Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๖๖)


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๒๒)


จิระศาสตร์วิทยา จัดการความรู้
บนฐานการจัดการศึกษา “นอกกรอบกะลา”

         (โปรย) โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นโรงเรียนที่มีการจัดการความรู้อยู่ภายในทั้งระบบโครงสร้าง และฝังแน่นอยู่กับเนื้องาน และกิจกรรมเสริมการเรียนรู้ ทั้งครู และนักเรียน ทำให้กระบวนการจัดการความรู้ยิ่งฝังลงลึกลงไปถึงผู้เรียน ผู้สอน ผู้ปกครองและชุมชน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มายาวนาน โดยที่ผู้ปฏิบัติและผู้บริหารก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัวมาก่อนว่างานประจำที่ดำเนินอยู่นั้นคือ “กระบวนการจัดการความรู้”มายาวนานกว่า 40 ปี


กว่าจะเป็นจิระศาสตร์วิทยา
         โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยามีการจัดการความรู้ในรูปแบบใดคงต้องย้อนหลังกลับไปสืบค้นถึงเจตนาในการก่อเกิด เมื่อ พ.ศ.2502 โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาถูกก่อตั้งขึ้น โดย “สาวรุ่น” ผู้มีแนวคิดปฏิรูปการศึกษาอยู่ในหัวมาโดยตลอด เธอคับข้องใจในระบบ และกรอบในวงการศึกษาไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนที่ไม่เปิดโอกาสให้เธอได้แสดงความคิด ทำให้เด็กที่กล้าพูดกล้าคิดอย่างเธอต้องคับข้องใจมาโดยตลอดกระทั่งเธอจบออกมาเป็นครู ความคับข้องใจเหล่านี้ก็ยิ่งทวีคูณเมื่อเธอกลับต้องสอนเด็กให้อยู่ในกรอบการศึกษาเดิมๆ แต่เธอก็ทนอยู่ได้ถึง 14 ปี แล้วจึงลาออก ประกอบกับเธอได้มีโอกาสไปศึกษาต่างประเทศได้เห็นหลักสูตรการสอนนิโกร ของพวกผิวขาวในอเมริกาทำให้เกิดความมั่นใจที่จะตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้แบบประชาธิปไตยโดยแท้ และโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยาก็ถูกก่อตั้งขึ้นในปีนี้เอง
         ปี 2513 จิระศาสตร์วิทยาลองนำหลักสูตรจากอเมริกามาใช้กับเด็กนักเรียน โดยเริ่มจากการให้เด็กได้เรียนรู้จากของจริง พร้อมๆ กับการเรียนรู้นอกตำรา พาเด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาล กระทั่งมัธยมศึกษาโลกกว้างรอบๆ เมืองอยุธยา เพื่อค้นหาความรู้จากของจริง แต่ความคิดนอกกรอบแบบนี้ก็ยากนักที่จะเปลี่ยนความเข้าใจเก่าๆ ของทั้งครูและผู้ปกครองให้เข้าใจ ระยะนี้ทำให้ผู้ปกครองเกิดความไม่ไว้วางใจเพราะมองว่าเด็กจิระศาสตร์ทำแต่กิจกรรมมากจนเกินไป แม้แต่พ่อค้าแม่ค้าในตลาดก็ยังเห็นครูพาเด็กอนุบาลมาเดินตลาด ยังไม่นับรวมถึงวัดวาอาราม โบราณสถาน และโรงงาน ที่เด็กๆที่นี่ต้องออกไปเรียนรู้ทุกวัน เป็นเหตุทำให้ผู้ปกครองไม่ส่งบุตรหลานเข้าเรียนที่จิระศาสตร์ มีเด็กลดลงเกือบครึ่ง ทำให้ “นางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์”     สาวน้อยที่บอกตัวเองมาโดยตลอดว่าเป็นคนนอกกรอบถึงกับคิดสั้น แต่ด้วยกำลังใจจากคนรอบข้างและเพื่อนครู ทำให้เธอตัดสินใจสู้ต่อบนอุดมการณ์เดิม จิระศาสตร์ต่อสู้กับความไม่เข้าใจของสังคมติดกรอบอยู่นับสิบปี “กระทั่งศักยภาพของศิษย์ที่จบการศึกษาออกไปได้เริ่มแสดงผลงานให้สังคมเห็นว่าเด็กที่จบจากจิระศาสตร์ไปล้วนเป็นเด็กที่เรียนเก่ง กล้าคิด กล้าทำ และมีคุณภาพไม่แพ้ใคร” ระยะหลังจากนี้ทำให้จิระศาสตร์เป็นที่กล่าวขาน พ่อแม่ผู้ปกครองหลั่งไหลเข้ามาฝากฝังให้จิระศาสตร์ดูเป็นพ่อแม่คนที่สอง ไม่เว้นแม้แต่สถานศึกษาด้วยกันทั้งภาครัฐและเอกชนก็หลั่งไหลมาขอดูงานเป็นประจำกระทั่งปัจจุบัน

การจัดการความรู้ที่อยู่กับเด็กและกระบวนการสอน
         กระบวนการเรียนรู้ของเด็กจิระศาสตร์ที่ส่งผลให้เด็กที่จบจากที่นี่เป็นเด็กคุณภาพนั้น เริ่มตั้งแต่การบ่มเพาะกันมาตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล โดยมีครูเป็นผู้กระตุ้นให้เด็กรู้จักคิด รู้จักตั้งคำถาม และการค้นคว้าหาคำตอบที่แท้จริงด้วยตนเอง โดยแทนที่เด็กอนุบาลจะอยู่แต่ในห้องเรียนฝึกอ่านเขียนและท่องจำ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวเลข และทักษะการพัฒนากล้ามเนื้อตามวัย ตามหลักสูตรแล้ว อนุบาลจิระศาสตร์ยังต้องออกไปเรียนรู้โลกกว้างพร้อมกับทำการบ้านจากการเรียนรู้นั้นส่งครู โดยมีเนื้อหาเรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง เช่นเมื่อเด็กได้เห็นซากปรักหักพัง เห็นความแตกต่างระหว่างความเก่าและความใหม่ก็จะเกิดคำถาม หลากหลายคำถาม เช่นทำไมต้นไม้ถึงขึ้นบนเจดีย์ ทำไมเจดีย์ถึงพัง ทำไมพระถึงไม่มีเศียร เป็นต้น ซึ่งจุดนี้เองครูจะต้องนำคำถามของเด็กเชื่อมเข้าสู่การเรียนรู้ ชักชวนให้เด็กหาข้อเท็จจริง กับผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่เพียงแต่เด็กจะได้ซึมซับประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่เด็กอนุบาลยังได้ฝึกทักษะการเข้าหาคน จากการไปสัมภาษณ์พระ พ่อค้า แม่ค้า และผู้ปกครองอีกด้วย
         เมื่อสอนให้เด็กรู้จักการเรียนรู้ที่ไม่ใช่การท่องจำตามตำราตั้งแต่ต้นแล้ว พัฒนาการในระดับการศึกษาขั้นต่อๆ มาก็ไม่ต่างกัน เพียงแต่เนื้อหาการเรียนรู้จะต้องเข้มข้นขึ้นและยังแฝงไปด้วยกลุ่มการจัดการความรู้เล็กๆ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการเรียนการสอน ทั้งในและนอกตำรา
         การออกไปศึกษาสวนพฤกษศาสตร์ของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา เป็นอีกกระบวนการบูรณาการสาระอีกอย่างหนึ่งที่นักเรียนทุกระดับชั้นจะต้องไปเรียนรู้กันที่นั่น ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป ทำให้สวนพฤกษศาสตร์เนื้อที่ 16 ไร่ ไม่เคยว่างเว้นจากผู้เรียนรู้วัยเยาว์ทั้งหลาย และการมาเรียนรู้ที่นี่เอง เราได้พบเห็น “การจัดการความรู้” ซุกซ่อนอยู่เช่นกัน

การจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นในการบูรณาการสาระวิชาต่างๆ ที่สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน
         ในวันที่ทีมงาน สคส. (สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม) ไปสังเกตการณ์นั้นเป็นวันที่นักเรียนชั้น ป.6 ที่กำลังขะมักเขม้นอยู่ในฐานการเรียนรู้ทั้ง 4 ฐาน ในสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน โดยแต่ละฐานจะบูรณาการสาระวิชาหลากหลายวิชาเข้าด้วยกัน ซึ่งแต่ละฐาน  ก็จะมีวิชาการที่แตกต่างกันไป ฐานที่ 1 ซึ่งมีวิชาวิทยาศาสตร์เป็นแกน นักเรียนจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 5-6 คน ทุกกลุ่มจะต้องเลือกต้นไม้เพื่อแบ่งคนออกไปสำรวจหาสิ่งมีชีวิตรอบๆ ต้นไม้ชนิดนั้น ในลักษณะการศึกษา “สรรพสิ่งล้วนพันเกี่ยว” แล้วมาถ่ายทอดให้เพื่อนในกลุ่มที่เหลือวาดภาพลงในแผ่นงาน เสร็จจากฐานที่ 1 เด็กๆ ในกลุ่มจะถูกแบ่งกันกระจายไปยังฐานอื่นๆ ที่เหลืออีก 3 ฐาน คือ ฐานที่มีวิชาศิลปะและการงานอาชีพเป็นแกน  ฐานที่มีคณิตศาสตร์เป็นแกนและฐานที่มีภาษาอังกฤษเป็นแกน แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเหลือคนในกลุ่มไว้ที่ฐานเดิม 1 คนเพื่อเป็นวิทยากรถ่ายทอดให้ผู้มาเยือนจากฐานอื่นๆ ว่าฐานนั้น 1 เป็นการเรียนรู้เรื่องอะไร ทั้ง 4 ฐานจะใช้วิธีการเดียวกันทำให้เด็กทุกๆ คนจะได้เรียนรู้ทุกๆแกนวิชา ซึ่งผู้ที่เป็นสมาชิกกลุ่มแล้วออกไปเรียนรู้ฐานต่างๆ ก็จะต้องกลับมาถ่ายทอดให้คนในกลุ่มที่ไม่ได้ไปฟังแล้วถ่ายทอดเป็นความเข้าใจในสาระวิชาลงบนแผ่นงาน เมื่อเสร็จจากการเรียนรู้ ณ ฐานการเรียนรู้ เด็กๆ ก็จะกลับไปสรุปงานร่วมกันที่โรงเรียนโดยมีครูอำนวยความสะดวกในการนำเสนอผลงาน
         กิจกรรมนี้เป็นการบูรณาการสาระวิชาที่เด็กๆ ได้เรียนมาสู่ความเข้าใจ เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจของเด็กได้ดี และเป็นการเชื่อมโยงสาระการเรียนรู้เข้ากันได้อย่างเข้าใจแตกต่างจากการสอนในอดีตที่ผู้เรียนก็ไม่รู้จะนำสาระวิชาไปทำอะไรต่อไป เมื่อแต่ละสาระวิชาต่างก็แยกกันเป็นหน่วยๆ
         ตัวอย่างการเชื่อมโยงสาระวิชาของนักเรียนชั้น ป.6/2 ซึ่งเรียนสาระวิทยาศาสตร์เป็นแกนถ่ายทอดผลงานลงบนแผ่นงานเป็นภาพสีเทียน (สาระศิลปะ) สื่อถึงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ต้นไม้ในสวนพฤกษศาสตร์ ว่ามีสิ่งมีชีวิตอะไรบ้าง แล้วยังอธิบายถึงความเกื้อกูลกันระหว่างสิ่งมีชีวิตรอบๆ กับต้นไม้(สาระวิทยาศาสตร์)  บอกชื่อสิ่งที่เกี่ยวข้องกันต่างๆ เป็นคำศัพท์ภาษาอังกฤษ (สาระภาษาอังกฤษ) แล้วยังเกริ่นนำเล่าเรื่องเป็นบทกลอนที่เด็กๆ ต้องอธิบายสัมผัสต่างๆ ระหว่างบรรทัด ระหว่างบท ในบทกลอนนั้น(สาระภาษาไทย) ลงท้ายด้วยการตั้งโจทย์คณิตศาสตร์ไว้ให้เพื่อนๆ ได้คิด เช่น สวนพฤกษศาสตร์แหงหนึ่งมีต้นเฟื่องฟ้า 15 ต้น มีต้นมะพร้าว 7 ต้น มีต้นกล้วย A ต้น รวม 32 ต้น ถามว่าต้นกล้วยมีกี่ต้นเด็กๆ ทั้งชั้นก็จะช่วยกันหาคำตอบกันท่ามกลางบรรยากาศสนุกสนาน

ความรู้ถูกต่อยอดจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง
         นอกจากนี้เราก็ยังเห็นการต่อยอดความรู้ระหว่างนักเรียนรุ่นพี่กับรุ่นน้องในการเรียนรู้ในสวนพฤกษศาสตร์นี้เช่นกัน โดยด.ช.ณัฐวุฒิ นักเรียนชั้น ป.6  ซึ่งอยู่ในฐานที่ 3 เป็นฐานที่มีคณิตศาสตร์เป็นแกนโดยให้นักเรียนในฐานนี้คิดเมนูอาหารเพื่อสุขภาพทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ซึ่งอาหารที่ทำนักเรียนจะต้องบอกถึงคุณประโยชน์และสรรพคุณในส่วนผสมที่นำมาด้วย พร้อมทั้งบอกสัดส่วนของส่วนผสมต่างๆ เป็นปริมาตรตามหลักวิชาคณิตศาสตร์ เขาเล่าว่านักเรียนชั้น ป.6 ทำอาหารมาหลายรายการแล้ว ก่อนหน้านี้ ครูสอนให้ทำซาลาเปาซึ่งพวกตนคิดค้นให้เป็นสูตรสมุนไพร และมีสีม่วงจากดอกอัญชัน โดยสูตรนี้พัฒนาจากสูตรซาลาเปาของรุ่นพี่ ป.6 เมื่อปีการศึกษาที่แล้ว และกำลังจะคิดทำไส้แครอทและซาลาเปาไส้สีต่างๆ ตามมา
         เมื่อถามว่าสูตรซาลาเปาไส้สมุนไพรนี้จะนำกลับไปศึกษาต่อเมื่อเลื่อนชั้นหรือไม่ ด.ช.ณัฐวุฒิ กล่าวว่า สูตรนี้จะต้องอยู่ที่ชั้น ป. 6 ต่อไป เพื่อให้รุ่นน้องได้ต่อยอดความรู้ของรุ่นพี่เพื่อพัฒนาซาลาเปาต่อไป
         ขณะที่ครูปราณี ประวาลพฤกษ์ ครูสอนคณิตศาสตร์กล่าวว่า นักเรียนป.6 รุ่นต่อไป ก็จะแนะนำเด็กในลักษณะว่ารุ่นพี่มีข้อมูล มีสูตรไว้ให้อย่างไร และรุ่นน้องจะต่อยอดความรู้นี้อย่างไร โดยที่ครูจะไม่ไปสกัดกั้นความคิดของเด็ก หากเขาคิดอะไรได้มากกว่าซาลาเปา ครูก็จะเป็นฝ่ายสนับสนุนผู้เรียน แต่ถ้าหากเขาเห็นว่าอยากทำซาลาเปาต่อก็อาจจะพัฒนาในส่วนอื่นๆ เช่นไส้ และส่วนผสมต่างๆ ต่อไปได้

การถ่ายทอดความรู้ระหว่างเด็กที่มีครูเป็น “คุณอำนวย”
         นอกจากนี้กิจกรรมการเรียนรู้ระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกันก็มีให้เห็นทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ อย่างในกิจกรรม child show ซึ่งซาลาเปาของนักเรียนชั้น ป.6 ได้รับรางวัลชนะเลิศในหัวข้อ “1 โรงเรียน 1 อาชีพ” มาแล้ว กิจกรรม child show เป็นกิจกรรมที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 1 เป็นผู้ริเริ่มจัดเป็นกิจกรรมระดับจังหวัดที่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงศักยภาพออกมาได้อยากหลากหลายตามความถนัดผ่านสาระวิชาต่างๆ  โดยครูผู้ส่งเด็กเข้าประกวดจะต้องออกแบบสาระวิชามากกว่า 1 วิชาบูรณาการเข้าด้วยกัน เช่น การรับสมัครเด็กประถม มัธยม ที่สนใจวิชาคณิตศาสตร์เข้าประกวดในโครงงานคณิตศาสตร์หรรษา    อันหมายถึงการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ที่สนุกสนาน ครูผู้สอนก็จะช่วยเด็กคิดกันว่าเราจะทำอย่างไรในการนำเสนอการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ให้สนุกสนาน โดยพวกเขาได้ประยุกต์เอาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน อย่างลำตัดเข้ามา  การนำเสนอจึงเป็นการรำร้องลำตัด ที่มีเนื้อหาเป็นการถามตอบโจทย์วิชาคณิตศาสตร์ พร้อมกับการสอดแทรกมุกตลกอย่างสนุกสนาน
         ครูผู้สอนกล่าวว่าคณิตศาสตร์หรรษาเป็นการบูรณาการสาระวิชาเข้าด้วยกันโดยมีคณิตศาสตร์เป็นแกน แล้วมีวิชาภาษาไทย นาฏศิลป์ ดนตรีไทย มาบูรณาการร่วมด้วย   โดยครูทุกสาระวิชาที่เกี่ยวข้องดังกล่าวจะต้องร่วมกันเป็นวิทยากรและเป็นที่ปรึกษา ทำหน้าที่ “คุณอำนวย” (ตามภาษาของนักจักการความรู้) คอยให้คำแนะนำกับเด็กๆ ทั้งนี้เมื่อการแสดงของกลุ่มคณิตศาสตร์หรรษาถูกเผยแพร่ออกไป ทำให้เด็กนักเรียนกลุ่มอื่นเริ่มหันมาให้ความสนใจ และเกิดการเรียนรู้กันเองของเด็ก  คนที่ร้องลำตัดเก่ง   ก็จะช่วยสอนเพื่อนๆ ถ่ายทอดเป็นท่ารำให้กับสมาชิกกลุ่มคณิตศาสตร์หรรษาใหม่ๆ ที่เข้ามาขอเรียนรู้เป็นสมาชิก อย่างไรก็ตามเมื่อ    จิระศาสตร์เห็นว่ากิจกรรม child show เป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กแสดงออกและค้นหาตัวเอง จึงได้นำรูปแบบนี้จัดเป็นกิจกรรม child show ขึ้นเป็นการภายในด้วย
         “แม้จะดูเหมือนว่าจิระศาสตร์วิทยาจะเน้นกิจกรรม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าความรู้ในตำราไม่สำคัญ เพียงแต่เป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้นในการเรียนรู้ของเด็กๆ ที่นี่” ฉะนั้นครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเอื้ออำนวยให้เกิดกระบวนการคิด เรียนรู้ และหาคำตอบในเชิงปฏิบัติให้มากที่สุด

ครูจัดการความรู้ตัวเองก่อนจัดการความรู้สู่เด็ก
         ทั้งนี้การที่ครูจะเป็นผู้เอื้ออำนวยที่ดีให้กับเด็กได้ การจัดการความรู้ก็ต้องเริ่มที่ครูด้วยเช่นกัน โดยการจัดการความรู้ของกลุ่มครูนั้นจะเกิดขึ้นภายในกลุ่มต่างๆ ที่ถูกจัดสรรไว้มากมายตามภารกิจ อาทิ กลุ่ม STAR สภาครู กลุ่มครอบครัวสัมพันธ์ กลุ่มครูระดับสายชั้นอนุบาล ประถม มัธยมต้น กลุ่มครูรายวิชา ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทำงานเป็นทีม และเชื่อมกลุ่มต่างๆ เหล่านี้บุคคลที่เป็นสมาชิกคร่อมกลุ่มต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น  
         กลุ่ม STAR   (Small Team Activity Relationship) เป็นกลุ่มสัมพันธ์เอื้ออาทร ประกอบด้วยครูประจำชั้น ,ครูพิเศษ  จับกลุ่มกันทำงานพัฒนาเป็นทีมในระดับชั้นเดียวกัน เช่นกลุ่ม STAR ที่1 คือครูประจำชั้น ป.1/1 ,1/2,1/3 รวมครูพิเศษอีก1 คน , กลุ่ม STAR ที่ 2 คือครูประจำชั้น ป.1/4, 1/5, 1/6 ... เป็นต้นโดยกลุ่ม STAR จะมีทุกระดับชั้นส่วนบทบาทก็คือการพัฒนาคุณภาพของเด็กๆร่วมกันแบบกลุ่ม เช่น มีเด็กคนไหนบ้างที่อ่านหนังสือไม่เก่ง กลุ่ม STAR ย่อยแบบนี้ก็จะนัดเด็กกลุ่มนี้มาฝึกพัฒนาศักยภาพร่วมกัน มีปัญหาก็ปรึกษาหารือกัน อย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งกลุ่มแบบนี้มีความกะทัดรัดแต่มีความคล่องตัวในการทำงาน ไม่ต้องเสียเวลาเข้าห้องประชุม เพราะจะใช้ความใกล้ชิดในสายงานเจอกันใต้ต้นไม้ก็คุยกันใต้ต้นไม้ เจอกันข้างระเบียงก็คุยกันข้างระเบียง เมื่อกลุ่ม STAR ย่อยๆ แบบนี้พัฒนานักเรียนในสายชั้นนั้นๆให้มีศักยภาพได้ กลุ่ม STAR อื่นๆ ก็เกิดการตื่นตัวเกิดการแข่งขันแบบกัลยาณมิตรขึ้นทำให้เกิดระบบการแข่งขันในด้านดี ประโยชน์ย่อมตกอยู่กับนักเรียน
         นอกจากนี้ กลุ่มครูแต่ละช่วงชั้น เช่นกลุ่มครูอนุบาล ครูประถม ครูมัธยม ที่ต่างเป็นสมาชิกทีม STAR ย่อยๆ นี้ก็จะได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน แบบข้ามกลุ่ม ที่ใหญ่ขึ้นในการประชุมระดับช่วงชั้นทุกเย็นตามตารางคือ วันอังคารประชุมช่วงชั้นอนุบาล 1-3 ,วันพุธช่วงชั้นประถมปีที่ 1-3, วันพฤหัสบดีช่วงชั้นประถมปีที่ 4-6, วันศุกร์ช่วงชั้นมัธยมปีที่ 1-3 โดยในการประชุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อหารือเกี่ยวกับการพัฒนากระบวนการเรียนการสอนของครูแต่ละช่วงชั้นเพื่อพัฒนางานทางด้านวิชาการซึ่งการประชุมนี้ก็จะมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อสรุปผลและติดตามความคืบหน้าพร้อม ซึ่งครูใหม่ๆก็สามารถเข้ามาเรียนรู้พัฒนาการงานสอนจากแฟ้มนี้ได้ 
         นอกจากนี้การจัดการความรู้ของครูก็ยังเกิดขึ้นระหว่างการจัดกิจกรรมของครูด้วย เช่น กิจกรรม  “Teacher show” เป็นกิจกรรมสรุปผลการสอนของครูที่นำผลงานแสดงทั้งระดับกลุ่มและระดับปัจเจกบุคคล ระดับกลุ่มคือการแสดงผลงานของกลุ่มสาระวิชาเช่นกลุ่มครูโครงงานวิทยาศาสตร์นำเสนอผลงานสื่อการสอน รูปแบบต่างๆ การทำสื่อนวัตกรรม ผลงานการพัฒนาศักยภาพเด็ก นอกจากนี้ในระดับปัจเจกก็ เป็นการเล่าถึงการนำความรู้ที่ได้มาสู่การปฏิบัติแล้วลงกับเด็กว่าลองทำอย่างไรได้ผลอย่างไร เด็กชอบหรือไม่อย่างไร โดยกิจกรรมนี้จะใช้ช่วงเวลาหลังเลิกสอนและวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ โดยผลงานและความรู้รวมทั้งผลลัพท์ที่ได้จากกิจกรรมนี้จะถูกบันทึกลงในสมุดประจำตัวครู และบันทึกลงในแฟ้มกิจกรรมเพื่อนำไปบันทึกความคืบหน้าและติดตามผลในคราวต่อไป 

วิสัยทัศน์ผู้บริหารนอกกรอบ
         ที่โรงเรียนจิระศาสตร์วิทยามีกระบวนการจัดการความรู้อยู่กระจัดกระจายสอดแทรกอยู่ในทุกๆกิจกรรมทั้งครูและนักเรียนแบบนี้ได้ก็เพราะผู้บริหาร เปิดโอกาสให้ครูและพนักงาน    ทุกคนนำเสนอ สิ่งที่รู้ สิ่งที่อยากทำ แล้วให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ครูให้มีจิตสำนึก  แล้วนำวิธีนี้ไปเปิดโอกาสให้กับเด็กได้นำเสนอ ได้พูดในสิ่งที่คิดเช่นเดียวกับสิ่งที่พวกเขาได้รับจากผู้บริหาร ใช้หลักประชาธิปไตยดึงความรู้จากผู้มีประสบการณ์บวกกับคนที่มีความรู้ทำให้ครูวัย 70 สามารถทำงานและพัฒนางานร่วมกับครูวัย 20 ปี รวมถึงพนักงาน-คนรถ ได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ 
         นางจิระพันธุ์ พิมพ์พันธุ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา กล่าวว่า “ปัจจัยที่ทำให้ จิระศาสตร์ฯ มีพัฒนาการที่ดี เงินไม่ใช่เรื่องสำคัญแต่คนคือปัจจัยสำคัญที่ต้องดึงใจของคนเข้ามาร่วมงาน โดยขั้นแรกจะต้องเปิดใจตัวเองอย่าคิดว่าเราเป็นผู้บริหารเพียงคนเดียว ต้องให้ครูเล็กครูน้อย กระทั่งถึงคนขับรถรู้สึกว่าเขาเป็นเจ้าของร่วมกับเราด้วย   ขั้นที่สองต้องดึงเอาคนที่มีประสบการณ์มาทำงานร่วมกับคนที่มีความรู้ทั้งใหม่และเก่าก็จะทำให้การพัฒนางานไปข้างหน้าได้ดี และขั้นที่สาม ต้องให้ความเป็นประชาธิปไตยกับผู้ร่วมงานอย่าทำให้เขารู้สึกว่าเรารักใครมากกว่ากันฉะนั้นการตั้งคณะทำงานทุกคณะจะมาจากการเลือกตั้งโดยครูและนักเรียนเอง” 
         ทุกวันนี้นักเรียนโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา ยังคงออกไปศึกษานอกสถานที่เพื่อเรียนรู้นอกตำราอยู่เป็นประจำเช่นเคย แต่ก็ไม่มี พ่อค้า แม่ค้า หรือผู้ปกครอง ร้องบ่นเช่นในอดีตอีกแล้ว เพราะ คนที่นี่รู้ดีว่าเด็กๆ กำลังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ สังคมที่นี่พร้อมที่จะเป็นครูให้เด็กๆ ทุกครั้งที่ออกมาเรียนนอกรั้ว เช่นเดียวกับนักเรียนจิระศาสตร์วิทยา พวกเขามองเห็นครูผู้มีพระคุณอยู่รายรอบ ทั้งพูดได้และพูดไม่ได้ นั่นก็คือคนรถ พนักงาน พ่อค้า แม่ค้า ครู ผู้ปกครองและเพื่อนด้วยกัน รวมถึงครูที่พูดไม่ได้เช่นต้นไม้ ใบ หญ้าที่เอื้ออาทรชีวิตเพื่อการเรียนรู้ของพวกเขามาโดยตลอด .
     

นางจิระพันธุ์  พิมพ์พันธุ์   (ผู้บริหารต้นแบบ) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา
ผู้รับใบอนุญาตและผู้อำนวยการโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา
เลขที่ 45 หมู่ 1 ถนนชีกุน ตำบลประตูชัย  อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 13000
โทร.035-241-559 โทรสาร 035-241-106
e-mail :
[email protected]  http//www.jirasart.com


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 24589เขียนเมื่อ 20 เมษายน 2006 10:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 00:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท