BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

สุขภาพชุมชนกับการกระทำเหนือหน้าที่


สุขภาพชุมชนกับการกระทำเหนือหน้าที่

วันนี้... อาจารย์ชายขอบ มาถวายสังฆทานเพื่ออุทิศไปให้แก่มารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว หลังจากนั้นก็สนทนากันเรื่องหัวข้องานวิจัย ประเด็นหนึ่งที่ท่านเล็งอยู่ก็คือ แนวคิดเรื่องการกระทำเหนือหน้าที่ โดยท่านมีความเห็นว่าบุคคลากรสาธารณสุข คือ หมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอื่นๆ บางคนนั้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น คนพิการ หรือผู้ป่วยที่จำเป็นต้องช่วยเหลือเฉพาะกรณีอื่นๆ นอกเหนือหน้าที่...

บุคคลากรเหล่านี้ คิดเอง ทำเอง บางครั้งก็ออกทุนเอง เพื่อช่วยเหลือด้านสุขภาพแก่คนในชุมชนตามความเหมาะสมเฉพาะบุคลเฉพาะกรณี ซึ่งหลายครั้งที่ทำไปนั้น อยู่นอกเหนือของกฎระเบียบและนโยบายจากเบื้องสูง และนั่นคือประเด็นว่าการกระทำของบุคคลาการเหล่านี้จะจัดเป็นการกระทำเหนือหน้าที่ได้หรือไม่ ? อย่างไร ?

ผู้เขียนฟังแล้วก็รู้สึกปิ้งไอเดียนี้ทันที (เพราะเรื่องนี้พอจะรู้เรื่อง ส่วนนอกนั้นไม่รู้เรื่อง 5 5 5) และท่านก็เล่าต่อว่า เจ้าหน้าที่ชุมชนเล็กๆ เหล่านี้ หลายคนที่ทำไปตามทำนองนี้ บางคนก็ถูกต่อต้านจากเพื่อนร่วมงาน บางคนก็ขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาและนโยบายเบื้องสูง ดังนั้น แม้ผลแห่งการกระทำอาจเกิดคุณสูงสุดและตรงตามความต้องการของคนนั้นในชุมชนนั้นก็จริง แต่ผลกระทบต่อเจ้าหน้าที่นั้นบางครั้งก็เป็นเชิงลบ เช่น ถูกตำหนิ ไม่ได้รับการเลื่อนชั้น หรือหนักที่สุดบางคนก็จำต้องออกจากงานไป...

เมื่อฟังจากท่านคร่าวๆ ผู้เขียนก็คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องอยู่หลายประเด็น เช่น

  • นโยบายกับการปฏิบัติ
  • ระเบียบกฎเกณฑ์
  • จรรยาบรรณเฉพาะวิชาชีพ
  • ฯลฯ

นโยบายและคำสั่ง นั้น จัดเป็นสิ่งต้องกระทำ คือ หน้าที่ ... นโยบายหรือคำสั่งที่เป็นสาธารณะนั้นมักจะเน้นประโยชน์นิยม นั่นคือมีแนวคิดพื้นฐานว่าจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขมากที่สุดต่อคนจำนวนมากที่สุด... แต่สำหรับคนพิการบางคนนั้น จำเป็นต้องหาทางช่วยเหลือเป็นการเฉพาะ ซึ่งมิได้อยู่ในกรอบของนโยบายหรือคำสั่ง เจ้าหน้าที่จะทำอย่างไร เพิกเฉยโดยอ้างว่าไม่มีนโยบาย หรือหาวิธีการช่วยเหลือนอกเหนือไปจากนโยบาย...

จรรยาบรรณ คือจริยธรรมเฉพาะวิชาชีพ ซึ่งแต่ละสาขามักจะมีอุดมคติสูงสุด เฉพาะอุดมคติของบุคคลากรด้านสาธารณสุข น่าจะเป็นเพื่อความมีสุขภาพที่ดีของคนทั่วไปหรือชุมชน แต่ถ้าไม่มีเกณฑ์ตัดสินถูกผิดชั่วดี การดำเนินการก็ไม่อาจเป็นไปตามกรอบระเบียบได้ ดังนั้น การกระทำที่สอดคล้องกับอุดมคติแต่แย้งกับกรอบระเบียบ ผู้ปฏิบัติจะทำอย่างไร ระหว่างการทำไปตามอุดมคติกับการยึดถือเพียงกรอบระเบียบ...

เมื่อมาถึง การกระทำเหนือหน้าที่ ตามหลักทฤษฎีจริยศาสตร์ แนวคิดนี้ขัดแย้งกับประโยชน์นิยมและลัทธิคานต์ แต่สอดคล้องกับจริยศาสตร์คุณธรรม (ผู้สนใจหาอ่านได้จากบันทึกเก่าๆ ) ดังนั้น เจ้าหน้าที่บริการสุขภาพชุมชน ถ้ายึดถืออุดมคติวิชาชีพ ดำเนินการไปตามความเหมาะสม ซึ่งบางครั้งอาจเป็นการ "เหนือหน้าที่" และ "ผิดคำสั่งนอกเหนือนโยบาย" ...เมื่อมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้น ก็ควรกลับไปตรวจสอบระเบียบกฎเณฑ์เดิมว่าควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับอุดมคติหรือไม่ ? อย่างไร ?

ตามความเห็นส่วนตัว กรณีทำนองนี้เป็นไปได้ทุกสาขาวิชาชีพ ดังเช่นกรณีของ สืบ นาคะเสถียร ในฐานะผู้พิทักษ์รักษาป่า... ซึ่งผู้เขียนเคยนำมาเทียบเคียงนิดหน่อย (ผู้สนใจหาอ่านได้จากบันทึกเก่าๆ )

เฉพาะเรื่องบุคคลากรสาธารณสุข... ผู้เขียนก็ปรารภว่า น่าจะไปหากรณีตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นแล้วของเรื่องทำนองนี้ เพื่อเสนอเป็นเบื้องต้นก่อนที่จะศึกษารายละเอียดอื่นๆ...

หมายเลขบันทึก: 243923เขียนเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ 2009 13:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 05:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

แวะมานมัสการหลวงพี่ สบายดีหรือครับ พรรษานี้โปรดแผ่เมตตามากๆครับ  ขอบุญกุศลไปถึงผมด้วย 

กราบนมัสการ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท