พื้นฐานคุณภาพที่อาจลืมเลือน : แนวคิดการทำ CQI


"วิสัญญีมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว"

ชาววิสัญญี มข.ได้รับคำชมเชยในงานสัมมนาของ รพ.ศรีนครินทร์ ณ  สวิสเซอร์แลนด์ รีสอร์ท  เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ในวันที่ 23-24 มีนาคม 2552 ที่ผ่านมาซึ่งผู้เขียน และ อ.วราภรณ์ เชื้ออินทร์ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมด้วย 

คำชมกลางที่ประชุมจากปากคุณทวนทอง พันธโร ผู้ดูแลคุณภาพโรงพยาบาลมานานว่า  วิสัญญีมีการพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปแล้ว

 

....เป็นอะไรที่น่าภาคภูมิใจนัก....

หันมาสำรวจตนเองว่าทำอะไรกันไว้ในอดีต... ก็จะพบกับประสบการณ์ชีวิตคุณภาพที่มากมายเหลือเกิน... ชีวิตคุณภาพเหมือนกับตัวละครในภาพยนต์(น้ำเน่าจริงๆ...) มีทุกข์ มีโศก ปนเศร้าเคล้าน้ำตา  มีรัก  มีกำลังใจ  มีสำเร็จ  ล้มเหลว...  แม้แต่ต้องยืนให้ผู้อื่นเห็นว่ายังคงอยู่... แม้ใจอยากจะล้มลง(ชักตาย...)

เรื่องนี้...หากจะถอดความรู้(สึก)และประสบการณ์... คงต้องว่ากันยาว...

...ยาวพอๆกับประสบการณ์การทำคุณภาพมาตั้งแต่ปี 43

 

 

วันนี้เลยขอทบทวนพื้นฐานการทำกิจกรรมคุณภาพตามแบบของ HA เพื่อให้ชาววิสัญญีได้กลับมานึกถึงขั้นตอนการทำกิจกรรมคุณภาพอย่างง่ายๆ  ที่พวกเราเคยอบรมกันเมื่อ 7-8 ปีก่อน  ซึ่งเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน อาจทำให้เริ่มจะเลือนๆไปบ้าง...เชื่อว่ารื้อฟื้นไม่นานคงจำได้ (ไม่งั้นจะกลายเป็น...ปลาตายน้ำตื้น...)

 

แนวคิดการทำ CQI (Continuous Quality Improvement)

CQI  เป็นการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงระบบงานเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้รับผลงานอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมุ่งสู่ความเป็นเลิศ (บางท่านอาจใช้คำว่า process improvement หรือ performance improvement)

(ที่มา : Retrieved 28 February 2009, from  commons.wikimedia.org/wiki/File:PDCA-Two-Cycl...)

CQI มักจะใช้แนวคิด PDSA (Plan- Do- Study-Act) ซึ่งเป็นขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่

    

 

(ที่มา : Retrieved 28 February 2009, from http://www.bcnlp.ac.th/qa/pdca.jpg )

 

Plan คือ การวางแผนว่าจะทดสอบความคิดอะไรเพื่อแก้ไขปัญหา  ในการวางแผนนี้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นเพื่อให้กำหนดความคิดที่จะแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม ได้แก่

          ๑) การวิเคราะห์สภาพปัญหา : ว่าปัญหาเกิดขึ้นที่ไหน เมื่อไร กับใคร อย่างไร  มีกระบวนการอะไรที่เกี่ยวข้อง

          ๒) การวิเคราะห์ระดับของปัญหา : สามารถวัดข้อมูลที่สะท้อนระดับของปัญหาได้ด้วยวิธีใด

          ๓) การวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา : อะไรคือสาเหตุหลักๆ ของการเกิดปัญหา  สามารถวิเคราะห์ไปถึงสาเหตุรากเหง้าได้หรือไม่  มีข้อมูลประกอบหรือไม่ว่าสาเหตุใดเป็นสาเหตุสำคัญ

          ๔) การวิเคราะห์ทางเลือกในการแก้ปัญหา : เป็นการนำสาเหตุรากเหง้าที่สำคัญมาวิเคราะห์ว่าจะลดหรือขจัดออกไปได้อย่างไร  โดยอาศัยแนวคิดเชิงกลยุทธ์และความคิดสร้างสรรค์ประกอบกัน  ทางเลือกในการแก้ปัญหาอาจจะมีหลายทางเลือก อาจจะใช้ร่วมกัน หรืออาจจะต้องวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง  เมื่อได้ทางเลือกแล้ว ยังต้องวิเคราะห์แรงหนุนแรงต้านของผู้เกี่ยวข้องเพื่อวางแผนลดแรงต้านและใช้แรงหนุนให้เป็นประโยชน์

      Do  คือ การนำความคิดดังกล่าวไปทดสอบ

      Study คือ การวัดผลการทดสอบว่าความคิดดังกล่าวสามารถใช้แก้ปัญหาได้หรือไม่

      Act  คือ การนำผลการทดสอบไปสู่การปฏิบัติในการทำงานประจำอย่างสม่ำเสมอ

จากแนวคิดรูปแบบ CQI ที่ใช้ในการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ที่เน้นรูปแบบที่เรียบง่ายและเร่งการพัฒนา  เน้นการทดสอบขนาดเล็ก  ทดสอบต่อเนื่อง ทดสอบหลายเรื่องพร้อมกัน  จึงทำให้การทำกิจกรรมคุณภาพเป็นไปได้ง่าย รวดเร็ว ทันใจ ซึ่งต่างกับกระบวนการในแนวคิด R2R

 

ที่มักจะหลงทางกันคือในช่วงของ Plan... ในช่วงนี้จะเป็นการวางแผนเพื่อนำกิจกรรมคุณภาพที่เราคิดว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ ใส่ลงในแผนมากกว่าที่จะค้นหาปัญหาอย่างลอยๆหรือใช้ความรู้สึก...นั่นหมายความว่า ขนาดและความสำคัญของปัญหาต้องชัดเจน  สาเหตุที่ได้นำมาวิเคราะห์วิธีการแก้ปัญหาที่เราคิดว่าจะแก้ไขได้จะอยู่ในกระบวนการ Plan ... เป็นขั้นตอน Plan นี่แหละ 

จากนั้นลองนำไปปฏิบัติ... เป็นขั้นตอน Do

ผลลัพธ์ของการปรับปรุงจึงนำมาเปรียบเทียบกับผลลัพธ์เดิม... แล้วจะรู้ว่าคุณภาพดีขึ้นหรือไม่... เป็นขั้นตอน Check

 ถ้าผลลัพธ์ยังไม่ดี  ต้องปรับปรุงก็วางแผน PDCA วงเล็กๆใหม่... เป็นขั้นตอน Act

 ถ้ามั่นใจว่าผลลัพธ์ดีแน่แล้วด้วยวิธีการที่เราวางแผน... หากต้องการให้คงมาตรฐานไว้ก็ประกันคุณภาพได้

 

...แต่จะอย่างไรเสีย PDCA หรือ CQI ที่กล่าว ก็มิใช่เป้าหมายใหญ่  มิใช่ยึดติดกับเครื่องมือ  แต่ควรเป็นการใช้เครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า

(อ่านเพิ่มเติมภาคภาษาไทยได้ที่ การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (CQI)  หรือ บทที่ ๑๐ การพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง (CQI)

 

    ในส่วนของภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายและเทคนิคที่ลึกซึ้งมากขึ้น  สามารถอ่านได้ที่  

    CONTINUOUS QUALITY IMPROVEMENT TECHNIQUES, Continuous Quality  

Improvement Process หรือhttp://library.kmutnb.ac.th/journal/v005n002/lib8.html )

 

 

 

บรรณานุกรม

 

กิตติวัฒน์ สิริเกษมสุข, ธเนศ กิตติธาดาชัยกุล และอนุศาสตร์ แทบทาม.[ม.ป.ป.].  

     เดมมิ่ง (Dr. W. Edwards Deming).  ค้นเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2552, จาก   

     http://www.kmitl.ac.th/ie/know/qc02_1.pdf .     

มังกร ประพันธ์วัฒนะ. เอกสารประกอบการบรรยายหลักสูตร HA 303. HACC

     KKU, 2547.

สถาบันพัฒนาและรับรองคุณภาพโรงพยาบาล. [ม.ป.ป.]. การพัฒนาคุณภาพ

     อย่างต่อเนื่อง (CQI). ค้นเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2552, จาก

     http://hospital.moph.go.th/phetchabun/ha/cqi/10_CQI.ppt

อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล. ก้าวแรกของ TQM/CQI ในโรงพยาบาล. สถาบันพัฒนาและ

     รับรองคุณภาพโรงพยาบาล. กรุงเทพฯ : บริษัท ดีไซร์ จำกัด, 2541.

isoeasy. The Deming cycle.(2006). Retrieved February 19, 2009, from

     http://pdca.wordpress.com/2006/05/12/the-deming-cycle/

Wikipedia, the free encyclopedia. PDCA. Retrieved February 19, 2009,

     from http://en.wikipedia.org/wiki/PDCA

 

หมายเลขบันทึก: 245459เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2009 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะพี่กฤษณา

ขอชื่นชมยินดีด้วยคะกับชาววิสัญญีที่น่ารัก

มีงานพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดนะคะ

ขอบคุณคุณ ประกาย~natachoei ที่~natadee ค่ะ

  • หากวางระบบและตั้งเป้าหมายร่วมกันไว้ดี  ทุกคนจะหมั่นพัฒนาไปเองค่ะ... เหนื่อยนักก็พักกันบ้างเหมือนกัน
  • ขอบคุณนะคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท