วันที่ 7
เม.ย.49 อันเป็นวันแรกของการประชุม
มีการนำเสนอชุมชนแนวปฏิบัติ (CoP) ถึง 12 ชุมชน จากสมาชิก UKM 7
มหาวิทยาลัย โดยมีเป้าหมายของการประชุม 3 ประการคือ
(1)
เพื่อให้สมาชิกเครือข่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการชุมชนแนวปฏิบัติ
(CoP) เพื่อการจัดการความรู้
(2)
เพื่อเป็นการขยายผลความสำเร็จในการบริหารจัดการชุมชนแนวปฏิบัติ
(3) เพื่อการนำความสำเร็จไปประยุกต์ใช้ในมหาวิทยาลัยสมาชิกต่อไป
ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 100 คน
สิ่งที่ผมชื่นชอบ
1. ในเวลาเพียงปีเศษ ๆ เครือข่าย UKM
ได้ก้าวหน้าอย่างน่าพอใจ มีมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการ KM
ก้าวหน้าไปมากในแนวทางที่แตกต่างกัน
เกิดความใกล้ชิดระหว่างองค์กรสมาชิกที่จะช่วยเหลือพัฒนาความเข้มแข็งในการใช้
KM ซึ่งกันและกันได้ และเชื่อว่ามีสมาชิก UKM
บางองค์กรพร้อมที่จะจัดตั้งเครือข่าย UKM ประจำภาค
เพื่อช่วยเหลือสถาบันอุดมศึกษาอื่น ๆ ต่อไป
2. มีการนำเสนอ CoP ที่มีความเข้มแข็ง
ก่อผลดีต่องาน คน และองค์กรหลากหลายรูปแบบ
- ชุมชน "แผลและออสโตมี"
ของศิริราช ก่อตัวมาตั้งแต่ปี 2539
โดยยังไม่รู้จัก KM
เริ่มจากการรวมกลุ่มกันของพยาบาลเพื่อทำงานวิชาการและฝึกอบรมหลักสูตรเฉพาะทาง
เมื่อรู้จัก CoP/KM ก็ทำให้กลุ่มมีเครื่องมือทำงานมากขึ้น
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งคือการสร้าง special care guideline
ในด้านที่จำเพาะ ซึ่งผมมองว่าเป็นการใช้หลักการสร้าง
(และทำลาย) SOP -
Standard Operating Procedures นอกจากนั้น CoP
นี้ยังมีการใช้เครื่องมือพิเศษคือ Six Sigma มาช่วยแยก indicator
ที่ไม่สำคัญต่อผลการให้ nursing care ออกไป ทำให้ nursing
care guidelines ไม่มีมากข้อจนรกรุงรัง
ผมชื่นชมมากต่อการใช้วิชาการมาเชื่อมต่อกับ KM แบบนี้
มหาวิทยาลัยอื่น ๆ น่าจะได้เรียนรู้วิธีการนี้
- ชุมชน
"ลดการเลื่อนและงดการนัดผ่าตัด" ของ
รพ.รามาธิบดี น่าชื่นชมตรงที่ "คุณเอื้อ"
คือรองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพ รศ. พญ. สุวรรณา
เรืองกาญจนเศรษฐ์
มีตาแหลมในการเสาะหาทีมแกนนำที่มีความสำเร็จอยู่แล้วมาเป็นทีมเล็ก ๆ
ดำเนินการในหน่วยย่อยที่มีความสำเร็จส่วนหนึ่งอยู่แล้ว
โดยมีการดำเนินการที่ใช้วิชาการและข้อมูลสูงคล้าย ๆ
ที่ศิริราช เมื่อเกิดผลสำเร็จในวงแคบ
ก็ชักชวนกันดำเนินการในวงกว้างโดยจะใช้ intranet weblog
เป็นเครื่องมือ ลปรร. ภายในองค์กร
กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา
- ชุมชนคนเขียนบล็อกและชุมชนสำนักงานเลขานุการคณะของ
มน. เป็นตัวอย่างของการตั้งชุมชนที่ใช้พื้นที่
ลปรร. ทั้งพื้นที่จริงและพื้นที่เสมือน
มน.ใช้บล็อกเป็นเครื่องมือ KM เก่งที่สุดจนได้รับรางวัล KM BIO
Award แม้จะเริ่มมาไม่ถึงปี
แต่ก็เริ่มเห็นผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์แนวราบ
- ชุมชน Smart Path
และชุมชนผู้ดูแลไอทีของ มอ.
ก็มีประเด็นน่าชื่นชมตรง "คุณเอื้อ" ของชุมชน Smart Path (รศ. พญ.
ปารมี ทองสุกใส) มีความสามารถสูงมากในการออกแบบการใช้ KM
เป็นเครื่องมือพัฒนาคน พัฒนางาน
และพัฒนาองค์กร
เป็นการออกแบบในลักษณะที่ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงไปเป็นขั้นตอน
จนเวลานี้เข้า phase 3 แล้ว นอกจากนั้นผมยังติดใจชุมชน
Smart Path อีก 2 ข้อคือ (1) การมีทีม "คุณเอื้อ",
"คุณอำนวย", และ "คุณกิจ" ที่เข้มแข็งมาก (2)
ความสามารถในการตีความปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นจริง
ส่วนชุมชนผู้ดูแลไอที
ผมติดใจการที่ชุมชนนี้สร้างความเชื่อถือของผู้บริหารและความยืดหยุ่นของระบบการบริหารงานใน
มอ. ที่ยอมรับการเชิญประชุม CoP ทางอีเมล์
แล้วยอมให้เป็นหลักฐานเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาราชการได้
ที่จริงถ้าจะเขียนประเด็นที่ชื่นชมทั้งหมดจะยาวกว่านี้มาก ขอให้ถือว่าผมเล่าเฉพาะตัวอย่างความชื่นชมเพียงบางส่วนเท่านั้นนะครับ
วิจารณ์ พานิช
7 เม.ย.49
หาดใหญ่
ไม่มีความเห็น