เรียนรู้เมี่ยง…ชา ที่ศรีนาป่าน-ตาแวน


                เวทีพัฒนาแกนนำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสัญจร ที่ศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลเรือง อ.เมือง จ.น่านในวันที่ 31 มกราคม – 1 กุมภาพันธ์ 2552 นี้ เป็นการสัญจรครั้งที่ 3 แล้ว ในโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษา จังหวัดน่าน ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิฮักเมืองน่าน ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

                คนที่เข้าร่วมเวที ก็เป็นขาประจำที่ร่วมเรียนรู้ด้วยกันมาอย่างต่อเนื่อง คือ 7 ศูนย์การเรียนรู้ (โจ้โก้  ไชยสถาน วังฆ้อง อรัญญาวาส ดอนมูล ทุ่งฆ้อง และเรือง) 4 โรงเรียน (ศรีนาป่าน ศรัทธาศิลาเพชรรังสรรค์ ศรีนครน่าน และน้ำเกี๋ยน) แต่ในครั้งนี้ยังมีขาจรที่ขอเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีก เช่น สมาคมหยาดฝน จังหวัดตรัง จำนวน 11 ท่าน กลุ่มแกนนำบ้านสบยาว ต.เมืองจัง อ.ภูเพียง จำนวน 10 ท่าน (ที่กำลังอยากจะรวมตัวกันเป็นศูนย์เรียนรู้)

                นอกจากนั้นยังมีองค์การบริหารส่วนตำบลเรือง นำโดยคุณวิเชียร  เขื่อนคง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเรือง ที่ได้ให้ความสำคัญกับการที่มีศูนย์การเรียนรู้ในการที่จะถ่ายทอดเรื่องราวดีดีที่มีอยู่ในชุมชน มาร่วมเป็นประธานเปิด มีคุณบุญแถม  สายยนต์ กำนันตำบลเรือง และคุณวิชัย  อินธรรม เกษตรตำบลเรือง ที่ร่วมอำนวยความสะดวก และเรียนรู้ไปกับเวทีในครั้งนี้

 

กระบวนการเรียนรู้....วิธีการถ่ายทอด

                เจ้าภาพซึ่งก็คือ ศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลเรือง โดยมีแกนนำเป็นคนที่อาศัยอยู่บ้านศรีนาป่าน และบ้านตาแวน ต.เรือง ทำหน้าที่เป็นครู ในการถ่ายทอดความรู้ตามหลักสูตรของศูนย์ที่ได้วางไว้ ชื่อหลักสูตร “การจัดการแปลงเกษตรป่าเมี่ยง” มีทั้งหมด 5 เนื้อหาด้วยกัน คือ เนื้อหาที่ 1 ประวัติศาสตร์ชุมชน  เนื้อหาที่ 2 การดูแลป่า-สวนเมี่ยง เนื้อหาที่ 3 การเก็บเมี่ยงและเก็บชา เนื้อหาที่ 4 การแปรรูปเมี่ยง แปรรูปชา และแปรรูปหมอนใบชา  เนื้อหาที่ 5 การตลาด  ส่วนอีก 6 ศูนย์ 4 โรงเรียน และคนเข้าร่วมอื่นจะกลายมาเป็นผู้เรียน

                การสอนของครูวิทยากรที่ศูนย์ฯ ในวันแรกเริ่มต้นจาก พ่อผาย  นันไชย บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บ้านศรีนาป่านตาแวน ว่ามาจากที่ไหน การก่อตั้งในช่วงแรกเป็นอย่างไร ตามด้วย พ่อเปล่ง  มะโนวรณ์ ที่ได้มาเล่าถึงกระบวนการเชื่อมโยงคน เมี่ยง ป่า เข้าด้วยกัน นอกจากนั้นยังได้เล่าไปถึงกระบวนการถอดองค์ความรู้ในการจัดการป่า ที่ทางตัวแทนแกนนำได้ถูกเชิญเข้าไปร่วมฝึก โดยมีทั้งประเด็นของหลักคิด วิธีคิดในการอนุรักษ์ป่า กลไกการทำงาน ทักษะเทคนิค วิธีการสร้างจิตสำนึก งานวิจัยที่ชุมชนได้ทำมา และกระบวนการทำงาน

                ช่วงบ่ายได้มีการแบ่งกลุ่ม 4 กลุ่มเพื่อลงศึกษาในพื้นที่จริงในประเด็นการดูแลป่า-สวนเมี่ยง วิธีการเก็บเมี่ยง เก็บชา โดยครูวิทยากร (ครูบุญทวี ครูผาย ครูเปล่ง ครูธวัชชัย)ได้พาเดินตามเส้นทางการชมระบบนิเวศน์ “ป่าห้วยหลวง”  ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร หลังจากกลับออกมาแล้วได้มีการนำความรู้ที่ได้จากการศึกษามานั่งถก สรุป และนำเสนอร่วมกัน ช่วงเย็นทางผู้เข้าร่วมได้มีโอกาสสัมผัส ชื่นชมกับบรรยากาศธรรมชาติในป่า ด้วยทางแกนนำศูนย์เรืองได้ปูเสื่อ จุดกองไฟ ให้ทุกคนได้นั่งล้อมวงกินข้าว (น้ำพริกผักนึ่ง แกงบอน และอ่อมเนื้อ) ตกกลางคืนใครใคร่ ฟังเสียงน้ำไหล เสียงนก เสียงจิ้งหรีดร้องก็ช่วยกันกางเต้นท์นอนตรงชายป่า บริเวณลานจอดรถ ใครที่อยากสัมผัสกับบรรยากาศ Home Stay ทางแกนนำก็จัดให้ในหมู่บ้าน

ในวันที่สองของเวที ครูวิทยากรได้พาลงเรียนรู้ตามฐานที่อยู่ในชุมชน 2 ฐาน คือ ฐานแปรรูปเมี่ยงอม และฐานแปรรูปยอดเมี่ยงให้เป็นชา ช่วงบ่ายแต่ละศูนย์ฯ ได้กลับมาถกคิดกันว่ากระบวนการถ่ายทอดความรู้ของศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตำบลเรืองในวันนี้เป็นอย่างไร และจะไปปรับใช้กับกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่ศูนย์ของตนเองอย่างไร นอกจากนั้นยังได้เพิ่มเติมคำถามต่อน้องเยาวชนของแต่ละศูนย์ถึงบทบาทของเยาวชนในการที่จะช่วยนำเอาความรู้ที่มีอยู่ในศูนย์ฯ ไปถ่ายทอดต่ออย่างไร

 

เรื่องราวดีดีที่ได้จากเวที

ประวัติศาสตร์หมู่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน โดย พ่อผาย นันไชย

                หมู่บ้านศรีนาป่าน-ตาแวน ตั้งอยู่ติดเทือกเขาที่กั้นเขตแดนจังหวัดน่าน กับจังหวัดพะเยา ศรีนาป่านเป็นหมู่ที่ ๑ ของตำบลเรือง อำเภอเมือง ส่วนบ้านตาแวนเพิ่งแยกหมู่บ้านทีหลัง  เป็นหมู่ที่ ๔ อยู่ในตำบลเดียวกัน หมู่บ้านทั้งสองอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ ๑๕ กิโลเมตร      ตามหลักฐานที่บันทึกจากพ่ออุ้ยหนานอโนชัย วงศ์ราช ชาวบ้านตาแวนซึ่งเสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๗ เล่าว่า บรรพบุรุษของคนในหมู่บ้านอพยพมาจากแถบสิบสองปันนา สิบสองจุไท จากประเทศจีน หนีศึก หนีคมหอกคมดาบมา แล้วมาตั้งรกรากอยู่ที่ป๋างไท (ปัจจุบันเป็นจุดเรียนรู้หนึ่งในเส้นทางเดินชมระบบนเวศน์ “ห้วยหลวง”) เมื่ออยู่ที่นี่ได้เป็นกำลังพลในการผลิตอาวุธ (หอก ดาบ) ส่งให้พระเจ้าทองทิพย์เพื่อใช้ในการรบกับข้าศึก วัดที่ศรีนาป่าน-ตาแวน ตั้งแต่สมัยก่อนมาถึงปัจจุบันมีอยู่ 4 วัด ซึ่งเป็นวัดห่าง 3 วัด (วัดกองหิน วัดห้วยแล้ง วัดพระเจ้าทองทิพย์) วัดปัจจุบัน 1 วัด (วัดศรีนาป่าน)

                คนในบ้านศรีนาป่านตาแวน มีความเชื่อ และนับถือเจ้าหลวงป่าเมี่ยงมาก ดังนั้นในบริเวณป่า หรือบริเวณที่เป็นสถานที่เป็นหอเจ้าหลวง จะไม่มีใครกล้าเข้าไปทำผิด หรือลบหลู่ โดยข้อควรปฏิบัติของชุมชนเวลาเข้าไปเดินป่า คือ ต้องนมัสการพระพุทธรูป และบอกกล่าว ขอพรจากเจ้าหลวงป่าเมี่ยงก่อน ไม่พูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด เวลาเดินป่าไม่ให้เดินออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้

                นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรม ประเพณีที่สืบทอดต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เช่น การเซ่นไหว้เจ้าหลวงป่าเมี่ยง พิธีกรรมหล่อเมี่ยง การเลี้ยงผีขุนน้ำ การแก้มข้าวใหม่ การสะเดาะเคราะห์ การสักการะพระเจ้าทองทิพย์ และสืบทอดบริวารเจ้าหลวงป่าเมี่ยง

 

กระบวนการเชื่อมโยงคน... เมี่ยง... ป่า

                พ่อเปล่ง  มะโนวรณ์ ได้เล่าถึงหลักการคิด วิธีคิด และแรงบันดาลของกลุ่มแกนนำที่ศูนย์ในเรื่องของการจัดการป่าที่ศรีนาป่าน-ตาแวนว่า ต้องการให้ป่าอยู่กับคนแบบยั่งยืน โดยกลไกการทำงาน คือ ใช้ศูนย์เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับคนที่อยู่ใน และนอกชุมชน ซึ่งอาศัยปราชญ์ชาวบ้านเป็นแกนนำถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น นอกจากนั้นยังมีภาคีความร่วมมือที่ให้การหนุนเสริม เช่น มูลนิธิฮักเมืองน่าน สจส. สสส. กศน. สปสช. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

                เทคนิค แนวทางในการจัดการป่า ได้ใช้ความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณีที่เชื่อมโยงกับป่าเมี่ยงมาเป็นตัวนำ เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ มีการนำเอาองค์ความรู้ที่ได้จากการจัดการในชุมชน เช่น การดูแลรักษาป่าโดยทำแนวกันไฟ และมีการแยกประเภทป่าเพื่อให้เกิดการจัดการได้อย่างเหมาะสมและลงตัวภายในชุมชน โดยแบ่งป่าออกเป็น 5 ประเภท ดังนี้ ป่าต้นน้ำ ป่าเศรษฐกิจ(ป่าเมี่ยง) ป่าใช้สอย ป่าชุมชน และป่าประเพณี (ป่าสุสาน วัดร้าง ศาลเจ้า) มีกฎระเบียบของชุมชนในการอนุรักษ์ และใช้สอยทรัพยากรภายในป่า รวมไปถึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อช่วยในการบริหารจัดการกลุ่มอีกด้วย

                นอกจากนั้นทางกลุ่มแกนนำได้มีการปลุกจิตสำนึก และสร้างความตระหนักให้กับคนในชุมชนในการช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น การบวชป่า สืบชะตาแม่น้ำ การตานสลากจุมปู และการทำวิจัยในชุมชนก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ได้ช่วยให้กระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดการเรียนรู้มากขึ้น เช่น การวิจัยข้าว การวิจัยสัตว์น้ำ การวิจัยป่า(สร้างฝายกั้นน้ำ) การตัดแต่งกิ่งเมี่ยง และการวิจัยน้ำจากการนึ่งเมี่ยง

                กระบวนการทำงานของแกนนำในชุมชนในการจัดการป่า เริ่มต้นด้วยปีพ.ศ. 2540 มีการรวมกลุ่มชาวบ้าน โดยใช้ชื่อว่า “กลุ่มเรืองรักษ์ป่า” โดยยึดถือสโลแกน “เพราะเรืองรักษ์ป่า ป่าจึงรักเรือง” มีบทบาทหน้าที่ปกป้องฟื้นฟู และดูแลรักษาป่าตำบลเรือง ต่อมาในวันที่ 7 มิถุนายน 2548 ได้มีเวทีประชาคมตำบล เรื่อง “รณรงค์แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม” ขึ้น หลังจากนั้นได้ร่วมกันบวชป่า ทำฝายแม้ว และในปี พ.ศ. 2550 ทางกลุ่มมีการอบรมเชิงปฏิบัติการ “โครงการเฝ้าระวังไฟป่า” ให้กับแกนนำแต่ละหมู่บ้าน โดยกระบวนการดังกล่าวทางชุมชนได้พยายามที่จะสร้างคนในชุมชนให้มีจิตสำนึกในการมีกิจกรรมทำร่วมกัน และให้เกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ แบ่งปันซึ่งกันและกัน

                ท้ายสุด พ่อเปล่ง ได้บอกว่า “กล่าวได้ว่าคนอยู่ในป่าก็คือเมื่อป่าไม้อุดมสมบูรณ์คนก็มีความสุข คนรักป่าไม้ป่าไม้ก็รักคนเช่นเดียวกัน ในป่าชุมชนจะมีทั้งอาหาร ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย และสิ่งที่เราประทับใจคือป่าอยู่กับคนได้อย่างยั่งยืน มีป่าอยู่คู่บ้านเหมือนมีธนาคารอยู่กับเรา”

 

การจัดการแปลงเกษตรป่าเมี่ยงตามแบบฉบับของคนบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน

                การถ่ายทอดหลักสูตรของทางศูนย์เรือง ได้ใช้การลงศึกษาในพื้นที่จริง โดยอาศัยจุดเรียนรู้ 13 จุด ตลอดระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ของป่าห้วยหลวง เป็นตัวบอกเล่าเรื่องราวต่างที่เกิดขึ้นในชุมชน

                จุดเรียนรู้ที่ 1 ไหว้พระพุทธรูป ซึ่งอยู่บริเวณลานจอดรถ

                จุดเรียนรู้ที่ 2 ขอพรเจ้าหลวงป่าเมี่ยง อยู่บริเวณลานจอดรถ

                จุดเรียนรู้ที่ 3 ป่าสวนเมี่ยง จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของเมี่ยง การดูแลรักษาต้นเมี่ยง ตลอดจนถึง

                                        วิธีการเก็บยอดเมี่ยงมาแปรรูปชา และการเก็บใบเมี่ยงมาทำเป็นเมี่ยงอม

                จุดเรียนรู้ที่ 4 ต้นไฮ ซึ่งเป็นที่มาของตำนานปางบุญปางบาป การแบ่งเขตแดนสวนเมี่ยง สมุนไพร

                จุดเรียนรู้ที่ 5 ห้วยน้ำดัง ซึ่งใช้เป็นจุดสำหรับทำน้ำประปาของหมู่บ้าน

                จุดเรียนรู้ที่ 6 ต้นยางใหญ่ กับสมุนไพร (ตะขาบหรือม้าหลังเหล็ก)

                จุดเรียนรู้ที่ 7 ประวัติศาสตร์ท่าหินลับมีด

                จุดเรียนรู้ที่ 8 ฝายแม้ว

                จุดเรียนรู้ที่ 9 ต้นสมพงษ์ (งุ้น) กับรังผึ้ง

                จุดเรียนรู้ที่ 10 วังชมพู่ เป็นจุดเรียนรู้สมุนไพร และดูสัตว์น้ำของห้วยหลวง

                จุดเรียนรู้ที่ 11 ต้นไฮหลวง ซึ่งมีขนาดของลำต้นใหญ่ ประมาณ ให้คน 12 โอบล้อมรอบได้

                จุดเรียนรู้ที่ 12 นาป๋างไท เป็นจุดสะสมกำลังพลทหารจุไท ในสมัยก่อน และเป็นแหล่งอาหารป่า

                จุดเรียนรู้ที่ 13 แหล่งอนุรักษ์สัตว์น้ำ

 

เรื่องรา...เมี่ยงอม

                เป็นอีกฐานหนึ่งที่ทางผู้เข้าร่วมให้ความสนใจ โดยเฉพาะเด็กๆ เนื่องจากบางคนยังไม่เคยเห็นเลยว่ากระบวนการทำเมี่ยงอมเป็นอย่างไร ทางแกนนำศูนย์เรืองจึงได้ใช้สถานที่บ้านของแม่บานเย็น  ตันไชยเป็นจุดเรียนรู้

 

จากเมี่ยง...สู่ชา

                ปัจจุบันคนรุ่นใหม่ๆ ไม่นิยมที่จะอมเมี่ยงกัน ทำให้ราคาเมี่ยงอมต่ำกว่าเดิมมาก  การนำยอดเมี่ยงมาทำเป็นชา จึงเป็นอีกการแปรรูปหนึ่ง ซึ่งอาจถือได้ว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่ง ที่ได้ช่วยสร้างรายได้ให้กับคนที่ปลูกเมี่ยงในศรีนาป่านตาแวน

                ดังนั้นในการเรียนรู้ครั้งนี้ ทางแกนนำศูนย์เรืองจึงได้มีการจัดฐานเพื่อให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการแปรรูปชาอย่างเต็มที่ โดยอาศัยสถานที่ในโรงงานใบชาตำบลเรืองเป็นจุดถ่ายทอดความรู้

ปิดท้ายด้วยพรดี...ดี จากพระครูพิทักษ์นันทคุณ

                “คิดว่าทุกคนคงได้ไปสัมผัสธรรมชาติห้วยหลวงมาแล้ว ปีที่แล้วได้มาร่วมพิธีบวชป่าและนำต้นไม้มาปลูกเมื่อไปเห็นมารู้สึกดีใจมากเพราะต้นไม้โตแล้ว ต่อไปนี้เมื่อมีคนมาท่องเที่ยวก็จะได้เห็นธรรมชาติจริงๆที่นี่จะเป็นที่รองรับสำหรับคนที่ต้องการท่องเที่ยวธรรมชาติอย่างแท้จริง

                ปัจจุบันนี่เศรษฐกิจย่ำแย่ เราจะใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว วันนี้มีคาถาแก้จนมาฝาก

                1. มีน้อยให้ใช้น้อย

                2. มีมากก็ให้ใช้น้อย

                3. มีหนี้ก็รีบใช้หนี้ อย่าสะสมหนี้ (ค่อยๆผ่อนชำระ)

                4. ไม่ก่อหนี้ใหม่ถ้าไม่จำเป็น

                ที่สำคัญคือ พึ่งตนเองให้มากขึ้น ผลิตเอง ใช้เอง กินทุกอย่างที่ปลูก ปลูกทุกอย่างที่กิน สิ่งที่ชาวบ้านผลิตขึ้นเองมีคุณภาพมากกว่าที่บริษัทผลิต ไม่มีอันตราย ลดค่าใช้จ่ายครัวเรือน การพึ่งตนเองจะทำให้อยู่ได้ ไม่เกิดหนี้ เราเสียเงินเพราะเห่อใช้ของมียี่ห้อ เรียนรู้กับสิ่งใกล้ตัวเช่นผักสวนครัวในบ้าน ต้องเรียนรู้ตลอด 24 ชั่วโมง และต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตถึงจะรู้จริง รู้สิ่งที่อยู่ในบ้านของตนเองก็ถือว่าคุ้มแล้ว อยากฝากว่าขอให้เรียนรู้จริงๆ เรียนรู้สิ่งที่อยู่คู่กับเรามาตั้งแต่เกิดและหาวิธีรักษาให้อยู่คู่กับเราไปนานๆ”

ขอขอบคุณ

แกนนำศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตำบลเรืองทุกคน

แกนนำนักเรียน และแกนนำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนด้านสิ่งแวดล้อมทุกคน

และพี่น้องมูลนิธิฮักเมืองน่าน ที่ร่วมกันจัดกระบวนการเรียนรู้

บัวตอง  ธรรมมะ

 เล่าเรื่องจาก "เวทีพัฒนาแกนนำศูนย์การเรียนรู้ชุมชนสัญจร"

โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการสิ่งแวดล้อมศึกษา จ.น่าน

วันที่  31 มกราคม - 1 กุมภาพันธุ์  2552 ณ ศูนย์บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตรตำบลเรือง

หมายเลขบันทึก: 244578เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 12:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ขอบคุณเรื่องราวดีดีจากน่านค่ะ

  • เยี่ยมไปเลยครับ ผมเหมือนได้ไปร่วมกระบวนการเรียนรู้เลย
  • อยากให้พวกเราบันทึกแบบนี้ทุกครั้งที่มีกิจกรรม จะช่วยสำหรับคนที่ไม่มีโอกาสเรียนรู้ในเวทีจริงอย่างผมและคนอื่นๆ
ล่ะอ่อนบ้านป่านแต่มาเรียนที่เกริก

คิดถึงบ้านขนาด....เดี๋ยวสงกรานต์นี้ก็จะกลับบ้านแล้ว...กึ๊ดเติงห้วยหลวงขนาด..เล่นน้ำเย็นๆๆ...สุขใจแล้วบ้านเรา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท