การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในชีวิตประจำวัน


การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง  ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

           พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเข้าพระราชหฤทัยในความเป็นไปของเมืองไทยและคนไทยอย่างลึกซึ้งและกว้างไกล ได้ทรงวางรากฐานในการพัฒนาชนบท และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถพึ่งตนเองได้มีความ " พออยู่พอกิน" และมีความอิสระที่จะอยู่ได้โดยไม่ต้องติดยึดอยู่กับเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ ทรงวิเคราะห์ว่าหากประชาชนพึ่งตนเองได้แล้วก็จะมีส่วนช่วยเหลือเสริมสร้างประเทศชาติโดยส่วนรวมได้ในที่สุด พระราชดำรัสที่สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างความเข้มแข็งในตนเองของประชาชนและสามารถทำมาหากินให้พออยู่พอกินได้ ดังนี้

                "….ในการสร้างถนน สร้างชลประทานให้ประชาชนใช้นั้น จะต้องช่วยประชาชนในทางบุคคลหรือพัฒนาให้บุคคลมีความรู้และอนามัยแข็งแรง ด้วยการให้การศึกษาและการรักษาอนามัย เพื่อให้ประชาชนในท้องที่สามารถทำการเกษตรได้ และค้าขายได้…"

            ตามแนวปรัชญา  หลักการเศรษฐกิจพอเพียงนั้น  กล่าวถึง สามคุณลักษณะ กล่าวคือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันที่ดี โดยมีสองเงื่อนไขประกอบกล่าวคือ เงื่อนไขความรู้ และเงื่อนไข คุณธรรม   ซึ่งทั้งหมดนี้จะนำไปสู่ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยื่นของสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเห็นได้ชัดว่า "เงื่อนไขความรู้" ดูจะสอดคล้องกับเรื่องของ LO และ KM มากที่สุด ในแง่ที่ว่าคนเราจะต้องเป็นคนที่รอบรู้ ควรจะต้องเป็นผู้ที่ใฝ่รู้อยู่ตลอดเวลา และควรจะรู้ในหลายๆ ด้านเพราะโดยทั่วไปแล้วทุกสิ่งทุกอย่างมีความเกี่ยวเนื่องกัน การที่เราได้เรียนรู้เรื่องอื่นๆ จะช่วยทำให้เรารู้ในสิ่งที่เราคิดว่าเราชำนาญหรือเก่งมากยิ่งขึ้น

            คำว่า "พอประมาณ" หมายถึงการอยู่การกินในปริมาณที่ไม่มากเกินไปไม่น้อยเกินไป การที่เราจะใช้ชีวิตแบบพอประมาณให้ได้อย่างไรหรือมีหลักปฏิบัติอย่างไรนั้น  ถ้าจะให้อธิบายให้เห็นภาพต้องบอกว่าเรื่องของความพอประมาณนั้นได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากเงื่อนไขคุณธรรม คือการใช้ชีวิตอย่างมีสติปัญญา   ตามคำสั่งสอนทางพระพุทธศาสนาได้บอกไว้อย่างชัดเจนให้เราใช้ชีวิตอย่างมีสติ และให้เราใช้ปัญญาในการดำรงชีวิต ซึ่งผลลัพธ์ก็คือความสามารถในการเดินทางสายกลาง คือไม่มากไป ไม่น้อยไป ให้เหมาะสมให้พอประมาณ มีความสุขเกินไปบางทีก็ก่อให้เกิดความสุรุ่ยสุร่าย มีความทุกข์เกินไปก็เป็นเหตุอาจก่อให้เกิดความรู้สึกไม่อยากที่จะบริโภคอะไร

            ความมีเหตุผล ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการบอกว่าไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไรนั้น ก็ควรจะเป็นไปตามเหตุและผล     ซึ่งเหตุผลที่ว่าก็คือ ความรู้ที่อยู่ในตัวเรา เรารู้ว่าเราจะตัดสินใจทำอะไรเพราะอะไร เพราะเรารู้ว่าเหตุและผลคืออะไร และเหตุผลที่ว่าก็เป็นสิ่งที่เรารู้มาได้จากประสบการณ์ จากการเรียนรู้โดยวิธีอื่นๆ ต่างๆ นานา แต่ในความเป็นจริงแล้วในการที่จะตัดสินใจอะไรให้ได้ผลการตัดสินใจที่ดีที่สุด ย่อมต้องมาจากการได้รู้ได้เห็นถึงหลายทางเลือก และหลายเหตุผล  สรุปแล้ว ในการจะดำรงชีวิตอย่างมีเหตุมีผล   จะต้องใฝ่ที่จะเรียนรู้จากผู้อื่น หรือแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน เพราะสิ่งทุกสิ่งสามารถถูกมองได้หลายมุมมอง ต่างคนก็ต่างมุมมอง การที่เราจะใช้ชีวิตอย่างที่เราคิดว่ามีเหตุผลที่สุดก็มาจากการที่เราได้คัดเลือกคัดสรรเหตุผลที่ดีที่สุดจากหลายมุมมอง และทางเลือกที่เราคิดว่าดีที่สุด   ถ้าคนทุกคนในองค์กรมีความตั้งมั่นที่จะประกอบกิจการการงานอย่างมีเหตุ มีผล ตัดสินใจประกอบกิจกรรมด้วยความคิดความอ่านที่เป็นเหตุเป็นผลที่มากที่สุด พฤติกรรมของคนในองค์กรดังกล่าว ย่อมช่วยนำพาองค์กรไปสู่ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้หรือ LO

            คุณลักษณะสุดท้ายคือ การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ในยุคปัจจุบันโลกของเราเต็มไปด้วยการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และยังมีการแข่งขันที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งนอกจากเราจะต้องมีภูมิคุ้มกันทางกายที่ดีแล้ว เรายังต้องมีภูมิคุ้มกันทางใจ ความจริงใจระหว่างคนในสังคมนับวันเริ่มน้อยลงทุกที ความอิจฉาริษยาอาฆาตพยาบาท ทำให้ใจคนเรานั้นหมองมัว และเลวร้ายขึ้นทุกที ทำให้คิดว่าการที่คนเราจะอยู่รอดได้ในสังคมในยุคปัจจุบันนั้น ต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งหรือมีภูมิคุ้มกันทางใจที่ดี

            นอกจากนี้เราต้องมีภูมิคุ้มกันทางปัญญาด้วย ซึ่ง การมีภูมิคุ้มกันทางปัญญานี้   ถ้าพูดถึงระดับบุคคลก็คือเราจะต้องเป็นคนที่ทันคน เราจะต้องเป็นคนที่รู้จักการเอาตัวรอด เพราะฉะนั้น คนเป็นพ่อเป็นแม่ที่มองการณ์ไกลในอดีต ก็พยายามส่งลูกให้ศึกษาเล่าเรียนให้สูงที่สุด บางคนก็ลงทุนส่งลูกไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพื่อหวังจะให้ลูกได้ความรู้ทางด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษาหรือทักษะการเอาตัวรอด และท้ายที่สุดก็หวังจะให้ลูกเป็นผู้มีปัญญา สามารถนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่หาเลี้ยงชีพและเอาตัวรอดในสังคมได้     การที่องค์กรจะมีภูมิคุ้มกันเพื่อให้อยู่รอดได้ท่ามกลางการแข่งขันที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น และสามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งจากสภาวะแวดล้อมภายในและภายนอกที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ คนในองค์กรทุกคนควรจะต้องเป็น ผู้ใฝ่รู้ มีวัฒนธรรมในองค์กรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ซึ่งเข้าหลักของ LO และเมื่อคนในองค์กรใฝ่รู้องค์กรจะต้องทำการจัดการความรู้หรือ KM เพื่อตอบสนองความใฝ่รู้ของคนในองค์กร ซึ่งการที่คนในองค์กรเป็นผู้ที่ใฝ่รู้เป็นผู้มีปัญญานั้นถือเป็นตัวช่วยอันเยี่ยมยอดในการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับองค์กร ให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกปัจจุบัน

            สำหรับเงื่อนไขความรู้  และ คุณธรรม นั้น   กล่าวได้ว่าการแบ่งปันความรู้   ถือเป็นการให้ทานอันยิ่งใหญ่ การแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ถ้าจะให้ดีต้องเกิดจาก พื้นฐานของความมีเมตตากรุณาซึ่งกันและกันซึ่งก็คือ ความมีคุณธรรม  เมตตาธรรมแก่ผู้อื่น   การสอนการแนะการช่วยเหลือในเชิงการเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกน้อง เจ้านายหรือเพื่อนร่วมงานไม่น่าจะต้องเป็นเรื่องยุ่งยาก ถึงแม้เราจะงานยุ่ง ก็คิดซะว่าเราได้ช่วยคนที่เขาอยากรู้ ให้เขานำความรู้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในงานของเขา ยิ่งเราบอกคนอื่น   เราก็ยิ่งรู้มากขึ้น  ยิ่งเก่งขึ้น เพราะเราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องที่เรารู้กับคนอื่นๆ ที่เขารู้ต่างจากเรา.

อ้างอิงจาก

ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้

             จาก:      http://www.nidambe11.net/ekonomiz/2008q1/2008march13p9.htm

 

 

******************

หมายเลขบันทึก: 243123เขียนเมื่อ 19 กุมภาพันธ์ 2009 05:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 02:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาอ่าน

ขอบคุณค่ะ

มีสิ่งดีๆในทุกๆวัน  นะคะ

ของคุณมากคับ

ขอบคุณนะคะแวะมาเก็บข้อมูลทำรายงานคะ

ดิฉันก็เป็นคนหนึ่งที่รักพระเจ้าอยู่หัวมาก

พระองค์ทรงมีพระคุณต่อปวงชวนชาวไทยมาก

ประเทศไทยสบายที่สุดแล้วคนที่มันทำลายชาติได้ลงคอ

มันคงไม่คิดถึงประเทศที่คุ้มกะลาหัวมันอยู่ช่างโง่เขลาเบาปัญญานัก

ขอบคุณค่า ช่วยดิฉันทำรายงานได้ดีขึ้นเยอะเลย

 

ขอบคุงคร๊าาา ที่ช่วยหั้ยอิฉรรทามงานเสร็จสิ้น ขอขอบคุงอีกครั้งน๊าคร๊าา


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท