กิจกรรมการเรียน -- จำลองการหางาน


สิ่งหนึ่งที่อาจารย์ทุกท่านในภาควิชาผมพร่ำสอนคือ ให้คิดว่าเราอยากทำอะไร อยากยืนอยู่จุดไหนของสังคมและให้ประเมินตัวเองอยู่เสมอว่าเราพร้อมหรือไม่ที่จะไปยังจุดนั้น วิธีการที่ใช้อยู่เสมอคือการดูประกาศรับสมัครงานครับ ลองดูว่าตำแหน่งงานในฝันเรานั้นเขาต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง อะไรที่เรายังขาด อะไรที่เรามีแล้วสามารถทำให้ดียิ่งขึ้นไปได้อีก ช่วงนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางอาชีพของหลายๆ คนที่กำลังจะจบการศึกษา (ภายในเวลาหนึ่งถึงสองปี) ก็ต้องเริ่มเตรียมตัวดูงานใหม่กันได้แล้ว สภาพเศรษฐกิจก็กำลังอยู่ในช่วงขาลง ต่ำแหน่งงานน้อย การแข่งขันก็สูงขึ้น

Now Taking Applications

ถึงแม้กรณีของผมจะไม่เหมือนคนอื่นเพราะเป็นนักเรียนทุนที่จะต้องกลับมารับใช้สถาบันต้นสังกัดในเมืองไทย แต่การออกหางานจำลองแบบนี้ก็ได้ประโยชน์ในการสำรวจคุณสมบัติตนเองอยู่เรื่อยๆ ว่าอะไรเราขาดอะไรเรายังไม่ดีพอ ส่วนใหญ่แล้วกิจกรรมนี้จะตามมาด้วยการบ้านที่มักจะเป็นข้อเขียนแบบ reflective journal หรือการวิเคราะห์ตัวเอง แล้วจากนั้นก็จะมี learning contract ที่ต้องทำสัญญากับอาจารย์ว่าจะทำอะไรเพื่อปรับปรุงตัวเองให้ไปถึงจุดนั้นได้  การเรียนแบบ learning contract นี้เป็นที่นิยมในกลุ่มผู้เรียนที่มีวุฒิภาวะ (adult learning / andragogy) เพราะเชื่อว่าผู้เรียนสามารถกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนเองได้ อาจารย์เป็นผู้ชี้แนะตรวจสอบว่าสัญญาที่เขียนนี้มันเนื้อหาครบถ้วนและปฏิบัติได้จริงภายในเวลาหนึ่งเทอมการศึกษาหรือไม่

พอดีว่าทางคณะผมเปิดรับสมัครงานตำแหน่งอาจารย์ที่เน้นการสอน (clinical position) คำนี้เป็นศัพท์ในวงวิชาการซึ่งหมายถึงตำแหน่งที่ไม่ได้เป็น tenure track และตั้งเป้าว่าจะรับคนที่เพิ่งจบหรือจะจบปริญญาเอกในปีนี้ อาจารย์ท่านเลยได้ไอเดียให้พวกเราทำกิจกรรม โดยท่านเอาซองผู้สมัครทั้งหมดยี่สิบสามคนแบ่งเป็นสามกอง แต่ละกองมีป้ายสีกำกับสีส้ม สีฟ้าและไม่มีสี แล้วให้พวกเราหยิบไปกองละซอง จากนั้นให้พวกเราพิจารณาดูซองของผู้สมัครแต่ละกองว่าสีไหนคือกลุ่มที่คณะกรรมการคัดสรรเลือกเอามาพิจารณาในรอบต่อไป นั่นหมายความว่าการพิจารณารอบแรกนั้นได้สิ้นสุดไปแล้ว อาจารย์ท่านเพียงอยากให้พวกเราได้เห็นว่าซองสมัครงานที่เขาส่งกันจริงๆ นั้นมันมีแบบไหนบ้าง ใครเตรียมตัวดี ไม่ดีอย่างไร แน่นอนครับว่าเดาไม่ยากเท่าไหร่ว่าเจ็ดคนสุดท้ายนั้นรวมกันอยู่ในกองไหน แต่สิ่งที่เราได้ (อย่างน้อยก็ที่ผมเข้าใจ) คือการเห็นเทคนิคเจ๋งๆ ที่คนเพิ่งจบเขาใช้กันในการเพิ่มคะแนนให้ตัวเอง สิ่งหนึ่งที่ถือเป็นธรรมเนียมในวงการศึกษาอเมริกันคือจดหมายรับรองครับ ใครได้จดหมายจากคนดังในวงการก็ได้เปรียบ แต่แน่นอนว่าเขาจะมีการตรวจสอบกลับไปว่ารู้จักกันดีแค่ไหนอีกทีหนึ่ง อีกเทคนิคที่ผมว่าน่าสนใจและเริ่มใช้กันมากขึ้นคือการ google ผู้สมัครเพื่อดูว่ามีร่องรอยอะไรบนโลกอินเตอร์เน็ตบ้าง ใครทำผลงานอะไรที่ไหน ก็พอจะตรวจสอบได้

ตำแหน่งใหม่นี้คณะกรรมการคัดสรรไม่ได้จำกัดว่าจะต้องรับแค่คนอเมริกัน แต่เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่เน้นการสอนการพิจารณารับคนต่างชาติจึงต้องมีการตรวจสอบสำเนียงการพูด เท่าที่ผมดูมีผู้สมัครคนหนึ่งที่เรียนปริญญาตรีและโทที่ต่างประเทศแล้วถึงมาต่อปริญญาเอกที่อเมริกา แต่แทนที่จะปล่อยให้คณะกรรมการสงสัยในความสามารถในการพูด เขาแนบใบประเมินผลการสอนมาให้ในซองด้วย ใบประเมินประมาณสิบใบนี้เขียนโดยนักเรียนที่เคยเรียนกับผู้สมัครและเขียนกันดีมากๆ กระดาษปึกนี้เป็นเครื่องยืนยันทั้งคุณภาพในการสอนและมาตรฐานการใช้ภาษาของผู้สมัครได้เป็นอย่างดี ผมประทับใจที่เขาอ่านเกมออกว่ากรรมการจะต้องอยากรู้เรื่องเหล่านี้

การคัดเลือกจริงๆ เขาเสร็จกันไปถึงรอบสองนั่นคือการโทรศัพท์สัมภาษณ์ไปแล้ว จากเจ็ดคนนี้เขาจะคัดเหลือสองหรือสามคนเพื่อจะให้เดินทางมาสัมภาษณ์กันที่มหาวิทยาลัย ซึ่งแน่นอนครับว่านักเรียนปริญญาเอกของที่นี่จะได้มีส่วนร่วมประเมินด้วยเช่นกัน

ผมค่อนข้างจะมั่นใจว่าวิธีการสอนแบบให้ทดลองหางานนี้สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ในระดับมัธยมปลาย ลองให้นักเรียนเข้าไปตามเว็บไซต์หางานต่างๆ แล้วดูว่าอยากทำงานอะไร แล้วตลาดเขาต้องการคุณสมบัติอะไรบ้าง แล้วก็ให้ออกมานำเสนอหน้าชั้นเรียนกันว่าฉันอยากเป็นอะไร แล้วมันต้องทำมีคุณสมบัติอะไรบ้าง วิธีนี้น่าจะดีกว่าการเชิญวิทยากรในสาขาวิชาต่างๆ มาพูดก็ตรงที่มันตอบโจทย์เฉพาะบุคคลได้ ส่วนคนที่ยังไม่ได้คิดว่าจะหางานหรือยังไม่มีไอเดียชัดเจนก็สามารถเรียนรู้จากเพื่อนๆ ได้ หรืออย่างน้อยที่สุด ถ้าอยากให้เป็นงานกลุ่ม อาจารย์ก็เลือกอาชีพให้แต่ละกลุ่มไปหาว่าเขาทำอะไรกันบ้าง แล้วมันต้องมีคุณสมบัติอะไรพิเศษไหม เช่นงานวิชาชีพหลายสาขาต้องใช้ใบประกอบวิชาชีพ อาจารย์ก็อธิบายให้ฟังได้ว่ามันเป็นยังไง

ถ้าอ่านดูแล้วเห็นว่ามันพอจะเข้าท่า ก็เอาไปทดลองกันได้นะครับ

ภาพประกอบ: Now Taking Applications

 

หมายเลขบันทึก: 245497เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กันยายน 2013 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ตอนนี้  ผมกำลังจะประสานความร่วมมือไปยังกองบริการการศึกษาและสำนักศึกษาทั่วไป  เพื่อผลักดันให้กิจกรรมนอกหลักสูตรถูกบรรจุเป็นวิชาเรียน  และรับรองวิชาที่ว่านั้นลงในระบบ "ระเบียนกิจกรรมนิสิต"  (ทรานสคริปกิจกรรม)

พร้อมๆ กับการผลักดันให้ทรานสคริปกิจกรรมถุกขานรับโดยสภามหาวิทยาลัย...

ไม่รู้จะสำเร็จมั๊ย...

แต่ก็จะพยายามให้เต็มที่  เพราะผมเชื่อว่า  สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้การเรียนในหลักสูตร  น่าสนใจ-สนุก-และได้สาระในเชิงจิตอาสาไปด้วย

บันทึกนี้ ต้องอ่านนานๆ แบบละเอียด เดี๋ยวกลับมาใหม่ค่ะ

แนวคิดในการจำลองการหางาน ก็เป็นเรื่องที่ดี ที่เราจะได้กลับมาปรับปรุงตัวเอง ว่ายังขาดอะไรนะคะ
ในชีวิตจริง คนอยากทำงานกับบริษัทที่มั่นคง เป็นหลักเป็นฐานแล้ว มากกว่าจะไปเป็นพนักงานบริษัทเล็กๆ ที่เพิ่งเปิดกิจการ ซึ่งมันมีไม่พอค่ะ และจะมีการแข่งขันสูงมากด้วย บริษัทเป็นผู้เลือกคน คัดคน ซึ่งคนที่จบจากที่ดีๆ มีชื่อเสียง จะได้เปรียบ 
แต่ถ้าคนไม่ยึดติดกับสังคมที่ไปเป็นพนักงานบริษัทดีๆ  และมีความกล้าพอ ที่จะเปลี่ยนแปลง ก็สามารถสร้างกิจการเองได้    การที่มีคนส่วนหนึ่งของสังคมอยากเป็นผู้ประกอบการ  จะช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นทุกปี เศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้
จะต้องมีคนจำนวนหนึ่งคอยสร้างตำแหน่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ญี่ปุ่นที่วันนี้ประสบปัญหาเศรษฐกิจไม่โตแบบเรื้อรัง ส่วนหนึ่งก็เพราะมีแต่คนอยากหางาน ไม่ค่อยมีใคร อยากสร้างงาน
ประเทศไทยสมัยก่อนมีคนเป็นเถ้าแก่หรือเจ้าของกิจการมากกว่าสมัยนี้   ธุรกิจสมัยก่อนมีการแข่งขันน้อยกว่า  มีการจ้างงานน้อยมาก หางานทำได้ยากมาก คนสมัยก่อนจำนวนมาก จึงต้องดิ้นรนหาทางค้าขายด้วยตนเอง ทำให้มีโอกาสเป็นเถ้าแก่ได้มากกว่า
สมัยนี้งานหาง่ายกว่ามาก เด็กจบใหม่จึงเลือกสมัครงานกันหมด เพราะเป็นทางเลือกที่ดูปลอดภัยกว่า  (คนเรามักเปรียบเทียบรายได้แค่ปีต่อปี แทนที่จะเปรียบเทียบรายได้ตลอดชีวิต ทำให้รู้สึกว่าการเป็นลูกจ้างดีกว่าการเป็นเจ้าของธุรกิจ)
 สมัยนี้ คนเรียนสูงขึ้น  ทำให้บางคนเสียดายความรู้ถ้าหากจะไปทำธุรกิจส่วนตัว  ตอนนี้ เรามาดูกันว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจคราวนี้ ที่อเมริกา จะมีกิจการใหม่ๆ มา
พลิกฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมามากสักแค่ไหน

สวัสดีค่ะพี่ศศินันท์

ผมคิดมาตลอดนะครับว่ามหาวิทยาลัยนั้นลดความน่าจะเป็นในการประกอบอาชีพอิสระ และแนวคิดการเป็นเถ้าแก่ จริงไหมครับ?

การหางานและการเป็นมนุษย์เงินเดือนนั้นดูจะเป็นทางออกที่ปลอดภัยมาก เพราะเราเอาความเสี่ยงไปกองไว้กับนายจ้าง (และรัฐบาล) มีเงินเข้ามาในบัญชีเราทุกๆเดือนมันก็อุ่นใจดี ว่าไหมครับ?

ที่อเมริกาเขารณรงค์การสร้างงานแบบ Green Collar กันครับ ว่ากันว่าจะเป็นการยิงปืนลูกซองนัดเดียวได้นกหลายสิบตัว ทั้งการแก้ปัญหาแรงงาน และการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม

เดี๋ยวผมเอาบทความที่เขียนไว้มาอธิบายต่อนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท