ประวัติสหกรณ์ 7 ประเภท


สหกรณ์การเกษตร, สหกรณ์ประมง, สหกรณ์นิคม, สหกรณ์ร้านค้า, สหกรณ์บริการ, สหกรณ์ออมทรัพย์, สหกรณ์เครดิตยูเนียน

 

 

 

 สหกรณ์การเกษตร

     สหกรณ์การเกษตร คือ องค์การที่ผู้ประกอบอาชีพทางการเกษตรรวมกันจัดตั้งขึ้น และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ต่อนายทะเบียนสหกรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สมาชิกดำเนินกิจการร่วมกันและช่วยเหลือ ซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการประกอบอาชีพของสมาชิก และช่วยยกฐานะความเป็นอยู่ของสมาชิกให้ดีขึ้น

     ประวัติสหกรณ์การเกษตรได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นที่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ชื่อว่า "สหกรณ์วัดจันทร์ไม่จำกัดสินใช้"ได้รับจดทะเบียนเป็นสหกรณ์แรก เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 หลังจากนั้น ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์หาทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 จึงได้ทำการควบสหกรณ์หาทุนหลายๆ สหกรณ์เข้าเป็นสหกรณ์การเกษตรระดับอำเภอ เพื่อให้มีขนาดธุรกิจใหญ่ขึ้น สามารถบริการแก่สมาชิกได้มากขึ้น

     วัตถุประสงค์ของสหกรณ์การเกษตร
          1. ให้สินเชื่อเพื่อการเกษตร
          2. จัดหาวัสดุการเกษตร และสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่าย
          3. จัดหาตลาดจำหน่ายผลิตผล และผลิตภัณฑ์ของสมาชิก
          4. รับฝากเงิน
          5. จัดบริการและบำรุงที่ดิน
          6. ส่งเสริมความรู้ทางเกษตรแผนใหม่
          7. ให้การศึกษาอบรมทางสหกรณ์

สหกรณ์การเกษตรแบ่งเป็น 3 ระดับ คือ
          1. สหกรณ์ขั้นปฐมหรือสหกรณ์ท้องถิ่น เป็นสหกรณ์ที่มีแดนดำเนินงานคลุมหนึ่งอำเภอ และให้ทำหน้าที่ เป็นสหกรณ์อเนกประสงค์
          2. สหกรณ์ขั้นมัธยมหรือชุมนุมสหกรณ์จังหวัด เป็นสหกรณ์ ซึ่งจัดตั้งโดยสหกรณ์ขั้นปฐมอย่างน้อย 3 สหกรณ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม สนับสนุน กิจการของสหกรณ์ที่เป็นสมาชิกในด้านต่างๆ เช่น การเงิน การขาย การซื้อ และการแปรรูป เป็นต้น
          3. สหกรณ์ขั้นยอดหรือชุมนุมสหกรณ์ระดับชาติ เป็นองค์การที่ทำธุรกิจด้านการตลาด การจัดหาสินค้าจากผู้ผลิต และเป็นคลังสินค้าให้แก่สหกรณ์

 

                       สหกรณ์ประมง

     สหกรณ์ประมง คือ สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นในหมู่ชาวประมง เพื่อแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ ซึ่งชาวประมงแต่ละคนไม่สามารถแก้ไขให้ลุล่วงไปได้ตามลำพัง บุคคลเหล่านี้จึงรวมกันโดยยึดหลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     ประวัติสหกรณ์ประมง ทางราชการได้รวบรวมชาวประมงจำนวน 54 คน จัดตั้งสหกรณ์ประมงขึ้นในปี พ.ศ. 2492 ชื่อว่า"สหกรณ์ประมงพิษณุโลกจำกัด" ในท้องที่อำเภอพรหมพิราม จังหวัดพิษณุโลก เป็นสหกรณ์ประมง ประเภทน้ำจืด ดำเนินการจัดสรรที่ทำกินให้สมาชิก ช่วยเหลือในด้านการจำหน่ายและแปรรูปสัตว์น้ำ ดำเนินการขออนุญาตจับสัตว์น้ำในท้องที่บางแห่งกำหนดเขตสัมปทานให้สมาชิกจับสัตว์น้ำได้โดยสะดวก ตลอดจนละเว้นการจับสัตว์น้ำที่ยังไม่ได้ขนาดเพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำ

     วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ประมง
          1. ให้ความรู้ทางด้านวิชาการและธุรกิจการประมง เช่น การเก็บรักษาคุณภาพ สัตว์น้ำ การแปรรูป การเพาะเลี้ยง ฯลฯ
          2. จัดหาวัสดุอุปกรณ์การประมง หรือสิ่งของที่จำเป็นมาจำหน่ายแก่สมาชิก
          3. จัดจำหน่ายสัตว์น้ำ และผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำในราคายุติธรรม
          4. จัดหาเงินกู้ให้สมาชิกกู้ไปลงทุนประกอบอาชีพ
          5. รับฝากเงิน
          6. ให้การสงเคราะห์แก่สมาชิกและครอบครัวที่ประสบภัยพิบัติ

สหกรณ์นิคม
 

     สหกรณ์นิคม คือ สหกรณ์การเกษตรในรูปแบบหนึ่ง ที่มีการดำเนินการจัดสรรที่ดินทำกินให้ราษฎร การจัด สร้างปัจจัยพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการดำเนินการจัดหาสินเชื่อปัจจัยการผลิต และสิ่งของที่จำเป็น การแปรรูปการเกษตร การส่งเสริมอาชีพ รวมทั้งกิจการให้บริการสาธารณูปโภคแก่สมาชิก

     ประวัติสหกรณ์นิคม ได้เริ่มดำเนินงานเป็นแห่งแรกที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี พ.ศ. 2478 โดยดำเนินการจัดซื้อที่นาราชพัสดุจากกระทรวงการคลัง เนื้อที่ 4,109 ไร่เศษ มาจัดสรรให้สมาชิก 69 ครอบครัวในรูปของสหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน ต่อมาในปี พ.ศ. 2481 ได้จัดตั้งนิคมสหกรณ์ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 7,913 ไร่ และได้จัดสหกรณ์การเช่าที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมสภาพแล้ว
ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2518

     วัตถุประสงค์ของสหกรณ์
          1. เพื่อการจัดนิคม คือ การจัดหาที่ดินมาจัดสรรให้แก่ราษฎรประกอบอาชีพทางการเกษตร ตลอดจนจัดบริการด้านสาธารณูปโภคแก่สมาชิก
          2. เพื่อการจัดสหกรณ์ คือ การรวบรวมราษฎรที่ได้รับจัดสรรที่ดินไว้นั้นจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์

     งานจัดนิคม
     งานจัดนิคม เป็นงานที่ดินทำกินให้ราษฎรโดยวิธีการสหกรณ์ มีขั้นตอนในการดำเนินการดังนี้
          1. การจัดหาที่ดิน
            1.1 สหกรณ์นิคม โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ขอรับที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติจำแนกเป็นที่จัดสรรเพื่อการเกษตร นำมาจัดสรร ให้ราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ และส่งเสริมให้จัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ ซึ่งเมื่อสมาชิกได้ปฏิบัติครบ
ถ้วนตามข้อบังคับของสหกรณ์แล้ว ก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรรนั้นในที่สุด
             1.2 สหกรณ์การเช่าซื้อที่ดิน โดยอาศัยประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 และนโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการจัดหาที่ดินให้ราษฎร กรมส่งเสริมสหกรณ์จึงจัดซื้อที่ดินขององค์การ หรือ เอกชนนำมาปรับปรุงจัดสรร ให้รวบรวมกันจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ซึ่งเมื่อสมาชิกได้ส่งชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินและปฏิบัติการอื่นครบถ้วนตามข้อบังคับ ของสหกรณ์แล้ว ก็จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้รับจัดสรร
             1.3 สหกรณ์การเช่าที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์จะนำที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่เสื่อมโทรมแล้ว มาจัดสรร ให้ราษฎรและจัดตั้งขึ้นเป็นสหกรณ์ สมาชิกจะมีสิทธิ์เข้าครอบครองทำกินในที่ดินที่ได้รับจัดสรรนั้นโดยเสียค่าเช่า ในอัตราต่ำ และที่ดินจะตกทอดทางมรดกไปยังลูกหลานได้ตลอดไป แต่ห้ามมิให้โอนกรรมสิทธิ์สหกรณ์นิคมทั้ง 3 รูปนี้ คงมีเพียง 2 รูปแรกที่สมาชิกจะได้ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง ส่วนในรูปของสหกรณ์การเช่าที่ดินนั้น สมาชิกจะได้เพียงสิทธิการให้ที่ดินโดยการเช่า และสิทธิที่ตกทอดทางมรดกตลอดไปเท่านั้น
          2. การวางผังและปรับปรุงที่ดิน เมื่อได้รับที่ดินแปลงใดมาจัดสหกรณ์แล้วทางราชการจะสำรวจรายละเอียด สภาพภูมิประเทศ ชนิดและลักษณะดิน ปริมาณน้ำฝน จากนั้นจะวางแผนผังการการใช้ที่ดิน ว่าควรดำเนินการสร้างบริการ สาธารณูปโภคอย่างไรบ้าง เช่น ถนน การชลประทาน โรงเรียน สุขศาลา สถานีอนามัย ฯลฯ
          3. การรับสมัคร และคัดเลือกบุคคลเพื่อรับการจัดสรรที่ดิน
          4. การอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดิน
          5. การกำหนดเงื่อนไขการใช้ที่ดิน และการได้กรรมสิทธิ์ที่ดิน

     งานจัดสหกรณ์
     เมื่อได้จัดราษฎรเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ที่จัดหามาเรียบร้อยงานขั้นต่อไป คือ การรวบรวมราษฎร ที่ได้รับจัดสรรที่ดินนั้นจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้น และขอจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 เพื่อให้เกษตรกรมีสถาบันของตนเอง ที่เป็นสื่อกลางในการอำนวยบริการด้านต่างๆ ส่วนการดำเนินธุรกิจ ของสหกรณ์จะมีลักษณะเช่นเดียวกับสหกรณ์การเกษตร

สหกรณ์ร้านค้า
 

     สหกรณ์ร้านค้า คือ สหกรณ์ที่มีผู้บริโภครวมกันจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดหาสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคมาจำหน่ายแก่สมาชิกและบุคคลทั่วไป โดยจดทะเบียนตามกฎหมายสหกรณ์ในประเภท สหกรณ์ร้านค้า มีสภาพเป็นนิติบุคคลซึ่งสมาชิกผู้ถือหุ้นทุกคน เป็นเจ้าของสมาชิกลงทุนร่วมกันในสหกรณ์ด้วยความสมัครใจเพื่อแก้ไขความเดือดร้อนในการซื้อเครื่องอุปโภคบริโภค และเพื่อผดุงฐานะทางเศรษฐกิจของตนและหมู่คณะ

     ประวัติสหกรณ์ร้านค้า ประเทศไทยได้เริ่มจัดตั้งร้านสหกรณ์ขึ้นในปี พ.ศ. 2480 โดยตั้งขึ้นในหมู่ชาวชนบท       อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ร้านสหกรณ์แห่งนี้ต้องเลิกล้มไป ต่อมารัฐบาลมีนโยบายที่จะช่วยเหลือประชาชนเกี่ยวกับการครองชีพ จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งร้านสหกรณ์ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก จนในปัจจุบันมีร้านค้าสหกรณ์เกิดขึ้นทุกจังหวัดในประเทศไทย

     วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ร้านค้า
          1. จัดหาสิ่งของและบริการที่สมาชิกต้องการมาจำหน่าย
          2. ช่วยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของสมาชิก
          3. ส่งเสริมความรู้ทางการค้าและการสหกรณ์แก่สมาชิก
          4. ส่งเสริมให้รู้จักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
          5. ร่วมมือกับสหกรณ์และสถาบันอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ

     วิธีดำเนินงานสหกรณ์ร้านค้า
          1. ขายสินค้าตามราคาท้องตลาด หรือถูกกว่าบ้างเล็กน้อย
          2. จัดหาสินค้าคุณภาพดี ไม่ปลอมปน และอยู่ในความต้องการของสมาชิกจำหน่าย
          3. เที่ยงตรงในการชั่ง ตวง วัด
          4. จัดหาสินค้าที่จำเป็นในการครองชีพมาจำหน่าย และมีสินค้าให้เลือกมากชนิด
          5. ขายสินค้าด้วยเงินสด

 

สหกรณ์ออมทรัพย์
 

     สหกรณ์ออมทรัพย์ คือ สถาบันการเงินแบบหนึ่งที่มีสมาชิกเป็นบุคคลซึ่งมีอาชีพอย่างเดียวกันหรือที่อาศัย อยู่ในชุมชนเดียวกัน มีวัตถุประสงค์ เพื่อส่งเสริมให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์ และให้กู้ยืมเมื่อเกิดความจำเป็น หรือเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์งอกเงยและได้รับการจดทะเบียนตาม พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 สามารถกู้ยืมเงินได้เมื่อเกิดความจำเป็นตามหลักการช่วยตนเอง และช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

     ประวัติสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ออมทรัพย์แห่งแรก คือ สหกรณ์ข้าราชการสหกรณ์ จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2492 โดยข้าราชการในกรมสหกรณ์ (เดิม) และพนักงานในธนาคารเพื่อการสหกรณ์ (เดิม) ต่อมาก็ได้มีการ จัดตั้งขึ้นในกลุ่มครูในจังหวัดนครสวรรค์ และได้แพร่หลายไปในหมู่ข้าราชการ และพนักงานต่างๆ ทั้งในภาครัฐบาล และเอกชนทั่วประเทศ

     วัตถุประสงค์ของสหกรณ์ออมทรัพย์
          1. ส่งเสริมการออมทรัพย์ในรูปการซื้อหุ้น สมาชิกจะต้องถือหุ้นแรกเข้า
อย่างน้อยคนละ 1 หุ้น และจะต้องถือหุ้น ต่อไปตามที่กำหนดไว้ใน
ข้อบังคับ แต่จะถือหุ้นเกินกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดไม่ได้
          2. รับฝากเงินจากสมาชิกทั้งประเภทเงินฝากประจำและเงินฝากออม
ทรัพย์ โดยให้ดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันกับธนาคารพาณิชย์
          3. ให้บริการด้านเงินกู้ มี 3 ประเภท คือ
               3.1 เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน กู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน
               3.2 เงินกู้สามัญ มีสมาชิกอื่นหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน
               3.3 เงินกู้พิเศษ มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน

สหกรณ์บริการ
 

     สหกรณ์บริการ คือ สหกรณ์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2511 โดยมีประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า       10 คนขึ้นไป ที่มีอาชีพอย่างเดียวกัน หรือที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกันรวมตัวกันโดยยึดหลักการประหยัด การช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อแก้ปัญหาต่างๆ รวมทั้งการส่งเสริมอาชีพเพื่อให้เกิดความมั่นคง และรักษาอาชีพดั้งเดิมที่ดีให้คงอยู่ต่อไป

     ประวัติสหกรณ์บริการ เริ่มจัดตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. 2484 คือ สหกรณ์ผู้ทำร่มบ่อสร้าง จำกัด ต่อมาได้มีการจัดตั้งสหกรณ์บริการในรูปแบบอื่นๆได้แก่ สหกรณ์บริการไฟฟ้าหนองแขม สหกรณ์เคหะสถาน สหกรณ์แท็กซี่ สหกรณ์ผู้ผลิตและค้าน้ำแข็ง และชุมนุมสหกรณ์เพื่อการพิมพ์แห่งประเทศไทย จำกัด ฯลฯ

     วัตถุประสงค์สหกรณ์บริการ
          1. ประกอบธุรกิจด้านการบริการ ตามประเภทที่ได้มุ่งหมายจัดตั้งขึ้น
          2. จัดหาอุปกรณ์ และสิ่งต่างๆ ที่จำเป็นในการให้บริการ
          3. รับฝากเงิน และให้เงินกู้แก่สมาชิก
          4. จัดหาเครื่องอุปโภคบริโภค มาจำหน่ายแก่สมาชิก
          5. ช่วยเหลือสมาชิกด้านกฎหมาย คดีความต่างๆ
          6. ส่งเสริมสวัสดิการ แก่สมาชิกและครอบครัว
          7. ร่วมมือกับส่วนราชการต่างๆ เพื่อส่งเสริมกิจการสหกรณ์

 

 

กำเนิดสหกรณ์เครดิตในประเทศเยอรมัน

 กำเนิดสหกรณ์เครดิต

ประเทศเยอรมันเป็นต้นกำเนิดของสหกรณ์เครดิต  ซึ่งทำหน้าที่หลักในการบริการ

ทางการเงินประเภท   สินเชื่อให้แก่สมาชิกเพื่อวัตถุประสงค์ต่าง ๆ   ซึ่งต่อมาได้มีการขยายตัวไปในรูปของ สหกรณ์ออมทรัพย์  (และเครดิต)  เครดิตยูเนียน  และสหกรณ์การเกษตร  (สหกรณ์หาทุน)  ที่มีแพร่หลายอยู่ทั่วโลก    สำหรับสหกรณ์เครดิตที่เกิดขึ้นในประเทศเยอรมันนั้น  มี 2 ประเภท คือ 

     สหกรณ์เครดิตในเมือง (Urban Credit Society)

     สหกรณ์เครดิตในชนบท  (Rural Credit Society)

สหกรณ์เครดิตในเมือง (Urban Credit Society)

     สหกรณ์รูปนี้มีกำเนิดขึ้นในย่านธุรกิจด้านตะวันออกของประเทศเยอรมัน (ขณะนั้นเรียกว่า ปรัสเซีย)ใน ปี 1852 ที่เมืองเดลิทซ์ (Delitzsch)  โดยการริเริ่มของชูลส์  เดลิทซ์ ซึ่งเป็นสมาชิกรัฐสภาปรัสเซีย

   Franz Hermann Schulze-Delitzsch (August 29, 1808 - April 29, 1883)

   ในปี 1848 ชูลส์ เดลิทซ์ ได้เป็นประธานกรรมาธิการสอบสวนภาวะของกรรมกรช่างฝีมือ  และผู้ประกอบการค้าขนาดเล็กของตนเอง  จากการทำงานในหน้าที่ดังกล่าว ทำให้เขารับทราบถึงต้นเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นว่ามาจาก  ภาวะหนี้สินความคิดที่จะตั้งสมาคมให้กู้ยืมแก่บุคคลเหล่านี้จึงเกิดขึ้น 

    ในระยะแรกเริ่มต้นได้ก่อตั้งในลักษณะการสงเคราะห์ก่อน แต่การดำเนินการไม่ได้ผลดีจึงมีการปรับรูปแบบให้บรรดาช่างฝีมือ กรรมการ และ ผู้ประกอบการ ขนาดเล็ก รวมตัวกันเป็นสมาคมของตนในลักษณะการช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นต้นแบบของสหกรณ์เครดิตในเมือง

       ด้วยเหตุที่มีการจัดหาเงินทุนให้สมาชิกกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยพอควรจึงเท่ากับเป็นธนาคารของสมาชิก จึงเรียกกันว่าเป็น ธนาคารประชาชน (People’s Bank) 

       สหกรณ์แบบนี้ จะรับสมาชิกไม่จำกัดแต่ต้องเป็นผู้มีความประพฤติดีเป็นที่เชื่อถือของสมาชิกอื่น  ในระยะแรกใช้หลักความรับผิดไม่จำกัด ต่อมาเมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้จึงหันมาใช้หลักความรับผิดจำกัด และเป็นสหกรณ์ชนิดที่มีหุ้น 

       การกู้ยืมส่วนมากเป็นระยะสั้น และต้องมีหลักประกันอาจเป็นบุคคลหรือหลักทรัพย์ก็ได้

 

สหกรณ์เครดิตในชนบท  (Rural Credit Society)

     สหกรณ์รูปนี้มีกำเนิดในซีกตะวันตกของเยอรมันแถบแคว้นไรน์    ซึ่งเป็นด้านเกษตรกรรมในชนบท   โดยไรฟไฟเซนซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองเฮดเดรสดอฟ (Heddesdorf) (ปัจจุบันคือเมือง Neuwied )

      Raiffeisen เป็นนายกเทศมนตรีอยู่หลายเมือง ในช่วงปี 1845-1865

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลจาก : ห้องสมุดพิทยาลงกรณ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย,
ผู้ช่วยศาสตราจารย์นุกูล  กรยืนยงค์ 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #สหกรณ์
หมายเลขบันทึก: 246280เขียนเมื่อ 4 มีนาคม 2009 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ขอบคุณมากค่ะ  ที่นำความรู้มาให้ได้อ่าน ได้รู้

(*-*) ขอบคุณครูอ้อยที่แวะมาเยี่ยมค่ะ

สวัสดีครับ  มารับความรู้เรื่องสหกรณ์  ที่ใช้บริการมาโดยตลอด สหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณ....อิอิ.อิ คงใช้ไปตลอดชีวิตแน่ มีสวัสดิการต่างๆดีมาก  ขอบพระคุณมาก ขออนุญาตนำไปให้เด็กๆได้ศึกษาด้วยนะครับ ขอบพระคุณ โชคดีครับ

(*-*) ขอบคุณท่านผอ.ประจักษ์

(*-*) ที่แวะมาเยี่ยม คอยให้กำลังใจตลอดมาค่ะ

                                     

ได้ความรู้เรื่องสหกรณ์มาก เเละตรงกับเนื้อหาที่เรียนเลย

 ขอบคุณมากเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท