การจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุของ อปท. (2)


การจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุของ อปท. (2)

การจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุของ อปท. (2)

            บาว นาคร*

พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ที่กำลังพิจารณากันในสภานั้นได้มีการพิจารณาใน มาตรา 9 (5) อำนาจหน้าที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยกำหนดให้มีอำนาจในการกำหนดระเบียบการจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ และในมาตรา 22 (2) อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารกองทุน โดยกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่การอนุมัติการจ่ายเงิน เพื่อคุ้มครองการส่งเสริม การสนับสนุนและการอนุมัติ การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนแก่ผู้สูงอายุ และในมาตรา 11  (11)  เดิมเป็นข้อความว่า การสงเคราะห์เบี้ยยังชีพตามความจำเป็นอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม นั้นให้แก้ไขว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 53 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินหกสิบปีบริบูรณ์และไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ มีสิทธิได้รับสวัสดิการสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะอย่างสมศักดิ์ศรีและความช่วยเหลือที่เหมาะสมจากรัฐ

อีกนัยหนึ่ง กระบวนการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุนั้น โดยใช้ผู้สูงอายุในชุมชนเป็นฐานโดยผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนได้แก่ องค์กรภาครัฐที่รับผิดชอบ คือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ภาคเอกชน องค์กรสาธารณะประโยชน์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

ทางด้านบทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดสวัสดิการผู้สูงอายุได้เริ่มต้นอย่างเป็นทางการ เมื่อรัฐบาลได้จัดตั้งกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุในชุมชน (เบี้ยยังชีพ) พ.ศ. 2536 เพื่อให้เงินช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีฐานะยากจน เดือนละ 200 บาท นับเป็นจุดเริ่มต้นในการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุของ อปท.

ส่วนเบี้ยยังชีพสำหรับผู้สูงอายุนั้นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้รับการถ่ายโอนภารกิจจากกรมประชาสงเคราะห์เดิม และ อปท. ได้ยึดถือระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2548 คุณสมบัติพื้นฐานของผู้มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพคือ ประการแรก คือ มีภูมิลำเนาในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประการที่สองคือ มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ หรือถูกทอดทิ้ง หรือขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูหรือไม่สามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้ โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนกว่าหรือผู้ที่มีปัญหาซ้ำซ้อนหรือผู้ที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารยากต่อการเข้าถึงบริการของรัฐ เป็นผู้ได้รับการพิจารณาก่อน ต่อมาจากมติคณะรัฐมนตรีการปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้สูงอายุอนุมัติเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 นั้น ได้ปรับเพิ่มเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพผู้สูงอายุเป็นคนละ 500 บาทต่อเดือน อีกทั้งในทางปฏิบัติ อปท. ที่มีศักยภาพทางการคลังสามารถเพิ่มจำนวนเงินต่อเดือน แต่รวมแล้วไม่เกิน 1,000 บาท เพื่อให้เพียงพอต่อสภาวการณ์ดำรงชีพในปัจจุบัน หรืออาจเพิ่มจำนวนผู้รับเบี้ยยังชีพได้โดยใช้งบประมาณของ อปท.เอง

การจัดบริการและการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีนั้น การมีส่วนร่วมของประชาชน ชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือ ประชาชนและผู้สูงอายุต้องเป็นผู้สะท้อนสภาพปัญหาและความต้องการของตน ส่วนชุมชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเป็นฝ่ายสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาและการจัดบริการ ดำเนินงานต่างๆที่มุ่งเสริมสร้างคุณภาพชีวิตดังกล่าว บทบาทของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีความสำคัญมากขึ้น เนื่องจากชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีปัจจัยความพร้อมด้านทรัพยากรและทุนทางสังคมมากมาย ดังนั้น การพัฒนาบทบาทท้องถิ่นในการดูแลผู้สูงอายุในอนาคตนั้น

เมื่อพิจารณาถึงพระราชบัญญัติผู้สูงอายุฉบับแก้ไขเพิ่มเติมที่กำลังพิจารณาในสภาอยู่นั้น เน้นให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติและคณะกรรมการกองทุน และวิธีการจ่ายเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุเป็นรายเดือนเท่านั้น หรือ แต่กระบวนการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆในระดับจังหวัด หรือระดับท้องถิ่น ก็เป็นสิ่งสำคัญ และกระบวนการคัดเลือกคุณสมบัติของผู้สูงอายุที่สมควรได้รับเบี้ยยังชีพตามคำนิยามที่ว่า ไม่มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ นั้น อปท. ควรมีกระบวนการทำประชาคมโดยให้ผู้สูงอายุและประชาชนในชุมชนได้เสนอความคิดเห็น พร้อมทั้งกระบวนการกรั่นกรองจากคณะกรรมการอีกครั้งหนึ่งและเสนอให้ออกเป็นระเบียบร่วมกันหรือเป็นข้อตกลงร่วมกัน หรือให้ออกเป็นข้อบัญญัติท้องถิ่นเพื่อถือปฏิบัติร่วมกันในชุมชน จึงถือว่าเป็นสิ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้ง อปท. ต้องให้ความสำคัญและร่วมกันหาแนวทางพัฒนาและเสริมสร้างการจัดสวัสดิการสังคมแก่ผู้สูงอายุต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง

มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) .รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย

พ.ศ. 2550. กรุงเทพมหานคร: บริษัท ทีคิวพี จำกัด,2551.

 

 

 

 

 



* บุญยิ่ง ประทุม .[email protected].

หมายเลขบันทึก: 245123เขียนเมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2009 03:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท