Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

โครงการเวทีวิชาการเพื่อเสนอกรณีศึกษาและระดมแนวคิดเพื่อจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย : จากนักศึกษา สสสส.๑ แห่งสถาบันพระปกเกล้า ถึงวุฒิสภา


จากสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คณะนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ ๑ (หรือเรียกกันสั้นๆว่า “สสสส.๑”) จึงได้ทำกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติใน ๓ กรณีศึกษา กล่าวคือ

หลักการและเหตุผล

         ปัญหาความไม่มั่นคงของมนุษย์ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ก็คือ ปัญหาความไร้รัฐไร้สัญชาติของบุคคลธรรมดาในประเทศไทย ซึ่งคนเหล่านั้นกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย ปัญหาดังกล่าวนำมาซึ่งอุปสรรคในการใช้สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (Right to Legal Personality) อันเป็นสิทธิมนุษยชนที่สำคัญของมนุษย์ ซึ่งหากมนุษย์ในสังคมใดถูกละเมิดสิทธิดังกล่าว สังคมนั้นก็ยากที่จะประสบความสันติสุขได้

        ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดขึ้นแก่มนุษย์ในสังคมไทยแม้จะมีข้อเท็จจริงว่า เป็นคนสัญชาติไทย เพียงแค่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎรของรัฐทุกรัฐบนโลก หรือเพียงถูกบันทึกเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

             นอกจากนั้น ปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติในสังคมไทยยังเกิดขึ้นแก่คนอพยพย้ายถิ่นอีกด้วย ซึ่งคนอพยพจำนวนไม่น้อยเป็นคนเชื้อสายไทยที่อพยพกลับมาจากดินแดนที่เราเสียไปให้แก่รัฐต่างประเทศในราวปลายรัชกาลที่ ๕ หรือคนอพยพจำนวนไม่น้อยซึ่งเป็นคนอพยพที่อาศัยบนพื้นที่สูงหรือตามแนวชายแดนของไทย

                แม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลไทยจะได้พยายามหาทางแก้ไขอย่างต่อเนื่อง ทั้งการให้มียุทธศาสตร์การจัดการปัญหาปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลฯตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๘ รวมทั้งการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย อันได้แก่ (๑) กฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร (๒) กฎหมายว่าด้วยสัญชาติไทย และ (๓) กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง  

              แต่ก็ยังปรากฏว่า ปัญหาความเดือดร้อนอันเกี่ยวข้องกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งสาเหตุของปัญหามีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ บุคคลเจ้าของปัญหาไม่มีความรู้ความเข้าใจถึงกระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมาย  หรือหน่วยงานราชการเองก็ยังไม่ทราบถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละพื้นที่ เป็นต้น

               จากสถานการณ์และสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คณะนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้าในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ ๑ (หรือเรียกกันสั้นๆว่า “สสสส.๑”)  จึงได้ทำกิจกรรมลงพื้นที่เพื่อศึกษาสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนไร้รัฐไร้สัญชาติใน ๓ กรณีศึกษา กล่าวคือ

                 กรณีศึกษาแรก  “หนองแปกศึกษา”  ซึ่งทำ ณ บ้านหนองแปก อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่งเป็นพื้นที่อาศัยของคนเชื้อสายลาวหลายลักษณะ ซึ่งอาจจำแนกออกเป็นได้ ๒ ลักษณะ กล่าวคือ คนที่อพยพหนีภัยความตายจากลาวเข้ามาในไทยตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นต้นมา และคนที่เพิ่งอพยพเข้ามาหางานทำในประเทศไทย ซึ่งคนทั้ง ๒ ลักษณะได้ผสมกลมกลืนเป็นคู่สมรสของคนสัญชาติไทยเชื้อสายลาวในพื้นที่

               กรณีศึกษาที่สอง “ป่าคาสุขใจศึกษา” ซึ่งทำณ บ้านป่าคาสุขใจ อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒   ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่เป็นชาวเขา หรือที่ทางราชการเรียกว่า “บุคคลบนพื้นที่สูง” ซึ่งปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมายอาจจำแนกได้เป็น ๒ ลักษณะ กล่าวคือ คนที่มีสัญชาติไทยแล้วแต่ยังถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในสถานะคนต่างด้าว และคนที่ยังไม่สัญชาติไทย

              กรณีศึกษาที่สาม  “แม่อายศึกษา” ซึ่งทำณ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒   ซึ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างของคนดั่งเดิมที่เกาะติดแผ่นดินไทย และโดยหลักการ มีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร จึงส่งผลให้ประสบความไร้รัฐและความไร้สัญชาติ

               การลงพื้นที่เพื่อศึกษาของนักศึกษา สสสส.๑ จึงนำไปสู่ความเข้าใจในสภาพปัญหาและบรรลุถึงการทำข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

                ดังนั้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้สู่สังคม คณะนักศึกษา สสสส.๑  จึงได้จัดให้มีเวทีวิชาการเพื่อเสนอกรณีศึกษาและระดมแนวคิดเพื่อจัดการปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย ในวันพุธที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๒ ระหว่างเวลา ๙.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. ณ ห้องรับรอง ๑ – ๒ อาคาร ๒ ชั้น ๓ วุฒิสภา 

               เวทีวิชาการนี้จะเป็นการส่งผ่านองค์ความรู้จากการศึกษาของนักศึกษา สสสส.๑ ไปยังสังคม โดยผ่านวุฒิสภานั่นเอง 

 

          วัตถุประสงค์

ก.    เพื่อเป็นการนำเสนอสถานการณ์คนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย รวมทั้งสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งที่เกิดจากตัวคนไร้รัฐไร้สัญชาติ

ข.    เพื่อส่ง “ข้อเสนอแนะในการจัดการสถานการณ์คนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย” อันเป็นผลงานวิชาการของนักศึกษา สสสส.๑ ต่อสังคมไทย

ค.    เพื่อรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากสาธารณชนที่เกี่ยวข้อง อันจะนำมาปรับปรุง “ข้อเสนอแนะในการจัดการ” ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ง.     เพื่อสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เพื่อสังคมสันติสุขอีกแขนงหนึ่ง

ผู้เข้าร่วมโครงการ

ผู้เข้าร่วมเสวนาจำนวน ๕๐ คน อันประกอบด้วย

ก.    ผู้แทนจากคณะนักศึกษาของสถาบันพระปกเกล้า ในหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ ๑ (สสสส.๑)

ข.    ผู้แทนจากองค์กรนิติบัญญัติ(สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา)

ค.    ผู้แทนจากองค์กรบริหาร (ตัวแทนจากรัฐบาล)

ง.     ผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐอื่นที่เกี่ยวข้อง

จ.     ผู้แทนจากภาคองค์กรพัฒนาเอกชน

ฉ.    ผู้สนใจทั่วไป

สถานที่ดำเนินการ  

 ห้องรับรอง ๑ – ๒ อาคาร ๒ ชั้น ๓ วุฒิสภา 

          ผลที่คาดว่าจะได้รับ

ก.    นักศึกษา สสสส.๑ ได้เสนอผลงานการศึกษาต่อสาธารณชนตามหน้าที่ที่กำหนดในหลักสูตรการศึกษา

ข.    องค์ความรู้จากการศึกษาของนักศึกษา สสสส.๑ ได้ถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย เพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไป 

ค.    องค์ความรู้จากการศึกษาของนักศึกษา สสสส.๑ ในเรื่องการจัดการคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รับการพัฒนาต่อยอดโดยวุฒิสภาซึ่งเป็นองค์กรหลักตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ง.     นักศึกษา สสสส.๑ ได้ก่อให้เกิดเกิดองค์ความรู้ในเรื่องการจัดการคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับจากประชาสังคมอย่างแท้จริง 

    องค์กรรับผิดชอบโครงการ

ก.    หลักสูตร สสสส.๑ สถาบันพระปกเกล้า

ข.    คณะกรรมกาธิการวิสามัญศึกษาปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและแนวทางแก้ไขการไร้สถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทย วุฒิสภา

ค.    โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 246149เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2009 23:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ อ.แหวว ครับ

ขอบคุณบันทึกดีๆที่ทำให้ผมเชื่อมโยงภาพคนไร้สัญชาติ ชัดเจนมากขึ้น

๑๑ มี.ค. ผมกะว่าจะไป เป็นคนช่วยสรุปเนื้อหาที่ รัฐสภา ครับ

 

เอกคะ ขอบคุณค่ะ ครูแดงตั้งใจมากสำหรับงานนี้ค่ะ ช่วยครูแดงด้วยนะคะ

  • อยากไปช่วยอาจารย์สรุป
  • เสียดาย
  • มีค่ายภาษาอังกฤษ 9-11 ที่แควริเวอร์ไซด์ กาญจนบุรี
  • อดช่วยพี่ครูแดงและอาจารย์แหววเลย
  • รออ่านน้องเอกสรุปก็แล้วกันครับ

ขอบคุณ อ.ขจิตค่ะ

แค่ส่งใจมา ก็เป็นพระคุณค่ะ

หากบุคคลที่มีความสำคัญในการพัฒนาประเทศ อย่าง นักศึกษา สสสส.๑ สนใจปัญหานี้นะคะ การแก้ไขปัญหาก็คงทำได้ดีขึ้น และเร็วขึ้นค่ะ

ครูแดงน่าจะยิ้มออกนะคะ การสู้อย่างโดดเดี่ยวมานานปี ก็ทำให้ท้อได้ กำลังใจที่คนดังอาจารย์ขจิต อัยการชาวเกาะ และน้องเอกจตุพรมีให้ครูแดง และพวกเราคนทำงานนั้น สำคัญมากค่ะ ขอบใจหลายค่ะ

ภาพการรับฟังปัญหาชาวบ้านแบบนี้ ชาวบ้านเอง และคนทำงานคลุกคลีกับชาวบ้าน อย่าง อ.แหวว รู้สึกดีมากค่ะ

ไม่ทราบว่าปัญหาเกิดที่ g2k หรือเกิดที่เครื่องผม ล๊อคอินไม่ได้ นำภาพขึ้นก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้ก็เลยต้องทดลองแบบนี้ครับ

กำลังสรุปความเห็นไปช่วยพี่แดงครับ

ตอนนี้กลุ่มสามภาคใต้ก็มีปัญหาต้องการความช่วยเหลือ ผมอีกแล้ว อิอิ

....

เขายอมรับโครงการที่เรายกร่าง

แต่เขาเอา "โครงการแสวงหาองค์ความรู้ในการบังคับใช้กฎหมายใหม่เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐและไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทย กองทุนศาสตราจารย์คนึง ฦๅไชย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" ออก

แปลกดี !!!!!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท