ผลสรุปจากการอบรมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน


ท่องเที่ยวชุมชน ... อย่างไรให้เกิดความยั่งยืน ??

เมื่อ4-6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาได้ไปอบรม อบรมความรู้ด้านตลาดการท่องเที่ยวและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ณ ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า อำเภอศรีบรรพต ซึ่งจัดโดย ททท.หาดใหญ่

มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบุคลากรในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนด้านการตลาดการท่องเที่ยวและการเป็นเจ้าบ้านที่ดี ยกระดับมาตรฐานการให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน เสริมสร้างศักยภาพของชุมชนให้เห็นความสำคัญของแหลงท่องเที่ยวและสร้างจิตสำนึกต่อการอนุรักษ์แหล่งท่องเที่ยว และสร้างเครือข่ายด้านตลาดการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้แทนจากแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ในจังหวัดพัทลุงและสงขลา จำนวน 40 คน เข้าอบรม

                        บรรยากาศสถานที่ดี อากาศดี ป่าอุดมสมบูรณ์  แต่ไม่ได้เดินเที่ยว ดีอีกอย่างคือ บริเวณอุทยานไม่มีคลื่นโทรศัพท์ เลยเหมือนตัดขาดจากโลกภายนอก ใครจะโทรมือถือก็ต้องเดินสำรวจหาคลื่นเอา ซึ่งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ชี้ที่ที่มีคลื่นให้เหมือนกัน เสียแต่ไม่ใช่ที่เราใช้ บ้านพักเป็นหลังตั้งอยู่ ห่างๆ กัน พอให้ไม่รบกวนกัน มีเส้นทางเดินป่า ดูนก มีสถานที่กางเต็นท์  น่าชวนเพื่อนฝูงไปพักผ่อนกับธรรมชาติ

ในส่วนของวิชาการที่อบรม ขอนำสรุปผลมาเล่าต่อ (อาจตกหล่นไปบ้าง) อยู่ 3 ประเด็น คือ

1. แนวคิดและการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนโดย ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร มหาวิทยาลัยศิลปากร : ชุมชนต้องมีการจัดการจุดขายของตัวเอง คือ วัฒนธรรม และทรัพยากรธรรมชาติ โดยคำนึงถึงผลกระทบด้านความเสื่อมโทรมที่จะเกิดขึ้นกับ และความขัดแย้งในชุมชน ในการจัดแหล่งท่องเที่ยวต้องหาจุดเด่นด้านวัฒนธรรม เช่น วัฒนธรรมท้องถิ่นที่แตกต่าง แหล่งประวัติศาสตร์ โบราณสถาน ประวัติศาสตร์ศาสนา และด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เส้นทางผจญภัย เส้นทางเดินป่า ล่องแก่ง และจักรยานท่องเที่ยว เมื่อมองเห็นศักยภาพที่มีแล้ว ก็วางแผนผังการท่องเที่ยวและเชื่อมโยงเส้นทาง เป็นกรอบในการเติมเต็มด้วยเนื้อหาสาระไว้บอกเล่าแก่นักท่องเที่ยว และมีข้อสังเกตที่สำคัญหลักเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ได้แก่  1) คุณภาพของการท่องเที่ยว ชีวิต/ชุมชน และสิ่งแวดล้อม 2)ความต่อเนื่องยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และความต่อเนื่องของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตชุมชน  และ 3) ความสมดุลระหว่างความต้องการการท่องเที่ยวและขีดความสามารถของชุมชน

2.  การส่งเสริมการตลาดในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดย ผศ.จิตศักดิ์ พุฒจร มหาวิทยาลัยศิลปากร : การส่งเสริมการตลาดในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนต้องคำนึงถึงปัจจัย ดังต่อไปนี้ 1) สภาพแวดล้อมรอบตัวและในชุมชน เพื่อให้ทราบสภาวะทางเศรษฐกิจระดับโลก มาเปรียบเทียบกับชุมชน หาข้อจำกัดและโอกาส 2) พฤติกรรมและกระแสการบริโภคของนักท่องเที่ยว 3) พฤติกรรมพื้นฐาน ของนักท่องเที่ยว เช่น การซื้อของ การบริโภคอาหาร และกิจกรรมเฉพาะ (ฟังดนตรี ชมโบราณสถาน ทำบุญไหว้พระ เป็นต้น) 4) ชุมชนมีต้นทุนที่จะปรับเป็นแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ มีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ และวัฒนธรรมที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตเป็นเอกลักษณ์  มีองค์กรชุมชนที่เข้มแข็ง และมีการจัดการที่ดี  5) พัฒนาชุมชนไปสู่แหล่งท่องเที่ยวโดยผ่านการจัดการโดยชุมชน ดึงต้นทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นจุดขาย หลัก   และ 6) สร้างแหล่งบริการและการอำนวยความสะดวกในเรื่องที่พัก  

   3. การจัดรายการนำเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวชุมชน โดย นายเอกสิทธิ์ สุหลง เลขาธิการสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพ จังหวัดสงขลา  :  1)วางแผนผังการท่องเที่ยว มีเส้นทางเชื่อมโยงบอกระยะทาง การเดินทางจากภายนอกเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยว โดยเปิดรับนักท่องเที่ยวจากทุกเส้นทาง กำหนดราคาค่าบริการอย่างชัดเจน 2) หาเนื้อหาสาระใส่ เพื่อบรรยายเนื้อหาเรื่องราวของแต่ละจุด หรือระหว่างเส้นทางให้น่าสนใจ 3) กำหนดเส้นทางจุดท่องเที่ยวโดยให้เส้นทางระหว่างจุดท่องเที่ยวหลัก มีจุดน่าสนใจอื่นๆ เช่น สวนผลไม้ ร้านขายของที่ระลึก เป็นต้น 4) กำหนดกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนวัยทำงาน คนสูงอายุ แล้วกำหนดแผนท่องเที่ยวให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย 5) วางแผนประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสม โดยใช้สื่อทุกช่องทาง และ 6) มีผู้นำชมที่มีความสามารถและความรู้เรื่องราวท้องถิ่นเป็นอย่างดี

หมายเลขบันทึก: 243132เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 08:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 09:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

หวัดดีจ้ะ

  • แวะมาเที่ยวด้วยคนอ่ะจ้ะ อิอิ...น่าไปเนอะ ๆ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท