ปัญหาของไฟล์ PDF


สิ่งที่สำคัญของปัญหาทุกปัญหาก็คือ การที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเรารู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้ นั่นต่างหากคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อไม่รู้ก็ต้องถาม เมื่อผิดต้องแก้ไข

บางทีก็นั่งคิดอยู่เหมือนกันว่า ทำไมเรามักมีโอกาสได้เจอะเจออะไรๆ ที่ค่อนข้างทันสมัยอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องที่มักเป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ อย่างตอนที่มีนมปนเปื้อนสารเมลามีน แล้วเด็กๆ เป็นโรคนิ่วในไตกันเยอะๆ เราก็ดันเป็นกับเขาด้วยในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน โชคดีอยู่หน่อยตรงที่โตแล้ว ร่างกายมันเลยขับออกไปได้เอง ไม่ต้องเจ็บตัวมากมายนัก หรือก่อนหน้านี้ตอนที่บัตรเครดิตถูกขโมยข้อมูลบัตรกันไปปลอมเป็นบัตรใหม่ เราก็โดนไปกับเขาด้วย โชคดีที่ไม่ได้ถูกปลอมลายเซ็นไปด้วย งานนั้นเลยรอดตัวไป ไม่ต้องใช้หนี้ที่ตนไม่ได้ก่อ และเมื่อสองสามวันที่ผ่านมานี้ ก็ได้พบเหตุการณ์แบบที่น้องๆ กำลังจะสอบเอเน็ต โอเน็ตเจอกัน นั่นคือปัญหาเรื่องไฟล์ PDF อันนี้ก็ไม่ได้คิดว่าจะเจอ แต่ปรากฏว่าส่งงานเอกสารที่เซฟเป็นไฟล์ PDF ไปแล้ว ปลายทางโทรมาบอกว่า ช่วยใช้ฟ้อนท์ภาษาอังกฤษให้เหมือนกับที่เขากำหนดมาให้ได้ไหม นั่นคือ AngsanaNew เราก็รีบเช็คไฟล์เช็คฟ้อนท์ที่ใช้ ปรากฏว่ามันก็ AngsanaNew นี่แหละ ไปเช็คที่ไฟล์ PDF ฟ้อนท์ภาษาอังกฤษก็มีขา (Serif font) แต่ปลายสายบอกว่าเขาพริ้นท์ออกมาแล้วมันดูเป็นฟ้อนท์ Helvetica คือฟ้อนท์ที่ไม่มีขา (Sans serif) ก็เลยต้องถามไถ่กันว่าพริ้นท์จากเครื่องพริ้นท์อะไร ปรากฏว่าก็เป็นเครื่องพริ้นท์เลเซอร์สีนั่นเอง เราก็เลยชี้แจงแถลงไขปลายสายไปว่า "นี่ไงพี่ ปัญหาของเอเน็ต...ถ้าพี่ใช้เครื่องอิงค์เจ็ตพริ้นท์ พี่ก็จะได้ฟ้อนท์แบบที่พี่ต้องการ ลองกลับไปดูที่ไฟล์ PDF ได้เลยค่ะว่าฟ้อนท์ที่ใช้ถูกต้องแน่ๆ"

ปัญหาของเอเน็ตนั้นก็ทำนองนี้เหมือนกัน ผู้เขียนได้อ่านความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญการใช้งานซอฟท์แวร์ตัวนี้ จากเว็บ http://www.thaiadobeuser.com/board/viewtopic.php?t=4721&highlight=%BB%D1%AD%CB%D2%E4%BF%C5%EC+pdf

โดยขอยกข้อความอธิบายปัญหาดังกล่าวที่คุณขจรและ Mr. PDF เขียนเอาไว้มาประกอบ ซึ่งคุณขจรเขียนไว้บางตอนว่า "...ผมก็เลยลองดูแบบฟอร์มของสกอ.เลยรู้ถึงความห่วยแตกในเรื่องการสื่อสารกับเด็ก นั่นก็คือไม่มีการแนะนำการทำงานกับแบบฟอร์ม ว่าควรจะทำอย่างไร ปัญหาของมันคือโปรแกรมที่เขาสร้างเป็นแบบฟอร์ม เขาใช้ระบบ FPDF ที่มี Barcode เป็น Font ซึ่ง Laser บางรุ่นไม่สามารถพิมพ์ได้ แต่การที่พิมพ์ Inkjet นั้นได้ เพราะเป็นการพิมพ์แบบ Image" และ Mr.PDF ได้เข้ามาตอบต่อว่า "ปัญหาจากการพิมพ์ไฟล์ PDF มันมีหลายปัญหา โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ที่ต่างเทคโนโลยีกัน แม้กระทั่งพวกเราที่อยู่ในวงการพิมพ์ สร้างไฟล์ PDF มาด้วยความพิถีพิถ้น ยังมีปัญหากับการพิมพ์เลย

ถ้าองค์กรที่สร้างไฟล์ PDF และไม่เข้าใจระบบการใช้งานที่ถ่องแท้ ก็ยิ่งก่อให้เกิดปัญหาขึ้นไปอีก เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คงโทษเด็กไม่ได้ เพราะเขามีเครื่องพิมพ์อะไร เขาก็จะใช้เครื่องนั้นพิมพ์ออกมา หรือถ้าไม่มีก็ไปอาศัยเพื่อน โรงเรียนช่วยพิมพ์ให้

การพิมพ์ไฟล์ PDF กับเครื่องพิมพ์ที่มีภาษาที่ใช้สำหรับการประมวลผลข้อมูล และสร้างภาพสำหรับการพิมพ์ ยิ่งต้องทำความเข้าใจให้มายิ่งขึ้น เพราะ PDF จะทำงานได้ดีกับ Printer ที่ใช้ภาษา Postscript แต่เครื่อง Printer ทั่วๆ ไปที่ใช้ตามบ้าน และสำนักงาน ล้วนแล้วแต่จะใช้ภาษาของ HP คือ PCL และ PCL แต่ละรุ่นก็ทำงานไม่เหมือนกัน จึงทำให้มีปัญหากับการพิมพ์ไฟล์ PDF อย่างเช่น การพิมพ์ฟ้อนต์ไม่ออก หรือพิมพ์แล้วผิดพลาด

Barcode ก็เป็นการใช้ฟ้อนต์มาสร้างเป็นรหัสแท่ง ถ้าไปเจอเครื่องพิมพ์ที่ไม่รับ หรือพิมพ์ฟ้อนต์ของ Barcode ผิดพลาด ก็จะทำให้เครื่องอ่าน Barcode ไม่ได้ นี่แหละคือ ประเด็นปัญหา ของนักศึกษา ที่พิมพ์ใบสมัคร ออกมาแล้ว เครื่องอ่าน barcode ไม่สามารถอ่านได้

เมื่อพูดถึงการพิมพ์เครื่อง inkjet อย่างที่ สกอ. บอก มันก็สามารถพิมพ์ได้ เพราะมันพิมพ์เป็นรูปภาพ (เหมือนที่ขจรบอก) ไม่มีการส่ง-รับข้อมูลเป็นภาษาต่างๆ มันจะพิมพ์ออกมาเป็นภาพเท่านั้น กรณีเช่น barcode จะพิมพ์ออกมาได้ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีปัญหาน่ะครับ เกิดเด็กใช้เครื่องพิมพ์ Inkjet คุณภาพต่ำ barcode ที่ออกมาไม่สมบูรณ์ ก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหากับเครื่องอ่านเหมือนกัน..."

เมื่อผู้เขียนได้อ่านเจอคำอธิบายเหล่านี้ก่อนที่จะเจอปัญหาจริงกับตัวเอง ผู้เขียนก็เลยเข้าใจและพอจะหาทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปได้

ผู้เขียนเองก็ไม่อยากจะเขียนถึงเรื่องของเอเน็ตโอเน็ต เพราะไม่ได้มีประสบการณ์ร่วมและไม่ได้รับรู้ข้อเท็จจริงทุกประการแบบไม่หมกเม็ด เพียงแต่สิ่งที่เจอในงานของผู้เขียนเองมันทำให้เกิดการเชื่อมโยง เลยอดไม่ได้ที่จะเอ่ยถึงเรื่องดังกล่าว เพราะผู้เขียนเองก็คิดเสมอว่า มันไม่ใช่ทุกครั้งที่เราจะได้เจอปัญหาทุกปัญหาด้วยตัวเราเอง ดังนั้นปัญหาบางอย่างเราก็จะไม่รู้ว่า ปัญหานั้นมันเกิดขึ้นได้ยังไง และเป็นเพราะอะไรจึงเกิดขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญของปัญหาทุกปัญหาก็คือ การที่ปัญหาเกิดขึ้นแล้วเรารู้วิธีที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆ ให้ลุล่วงไปได้ นั่นต่างหากคือสิ่งที่สำคัญที่สุด เมื่อไม่รู้ก็ต้องถาม เมื่อผิดต้องแก้ไข แต่ถ้ายังดื้อดึง สุดท้ายก็จะฉลาดภายใต้ความโง่ของตัวเอง

 

หมายเหตุ : Serif font หมายถึง ฟ้อนท์ที่มีขา คือที่ขาแต่ละด้านของแบบฟ้อนท์นั้นๆ จะมีปลายยื่นออกมา เช่น ฟ้อนท์ภาษาอังกฤษของ AngsanaNew ส่วน Sans serif font หมายถึง ฟ้อนท์ที่ไม่มีขา เช่นฟ้อนท์ภาษาอังกฤษของ Cordia New หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://en.wikipedia.org/wiki/Sans-serif

 

หมายเลขบันทึก: 246287เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 17:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 กรกฎาคม 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท