บทที่ 1 บทนำ


การพัฒนาการเขียนเรียงความโดยใช้แผนที่ความคิด

บทที่ 1

บทนำ

 

ความเป็นมาและความสำคัญ

          ภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติ เป็นเอกลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นไทย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้เรียนในทุกระดับชั้นของประเทศไทย ต้องมีความรู้เกี่ยวกับภาษาไทยให้เหมาะสมกับระดับชั้น สถานศึกษาทุกแห่งต้องให้ความสำคัญกับภาษาไทย ปลูกฝังให้นักเรียนรักและเห็นคุณค่าของภาษาไทย ภาษาไทยมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ใช้สื่อสารติดต่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ภาษาไทยเป็นเครื่องมือที่สำคัญต่อการศึกษาในศาสตร์อื่นๆ ถ้าผู้เรียนมีความสามารถ ฟัง พูด อ่าน เขียนและสื่อความหมายได้ จะทำให้ตนเองประสบความสำเร็จ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

            หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถใช้ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้สามารถประกอบกิจธุรการงานและดำรงชีวิตร่วมกันในสังคมอย่างมีสันติสุข เป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากแหล่งข้อมูลสานสนเทศต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้ ความคิด วิเคราะห์ วิจารณ์
และสร้างสรรค์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ตลอดจนนำไปใช้ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคงทางสังคมและเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นสื่อที่แสดงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษด้านวัฒนธรรม ประเพณี ชีวทัศน์ โลกทัศน์และสุนทรียภาพ โดยบันทึกไว้เป็นวรรณคดีและวรรณกรรมอันล้ำค่า ภาษาไทยจึงเป็นสมบัติของชาติที่ควรค่าแก่การเรียนรู้ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานให้อยู่คู่ชาติไทยตลอดไป

            ภาษามีความเกี่ยวพันกับมนุษย์ เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ใช้บ่งบอกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์และบอกถึงประวัติความเป็นมาหลายๆ ด้าน ในอดีตที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ขณะเดียวกันภาษามีความสำคัญต่อมนุษย์ทุกชาติทุกภาษา เพราะมนุษย์ใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสาร ใช้ในการแสดงออกทางความรู้สึกนึกคิด และถ่ายทอดวัฒนธรรมต่างๆ การที่มนุษย์ใช้ภาษาเดียวกันย่อมเป็นความสะดวกเพราะจะเกิดความเข้าใจตรงกัน สำหรับภาษาไทยนั้นมีคุณค่าและความสำคัญต่อคนไทยมาก ชาติเรามีภาษาไทยมาเป็นระยะเวลานานถึง 700 กว่าปีแล้ว แสดงถึงความผูกพันความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
และความเป็นเอกลักษณ์ของชาติที่คนไทยทุกคนควรภาคภูมิใจ โดยเฉพาะการแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติไทย เรามีภาษาไทยซึ่งใช้เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารระหว่างคนไทยทั้งชาติทำให้เกิดความสะดวกเกิดความเข้าใจตรงกัน การที่เรามีภาษาไทยร่วมกันในคนหมู่มากทำให้ทุกคนในชาติมีความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน ชาวไทยทุกคนควรภูมิใจในความเป็นไทย

            การที่จะใช้ภาษาให้เกิดประสิทธิผลนั้น ผู้ใช้ภาษาจะต้องได้รับการฝึกฝนตามสมควร ตามปกตินั้นการสอนภาษาใดๆ ก็จะต้องสอนการใช้ภาษา หลักภาษา วรรณคดี และวัฒนธรรมในด้านการใช้ภาษานั้นประกอบไปด้วยทักษะทั้ง 4 ด้านคือ การฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารนั้น มีทักษะที่ใช้ในการรับสาร (Receptive Skills) ซึ่งได้แก่ ทักษะการฟัง และการอ่าน และทักษะในการส่งสาร (Expressive Skills) ซึ่งได้แก่ การพูดและการเขียน ในการดำเนินชีวิตจะต้องมีการส่งสารและรับสารตลอดเวลา เพราะฉะนั้นการสอนภาษาไทยเพื่อให้การสื่อสารสัมฤทธิ์ผล จึงเน้นที่จะสอนทักษะการฟัง การพูด การอ่านและการเขียนให้สัมพันธ์กัน (สุจริต เพียรชอบและคณะ 2526 : 6) การสอนทักษะการเขียนภาษาไทยให้บรรลุผลตามความมุ่งหมายและมีประสิทธิภาพนั้น ผู้เขียนจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะต่างๆ ให้สัมพันธ์กันทั้งทักษะการฟัง การอ่าน การพูดและการเขียน ในด้านการเขียนถือว่าเป็นทักษะที่ยุ่งยากซับซ้อน และเป็นทักษะการถ่ายทอดที่มีความสำคัญต่อการสื่อสารเป็นอย่างยิ่งดังที่ วรรณี โสมประยูร (2537 : 39) กล่าวว่า การเขียนเป็นเครื่องมือถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมที่ช่วยให้คนรุ่นหลังทราบความเป็นมาของอดีตจนถึงปัจจุบัน การเรียนการสอนภาษาไทยมีความสำคัญไม่เพียงแต่แค่การเรียนการสอนเท่านั้น แต่มีผลถึงการคงอยู่การถ่ายทอดและการพัฒนาปรับปรุงภาษาไทยให้ก้าวหน้าต่อไป อันจะส่งผลถึงประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยเหตุนี้การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยจึงมีความหมายและมีความสำคัญเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่ปรับปรุงการเรียนการสอนในโรงเรียนเท่านั้น แต่ยังส่งผลไปถึงการพัฒนาวัฒนธรรมและค่านิยมรวมทั้งสังคมพร้อมกันไป การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาไทยจะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วยพร้อมกันไป เพราะเป็นการพัฒนาในหลักและทักษะพื้นฐานของการใช้ชีวิตของนักเรียนและของทุกคนในสังคม (ไพฑูรย์ สินลารันต์ 2526 : 372) ทุกคนจึงควรให้ความสนใจ ทักษะการเขียนเป็นทักษะที่มีความสลับซับซ้อนยากกว่าทักษะการฟัง การพูดและการอ่าน เพราผู้เขียนจะต้องมีความรู้ดีรู้จักคำมาก มีความสามารถในการสังเคราะห์เรียบเรียงถ้อยคำ ผูกประโยคให้ถูกต้องและสื่อความหมายได้ชัดเจนตามที่เขียนต้องการ แต่ปัจจุบันปรากฏว่าผู้คนไม่ใคร่มีความสามารถในการเขียน ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเยาวชน ครูจึงควรหาวิธีการที่จะช่วยให้นักเรียนเขียนได้ เขียนเป็นกล่าวคือ การเขียนต้องใช้ภาษาที่งดงาม ประณีต สามารถสื่อสารได้ทั้งอารมณ์ ความรู้ ความคิด จึงจ้องใช้ศิลปะในการเขียน ส่วนที่กล่าวว่าเป็นศาสตร์เพราะการเขียนทุกชนิดต้องประกอบด้วยความรู้หลักการและวิธีการ แต่อย่างไรก็ตามการเขียนเป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ (จุไรรัตน์ ลักษณะศิริ 2540 : 169)

            การเขียนในยุคปัจจุบันนี้นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และจำเป็นต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ไม่น้อยเพราะการเขียนเป็นเครื่องมือที่จะใช้บันทึกหรือถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆ ทั้งสำหรับตนเองและผู้อื่นรวมทั้งเรื่องราวที่เกิดขั้นในสังคม การเขียนจึงเป็นทักษะรวมที่จะต้องอาศัยความรู้พื้นฐานจากทักษะการอ่าน
การฟังและการพูด ซึ่งจะช่วยให้ผู้เขียนมีพื้นความรู้ มีข้อมูลและประสบการณ์เพียงพอที่จะนำมาเขียนเรื่องราวต่างๆ ได้ดังปรารถนา (กองเทพ เคลือบพณิชกุล 2539
: 123124)

            การสอนทักษะการเขียนเพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ปัญหาสำคัญอยู่ที่การไม่มีความรู้ ประสบการณ์ ความช่างสังเกต ความคิด การใช้ภาษาและการไม่ฝึกฝนการเขียน แม้ว่าผู้เขียนจะมีพื้นฐานของการเป็นผู้เขียนที่ดีดังกล่าวแล้วทั้งหมด แต่ถ้าไม่ริเริ่มที่จะเขียนและฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ก็คงไม่อาจเป็นผู้เขียนที่ดีได้ เพราะการฝึกฝนย่อมช่วยเพิ่มพูนทักษะการเขียนให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งนับได้ว่าการเขียนเพื่อพัฒนาการเขียนหรือเป็นการใช้กระบวนการเขียนพัฒนางานเขียน ทั้งยังเป็นการปลูกฝังนิสัยรักการเขียนอีกด้วย การฝึกฝนความคิดสร้างสรรค์ประเภทเรียงความจึงเป็นหน้าที่ครูภาษาไทย ที่จะต้องคิดหากลวิธีการสอนและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เพื่อฝึกฝนทักษะการเขียนเรียงความของนักเรียน เพราะผลงานด้านการเขียนเรียงความของนักเรียน คือ การแสดงความคิดสร้างสรรค์ในการใช้ภาษานั่นเอง

            หลักสูตรกำหนดคุณภาพผู้เรียน เมื่อจบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว ควรจะสามารถใช้ภาษาสื่อสารได้อย่างดี สามารถอ่าน เขียน ฟัง ดูและพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีเหตุผลและคิดเป็นระบบ มีนิสัยรักการอ่าน การเขียน การแสวงหาความรู้และการใช้ภาษาในการพัฒนาตนเองและสร้างสรรค์งานอาชีพ ตระหนักในวัฒนธรรมการใช้ภาษาและความเป็นไทย สามารถนำทักษะทางภาษามาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพถูกต้องตามสถานการณ์และบุคคล นอกจากนั้นยังกำหนดว่าเมื่อจบช่วงชั้นที่ 4 แล้วผู้เรียนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สามารถเขียนเชิงวิชาการเขียนอธิบาย ชี้แจง เขียนโน้มน้าวใจ เขียนแสดงทรรศนะ เขียนบันเทิงคดี ข้อมูลสารสนเทศได้อย่างถูกต้อง (กรมวิชาการ 2544 0 : 14)

            ผู้ศึกษาค้นคว้าในฐานะที่เป็นครูผู้สอนภาษาไทยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ทำให้ทราบว่า นักเรียนส่วนมากไม่สนใจเรียนภาษาไทย ไม่ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ไม่ส่งงานตามกำหนดเวลา มีปัญหาด้านการคิดและขาดการส่งเสริมด้านความคิดสร้างสรรค์ทางภาษา โดยเฉพาะเรื่องการเขียนอันเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาทักษะภาษาไทย นักเรียนมีความคิดเห็นว่าการเขียนเป็นเรื่องยากนักเรียนไม่เข้าใจ ไม่ชอบเรียน ครูไม่ฝึกทักษะการเขียนเท่าที่ควรเนื่องจากจำนวนนักเรียนในชั้นมีมาก ครูตรวจการบ้านไม่ทันและยึดตัวครูเป็นศูนย์กลาง นักเรียนจึงไม่มีโอกาสคิดและฝึกการเขียนเท่าที่ควรจะเป็นทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนไม่ดีเท่าที่ควรและอยู่ในระดับปานกลาง

            ผู้ศึกษาค้นคว้าในฐานะที่เป็นครูผู้สอนภาษาไทยในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ได้ประสบปัญหาในลักษณะดังกล่าวข้างต้น จากการจัดการเรียนการสอนอยู่เป็นประจำและจากการสอนการเขียนเรียงความในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาพบว่า นักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีทักษะของการเขียนเรียงความ ทำให้การเขียนเรียงความเป็นเหมือนกับการเขียนรายงานธรรมดา ผู้ศึกษาค้นคว้าจึงได้คิดหาวิธีแก้ไขดังกล่าว เพื่อให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการทางการเขียนเรียงความในทางที่ดีขึ้น การพัฒนาทักษะการเขียนเรียงความด้วยการใช้แผนที่ความคิด (MIND MAP) จึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ผู้ศึกษาค้นคว้าในใจที่จะใช้พัฒนาทักษะการเขียนเรียงความของนักเรียน เพราะการเรียนโดยใช้รูปแบบแผนที่ความคิด (MIND MAP) นักเรียนจะได้ใช้ความคิดอย่างเป็นขั้นตอน โดยการแยกแยะความคิดหลักและความคิดรองของเรื่องที่จะเขียน โดยนักเรียนได้ใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่ในการแสดงความคิด เพื่อชี้ให้เห็นความสัมพันธ์ที่มีต่อหัวเรื่องที่ใช้ในการเขียน นอกจากนั้นนักเรียนยังเกิดความสนุกสนานกับการใช้จิตนการในการตกแต่งภาพและรูปแบบของงานที่เชื่อมโยงสู่เรื่องที่เขียน และนอกจากนักเรียนจะเกิดความเพลิดเพลินกับงานแล้วยังได้ฝึกฝนการใช้ความคิดและฝึกทักษะการเขียนไปในตัว ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนพบแนวทางในการเรียนรู้ เกิดความสนใจและเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ในการพัฒนาทักษะการเขียนและการศึกษาหาความรู้วิชาต่างๆ ต่อไป

 วัตถุประสงค์การวิจัย

1.  เพื่อพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการเขียนเรียงความวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ โดยใช้แผนที่ความคิด

2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทักษะในการเขียนเรียงความวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ก่อนและหลังการใช้แบบฝึกการเขียนเรียงความโดยใช้แผนที่ความคิด

 สมมติฐานการวิจัย

                 นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ หลังจากได้รับการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องการเขียนเรียงความวิชาภาษาไทย โดยใช้แผนที่ความคิด มีผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนสูงกว่าก่อนเรียน

 ขอบเขตการวิจัย

                 การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนาทักษะการเขียนเรียงความด้วยความคิดวิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ อำเภอบางรัก
จังหวัดกรุงเทพมหานครฯ โดยมีขอบเขตการศึกษาดังนี้

1.     กลุ่มผู้ร่วมวิจัยและกลุ่มผู้ให้ข้อมูล

                ผู้วิจัย เป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอ ผู้ร่วมวิจัยได้แก่ คณะครูโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ อำเภอบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 คน

กลุ่มเป้าหมายได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ปีการศึกษา 2552 โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ อำเภอบางรัก จังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 50 คน

2.      ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้

                  ตัวแปรต้น คือ วิธีการเรียนรู้พัฒนาเรื่องการเขียนเรียงความ โดยใช้แผนที่ความคิด

                   ตัวแปรตาม คือ ผลการพัฒนาการเรียนรู้ การเขียนเรียงความและผลสัมฤทธิ์การเขียนเรียงความโดยใช้แผนที่ความคิด

                 3.  ขอบเขตของเนื้อหา ที่จะนำมาพัฒนาทักษะการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิด
วิชาภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 6 แผน เวลา 10 ชั่วโมง โดยใช้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องดังนี้

                  แผนการเรียนรู้ที่  1     การเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากประสบการณ์

                  แผนการเรียนรู้ที่  2     การเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากประสบการณ์

                 แผนการเรียนรู้ที่  3     การเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากการอ้างข้อมูล

                 แผนการเรียนรู้ที่  4     การเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากการอ้างข้อมูล

                แผนการเรียนรู้ที่  5     การเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากการแสดงความคิดเห็น

                แผนการเรียนรู้ที่  6     การเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากการแสดงความคิดเห็น

                 4.   ระยะเวลาที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้า

                       การวิจัยครั้งนี้ทดลองในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ระหว่างวันที่ 17 สิงหาคม
พ.ศ. 2551 ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2551 โดยผู้ศึกษาค้นคว้าจัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง

                 5.   รูปแบบของการวิจัย

                       การวิจัยในครั้งนี้ ใช้รูปแบบการวิจัยปฏิบัติการ (Action Research) (ประวัติ เอวาวรรณ์ 2545 : 15) จำนวน 3 วงจรปฏิบัติ ได้แก่ วงจรที่ 1 เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากประสบการณ์ จำนวน 2 แผน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง  วงจรที่ 2 เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากการอ้างข้อมูลจำนวน 2 แผน ใช้เวลา 3 ชั่วโมง  และวงจรที่ 3 เพื่อพัฒนาการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดจากการแสดงความคิดเห็นจำนวน 2 แผน ใช้เวลา 4 ชั่วโมง

 นิยามคำศัพท์

1.   การพัฒนาการเรียนรู้ หมายถึง กระบวนการจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาการเขียนเรียงความโดยใช้แผนที่ความคิด

2.   การพัฒนาทักษะการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดวิชาภาษาไทย หมายถึง การฝึกทักษะการเขียนเรียงความ โดยการวางแผนกำหนดเค้าโครงเรื่อง ศึกษาค้นคว้าด้วยแผนที่ความคิดภาษาไทย รวบรวมข้อมูลเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้เรียนในการพัฒนาทักษะการเขียน ดังนี้

            -  เรียงความ หมายถึง การเรียบเรียงข้อความ เรื่องราวเป็นลายลักษณ์อักษรโดยเลือกใช้ถ้อยคำให้ถูกต้อง เหมาะสม ผูกประโยคให้กระชับ ใช้ภาษาที่สละสลวย ลำดับความถูกต้องชัดเจนอ่านเข้าใจง่าย

 3.   แผนที่ความคิดวิชาภาษาไทย หมายถึง กระบวนการในการวางแผนอย่างเป็นระบบ โดยการคิดวิเคราะห์เนื้อหาสาระและนำมาสร้างสรรค์ จัดลำดับขั้นตอนในการปฏิบัติตามลำดับอย่างชัดเจน โดยใช้สัญลักษณ์ รูปภาพ แผนภูมิประกอบ ดังนี้

           -  แผนที่ความคิด (Mind Mapping) หมายถึง การวาดความคิดออกมาเป็นภาพ ปล่อยความคิดให้ไหลออกมาอย่างอิสระและเชื่อมโยงไปยังกิ่งก้านสาขาตามที่ความคิดจะเชื่อมโยงได้

 4.  การวิจัยเชิงปฏิบัติการ หมายถึง กระบวนการศึกษาค้นคว้าร่วมกันอย่างเป็นระบบของกลุ่มผู้ปฏิบัติงาน เพื่อทำความเข้าใจต่อปัญหาหรือข้อสงสัยที่กำลังเผชิญอยู่ โดยครูพยายามปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนของตนเองจากการส่องสะท้อนตนเอง และให้ได้แนวทางปฏิบัติหรือวิธีการแก้ไขปรับปรุงที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในการปฏิบัติงาน รวมทั้งการให้ความเข้าใจและมโนทัศน์ของตนเองมากกว่าผู้เชี่ยวชาญ การศึกษาค้นคว้าเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ใช้แนวความคิดของ Stephen Demmis (ประวัติ เอราวรรณ์ 2545 : 15) ประกอบด้วยการปฏิบัติที่สำคัญ 4 ประการ ที่เกี่ยวข้องเป็นวงจร คือ วางแผน (Plan) การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Obseration) และการสะท้อนผล (Reflection)
ซึ่งมีการเคลื่อนไหวลักษณะ
เกลียวสว่าน ในจุดทั้ง 4 จุด ไม่หยุดนิ่งและไม่จบลงด้วยตนเอง
และจะดำเนินการต่อเนื่องกันไปจนกว่าจะได้ข้อสรุปแก้ปัญหาได้จริง

5.  แบบประเมินพฤติกรรมนักเรียนระหว่างเรียน และแบบประเมินการเขียนเรียงความ หมายถึง แบบประเมินพฤติกรรมนักเรียนระหว่างเรียน และแบบประเมินพฤติกรรมการเขียนเรียงความที่ผู้ศึกษาค้นคว้าขึ้น เพื่อประเมินพฤติกรรมระหว่างเรียนและประเมินทักษะการเขียนเรียงความตามสภาพจริง
ตั่งแต่เริ่มต้นการเรียนการสอนจนเสร็จสิ้นการเรียนการสอน โดยประเมินรวมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

6. ทักษะการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดวิชาภาษาไทย หมายถึง การฝึกให้ผู้เรียนรู้จัก
ใช้ความคิด และความรู้ของตนเองให้เป็นเรื่องราว การรู้จักลำดับข้อความให้น่าสนใจ น่าอ่าน แทรกความรู้ ความคิดของผู้เขียนถ่ายทอดออกมาให้ผู้อ่านเข้าใจ

7. แบบบันทึกอนุทิน หมายถึง การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับชั้นเรียน ผู้เรียนการเรียนการสอนหรือ
การปฏิบัติงานในแต่ละวัน ในประเด็นที่ทำการศึกษาค้นคว้าใช้เป็นบันทึกแบบสองด้านคือ แบบด้านบวกกับด้านลบ

 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

1.   ทำให้สมารถพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนวิชาภาษาไทย เรื่องการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิด

2.   ทำให้เกิดการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย เรื่องการเขียนเรียงความด้วยแผนที่ความคิดให้สูงขึ้น

3.   เป็นแนวทางให้ครูภาษาไทย คิดหาวิธีการพัฒนาวิธีการสอนอื่นๆ ต่อไปเพื่อส่งเสริมการเขียนเรียงความ ให้เกิดประสิทธิผลการสื่อความได้

หมายเลขบันทึก: 245599เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 23:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีค่ะ ยามดึก

โอโหเกือบเที่ยงคืนไม่ง่วงหรือค่ะ

การเขียนเรียงความ เด๊ยวหนูจะแวะมาอ่านต่อค่ะ

เยี่ยมมากเลยค่ะทำสามาร๔นำไปใช้ในเรื่องเรียนได้อย่างง่ายมากเลยทีเดียว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท