่างน้อย  8  ประการ ประกอบ ด้วย

1.    อำนาจที่กฎหมายรับรอง เป็นอำนาจที่ได้มาจากที่ตนเองดำรงตำแหน่ง มีกฎหมายรับรอง เช่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ตำแหน่งรองผู้อำนวยการ มีอำนาจตามที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547  กำหนด ตำแหน่งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาราชการแทน ก็ย่อมมีกฎหมายรองรับให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ภายใต้กฎหมายที่ให้อำนาจไว้ อำนาจที่กฎหมายรับรองนี้ จึงเป็นการมีมากับตำแหน่งหรือมาตรฐานตำแหน่งที่กำหนด

2.    อำนาจที่เกิดจากคุณงามความดี เป็นอำนาจที่เกิดจากการสร้าง สะสมความดีของตนเองมาในชีวิตหรือบางครั้งเกี่ยวข้องกับวงค์ตระกูลด้วย   การมีอำนาจด้านนี้ จึงเป็นคุณลักษณะเฉพาะของคน ที่ได้กระทำดีมาโดยตลอดทั้งก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง ขณะดำรงตำแหน่ง  อำนาจนี้อาจจะมีให้เห็นโดยทั่วไป เช่นเพื่อนร่วมงานก็เป็นได้ เพราะคนนั้นมีการประกอบคุณความดีจนเป็นที่ยอมรับ ศรัทธาจากคนทั่วไป ยอมปฏิบัติตามหากบุคคลนั้นมีอำนาจด้านนี้ และบางครั้งอำนาจด้านนี้ไม่จำเป็นต้องดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหาร

3.    อำนาจที่เกิดจากความเก่ง เชี่ยวชาญ  เป็นความเก่ง อัจฉริยะ หรือเชี่ยวชาญด้านหนึ่งด้านใดหรือหลายด้าน ที่ผู้บริหารคนนั้นมี จนเป็นที่ยอมรับแก่บุคคลทั่วไป อำนาจนี้มีไม่เท่ากันทุกคน การเก่ง อาจหมายถึง เก่งคน เก่งคิด เก่งงาน เก่งเรียน เก่งดำเนินชีวิตด้วย ส่วนความเชี่ยวชาญนั้นอาจจะมาจากการสร้างสมประสบการณ์ จนสามารถเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะในปัจจุบันผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญด้าน ICT  จะเป็นที่ยอมรับว่าเป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่สามารถใช้เทคโนโลยีในการบริหารและจัดการได้เข้ากับยุคสมัย

4.    อำนาจจากการใช้พระเดช/พระคุณ อำนาจแบบนี้มีทั้งเชิงลบ (การลงโทษ/มาตรการทางวินัย) และเชิงบวก(การให้รางวัลจูงใจตอบแทน/มาตรการเชิงวินัยอย่างสร้างสรรค์)  อำนาจแบบนี้อยู่ที่ศิลปะการใช้อำนาจของผู้บริหารแต่ละคน ลอกเลียนแบบกันยาก ต้องอิงกฎหมาย ความเก่ง ความดี อย่างกลมกลืน

5.    อำนาจที่เกิดจากการอ้างอิงพึ่งพาผู้อื่น เป็นอำนาจที่ผู้บริหารใช้การอ้างอิงบุคคลอื่นที่มีชื่อเสียง หรือได้รับการยกย่องในสังคม โดยใช้ความสนิท เครือญาติ ผู้ใต้บังคับบัญชา มาใช้ให้เป็นประโยชน์  จึงเป็นศิลปะในการยืมใช้อำนาจบารมีของผู้อื่นที่เป็นที่ยอมรับในสังคมหรือเป็นที่เชื่อถือในองค์กร

6.    อำนาจด้านมืด  เป็นอำนาจที่เกิดจากอิทธิพล ความชั่วร้าย วิชามาร เล่ห์เหลี่ยม กลโกง อุบายในทางไม่ดีไม่งาม เพื่อข่มขู่ ข่มเหงให้ยอมตาม เป็นอำนาจที่ไม่ยั่งยืน คงทนถาวร ในวงการศึกษามักไม่ใช้อำนาจในด้านนี้

7.    อำนาจที่เกิดจากการแต่งตั้ง เป็นการได้รับอำนาจโดยการแต่งตั้งจากผู้มีอำนาจให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใด การแต่งตั้งจึงเป็นดาบสองคม คือหากแต่งตั้งบุคคลที่ดีมีความรู้ความสามารถแล้ว ก็จะได้รับการสรรเสริญชื่นชม  แต่หากแต่งตั้งบุคคลผิดแล้ว กลับเป็นที่คับข้องใจ อึดอัดใจแก่ผู้ร่วมงาน ซึ่งขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้แต่งตั้งในการแต่งตั้งบุคคลหนึ่งบุคคลใดให้มีอำนาจขึ้นมา

8.    อำนาจที่เกิดจากการเลือกตั้ง เป็นอำนาจที่ได้มาโดยการที่ใช้เสียงส่วนใหญ่หรือระบบประชาธิปไตยเป็นที่ตั้ง ผู้ที่ได้มาจึงมาจากเสียงส่วนใหญ่และหากเป็นเสียงที่เอกฉันท์แล้ว ก็จะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับเป็นอย่างยิ่ง  เป็นที่ยอมรับกับผู้ร่วมงาน หรือบุคคลส่วนมากว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสม

อำนาจกับการบริหารจึงเป็นสิ่งคู่กัน เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน ผู้บริหารที่ไม่ใช้อำนาจก็จะเป็นผู้บริหารไม่เต็มรูปแบบ คือมีอำนาจแต่ไม่ใช้อำนาจในการแก้ปัญหาหรือพัฒนางาน และผู้บริหารที่ใช้อำนาจล้นตัว มัวเมา ใช้พร่ำเพรื่อ ก็จะถูกเรียกว่าผู้บริหาร บ้าอำนาจ จึงต้องดูความสมดุล ดู เรื่อง ดูเหตุการณ์ ของการใช้ ให้เหมาะสม จึงจะได้รับการยกย่องนับถือว่าเป็นผู้บริหารที่ดี มีความสามารถ เมื่อใช้อำนาจได้อย่างกลมกลืนก็จะบริหารได้ประสบความสำเร็จงานบรรลุวัตถุประสงค์ องค์กรก็จะประสบความสำเร็จในที่สุด

 

 

………………………

กฤษฎ์  อุทัยรัตน์. 2545,  คัมภีร์หัวบริหารยอดคน ยอดบริหาร ภาคพิสดาร. กรุงเทพฯสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น).

อุทัย  หิรัญโต.2531,หลักการบริหารงานบุคคล. กรุงเทพฯ:โอเดียนสโตร์.

คำสำคัญ (Tags): #การบริหาร
หมายเลขบันทึก: 246828เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2009 02:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ได้ข้อคิดดีๆ ยามดึก ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

  • การทำงานด้วยหน้าที่..ที่รับผิดชอบ
  • ในฐานะตำแหน่งชองข้าราชการนั้น
  • เป็นการทำเพื่อ..ประเทศชาติ
  • แต่..ส่วนมากเขาลืม..ค่ะ
  • คิดว่า..ทำเพื่อตัวเอง
  • ก็เลย..เกิดการขัดแย้งต่าง ๆ นานา
  • ขอเป็นกำลังใจให้พี่น้องชาวใต้ค่ะ

นักบริหารควรมี ทั้ง IQ EQ AQ และMQ ก็จะนำองค์กรสู่เป้าหมายที่ต้องการได้

การสงบนิ่ง วางตัวสุขุมลุ่มลึก มีภาวะผู้นำ มีเหตุและผล อยู่บนความถูกต้องไม่ใช่ถูกใจ

ก็จะสามารถสยบปัญหาทั้งปวงได้ อีกทั้งทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวันแล้วปรับเปลี่ยนใช้เทคนิควิธีเชิงบวก ใจก็เป็นสุข ทุกๆคนก็เป็นสุข

ขอเป็นกำลังใจให้นักบริหารทุกคนนะ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท