แผนที่ผลลัพธ์(Outcome Mapping) กับการประยุกต์ใช้ (2) : "อยากเรียนรู้เรื่องใหม่...แต่ทำไมลืมเรียนรู้ตนเอง"


ว่าก็ว่าเถอะ การวางแผนจัดการบุคลากรตามศักยภาพอย่างไม่เหมาะสมทำให้ไม่สามารถดึงศักยภาพคนเก่งออกมาใช้ได้หมด ส่งผลทำให้องค์กรไม่โตเท่าที่ควร

 

... มันเป็นความเจ็บปวดลึกๆในใจของผู้เขียน ...

 

วันศุกร์ที่ผ่านมา  เรากำลังจะนำทีมกรรมการคุณภาพเรียนรู้เรื่องใหม่ คือ...แผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping : OM) กับการติดตามพฤติกรรมของกลุ่มงานคุณภาพ  ด้วยเชื่อว่าจุดอ่อนส่วนหนึ่งอยู่ที่ปัญหาการขาดการพูดคุยกันบ่อยครั้งอย่างสม่ำเสมอเพราะไม่มีแผน... ทำให้ขาดความเชื่อมโยงระหว่างกัน

 

ตลอดปีที่ผ่านมาแต่ละกลุ่มงานหารือภายในกลุ่มของตนอย่างเป็นทางการ 12 ครั้งเท่าจำนวนเดือนใน 1 ปี(ที่เหลืออาจจะหารือกันตามความเหมาะสมของกลุ่มเอง) 

 

สำหรับหัวหน้ากลุ่มนั้นเดิมเราตั้งใจจะให้พบปะพูดคุยกันบ่อยๆเพื่อเชื่อมโยงกัน  เป็นระยะๆ... แต่จนแล้วจนรอดตลอดปีก็ได้คุยกันเพียง 5-6 ครั้ง  แบบไม่สม่ำเสมอ  แบบไม่มีแผน  คุยกันเฉพาะประเด็นที่ให้ความสนใจขณะนั้นๆ  เช่น ช่วยกันทำ Service Profile, หรือการช่วยกันดู KPI เพื่อทำ Gap Analysis http://en.wikipedia.org/wiki/Gap_analysis  (ที่ป่านนี้รายละเอียดก็ยังไม่เสร็จ) หรือการทบทวนคุณภาพกลุ่มตนโดยมาตรฐาน ASA (Benchmarking http://en.wikipedia.org/wiki/Benchmarking ) ที่ค้นหามาให้อ่านเป็นแนวทาง และก็มีคำถามว่า

มันเป็นภาษาอังกฤษ... ภาษาไทยไม่มีเหรอ?”... ก็ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนนัก

 

ด้วยภาระงานประจำที่ล้นมือ ไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าว่าวันไหนจะยุ่งหรือจะว่างจนพอที่จะมีเวลาประชุม หรืออาจจะมีการหารือกันแบบไม่เป็นทางการแต่ไม่ถูกบันทึกพฤติกรรมการทำงาน เป็นที่มาของการทดลองนำ OM มาใช้จริงๆ... ด้วยเชื่อว่ามันน่าจะได้ผลดีขึ้นในการเห็นพฤติกรรมการพัฒนางานแม้ผลลัพธ์ยังไม่เกิด

 

การพบกันครั้งที่1  ผ่านไปด้วยดีเพราะทุกคนมีความรู้สึกร่วมกันในปัญหา... ได้ผลลัพธ์ตรงที่เป็นเวทีให้ผู้นำได้เปิดใจให้กลุ่มได้ทบทวนในส่วนของโครงการต่างๆที่มีมากมาย  สมควรหรือยังที่จะนำมาปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของคณะฯอย่างสมดุล แล้ววางแผน ทำแผนที่ผลลัพธ์ร่วมกัน

 

การพบกันครั้งที่ 2  นัดกันในวันศุกร์ที่ผ่านมา 

แต่บังเอิญมีคำถาม หนักๆ ให้ผู้เขียนได้นิ่งคิด  2 ระลอก..

1.    ทำไมตอนนี้เราจึงให้ความสำคัญบางเรื่องจนโดดเด่น เช่น งานสุขภาพอนามัยบุคลากร  มากจนลืมนึกถึงงานอื่น... ไหนว่าทุกนิ้วก็มีความสำคัญเท่ากัน

จากคำถามที่1 ทำให้ผู้เขียนรู้สึกชะงัก  และด้วยบังเอิญที่กำลังอ่านเรื่องนี้พอดี  ...ตัวอย่างความผิดพลาดของการนำปรัชญา TQM/CQI มาปฏิบัติ…” ที่อ่านพบนหนังสือ ก้าวแรกของ TQM/CQI (อนุวัฒน์ ศุภชุติกุลและคณะ, 2540)  ซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจในภาคผนวก  เลยถือโอกาสลองนำมาลองสอบถามความคิดเห็นน้องๆดู ว่าเห็นด้วยหรือไม่กับปัญหาต่างๆเหล่านั้น...เรียกว่าเรียนรู้จากเพื่อน

 

เมื่อนำแบบสอบถามให้น้องอ่านตามตัวอย่างดังกล่าว...

คำถามที่ 2 ก็ตามมา...

 

2.     พี่...อะไรน่ะ?...ปรัชญา TQM/CQI

 

สิ่งที่น้องถาม คือบรรทัดแรกของเนื้อหา

คำตอบของผู้เขียนที่ตอบตัวเองในตอนนั้นคือ... วันนี้ก่อนเริ่มยอมถอยหลังกรูด... และฉวยโอกาสนำแนวคิดTQM/CQI มาทบทวนให้น้องๆทราบ  ถือเป็นการรื้อฟื้นความรู้เดิม รีบอุดช่องโหว่ น่าจะดีกว่า..."

 

ทำให้ได้ย้อนคิดว่า อยากเรียนรู้เรื่องใหม่...แต่ทำไมลืมเรียนรู้ตนเอง...

 

 

คงจริงอย่างใครบางคนว่าไว้ว่า  ...ฉันไปไกลเกินไปมั้ย... คนอื่นอาจจะตามไม่ทัน

 

...จริงๆแล้วผู้เขียนเริ่มงานคุณภาพพร้อมกับน้องๆ... แต่ด้วยมีนิสัยไม่ยอมหยุดแม้มีอุปสรรค...หากเหนื่อยก็จะเปลี่ยนจากวิ่งเป็นเดิน  เหนื่อยมากๆก็เดินช้าหน่อย...หายเหนื่อยก็ลุกขึ้นมาวิ่งใหม่ แต่จะไม่ยอมหยุด  และโดยปกติทั่วๆไปมักเป็นคนชอบเดินเร็วมากกว่า...

เหตุนี้อาจทำให้ผู้เขียนมองข้ามบางอย่างไป (โดยเฉพาะคนใกล้ตัว) ด้วยคิดว่าเขาจะรู้อย่างที่เรารู้

 

และนี่เป็นการยืนยันจุดอ่อนของการขาดการพูดคุยบ่อยครั้งอย่างสม่ำเสมอเพื่อช่วยเหลือดูแลลดช่องว่างระหว่างกัน

 

จึงตั้งใจว่า  ในการพูดคุยกันทุกสัปดาห์ต่อจากนี้จะต้องเปิดโอกาสให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทฤษฎี/แนวคิดคุณภาพและรับทราบปัญหาควบคู่ไปด้วย เป็นการพัฒนาคนในทีมไปพร้อมๆกัน

...และบรรยากาศวันนั้นภายหลังทุกอย่างลงตัว  ก็ทำให้แต่ละกลุ่มร่วมมือกัน  ช่วยกันปรับ KPI กลุ่ม และหาทางเชื่อมโยงถึงกัน... เฮฮา  หยอกล้อกันตามประสาพี่น้อง...แบบวัฒนธรรมดมยา

เสร็จไป 4 กลุ่ม(กระบวนการ)

คราวหน้าคงเป็นส่วนของกลุ่มประสานและสนับสนุนต่อ

 

แต่...วันนี้เลยขอพักดูใจตัวเองซะหน่อย

 

................................................................................

 

... ก้มลงดู(บ่นกับ)ตนเอง ...

 

การให้ความรู้พื้นฐานคุณภาพเกิดขึ้นเมื่อปี 2543  แล้วจากนั้นเป็นการส่งไปอบรม/ประชุม... ตามคิว (ที่อาจจะ/พยายามจะให้ตรงกับงาน) เป็นส่วนใหญ่  เปิดโอกาสให้สมาชิกกลุ่มได้เรียนรู้หลายๆงานด้วยการเปลี่ยนกลุ่มงานได้ทุกปี (ใครเบื่อก็เปลี่ยน  ใครอยากรู้เรื่องใหม่ก็เปลี่ยน...ไม่บังคับ) ด้วยเหตุผลว่าตอบสนองความอยากรู้ในหลายๆเรื่องของคน(ในองค์กร) 1 คนรู้ 3 อย่าง  จะได้ทดแทนกันได้

แต่ในอีกมุมมอง  ก็เป็นจุดอ่อนที่ทำให้คนไม่อยากพัฒนาเพราะมีความคิดว่าเดี๋ยวก็เปลี่ยนกลุ่ม  ไม่จำเป็นต้องพัฒนามากนัก  จึงทำให้บุคลากรที่ชำนาญจนเป็นที่ปรึกษาในเรื่องนั้นๆอย่างมั่นใจมีน้อย   ขาดความต่อเนื่อง 

ในปีที่ผ่านมา ผู้เขียนจึงขอให้กลุ่มงานเดิมได้ทำงานต่ออีกหนึ่งปีโดยอ้างว่าจะ Reaccredite ในปีนี้  การสับเปลี่ยนกลุ่มงานอาจจะทำให้ขาดความต่อเนื่องซึ่งไม่เกิดผลดี  การวางแผนที่ดี การให้โอกาส และเวลาที่มากพอทำให้ไม่สามารถดึงศักยภาพของคนเก่งออกมาใช้ได้หมด 

วิสัญญีพยาบาลทุกคนมีศักยภาพสูง  หากให้โอกาสและจัดการอย่างเหมาะสมก็สามารถเห็นศักยภาพนั้นได้

... น่าเสียดายโอกาสขององค์กร(ชะมัด)  หากไม่ใช้ทรัพยากรบุคคลอย่างเหมาะสมและคุ้มค่า

 

หมายเลขบันทึก: 244490เขียนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2009 23:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

การพัฒนาเราสามารถทำได้ 5-10% ก็ถือว่าประสบผลสำเร็จแล้วค่ะ

การพัฒนาที่ดี เราใช้วิธีของ KM มาใช้ ก็ดีเหมือนกัน จะทำให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า ได้ระบายและผ่อนคลายในเวลาเดียวกัน

พี่ใช้ Knowledge sharing กับน้องๆพยาบาลทุกเช้าประมาณ 5 นาที ทำให้น้องๆของพี่มีแนวคิดดี สรุปรวบยอดความคิดได้ดี ในที่สุดเธอก็จะเริ่มทำงานดีด้วยค่ะ

ขอบคุณครูอ้อยที่แวะมาให้กำลังใจเสมอค่ะ

สวัสดีค่ะ พี่แก้ว

  • ถ้าทำได้อย่างพี่แก้วคงจะดี...
  • แต่งานของติ๋วไม่เหมือนพี่แก้วค่ะ  แต่ละวันก็จะเป็นการดูแลงานประจำของแต่ละห้องผ่าตัดในทีมกันไป  หากพบปัญหาเชิงระบบก็ฝากกันไปตามกลุ่มงานที่รับผิดชอบแล้วช่วยกันแก้ไข 
  • หัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มจะเริ่มใช้เวทีนี้แลกเปลี่ยนและช่วยเหลือระหว่างกันมากขึ้นค่ะ  ซึ่งต้องนัดแนะกันเป็นครั้งคราว เชื่อว่า KM แบบนี้น่าจะลดช่องว่างระหว่างกันได้ดี  เกิดความเชื่อมโยงมากขึ้น..ติ๋วจะพยายามค่ะ
  • ขอบคุณพี่แก้วค่ะ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท