สารสนเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา


การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศและจัดการด้านต่าง ๆ


                        การจัดการสารสนเทศ เป็นลักษณะที่พบเห็นทั่วไปในแวดวงที่มีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบสารสนเทศและจัดการด้านต่าง ๆ โดยเป็นที่ยอมรับกันว่าการจัดการสารสนเทศมีความสำคัญต่อองค์กรและหน่วยงาน โดยเฉพาะสารสนเทศที่ได้มีการบันทึกไว้เป็นหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของบันทึก จดหมายโต้ตอบ รายงาน เทปบันทึกการประชุม วีดีทัศน์ประกอบการนำเสนอ ฐานข้อมูลบุคลากร ฐานข้อมูลบัญชี แบบฟอร์มการลา ฯลฯ โดยสารสนเทศเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาองค์กรเป็นอย่างยิ่ง
                      ระบบสารสนเทศในองค์กรหรือระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการสารสนเทศต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเพิ่มความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในยุคโลกาภิวัตน์ที่เกิดกระแสความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอย่างรวดเร็ว ดังนั้นองค์กรต่าง ๆ ต่างเล็งเห็นถึงความจำเป็นของระบบสารสนเทศเพื่อรองรับการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ (มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช 2549 : 25)
                      ในส่วนของสถานศึกษา การมีสารสนเทศที่เป็นระบบ ก็มีความจำเป็นและมีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความสำคัญของการจัดการสารสนเทศอย่างมีระบบ ทำให้สามารถมีข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านต่าง ๆ ผู้บริหารจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของการจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ ว่าต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบทั้งในระดับปฏิบัติการ ระดับจัดการและระดับกลยุทธ์ เพราะส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและโปร่งใส
สถานศึกษาที่มีระบบสารสนเทศที่สมบูรณ์ ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน เรียกใช้ได้สะดวกและตรงตามความต้องการ จะช่วยให้สถานศึกษาสามารถดำเนินงานพัฒนาคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการสร้างความมั่นใจที่ตั้งอยู่บนรากฐานของหลักวิชา หลักฐานข้อเท็จจริงที่สามารถตรวจสอบได้ มีกระบวนการวิเคราะห์และประมวลผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลักตรรกและความสมเหตุสมผล เพราะสารสนเทศทั้งหลายนั้นนอกจากจะใช้ในการวางแผนการดำเนินงานและประกอบการตัดสินใจแล้ว ยังนำไปสู่การพัฒนาแนวความคิด และสร้างทางเลือกใหม่ๆ ในการดำเนินการต่างๆ โดยระบบสารสนเทศที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา ที่ประกอบด้วย

                     (1) ระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา

                     (2) ระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับผู้เรียน

                     (3) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารงานวิชาการ

                    (4) ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ

 โดยระบบสารสนเทศแต่ละระบบเหล่านี้มีรายละเอียดโดยสังเขปดังต่อไปนี้

  1. ระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา  จะประกอบด้วยข้อมูลและสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับ ภาพรวมของสถานศึกษา สภาพเศรษฐกิจ การเมืองสังคม ความต้องการของชุมชน สภาพการบริหารและการจัดการตามโครงสร้างและภารกิจ เช่น ปฏิทินการปฏิบัติงานของสถานศึกษา กิจกรรมประจําวันของสถานศึกษา ระบบเอกสารที่จําเป็นในสถานศึกษา

ในการทําระบบสารสนเทศพื้นฐานของสถานศึกษา  ถ้าระบบข้อมูลสารสนเทศไม่ครบถ้วน ไม่ชัด ไม่ถูกต้อง ไม่รู้ความต้องการของชุมชน ก็จะไม่สามารถที่จะหาสิ่งต่างๆเพื่อมาใช้ในการพัฒนาโรงเรียนได้  และจะไม่ทราบเลยว่าโรงเรียนจะช่วยอะไรตัวเองได้อย่างไร โดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจ สภาพการเมือง สภาพของสังคม โรงเรียนที่ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลสภาพเศรษฐกิจ การเมือง เช่นกัน  ว่าพื้นที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง นักเรียนยากจนไหม และความต้องการของชุมชนเป็นอย่างไร ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีไหม  ควรจะใช้อะไรได้บ้าง  เมื่อทราบผลตรงนี้ จะทําให้ระบบเกิดขึ้นและสามารถดําเนินการเรื่องอะไร ต่าง ๆ ได้ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาได้ตามแนวทางที่วางไว้ได้

      2. ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน เป็นระบบสารสนเทศที่ต้องทําการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนทั้งหมด สารสนเทศส่วนนี้เกิดจากครูผู้สอนหรือผู้ปฏิบัติงานเป็นส่วนใหญ่ เช่น ผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนจําแนกเป็นรายชั้นรายปี ผลการประเมินคุณภาพของผู้เรียน รายงานผลความก้าวหน้าของผู้เรียน รายงานความประพฤติ พฤติกรรมการแสดงออกของผู้เรียน

ระบบสารสนเทศเกี่ยวกับผู้เรียน โรงเรียนต้องมีการจัดทําขึ้นให้เป็นไปตามมาตรฐานการประเมินตนเอง เพื่อรองรับการประเมินจากต้นสังกัด  และโรงเรียนก็สามารถให้ข้อมูลหรือ ระบบสารสนเทศแสดงผลสัมฤทธิ์ให้เห็นทุกตัวในฐานข้อมูลว่าขณะนี้เป็นอย่างไรบ้าง  โดยการเก็บข้อมูลจะส่งผลกับการประเมินคุณภาพผู้เรียน ผลที่ได้จะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของ ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกความก้าวหน้าของผู้เรียน 

 3. ระบบสารสนเทศการบริหารวิชาการ  เป็นการจัดระบบสารสนเทศเกี่ยวกับหลักสูตรและการเรียนการสอน การวัดและประเมินผล การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ในงานบริหารฝ่ายวิชาการซึ่ง ประกอบด้วยฝ่ายวัดผล  ฝ่ายประเมินผล หัวหน้าฝ่ายวิชาการ หัวหน้าหมวด  หัวหน้ากลุ่มสาระ  ต้องมีการเก็บข้อมูลในด้านต่างๆและจากการเก็บข้อมูลก็จะสามารถพบว่ามีนักเรียนที่มีปัญหาในด้านต่างๆอย่างไร  และโรงเรียนก็ต้องมีวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ เช่น โรงเรียนอาจจะช่วยนักเรียนกลุ่มที่มีปัญหานี้ได้ด้วยสอนเสริมเพิ่มเติมในวิชาที่นักเรียนมีปัญหา  และจากผลความก้าวหน้าตรงนี้จะเป็นชี้วัดว่าโรงเรียนต้องพัฒนาตัวเองให้ไปในทิศทางใดได้อย่างไร

 4. ระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ  เป็นระบบสารสนเทศที่จะสามารถบริหารได้ตั้งแต่งานธุรการ งานการเงิน งานบุคลากร งานอาคารสถานที่ งานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน งานพัฒนาแหล่งเรียนรู้  หรือทั้งหมด  สารสนเทศประเภทนี้ต้องมีการประมวลผลรวม มีการเปรียบเทียบข้อมูลอย่างถูกต้องและทันสมัยจึงมีความหมายต่อการจัดการและการบริหารงานอย่างเต็มประสิทธิภาพข้อมูลสารสนเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการจัดการในสถานศึกษา  ซึ่งในการบริหารจัดการของแต่ละด้านหรือฝ่ายงานย่อมต้องการการดำเนินการจัดระบบการบริหารและสารสนเทศให้เป็นระบบ เป็นปัจจุบัน ถูกต้อง และต้องดำเนินการให้ครอบคลุมทุกบริบททุกด้านเพื่อเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา     

 

ข้อมูลอ้างอิง

 บทบรรยายในการสัมมนาทางวิชาการ เรื่อง การพัฒนาความรู้ความเข้าใจเพื่อการพัฒนาระบบฐานข้อมูลสารสนเทศในสถานศึกษา  จัดโดย  สํานักงานเลขาธิการสภาการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ

 

หมายเลขบันทึก: 245318เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 18:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 18:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท