การศึกษาตลอดชีวิต กับการเรียนรู้ตลอดชีวิต
วิจารณ์ พานิช
ผมได้เห็นร่าง พรบ. ส่งเสริมการศึกษาตลอดชีวิต พศ. ... ให้นิยามไว้ในมาตรา 4 ดังนี้
“การเรียนรู้ตลอดชีวิต” หมายความว่า กระบวนการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาที่เกิดขึ้นในตัวบุคคล อันเป็นผลมาจากการได้รับความรู้หรือประสบการณ์จากการจัดการศึกษา หรือจากกิจกรรมในวิถีชีวิต ที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดจนตาย
“การศึกษาตลอดชีวิต” หมายความว่า กระบวนการจัดการศึกษาที่ผสมผสานการศึกษาทุกรูปแบบ ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเรียนรู้ได้ทุกสถานการณ์ เวลา และสถานที่ อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตตามความต้องการและความสนใจ เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม
ข้อเด่นของร่าง พรบ. นี้ ก็คือตระหนักในความแตกต่างระหว่างการเรียนรู้ตลอดชีวิต กับการศึกษาตลอดชีวิต
ข้อด้อยก็คือ ร่าง พรบ. นี้เน้นที่การศึกษาตลอดชีวิต เน้นที่ผู้ให้บริการและผู้ควบคุมตรวจสอบคุณภาพ
ผมเกิดข้อสงสัยว่า ร่าง พรบ. นี้จะเอื้อประโยชน์ต่อคนในวงการศึกษามากกว่าประโยชน์ของคนทั่วไป
ที่น่ากังวลก็คือ ถ้าออกเป็น พรบ. แล้ว จะมีผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่า พรบ. นี้จะมีผลทำให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต
การจัดการศึกษากับการเรียนรู้เป็นคนละสิ่งกันนะครับ
การเรียนรู้ของคนเราส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมในวิถีชีวิต ถ้าจะทำให้คนไทยมีการเรียนรู้ในวิถีชีวิตอย่างเข้มข้น ต้องส่งเสริมการจัดการความรู้ในวิถีชีวิตร่วมกันของคนในครอบครัว ชุมชน และสังคม
ผมได้บันทึกเรื่องนี้ไว้แล้วเมื่อวันที่ 5 มิ.ย.48 และได้เริ่มลงเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตของชาวนาทุก ๆ วันจันทร์และพฤหัสบดี มาตั้งแต่วันที่ 6 มิ.ย.48
วิจารณ์ พานิช
14 มิ.ย.48
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
คำสำคัญ (Tags)#การเรียนรู้ตลอดชีวิต#การศึกษาตลอดชีวิต#demand-side km
หมายเลขบันทึก: 242, เขียน: 16 Jun 2005 @ 04:15 (), แก้ไข: 11 Dec 2012 @ 13:49 (), สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการ, ดอกไม้: 2, ความเห็น: 4, อ่าน: คลิก
เห็นด้วยกับอาจารย์ครับ ผมขออนุญาตตีความแบบผมจากที่ได้อ่านจากร่าง พรบ. ที่อาจารย์ยกมานะครับ ผมเห็นว่าใน พรบ. มีคำว่า "การจัดการศึกษา" อยู่หลายแห่งด้วยกัน มาก่อนคำว่า "จากกิจกรรมในวิถีชีวิต" ที่อาจารย์ได้เน้นเสียอีก
สำหรับผมคำว่า "การจัดการศึกษา" จะเหมือนถูกให้ความสำคัญเป็นหลักใน พรบ. นี้ครับ
ซึ่งจากบริบทโดยรวมของ พรบ. ก็ทำให้ผมเข้าใจไปเองว่า "การศึกษา" เป็นกิจกรรมที่ต้องจัดทำโดย "นักจัดการศึกษา" เป็นหลัก ดังนั้นดูเหมือนว่าถ้า พรบ. นี้ออกมาแล้ว "นักจัดการศึกษา" จะมีงานทำกันเยอะเลย หลักสูตรพิเศษต่างๆ ทั้งอบรมระยะสั้นระยะยาว ทั้งทางไกลทางใกล้ และปริญญานานาประเภท เพื่อให้คนไทยได้ "เรียนรู้ตลอดชีวิต" คงเกิดขึ้นอย่างมากมาย (กว่าปัจจุบัน) ทีเดียวครับ
สงสัยคนไทยต้องเริ่มเก็บเงินเพื่อ "เรียนรู้ตลอดชีวิต" ตั้งแต่ตอนนี้แล้ว เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้ผมนึกถึงโฆษณาหลักสูตรปริญญาโทของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งอ่านเจอในหนังสือพิมพ์เมื่อเช้า เขาบอกว่า "แจกฟรีตำราเรียน" ผมก็ตีความแบบผมอีกว่า หมายความว่าสามารถเรียนปริญญาโทในสถาบันแห่งนั้นจบได้โดยไม่ต้องอ่านหนังสืออื่นเลย อ่านแค่ตำราแจกฟรีก็พอ คิดอย่างแล้วก็รู้สึกไม่น่าสบายใจกับ "การจัดการศึกษา" ของ "นักจัดการศึกษา" เหลือเกินครับ